เศรษฐกิจและการเงินภาคเหนือเดือนสิงหาคม 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 5, 2009 13:41 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจการเงินภาคเหนือ เดือนสิงหาคม 2552 ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนแรกนับแต่เดือนสิงหาคม 2551 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารเพื่อการส่งออก การท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นจากจำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สอง และภาคการค้าขยายตัวในเกณฑ์ดี ด้านการใช้จ่ายของภาครัฐเร่งตัว ส่วนการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน การส่งออกและนำเข้า รายได้ของเกษตรกร และดัชนีราคาผู้บริโภคปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน สำหรับเงินฝากชะลอตัวส่วนเงินให้สินเชื่อลดลงต่อเนื่อง

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตร รายได้ของเกษตรกรปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน โดยหดตัวร้อยละ 17.9 เมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 21.3 เดือนก่อน โดยดัชนีราคาพืชผลสำคัญลดลงร้อยละ 22.6 ตามราคาลำไยที่ลดลงร้อยละ 52.9 เนื่องจากผลผลิตเพิ่มขึ้นมากจากปีก่อน ประกอบกับราคาข้าวโพดเลี้ยงสัตว์และข้าวเปลือกเจ้านาปรังลดลงร้อยละ 38.3 และร้อยละ 18.9 ตามลำดับ จากฐานราคาที่สูงมากในปีก่อน ทางด้านดัชนีผลผลิตพืชผลหลักเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.1 จากผลผลิตลำไย ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และหอมแดงที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.7 ร้อยละ 3.5 และร้อยละ 6.3 ตามลำดับ สาเหตุจากราคาของปีก่อนอยู่ในเกณฑ์สูงจูงใจให้เกษตรกรบำรุงดูแลและสภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการผลิตทำให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น

2. ภาคอุตสาหกรรม การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัวเป็นเดือนแรกนับแต่เดือนสิงหาคม 2551 โดยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมภาคเหนือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 23.8 เทียบกับที่ลดลงร้อยละ 9.4 เดือนก่อน ผลจากอุตสาหกรรมอาหารที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ทั้งการผลิตผักสดแช่แข็งและอบแห้ง ผักผลไม้แปรรูป และลำไยอบแห้ง ตามความต้องการในตลาดญี่ปุ่นและจีนที่ขยายตัวดี ด้านวัสดุก่อสร้างขยายตัวดีตามการสะสมสต๊อกของผู้ประกอบการที่คาดการณ์ราคาจะปรับสูงขึ้น และอีกส่วนหนึ่งจากการส่งออกไปพม่าและลาวที่ขยายตัวดี อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อนโดยหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 19.4 หดตัวน้อยลงในเกือบทุกสินค้าทั้งส่วนประกอบฮาร์ดดิสไดร์ แผงวงจรสำเร็จรูป และไอซี ด้านอุตสาหกรรมเจียระไนอัญมณีปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตามความต้องการในตลาดตะวันออกกลางที่เพิ่มขึ้น ส่วนอุตสาหกรรมผลิตเครื่องดื่มลดลงตามความต้องการของตลาดที่ชะลอตัวลง

3. ภาคบริการ ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้ที่มีสัญญานการฟื้นตัวได้แก่ จำนวนผู้โดยสารผ่านท่าอากาศยานเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนต่อเนื่องเป็นเดือนที่สองร้อยละ 11.4 ส่วนหนึ่งจากการเพิ่มขึ้นของเที่ยวบินตรงจากต่างประเทศ และกลยุทธ์การลดราคาค่าโดยสารของสายการบินต่าง ๆ อัตราการเข้าพักของโรงแรมในภาคเหนืออยู่ที่ร้อยละ 47.8 ปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนที่ร้อยละ 39.3 ขณะที่ราคาห้องพักโดยเฉลี่ยปรับลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ 823.9บาท/ห้อง หรือลดลงร้อยละ 3.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ส่วนปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มประเภทโรงแรมและภัตตาคารลดลงร้อยละ 11.6

4. ภาคการค้า อยู่ในเกณฑ์ดี โดยดัชนีภาคการค้าเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 11.2 ประกอบด้วย การค้าหมวดยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 6.0 ดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามยอดขายยานยนต์ และอุปกรณ์ซ่อมบำรุงยานยนต์ เป็นสำคัญ สำหรับยอดขายเชื้อเพลิงยานยนต์ ยังลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการระมัดระวังการใช้จ่ายของผู้บริโภคจากราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับสูง การค้าหมวดค้าส่ง ชะลอตัวจากเดือนก่อนเล็กน้อยที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.3 เหลือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20.2 ขยายตัวในเกือบทุกหมวด สำหรับ การค้าหมวดค้าปลีก ที่สะท้อนความต้องการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภคเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 13.0 เร่งตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 10.6 โดยขยายตัวในทุกหมวด รวมทั้งหมวดการขายปลีกวัสดุก่อสร้างที่ขยายตัวดีต่อเนื่องจากเดือนก่อน

5. การอุปโภคบริโภค ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากเครื่องชี้การใช้จ่ายภาคเอกชนที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ที่ขยายตัวต่อเนื่องจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 8.8 ตามคำสั่งซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นของหมวดอุตสาหกรรม กลุ่มอาหาร เครื่องดื่ม และวัสดุก่อสร้าง ด้านปริมาณการจดทะเบียนรถยนต์ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 12.6 เร่งตัวต่อเนื่องจากร้อยละ 4.6 เดือนก่อน ตามการเพิ่มกำลังการผลิตตอบสนองคำสั่งซื้อเดิม ขณะที่ปริมาณการจดทะเบียนรถจักรยานยนต์หดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 6.8 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 13.0 ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มจักรยานยนต์แบบเกียร์อัตโนมัติ และแนวโน้มราคาน้ำมันที่สูงขึ้นจูงใจให้มีการใช้รถจักรยานยนต์มากขึ้น ด้านปริมาณการใช้ไฟฟ้าในครัวเรือนเดือนกรกฎาคม 2552 ขยายตัวร้อยละ 4.5 ชะลอลงจากเดือนที่ขยายตัวร้อยละ 5.4

6. การลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นตามการขยายตัวภาคการก่อสร้าง เป็นสำคัญ โดยเครื่องชี้ที่สำคัญได้แก่ ปริมาณการจำหน่ายวัสดุก่อสร้างขยายตัวสูงมากจากเดือนก่อน ตามการขยายตัวของการก่อสร้างหอพักและอาคารพาณิชย์ในจังหวัดหลักของภาค เช่น จังหวัดเชียงใหม่ การก่อสร้างบ้านอยู่อาศัยเองของเกษตรกรในอำเภอรอบนอก การส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้าน โครงการก่อสร้างขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมถึงการสะสมสต๊อกสินค้าของผู้ประกอบการ จากแนวโน้มการปรับราคาวัสดุก่อสร้างสูงขึ้น อย่างไรก็ตามพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.2 หดตัวจากเดือนก่อนที่เร่งตัวร้อยละ 130.8 แต่พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างประเภทที่อยู่อาศัยในจังหวัดหลักภาคเหนือตอนบนยังคงขยายตัวต่อเนื่อง ด้านค่าธรรมเนียมการจดทะเบียนที่ดินยังหดตัวตามมาตรการลดค่าธรรมเนียมของทางการ สำหรับความสนใจลงทุนเครื่องจักรและอุปกรณ์ ซึ่งสะท้อนจากการอนุมัติส่งเสริมการลงทุนในภาคเหนือมีจำนวนทั้งสิ้น 274.8 ล้านบาท หรือขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 587.1 โดยเป็นการลงทุนในหมวดอุตสาหกรรมเบา และหมวดเกษตรกรรมและผลิตผลการเกษตรเป็นสำคัญ วงเงิน 112.3 ล้านบาท และ 92.6 ล้านบาท ตามลำดับ

7. การค้าต่างประเทศ การค้าผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือยังอยู่ในเกณฑ์ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยการส่งออกผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 17.6 เหลือ 207.6 ล้านดอลลาร์ สรอ. โดยการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมยังคงลดลงร้อยละ 22.8 จากระยะเดียวกันปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นในสินค้าสำคัญ โดยเฉพาะชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการส่งออกสินค้าอาหารแปรรูปไม่บรรจุกระป๋องขยายตัวร้อยละ 11.0 เพิ่มขึ้นจากตลาดญี่ปุ่นเป็นสำคัญ ด้านการส่งออกสินค้าเกษตรขยายตัวร้อยละ 4.7 จากการส่งออกลำไยที่ขยายตัวดี ด้านการส่งออกผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 13.0 เป็น 87.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน ตามการส่งออกไปพม่าและลาว ที่ขยายตัวร้อยละ 16.2 และร้อยละ 18.2 ตามลำดับ ส่วนการส่งออกไปจีนตอนใต้หดตัวร้อยละ 14.2

การนำเข้า ผ่านด่านศุลกากรในภาคเหนือหดตัวร้อยละ 9.4 เหลือ 106.5 ล้านดอลลาร์ สรอ. ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับที่ลดลงร้อยละ 33.6 เดือนก่อน โดยการนำเข้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางหดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 18.9 จากการนำเข้าวัตถุดิบอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ที่มีอย่างต่อเนื่องจากเดือนก่อน และการปรับตัวดีขึ้นของการนำเข้าเพชรดิบเพื่อเจียระไน ขณะที่การนำเข้าสินค้าทุนยังคงลดลงใกล้เคียงกับเดือนก่อน โดยสินค้าทุนนำเข้าที่สำคัญ เช่น ชิ้นส่วนเครื่องจักรไฟฟ้าของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ส่วนการนำเข้าผ่านด่านชายแดนขยายตัวร้อยละ 31.9 เป็น 10.4 ล้านดอลลาร์ สรอ. เร่งตัวเมื่อเทียบกับที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.7 เดือนก่อน โดยการนำเข้าจากลาวเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว การนำเข้าจากจีนตอนใต้ขยายตัวร้อยละ 3.5 ส่วนการนำเข้าจากพม่าหดตัวร้อยละ 13.1 ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2

ดุลการค้า ในเดือนสิงหาคม 2552 เกินดุล 101.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนและเดือนก่อนที่เกินดุล 134.2 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 102.1 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

8. การเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านคลังจังหวัดในภาคเหนือ มีการเบิกจ่ายทั้งสิ้นจำนวน 13,581.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.8 เร่งตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่ลดลงร้อยละ 8.0 โดยรายจ่ายงบลงทุนมีจำนวน 3,185.7 ล้านบาท ขยายตัวร้อยละ 42.1 ตามการเบิกจ่ายของหมวดที่ดิน/สิ่งปลูกสร้างซึ่งมีสัดส่วนร้อยละ 84.2 ของงบลงทุนเพิ่มขึ้นร้อยละ 51.2 ทั้งนี้มีการเบิกรับมากที่จังหวัดเชียงใหม่ พิษณุโลก นครสวรรค์ และเพชรบูรณ์ ด้านรายจ่ายประจำมีจำนวน 10,395.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.4 ตามเงินอุดหนุนทั่วไปขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัว ประกอบกับงบรายจ่ายอื่นและงบดำเนินงานเพิ่มขึ้นร้อยละ 54.6 และร้อยละ 12.0 ตามลำดับ จากระยะเดียวกันของปีก่อน

9. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของภาคเหนือหดตัวน้อยลงเหลือร้อยละ 1.9 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ลดลงร้อยละ 5.1 จากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นสำคัญ ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงโดยเฉลี่ยในประเทศมีราคาสูงขึ้น นอกจากนี้ ยังเป็นผลจากราคาอาหารและสินค้าบางชนิดปรับตัวสูงขึ้นอาทิ ไข่ ปลาและสัตว์น้ำ และสินค้าประเภทเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อน ร้อยละ 0.4

10. การจ้างงาน จากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ณ เดือนกรกฎาคม 2552 ภาคเหนือมีกำลังแรงงานรวม 7.3 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 7.2 ล้านคน ขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.4 โดยการจ้างงานในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.9 เนื่องจากเป็นช่วงฤดูการเพาะปลูก ขณะที่การจ้างงานนอกภาคเกษตรเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 จากการขยายตัวของการจ้างงานในสาขาการผลิต โรงแรม/ภัตตาคาร และการค้าส่ง/ปลีกที่ปรับตัวดีขึ้น ทางด้านผู้ว่างงานมีจำนวน 0.1 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานเท่ากับร้อยละ 1.4 ของกำลังแรงงานรวมภาคเหนือ สูงกว่าร้อยละ 1.3 ระยะเดียวกันปีก่อน สำหรับอัตราการทำงานต่ำกว่าระดับเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 1.4 จากร้อยละ 1.3 ระยะเดียวกันปีก่อน

ด้านจำนวนผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมเพียงสิ้นเดือนสิงหาคม 2552 มีผู้ประกันตนตามมาตรา 33 จำนวน 597,371 คน ลดลงร้อยละ 0.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2551 ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 มีจำนวน 91,334 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนและระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 3.0 และร้อยละ 34.8 ตามลำดับ

11. การเงิน ยอดคงค้างเงินฝากที่สาขาธนาคารพาณิชย์ในภาคเหนือ ณ สิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 378,072 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 7.6 อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้ายอดคงค้างเงินฝากลดลง 7,407 ล้านบาท เนื่องจากมีการถอนเงินฝากไปซื้อพันธบัตรออมทรัพย์ของกระทรวงการคลัง โดยลดลงมากที่จังหวัดเชียงใหม่ กำแพงเพชร ลำปาง และเพชรบูรณ์ ด้านเงินให้สินเชื่อ มียอดคงค้าง 295,649 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 1.7 หดตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน โดยภาคเหนือตอนล่างและตอนบนลดลงร้อยละ 2.9 และร้อยละ 0.7 ตามลำดับ เนื่องจากมีการชำระคืนหนี้คืนของธุรกิจค้าปลีก/ค้าส่งตามธุรกรรมการค้าที่ชะลอตัวลง และของสหกรณ์ออมทรัพย์ครูซึ่งได้แหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารพาณิชย์ ส่งผลให้สินเชื่อลดลงมากที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และลำพูน สำหรับสัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากอยู่ที่ร้อยละ 78.2 ลดลงจากร้อยละ 85.6 ระยะเดียวกันของปีก่อน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : คุณสุรินทร์ อินต๊ะชุ่ม

โทร 0 5393 1166

E-mail: SurinI@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ