สรุปภาวะเศรษฐกิจและการเงินภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกันยายน 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Friday October 30, 2009 14:47 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ภาวะเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือเดือนกันยายน 2552 ปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อนเล็กน้อย โดยมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญ และการลงทุนภาคเอกชนขยายตัวขึ้น ขณะที่การอุปโภคบริโภคภาคเอกชนชะลอตัวลง สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมแม้ยังคงหดตัวเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ก็หดตัวน้อยลงจากเดือนสิงหาคม

ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนตามราคาข้าวและ มันสำปะหลังที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี สำหรับดัชนีผลผลิตเพิ่มขึ้นตามปริมาณผลผลิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมยังหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนสิงหาคม จากอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่ยังขยายตัว

การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนเล็กน้อย แต่ชะลอตัวลงจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากภาษีมูลค่าเพิ่มและการจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน เนื่องจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการไทยเข้มแข็งที่เริ่มกระจายลงสู่ภูมิภาคหลายโครงการทำให้นักลงทุนมีการลงทุนเพิ่มขึ้น การใช้จ่ายจากภาครัฐ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ก็ชะลอลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน รายได้ภาครัฐ จัดเก็บได้ชะลอลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนตามการลดลงของการจัดเก็บภาษีสรรพากร และอากรขาเข้า อย่างไรก็ตามภาษีสรรพสามิตยังจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น มูลค่าการค้าชายแดนไทย ลาว และ ไทย กัมพูชา ยังคงลดลงอย่างต่อเนื่อง

ภาคการเงิน ธนาคารพาณิชย์ เงินฝากยังเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอจากเดือนก่อน โดยเงินฝากออมทรัพย์ยังคงขยายตัว ในขณะที่เงินฝากประจำลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน ด้านเงินให้สินเชื่อชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง สำหรับธนาคารเฉพาะกิจ เงินฝากและสินเชื่อเพิ่มขึ้นอย่างน่าสังเกต เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของ ปีก่อน อัตราเงินเฟ้อ ทั่วไปติดลบร้อยละ 0.8

รายละเอียดของแต่ละภาคเศรษฐกิจ มีดังนี้

1. ภาคเกษตรกรรม ดัชนีมูลค่าผลผลิตพืชสำคัญเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.4 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 0.3 โดยดัชนีราคาเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.9 ตามราคาข้าวและ มันสำปะหลังเป็นสำคัญ เนื่องจากความต้องการของตลาดส่งออกอยู่ในเกณฑ์ดี ส่วนดัชนีผลผลิตเทียบกับระยะเดียวกันของ ปีก่อนเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.5 ตามปริมาณผลผลิตของข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

ข้าว ราคาขายส่งข้าวเปลือกหอมมะลิเฉลี่ยเกวียนละ 15,319 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.0 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.0 เนื่องจากผู้ส่งออกเร่งส่งออกด้วยความกังวลเกี่ยวกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มแข็งค่า ขณะที่ราคาขายส่งข้าวเปลือกเหนียว 10% (เมล็ดยาว) เฉลี่ยเกวียนละ 7,875 บาท เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 8.0 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 0.6

มันสำปะหลัง ราคาขายส่งมันสำปะหลังเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.39 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อน ร้อยละ 4.8 ส่วนราคามันเส้นเฉลี่ยกิโลกรัมละ 3.57 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 27.1 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 16.7 และ 27.8 ตามลำดับ เนื่องจากในระยะนี้ฝนตกชุกทำให้ผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย

ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ราคาขายส่งข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เฉลี่ยกิโลกรัมละ 5.66 บาท ลดลงจากระยะเดียวกันของ ปีก่อนร้อยละ 23.4 เนื่องจากผลผลิตที่ออกสู่ตลาดในฤดูกาลนี้มีปริมาณมาก และราคาในตลาดโลกปรับตัวลดลง อย่างไรก็ดี ราคาในเดือนนี้เริ่มปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 33.1

2. ภาคอุตสาหกรรม ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมหดตัวจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.2 แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ 10.1 เนื่องจากอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อส่งออกชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในกลุ่ม Hard Disk Drive (HDD) ที่ยังคงขยายตัวร้อยละ 8.9 จากระยะเดียวกันของปีก่อน และขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ภาคบริการ การท่องเที่ยวในภาคเดือนนี้มีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 41.2 ลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 45.5 และลดลงจากเดือนสิงหาคม ที่มีอัตราการเข้าพักแรมร้อยละ 43.1

3. การอุปโภคบริโภคภาคเอกชน เพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากระยะเดียวกันของปีก่อน แต่ชะลอตัวจากเดือนก่อน โดยดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 1.1 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.6 ทั้งนี้ เครื่องชี้ที่เพิ่มขึ้น ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่จัดเก็บได้เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 การจดทะเบียนรถยนต์นั่งส่วนบุคคล เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.7 เนื่องจากในเดือนกันยายนมีรถยนต์รุ่นใหม่ออกมามาก ประกอบกับกิจกรรมส่งเสริมการขายที่ออกมากระตุ้นการใช้จ่ายของผู้บริโภค สำหรับปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อที่อยู่อาศัย เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 10.0

อย่างไรก็ตาม เครื่องชี้ที่ลดลง ได้แก่ การจดทะเบียนรถยนต์บรรทุกส่วนบุคคลและรถจักรยานยนต์ ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 19.8 และร้อยละ 1.0 ตามลำดับ แต่ก็ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อน

4. การลงทุนภาคเอกชน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนและขยายตัวมากขึ้นจากเดือนก่อน เป็นผลจากแผนกระตุ้นเศรษฐกิจจากมาตรการไทยเข้มแข็งที่เริ่มกระจายลงสู่ภูมิภาคหลายโครงการ ทำให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นและตัดสินใจลงทุนเพิ่มขึ้น โดยเครื่องชี้ทุกตัวเพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนและเดือนก่อน ได้แก่ การจดทะเบียนธุรกิจตั้งใหม่ จำนวน 895.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 161.5 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเกิดจากการแปรสภาพของ ห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัด จำนวน 115.2 ล้านบาท หากไม่นับรวมแล้วยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 127.8 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการจดทะเบียนธุรกิจภัตตาคารรายใหญ่ในจังหวัดอุดรธานี 150 ล้านบาท และธุรกิจเลี้ยงสัตว์ปีกในจังหวัดนครราชสีมา 50 ล้านบาท

พื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมือง เพิ่มขึ้นร้อยละ 149.3 เร่งตัวขึ้นจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.5 เนื่องจากมีการยื่นขอเปลี่ยนแปลงแบบของห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น ซึ่งหากไม่นับรวมแล้วพื้นที่รับอนุญาตก่อสร้างในเขตเทศบาลนครและเทศบาลเมืองยังคงเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.3 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน

เงินลงทุนของโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการและโครงการที่ได้รับอนุมัติส่งเสริมการลงทุน เพิ่มขึ้นร้อยละ 104.4 และร้อยละ 32.7 ตามลำดับ ปริมาณการใช้ไฟฟ้าเพื่อธุรกิจและอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.5

5. ภาคการคลัง รายได้ของภาคระฐบาล เดือนนี้จัดเก็บภาษีอากรได้ 3,203.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 4.0 ชะลอตัวจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.2 เป็นผลจากภาษีสรรพากร และอากรขาเข้าจัดเก็บได้ลดลง ส่วนภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้เพิ่มขึ้น มีรายละเอียดดังนี้

ภาษีสรรพากรจัดเก็บได้ 1,694.1 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.8 เป็นผลจากภาษีเงินได้นิติบุคคลลดลง เนื่องจากในเดือนกันยายนของปีก่อน นิติบุคคลบางส่วนยื่นชำระภาษีเงินได้รอบครึ่งปีบัญชี 2551 ไว้เหลื่อมเดือน ส่วนภาษีมูลค่าเพิ่มชะลอตัวจากเดือนก่อน เนื่องจากภาษีจากการนำเข้าสินค้าลดลงเป็นสำคัญ

ภาษีอากรขาเข้าจัดเก็บได้ 15.7 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 27.5 ตามการลดลงของอากรขาเข้าจากด่านศุลกากรมุกดาหาร และด่านศุลกากรหนองคาย

ภาษีสรรพสามิตจัดเก็บได้ 1,493.6 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.7 ขยายตัวจากเดือนก่อน เป็นผลจากการจัดเก็บภาษีสุราเพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ยื่นชำระภาษีไว้ล่วงหน้า เพื่อผลิตเครื่องดื่มไว้รองรับการบริโภคที่เพิ่มขึ้น

การเบิกจ่ายงบปรัมาณ เดือนนี้มีการเบิกจ่ายรวมทั้งสิ้น 22,375.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.9 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่เดือนกรกฎาคม แต่ชะลอลงจากเดือนก่อน เป็นการเพิ่มขึ้น ทั้งรายจ่ายประจำและรายจ่ายลงทุน โดยส่วนราชการที่มีการเบิกจ่ายเพิ่มขึ้น ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการศึกษาขั้นพื้นฐาน และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ประกอบกับมีการเบิกจ่ายเงินงบกลาง ในหมวดเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นเพิ่มขึ้น จำแนกเป็น

รายจ่ายประจำ 16,191.0 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.1 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดเงินเดือน

รายจ่ายลงทุน 6,184.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 82.0 ส่วนใหญ่เป็นรายจ่ายหมวดที่ดินและ สิ่งปลูกสร้าง หมวดเงินอุดหนุนทั่วไปและหมวดเงินอุดหนุนเฉพาะกิจ

6. การค้าต่างประเทศ

การค้าชายแดนไทย - ลาว เดือนนี้มีมูลค่าการค้า 5,715.3 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 16.1 ลดลงมากขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 8.1 เป็นผลจากการลดลงทั้งมูลค่าการส่งออกและนำเข้า โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มีมูลค่า 4,555.7 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 3.2 จากการลดลงของการส่งออกยานพาหนะและส่วนประกอบ น้ำมันปิโตรเลียม วัสดุก่อสร้างและเหล็ก เครื่องจักรและอุปกรณ์ ผ้าและอุปกรณ์ตัดเย็บ อย่างไรก็ตาม ยังมีสินค้าส่งออกสำคัญที่มูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น คือ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือน เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ กระบือ โค และสุกรมีชีวิต

การนำเข้า มีมูลค่า 1,159.6 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 45.0 จากการลดลงของสินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สินแร่ทองแดง ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้ ยานพาหนะและส่วนประกอบ สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วลิสง เสื้อผ้าเครื่องแต่งกายจากประเทศจีน รวมถึงการนำกลับเครื่องจักรและอุปกรณ์

การค้าชายแดนไทย - กัมพูชา มูลค่าการค้า 3,430.6 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.1 จากการลดลงของการส่งออกและนำเข้า แต่ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 25.2 โดยมีรายละเอียดดังนี้

การส่งออก มูลค่า 3,278.5 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 13.0 สินค้าส่งออกสำคัญที่ลดลง ได้แก่ ยานพาหนะและส่วนประกอบ น้ำมันเชื้อเพลิงและน้ำมันหล่อลื่น สุกรและโคมีชีวิต วัสดุก่อสร้าง และเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและอุตสาหกรรม สำหรับสินค้าสำคัญที่ยังคงมีการส่งออกได้เพิ่มขึ้น ได้แก่ สินค้าอุปโภคบริโภคในครัวเรือนโดยเฉพาะน้ำตาล เครื่องดื่มบำรุงร่างกาย ผลิตภัณฑ์ชำระล้าง วัตถุดิบประเภท ผ้า ปุ๋ย อาหารสัตว์ และเม็ดพลาสติกรวมถึงผลิตภัณฑ์พลาสติก

การนำเข้า มูลค่า 152.1 ล้านบาท ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 14.5 สินค้านำเข้าสำคัญที่ลดลงได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เสื้อผ้าเก่าและผ้าห่มเก่า สำหรับสินค้านำเข้าสำคัญที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้น ได้แก่ เศษวัสดุ เสื้อผ้าเครื่องแต่งกาย และการนำกลับเครื่องจักรอุปกรณ์ที่ใช้ในการเกษตรและโครงการก่อสร้าง

7. ระดับราคา ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.8 เป็นการลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ เป็นผลจากการลดลงของสินค้าหมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มร้อยละ 3.3 โดยราคาในหมวดการบันเทิงการอ่านการศึกษา และการศาสนาลดลงร้อยละ 14.7 จากค่าหนังสือและอุปกรณ์การศึกษา หมวดพาหนะ การขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ 8.1 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ลดลงร้อยละ 9.7 อย่างไรก็ตามหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.2 จากผลิตภัณฑ์ยาสูบและผลิตภัณฑ์เบียร์ที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 24.2 และร้อยละ 15.9 ตามลำดับ

สำหรับสินค้าในหมวดอาหารและเครื่องดื่มเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนชะลอลงจากเดือนก่อนที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.8 โดยสินค้าที่มีราคาเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง ได้แก่ หมวดเนื้อสัตว์ร้อยละ 7.5 ไข่ร้อยละ 7.4 ผักและผลไม้ร้อยละ 6.2 สำหรับดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานลดลงเป็นเดือนที่ 4 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 0.1

8. ภาคการจ้างงาน ภาวะการทำงานเดือนสิงหาคม 2552 มีกำลังแรงงานรวมทั้งสิ้น 13.0 ล้านคน เป็นผู้มีงานทำ 12.8 ล้านคน ทำงานในภาคเกษตรกรรม 7.5 ล้านคน และนอกภาคเกษตร 5.3 ล้านคน แรงงานส่วนใหญ่ทำงานด้านการขายส่ง การขายปลีก อุตสาหกรรมการผลิตและการก่อสร้าง สำหรับผู้ว่างงานมีจำนวน 0.14 ล้านคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนที่มีอัตราการว่างงานร้อยละ 0.9

ด้านภาวะการจ้างงานเดือนกันยายน 2552 มีผู้สมัครงานจำนวน 11,157 คน เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 7.8 ในขณะที่มีตำแหน่งงานว่างจำนวน 6,752 อัตรา เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันของปีก่อนร้อยละ 75.9 โดยความต้องการแรงงาน ส่วนใหญ่เป็นงานในอุตสาหกรรมการผลิต ในจังหวัดนครราชสีมาและอุดรธานี สำหรับ ผู้ที่ได้รับการบรรจุงาน 8,728 คน เพิ่มขึ้นจากเดือนเดียวกันของปีก่อน 47.4 ส่วนใหญ่เป็นการบรรจุงานในอาชีพงานพื้นฐาน เสมียนและเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะในจังหวัดขอนแก่นที่กำลังจะมีการเปิดห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่

สำหรับคนไทยในภาคที่ขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมีจำนวน 7,007 คน ลดลงร้อยละ 19.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อนที่ลดลงร้อยละ 5.1 โดยลดลงจากแรงงานที่เดินทางไป ทำงานในประเทศไต้หวัน อิสราเอล ลิเบีย คูเวต และกาตาร์ จังหวัดที่มีคนไทยขออนุญาตเดินทางไปทำงานต่างประเทศมาก ได้แก่ อุดรธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และบุรีรัมย์

9. ภาคการเงินธนาคารพาณิชย์ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2552 เงินฝากของธนาคารพาณิชย์ในภาคมีจำนวน 382,094 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน ชะลอจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 โดยเงินฝากออมทรัพย์ยังคงขยายตัว ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเงินฝากของส่วนราชการเพื่อรอการใช้จ่ายเงินตามงบประมาณ ในขณะที่เงินฝากประจำลดลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากการถอนเงินไปลงทุนในกองทุนรวม และพันธบัตรรัฐบาล ส่งผลให้อัตราการขยายตัวของเงินฝากชะลอจากเดือนก่อน

ด้านเงินให้สินเชื่อ มีจำนวน 369,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยอัตราการขยายตัวของสินเชื่อชะลอตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน จากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อ สำหรับในเดือนนี้ตั๋วเงินยังคงลดลงเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก เท่ากับร้อยละ 96.7 ลดลงจากระยะเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 102.9 เป็นผลจากการชะลอตัวทั้ง เงินฝากและสินเชื่อ

ธนาคารเฉพาะกิจ (ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย) ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 มีเงินฝากจำนวน 195,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 11.7 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของเงินฝากธนาคารออมสิน ด้านเงินให้สินเชื่อ มีจำนวน 431,209 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 16.6 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวของการให้สินเชื่อของธนาคารออมสิน

ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ข้อมูลเพิ่มเติม : นายโรจน์ลักษณ์ ปรีชา

โทร. 0-4333-3000 ต่อ 3411 e-mail: Rotelakp@bot.or.th

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ