สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคใต้ เดือนกรกฎาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 21, 2009 15:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคใต้เดือนกรกฎาคม ปี 2552 หดตัว แต่อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยรายได้เกษตรกรลดลงตามราคาพืชผลหลัก และปริมาณผลผลิตที่ลดลง ขณะที่ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงตามการผลิตและส่งออกยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง อาหารบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบ ภาคการลงทุน และจ้างงานยังคงซบเซา ส่วนการท่องเที่ยวหดตัวจากผลของการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก อย่างไรก็ตามจำนวนนักท่องเที่ยวในภาคใต้ฝั่งตะวันตกกระเตื้องขึ้นจากเดือนก่อน นอกจากนี้ ผลดีจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและมาตรการลดค่าครองชีพของประชาชนยังคงส่งผลให้การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นและอัตราเงินเฟ้อทั่วไปหดตัว ในภาคการเงิน สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ชะลอลง ส่วนเงินฝากลดลงเล็กน้อย

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจในเดือนกรกฎาคม ปี 2552 มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรลดลง จากดัชนีรายได้เกษตรกรลดลงร้อยละ 48.1 ตามราคาพืชผลหลัก ที่ลดลงร้อยละ 45.7 โดยราคายางกิโลกรัมละ 54.07 บาท ลดลงร้อยละ 46.5 แต่เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 3.7 ตามความต้องการใช้ยางจากประเทศจีนที่เริ่มมีต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผลผลิตยางพาราโลกออกสู่ตลาดน้อย และมีการเข้าซื้อเก็งกำไรในตลาดล่วงหน้าของนักลงทุน ส่วนราคาปาล์มน้ำมันลดลงร้อยละ 36.3 ตามราคาปาล์มในประเทศมาเลเซียที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ประกอบกับเป็นช่วงสิ้นสุดโครงการแทรกแซงราคาปาล์มน้ำมันของภาครัฐ ขณะที่ผลผลิตพืชผลหลักยังลดลงร้อยละ 4.5 แต่กระเตื้องขึ้นจากเดือนมิถุนายน ที่ลดลงร้อยละ 8.6 โดยผลผลิตปาล์มน้ำมันทะลายลดลงร้อยละ 19.4 ส่วนผลผลิตยางเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 เนื่องจากภาคใต้ฝั่งตะวันออกมีฝนตกกระจาย แต่อุณหภูมิลดต่ำลง ทำให้ปริมาณน้ำยางสดออกเพิ่มขึ้น มีฝนตกหนักในหลายพื้นที่ทางฝั่งอันดามัน เป็นอุปสรรคต่อการกรีดยาง

ประมงทะเล ปริมาณสัตว์น้ำนำขึ้นที่ท่าเทียบเรือในภาคใต้ 24.0 พันเมตริกตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.7 แต่เมื่อคิดเป็นมูลค่ากลับลดลงร้อยละ 4.7 โดยมีมูลค่า 797.4 ล้านบาท ด้านราคาจำหน่ายกุ้งขาวขนาด 50 ตัวต่อกิโลกรัม กิโลกรัมละ 111.40 บาท ปรับลดลงร้อยละ 4.7 โดยปริมาณผลผลิตกุ้งเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.5

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 4.8 ตามการผลิตยางแผ่นรมควัน ยางแท่ง อาหารบรรจุกระป๋อง และน้ำมันปาล์มดิบ ขณะที่ผลผลิตน้ำยางข้น ถุงมือยาง ไม้ยางพาราแปรรูป และสัตว์น้ำแช่แข็งเพิ่มขึ้น โดยปริมาณการส่งออกยางแท่งและยางแผ่นรมควัน 62,326.4 และ 27,599.7 เมตริกตัน ลดลงร้อยละ 32.0 และ 28.6 อย่างไรก็ตาม ยังคงมีความต้องการซื้อน้ำยางข้นและถุงมือยางต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากการเกิดโรคระบาดในหลายประเทศ โดยเฉพาะกาฬโรคในประเทศจีน ส่วนการผลิตน้ำมันปาล์มดิบลดลงร้อยละ 23.3 ตามปริมาณวัตถุดิบที่เข้าสู่โรงงานลดลง

3. การท่องเที่ยว ยังคงหดตัว โดยนักท่องเที่ยวผ่านด่านตรวจคนเข้าเมือง 228,924 คน ลดลงร้อยละ 14.4 ซึ่งเป็นผลจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ผลต่อเนื่องจากเหตุการณ์ไม่สงบทางการเมืองในประเทศ และการแพร่ระบาดของไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 44.3 ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนที่มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 48.9 อย่างไรก็ตาม นักท่องเที่ยวทั้งภาคใต้ฝั่งตะวันตกซึ่งลดลงร้อยละ 9.2 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 12.2 ส่วนนักท่องเที่ยวในภาคใต้ตอนล่างลดลงร้อยละ 21.0 หดตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 5.1

4. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เดือนกรกฎาคม 2552 ดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนของภาคใต้ เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 2.8 เนื่องมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการต่ออายุมาตรการลดค่าครองชีพประชาชน รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกยังอยู่ในระดับต่ำ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาปี 2543 เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.6 ขณะที่การใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 และดัชนีหมวดเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.2 ตามการใช้เชื้อเพลิงทุกประเภท อย่างไรก็ตามในหมวดยานยนต์ลดลง โดยการจดทะเบียนรถยนต์นั่ง รถจักรยานยนต์ และรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ 26.4, 34.5 และ 67.1

5. การลงทุนภาคเอกชน ยังซบเซา จากเครื่องชี้การลงทุนที่ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ทั้งการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลใหม่ การส่งเสริมการลงทุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน การจ้างงานและการก่อสร้าง โดยดัชนีการลงทุนภาคการก่อสร้างลดลงร้อยละ 6.8 ส่วนการจดทะเบียนธุรกิจนิติบุคคลลดลงทั้งจำนวนรายและเงินทุนจดทะเบียน ร้อยละ 21.4 และ 46.8 ตามลำดับ อย่างไรก็ตามมีสัญญาณของการปรับตัวที่ดีขึ้น จากการจดทะเบียนเพิ่มทุนของธุรกิจนิติบุคคล

6. การจ้างงาน ภาวการณ์การจ้างงานลดลง โดยความต้องการแรงงานของผู้ประกอบการ จากตำแหน่งงานว่างที่แจ้งผ่านสำนักงานจัดหางานจังหวัด 2,832 อัตรา ลดลงร้อยละ 27.0 โดยมีผู้มาสมัครงาน 3,448 คน ลดลงร้อยละ 10.3 และได้รับการบรรจุงาน 2,725 คน ลดลงร้อยละ 37.7 อย่างไรก็ตาม จำนวนแรงงานที่เข้าโครงการประกันสังคม ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 กลับเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.4 โดยมีจำนวน 601,674 คน

7. ระดับราคา อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของภาคใต้หดตัว โดยลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.8 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 3.2 ในเดือนก่อน โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ลดลงมาก รวมทั้งมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ทำให้ภาระรายจ่ายค่าโดยสารสาธารณะ ค่าน้ำประปา ค่าไฟฟ้า และรายจ่ายด้านการศึกษาของประชาชนลดลง ขณะที่ดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ร้อยละ 3.6 อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน ลดลงจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 0.8 ใกล้เคียงกับเดือนก่อนหน้า

8. การค้าต่างประเทศ หดตัวต่อเนื่อง โดยเดือนกรกฎาคม 2552 มูลค่าการค้าระหว่างประเทศทั้งสิ้น 1,338.9 ล้านดอลล่าร์สรอ. ลดลงร้อยละ 35.9 จากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 24.1 มูลค่าการส่งออก 853.2 ล้านดอลล่าร์สรอ. ลดลงร้อยละ 32.6 ตามการลดลงของการส่งออกยางพาราและอาหารกระป๋องเป็นสำคัญ ขณะที่การนำเข้ามูลค่า 485.8 ล้านดอลล่าร์สรอ. ลดลงร้อยละ 40.9 ตามการนำเข้าในเกือบทุกหมวด มีเพียงการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 36.6

9. ภาคการคลัง การเบิกจ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ ในภาคใต้เดือนกรกฎาคม 2552 มีจำนวน 12,130.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันปีก่อนร้อยละ 35.5 จากการเร่งการเบิกจ่ายงบลงทุน แม้ว่าเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายนจะปรับลดลงร้อยละ 8.9 ส่วนการจัดเก็บภาษีอากรสามารถจัดเก็บได้ 2,237.4 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 2.1 จากเดือนเดียวกันปีก่อน จากการจัดเก็บภาษีสรรพากรได้ลดลง ขณะที่การจัดเก็บภาษีสรรพสามิตและศุลกากรเพิ่มขึ้น

10. การเงิน เงินฝากของสาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคใต้ลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับ ณ สิ้นเดือนเดียวกันปีก่อนในอัตราร้อยละ 0.1 ส่วนสินเชื่อขยายตัวร้อยละ 1.9 ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 2.9 เป็นผลมาจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจโดยรวม

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้

ข้อมูลเพิ่มเติม: นาฏน้อย แก้วมีจีน

โทร.0-7423-6200 ต่อ 4329

e-mail : na rtnoik@ bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ