แถลงข่าวเศรษฐกิจและการเงินเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ปี 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 30, 2009 15:30 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจในเดือนกันยายนปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการเพิ่มขึ้นของการบริโภคและการใช้จ่ายจากภาครัฐ รวมทั้งอุปสงค์จากต่างประเทศปรับตัวสูงขึ้นตามเศรษฐกิจโลก โดยการส่งออกของไทยแม้จะยังคงหดตัวแต่เป็นการหดตัวในอัตราที่ชะลอลงอย่างต่อเนื่อง สอดคล้องกับการผลิตภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการผลิตเพื่อขายในประเทศและเพื่อการส่งออก ส่วนการลงทุนภาคเอกชนแม้จะดีขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำเนื่องจากผู้ผลิตยังมีกำลังการผลิตเหลืออยู่มากพอที่จะรองรับอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น

เสถียรภาพโดยทั่วไปอยู่ในเกณฑ์ดีจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ ขณะที่การจ้างงานปรับดีขึ้น โดยเฉพาะการจ้างงานในภาคการผลิต

รายละเอียดของภาวะเศรษฐกิจไทยในเดือนกันยายนและไตรมาสที่ 3 ของปี 2552 มีดังนี้

การบริโภคภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน (PCI) เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 4.5 และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนหดตัวลดลงเหลือร้อยละ 1.1 เทียบกับที่หดตัวร้อยละ 4.4 ในเดือนก่อน โดยการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นอยู่ในกลุ่มสินค้าคงทน (Durable goods) อาทิ รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้ง การนำเข้าสินค้าคงทนเพื่อบริโภค ทั้งนี้ การใช้จ่ายในประเทศที่เพิ่มขึ้นนี้ เป็นผลจากการเร่งเบิกจ่ายของภาครัฐ รายได้เกษตรกรที่ดีขึ้น การว่างงานที่ลดลง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีต่อเนื่อง

การส่งออกในเดือนนี้มีมูลค่า 14,749 ล้านดอลลาร์ สรอ. หรือหดตัวร้อยละ 8.3 ปรับตัวดีขึ้นมากเมื่อเทียบกับที่หดตัวร้อยละ 17.9 ในเดือนก่อน ทั้งนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการส่งออกทองคำที่เดือนนี้มีการส่งออกทองคำสูงถึง 1,013 ล้านดอลลาร์ สรอ. อย่างไรก็ดี การส่งออกเมื่อไม่รวมการส่งออกทองคำก็ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องเช่นกันทั้งสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรม อาทิ การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า รวมทั้งยานยนต์ที่มีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศกลับเข้ามาเพิ่มขึ้น ขณะที่การนำเข้าหดตัวน้อยลงในทุกหมวด ทั้งการนำเข้าเพื่อการบริโภค การลงทุน และการผลิต โดยในเดือนนี้การนำเข้ามีมูลค่า 12,701 ล้านดอลลาร์สรอ. หดตัวร้อยละ 18.2 ลดลงจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 33.8

นักท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มกลับมาท่องเที่ยวในประเทศไทยมากขึ้น โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนกันยายน มีจำนวน 1.05 ล้านคน เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนร้อยละ 6.2 และอัตราการเข้าพักหลังปรับฤดูกาลเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 48.6 จากร้อยละ 48.0 ในเดือนก่อน การท่องเที่ยวที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นผลจากการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นตลาดนักท่องเที่ยวหลักของไทย

กำลังซื้อที่เพิ่มขึ้นจากทั้งในและต่างประเทศส่งผลให้ภาคการผลิตปรับตัวดีขึ้น โดยดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรม (MPI) ทั้งการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมเพื่อขายในประเทศและเพื่อการส่งออกปรับตัวดีขึ้น อาทิ การผลิตอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งระดับการผลิตในเดือนนี้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่ในระดับเดียวกับการผลิตช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ โดยยังคงมีคำสั่งซื้อสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จากต่างประเทศถึงไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นตามการผลิต โดยดัชนีการลงทุนภาคเอกชน (PII) ปรับตัวสูงขึ้นเป็นลำดับ แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤตเศรษฐกิจ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์ การลงทุนที่ดีขึ้นสอดคล้องกับดัชนีความเชื่อมั่นภาคธุรกิจในเดือนปัจจุบัน และแนวโน้ม 3 เดือนข้างหน้าที่ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สภาพคล่องในระบบการเงินยังปรับตัวสูงขึ้นจากเดือนก่อนเล็กน้อย โดยเงินฝากของสถาบันการเงินเดือนกันยายน 2552 ขยายตัวร้อยละ 7.4 ใกล้เคียงกับการขยายตัวในเดือนก่อน ขณะที่สินเชื่อภาคเอกชนขยายตัวในอัตราร้อยละ 0.4 ลดลงจากเดือนก่อนเล็กน้อย แต่ยอดคงค้างสินเชื่อเอกชนเดือนนี้ยังคงสูงกว่าเดือนก่อนจำนวน 39.4 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2

เสถียรภาพภายในและต่างประเทศ อัตราเงินเฟ้อเริ่มติดลบน้อยลง จากอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับและผลจากราคาพลังงานที่ปรับสูงขึ้น อัตราการว่างงานปรับลดลงเล็กน้อยจากเดือนก่อนหน้า ดุลการชำระเงินเกินดุลสุทธิ ทั้งจากดุลบัญชีเดินสะพัดและเงินทุนเคลื่อนย้ายสุทธิ

สำหรับภาพรวมไตรมาสที่ 3 ปี 2552 เครื่องชี้ทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาส 2 ทั้งด้านการใช้จ่ายและการผลิตขณะที่การลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นบ้าง แต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับช่วงก่อนเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ การส่งออกในไตรมาส 3 ปรับตัวดีขึ้นมากในการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในภาคอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีสูง (High Tech) ส่วนการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าที่ใช้เรงงาน (Labor Intensive) ปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อย

ข้อมูลเพิ่มเติม: ทีมเศรษฐกิจมหภาค

โทร. 0-2283-5647, 0-2283-5648

e-mail: MPGMacroEconomicsTeam@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ