การปรับปรุงการบันทึกสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights) และผลกระทบต่อการจัดทำข้อมูล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 30, 2009 17:00 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สุวัชชัย ใจข้อ

ปุณฑริก ศุภอมรกุล

บทคัดย่อ

สิทธิพิเศษถอนเงินหรือ Special Drawing Rights (SDRs) เป็นสินทรัพย์ในสกุลเงินสมมติที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และจัดสรรไปให้ประเทศสมาชิกถือครอง เพื่อใช้เสริมเงินสำรองระหว่างประเทศ และสร้างสภาพคล่องอันเอื้อต่อการขยายตัวของการค้าและการเงิน

ประเทศสมาชิกของกองทุนการเงินฯ จะต้องแสดงมูลค่าการถือครอง SDRs ที่ได้รับจัดสรรให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในคู่มือการจัดทำสถิติเศรษฐกิจ ซึ่งแนวทางที่ถือปฏิบัติมาแนะนำให้บันทึกสิทธิพิเศษถอนเงินที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนการเงินฯ เป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศในบัญชีของธนาคารกลาง และไม่บันทึกเป็นหนี้สินเนื่องจากประเทศสมาชิกที่ได้รับการจัดสรรสิทธิพิเศษถอนเงินไม่ได้มีภาระผูกพันหรือหนี้สินที่จะต้องชำระเงินหนี้คืน

เนื่องจากได้มีการจัดทำคู่มือการจัดทำบัญชีประชาชาติและคู่มือการจัดทำดุลการชำระเงินขึ้นมาใหม่

หนึ่งในประเด็นการปรับปรุง คือคำนิยามของ SDRs รวมทั้งวิธีการบันทึกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องในบัญชีต่างๆ

คู่มือการจัดทำข้อมูลฉบับใหม่ได้แนะนำให้บันทึกการจัดสรร SDRs เป็นการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์และหนี้สินในจำนวนที่เท่ากัน โดยให้บันทึกในบัญชีของธนาคารกลาง

เพื่อให้สอดคล้องกับมาตราฐานสากลในการบันทึกข้อมูล ธปท.ได้ปรับวิธีการบันทึก SDRs โดยเมื่อได้รับการจัดสรร SDRs เพิ่มเติม จะบันทึกธุรกรรมด้านหนี้สินเพิ่มในดุลการชำระเงิน จากเดิมที่บันทึกเฉพาะด้านสินทรัพย์ และปรับวิธีการบันทึกในสถิติการเงินในส่วนของหนี้สิน จากเดิมที่บันทึกเป็นส่วนของทุน นอกจากนี้ ได้ปรับเพิ่มยอดคงค้างหนี้ต่างประเทศ และฐานะการลงทุนระหว่างประเทศตามจำนวน SDRs ที่ได้รับจัดสรร โดยในเดือนสิงหาคมและกันยายน 2552 ธปท. ได้บันทึกเพิ่มหนี้ต่างประเทศจำนวน 1,251.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 132.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

นอกจากการปรับวิธีการบันทึกการจัดสรร SDRs ใหม่ตามแนวทางข้างต้นแล้วนั้น เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในทุกบัญชีเศรษฐกิจ ธปท. ได้ปรับข้อมูลอนุกรมเวลาย้อนหลังถึงปี 2546 และทำการเผยแพร่ข้อมูลดังกล่าวในเดือนธันวาคม 2552

1. บทนำ

สิทธิพิเศษถอนเงินหรือ Special Drawing Rights (SDRs) เป็นสินทรัพย์ในสกุลเงินสมมติที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) และจัดสรรให้ประเทศสมาชิกถือครอง เพื่อใช้เสริมเงินสำรองระหว่างประเทศและเสริมสภาพคล่อง เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายตัวของการค้าและการเงิน

เมื่อประเทศสมาชิกของกองทุนการเงินฯ ได้รับจัดสรร SDRs แล้ว จำเป็นจะต้องแสดงมูลค่าของ SDRs ที่ได้รับจัดสรรให้เป็นไปตามวิธีการที่กำหนดไว้ในคู่มือการจัดทำสถิติเศรษฐกิจ ซึ่งธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรร SDRs จะถูกบันทึกในสถิติการเงิน ดุลการชำระเงิน ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และหนี้ต่างประเทศ

ตามคู่มือบัญชีประชาชาติปี 2536 (System of National Accounts 1993 - SNA1993) คู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 5 (Balance of Payments Manual 5th edition — BPM5) และคู่มือการจัดทำสถิติอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ได้แนะนำให้บันทึก SDRs ที่ได้รับจัดสรรจากกองทุนการเงินฯ ตามหลักบัญชีคู่ โดยธุรกรรมด้านหนึ่งเป็นสินทรัพย์ส่วนหนึ่งของเงินสำรองระหว่างประเทศ และธุรกรรมอีกด้านหนึ่งนับเป็นทุน (Shares and Equities)ไม่บันทึกเป็นหนี้สิน เนื่องจากประเทศสมาชิกที่ได้รับการจัดสรร SDRs ไม่ได้มีภาระผูกพันหรือมูลหนี้ที่จะต้องชำระคืน

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการปรับคู่มือบัญชีประชาชาติปี 2551 (SNA2008) และคู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 6 (BPM6) หลักการและนิยามข้อมูลสถิติได้ถูกปรับให้มีความทันสมัย ครอบคลุมธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้น หนึ่งในประเด็นการปรับปรุง คือ คำนิยามของ SDRs รวมทั้งวิธีการบันทึกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องในบัญชีต่างๆ อีกด้วย

บทความนี้แบ่งเป็น 4 ส่วน โดยส่วนแรกเป็นความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ SDRs ตั้งแต่ความเป็นมา ความจำเป็นในการสร้าง SDRs ตลอดจนบทบาทของ SDRs ต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ส่วนที่สองเป็นการจัดสรร SDRs ให้กับประเทศสมาชิก รวมทั้งประเทศไทย ส่วนที่สามกล่าวถึงการบันทึก SDRs ตามแนวทางคู่มือการจัดทำข้อมูลขององค์กรระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการบันทึกการจัดสรร SDRs ตามคู่มือบัญชีประชาชาติ

(Systems of National Account) และคู่มือดุลการชำระเงิน (Balance of Payments Manual) ซึ่งเป็นมาตรฐานของประเทศต่างๆ ที่ใช้อ้างอิงในการจัดทำข้อมูล และส่วนสุดท้ายของบทความเป็นผลกระทบกรณีของประเทศไทย ที่เกิดจากการปรับปรุงการบันทึก SDRs

2. ความเข้าใจเบื้องต้นเกี่ยวกับ SDRs

สิทธิพิเศษถอนเงิน (SDRs) เป็นเครื่องมือที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินฯ ในปี 2512 เพื่อสนับสนุนการบริหารค่าเงินภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ หรือที่เรียกว่า Bretton Woods fixed exchange rate system

ในการดำเนินนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ภายใต้ระบบ Bretton Woods นั้น ประเทศต่างๆ จำเป็นต้องมีเงินสำรองระหว่างประเทศ (International reserves) ซึ่งเป็นสินทรัพย์ที่มีสภาพคล่อง มีความเป็นสากล สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ในตลาดระหว่างประเทศ โดยทั่วไปแล้ว นิยมถือครองทองคำและเงินตราต่างประเทศ เพราะมีความคล่องตัวในการซื้อขายในตลาดการเงินเพื่อบริหารค่าเงินให้คงที่ แต่เนื่องจากในขณะนั้น อุปทานของทองคำและดอลลาร์ สรอ. มีไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับการขยายตัวของการค้าและการเงินระหว่างประเทศ กองทุนการเงินฯ จึงได้สร้างสินทรัพย์ในสกุลเงินสมมติ เรียกว่า สิทธิพิเศษถอนเงิน (SDRs) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่างๆ ใช้เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มเติม และเพิ่มสภาพคล่องให้กับประเทศสมาชิก

ในปี 2516 ภายหลังการล้มเลิกระบบ Bretton Woods บทบาทของ SDRs ในตลาดการเงินลดน้อยลง เนื่องจากประเทศต่างๆ หันไปใช้นโยบายอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวแทนระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่ ปัจจุบัน SDRs ทำหน้าที่เป็นเพียงเงินสำรองระหว่างประเทศประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศได้ โดยการแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่นๆ (Freely usable currency) เท่านั้น

ความสำคัญของ SDRs ในการเป็นส่วนประกอบของเงินสำรองระหว่างประเทศ เทียบได้กับสินทรัพย์ประเภททองคำ เงินตราต่างประเทศ และสินทรัพย์ส่งสมทบกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (Reserve position in the Fund) ที่จะสามารถนำออกมาใช้ได้เมื่อมีปัญหาดุลการชำระเงินเท่านั้น แผนภาพที่ 1 แสดงกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับ SDRs โดยเฉพาะกระบวนการนำ SDRs ออกมาใช้ ในขั้นแรกจะต้องนำ SDRs ไปแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่นๆ จากประเทศสมาชิกอื่นที่กำหนดโดยกองทุนการเงินฯ หรือประเทศสมาชิกที่สมัครใจรับแลก เมื่อได้รับการแลกเปลี่ยนเป็นสกุลเงินอื่นแล้วประเทศดังกล่าวจึงสามารถนำเงินนั้นไปใช้ได้

ในช่วงที่สนธิสัญญา Bretton Woods ยังคงมีผลบังคับใช้ มูลค่าของ SDRs ถูกกำหนดให้คงที่เท่ากับ 1 ดอลลาร์ สรอ. หรือเทียบเท่ากับทองคำ 0.88671 กรัม ภายหลังการล้มเลิกระบบ Bretton Woods มูลค่าของ SDRs ได้ถูกกำหนดตามมูลค่าของหลายสกุลเงิน หรือที่เรียกว่าตะกร้าเงิน ซึ่งในปัจจุบันตะกร้าเงินสำหรับการกำหนดค่า SDRs ประกอบด้วยสกุลเงินตราต่างประเทศ 4 สกุลหลัก ได้แก่ ยูโร เยน ปอนด์สเตอร์ลิงค์ และดอลลาร์สรอ.นำมาถ่วงน้ำหนักเทียบใช้เป็นสกุลเงินหลักของกองทุนการเงินฯ โดยในตะกร้าเงินดังกล่าวจะกำหนดสัดส่วนของแต่ละสกุลไว้คงที่ และคำนวณมูลค่าเทียบเท่าดอลลาร์ สรอ.ตามราคาตลาด ซึ่งอ้างอิงจากอัตราแลกเปลี่ยน ณ เที่ยงวันของตลาดเงินตราต่างประเทศของประเทศอังกฤษ วิธีการกำหนดมูลค่าของ SDRs โดยใช้ตะกร้าเงินนี้ได้รับการยอมรับว่าทำให้มูลค่าของ SDRs มีเสถียรภาพที่สุด

สกุลเงินที่อยู่ในตะกร้าเงินสามารถเปลี่ยนแปลงได้ โดยเกณฑ์ในการคัดเลือกสกุลเงินที่อยู่ในตะกร้าจะต้องเป็นสกุลเงินที่ออกใช้โดยประเทศสมาชิกของกองทุนการเงินฯ หรือ Monetary union ที่มีประเทศสมาชิกของกองทุนการเงินฯ เป็นสมาชิก และประเทศนั้นๆ จะต้องมีมูลค่าการส่งออกและนำเข้าสินค้าในระยะ 5 ปีก่อนการทบทวนสัดส่วนในตะกร้าเงินในระดับสูง การทบทวนความเหมาะสมและการกำหนดสัดส่วนในตะกร้าเงิน จะทำเป็นประจำทุก 5 ปี โดยคณะกรรมการบริหารของกองทุนการเงินฯ (Executive Board) เพื่อให้แน่ใจว่าสุกลเงินที่อยู่ในตะกร้ายังมีบทบาทและความสำคัญในการค้าและการเงินของโลก การทบทวนสัดส่วนของตะกร้าเงินครั้งล่าสุด ได้พิจารณาเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2548 และมีการปรับน้ำหนักของบางสกุลเงินเพื่อให้สะท้อนกับบทบาทในเศรษฐกิจโลก สำหรับการทบทวนครั้งต่อไปกำหนดให้มีขึ้นในปี 2553

ทั้งนี้ กองทุนการเงินฯ จะประกาศมูลค่าของ SDRs เทียบเท่าดอลลาร์ สรอ. เป็นรายวันใน website ของกองทุนการเงินฯ

3. การจัดสรร SDRs ให้กับประเทศสมาชิก

ภายใต้พันธะของข้อตกลงว่าด้วยของกองทุนการเงินฯ (Article of Agreement) การจัดสรร SDRs ให้กับประเทศสมาชิกจะเป็นการจัดสรรตามส่วนของสิทธิ(*1) ที่ประเทศนั้นๆ มีอยู่กับกองทุนการเงินฯ โดยการจัดสรร SDR สามารถจำแนกได้เป็น 2 ประเภท

(1) การจัดสรรทั่วไป (General allocation) คือการจัดสรรตามความต้องการของประเทศต่างๆ ในการเสริมเงินสำรองระหว่างประเทศ และเพื่อรองรับการขยายตัวทางการค้าและการเงินโลก นับตั้งแต่มีการจัดตั้งกองทุนการเงินฯ มีการจัดสรรทั่วไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง

การจัดสรรครั้งแรกเกิดขึ้นระหว่างปี 2513 — 2515 เป็นการทะยอยจัดสรรแบบเป็นงวด มูลค่าของ SDRs ที่ได้รับการจัดสรรทั้งหมดเท่ากับ 9.3 พันล้าน SDR การจัดสรรครั้งที่สองระหว่างปี 2522 — 2524 มีมูลค่า SDRs รวมทั้งหมด 12.1 พันล้าน SDR สำหรับการจัดสรรครั้งที่สาม ได้รับอนุมัติจากคณะผู้บริหารของกองทุนการเงินฯ ให้จัดสรรเพิ่มเติมเมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2552 รวมมูลค่าที่จัดสรรในครั้งนี้ 161.2 พันล้าน SDR และมีผลทางบัญชีต่อประเทศสมาชิกในวันที่ 28 สิงหาคม 2552 ซึ่งการจัดสรรในครั้งที่สามนี้ ได้ทำให้ปริมาณการจัดสรรสะสมสำหรับประเทศสมาชิกทุกประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 74.13 ของโควต้าทั้งหมด

(2) การจัดสรรพิเศษ (Special allocation) เป็นการจัดสรรพิเศษแบบครั้งเดียว ซึ่งได้รับการอนุมัติจาก Board of Governors ของกองทุนการเงินฯ เมื่อเดือนกันยายน 2540 ในการแก้ไขครั้งที่ 4 ของข้อตกลงว่าด้วยกองทุนการเงินฯ (Fourth amendment to the Article of Agreement) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศสมาชิกทุกประเทศสามารถเข้าร่วมในระบบและใช้ SDRs ได้อย่างเท่าเทียมกัน

นอกจากนี้ เพื่อให้ประเทศที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกกองทุนการเงินฯ หลังปี 2524 และยังไม่เคยได้รับการจัดสรร SDRs จากกองทุนการเงินฯ เลย ซึ่งมีประมาณร้อยละ 20 ของประเทศสมาชิกในปัจจุบัน(*)2 ได้รับการจัดสรร SDRs ด้วย โดยการจัดสรรพิเศษนี้จะทำให้ปริมาณการจัดสรรสะสมของประเทศสมาชิกเพิ่มขึ้น 21.5 พันล้าน SDR ทั้งนี้ กองทุนการเงินฯ ได้จัดสรรพิเศษให้กับประเทศสมาชิกแล้วในวันที่ 9 กันยายน 2552

การจัดสรร SDRs ให้กับประเทศไทย

ประเทศไทยเข้าร่วมเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินฯ เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2492 เป็นสมาชิกลำดับที่ 44 โดยมีธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นตัวแทนของประเทศไทยในกองทุนการเงินฯ ประเทศไทยได้รับการจัดสรร SDRs รวมทั้งหมด 4 ครั้ง โดยครั้งแรกได้รับจัดสรร 28.5 ล้าน SDR ครั้งที่สองจำนวน 46.1 ล้าน SDR และครั้งที่สามได้รับจัดสรรทั้งแบบทั่วไปจำนวน 802.0 ล้าน SDR และแบบพิเศษจำนวน 83.6 ล้าน SDR ทำให้ ณ สิ้นเดือนกันยายน 2552 ประเทศไทยถือครอง SDRs รวมทั้งสิน 970.3 ล้าน SDR

4. การบันทึก SDRs ตามแนวทางการจัดทำข้อมูลขององค์กรระหว่างประเทศ

ในส่วนนี้จะเปรียบเทียบการบันทึก SDRs ตามคู่มือฉบับเดิมตามข้อ 4.1 และคู่มือฉบับใหม่ที่ปรับปรุงให้นิยามและข้อมูลสถิติมีความทันสมัย และครอบคลุมธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนมากขึ้นตามข้อ 4.2

4.1 การบันทึก SDRs ตามคู่มือบัญชีประชาชาติ (System of National Accounts 1993 - SNA1993) และคู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 5 (Balance of Payments Manual 5th edition — BPM5)

ตามคำนิยามในคู่มือบัญชีประชาชาติปี 2536 (SNA1993) คู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 5 (BPM5) และคู่มือการเงิน (Monetary and Financial Statistics Manual — MFSM) SDRs คือสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศชนิดหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินฯ เพื่อใช้เสริมสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศที่ประเทศสมาชิกถือครองอยู่ การบันทึก SDRs จะปรากฏในบัญชีการเงินของธนาคารกลาง Monetary authority หรือรัฐบาลในกรณีที่รัฐบาลทำหน้าที่เสมือนเป็นธนาคารกลาง

สำหรับการบันทึกการจัดสรร SDRs หรือการยกเลิก SDRs มีแนวทางการบันทึกในบัญชีต่างๆ ดังนี้

(1) บัญชีประชาชาติตาม SNA1993 (ย่อหน้า 11.67) ระบุไว้ว่า SDRs เป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินฯ ซึ่งได้จัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิกเพื่อใช้เสริมสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศที่ประเทศสมาชิกถือครองอยู่ และควรบันทึกยอดคงค้างสะสมการจัดสรร SDRs ในบัญชีการเงินของธนาคารกลางโดยมีผู้ร่วมทำธุรกรรม (Counter party) คือ Rest of the World

ตามหลักการที่กำหนดไว้ในSNA1993 SDRs ไม่ได้ถือเป็นหนี้สินของกองทุนการเงินฯ และประเทศสมาชิกที่ได้รับการจัดสรร SDRs ไม่ได้มีภาระผูกพันและหรือหนี้สินที่จะต้องชำระเงินคืนการจัดสรรดังกล่าว ดังนั้น การจัดสรร SDRs หรือการยกเลิก SDRs จะไม่ปรากฎเป็นธุรกรรมในบัญชีประชาชาติ แต่จะบันทึกเป็นการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในบัญชีสินทรัพย์(*3) แทน

(2) บัญชีดุลการชำระเงินตาม BPM5 ระบุแนวทางการบันทึกการจัดสรร SDRs ไว้สอดคล้องกับแนวทางการบันทึกใน SNA1993 โดยแนะนำให้บันทึกการจัดสรร SDRs เป็นสินทรัพย์เท่านั้น และไม่บันทึกหนี้สินเนื่องจากไม่ได้เป็นหนี้ที่แท้จริงและไม่มีเงื่อนไขในการชำระคืนการจัดสรรดังกล่าว นอกจากนี้ BPM5 ได้ขยายความเพิ่มเติมในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นเกี่ยวกับการถือครอง SDRs ของธนาคารกลาง โดยยอดคงค้างการถือครอง SDRs สามารถเปลี่ยนแปลงได้ใน 2 กรณี กล่าวคือ (1) จากการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนหรือรับและจ่าย SDRs ให้กับกองทุนการเงินฯ หรือผู้ถือครอง SDRs ประเทศอื่นๆ และ (2) จากการจัดสรรหรือการยกเลิก SDRs

ทั้งนี้ ธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการแลกเปลี่ยนหรือรับและจ่าย SDRs เช่น การรับหรือจ่ายดอกเบี้ย SDRs นั้น จะถูกบันทึกเป็นธุรกรรมในบัญชีดุลการชำระเงิน สำหรับการจัดสรรและหรือการยกเลิก SDRs จะไม่ปรากฎเป็นธุรกรรมในดุลการชำระเงิน แต่บันทึกเป็นการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในฐานะการลงทุนระหว่างประเทศแทน (ตารางที่ 1)

ตารางที่ 1 : แนวทางการบันทึกการสรร SDRs ในดุลการชำระเงินและฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ ตาม BPM5

BOP
Items                              Debit                              Credit
Current Account
Other investment income   Accrued interest on SDR allocations     Accrued interest on SDR holdings
Reserve Assets
  Holdings of SDRs          SDR allocations + accrued by

unsettled interest on total

outstanding holdings

IIP
Items             Opening       Transaction     Valuation       Other            Ending
                   Balance     (BOP Flow)        Changes       Changes           Balance
Reserve Assets
Holdings of SDRs                 No flow                      SDRs Allocated

/ Canceled ที่มา : Balance of Payments Manual 5th edition, IMF

(3) สถิติการเงินตาม MFSM แนะนำให้บันทึกการจัดสรร SDRs ในงบดุลของธนาคารกลาง (Sectoral Balance for Central Bank) โดยให้บันทึกการจัดสรร SDRs เป็นสินทรัพย์ต่างประเทศภายใต้หัวข้อสินทรัพย์ต่างประเทศ สิทธิเรียกร้องจากผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ นอกจากนี้ MFSM ใน Appendix 1 ได้แนะนำเพิ่มเติมให้บันทึกการจัดสรร SDRs ในซีกขวาของงบดุล โดยให้บันทึกภายใต้ส่วนของทุน (Share and equities) แทนการบันทึกเป็นหนี้สินต่างประเทศ เนื่องจากการจัดสรรมีลักษณะของการโอนให้ที่ไม่มีค่าตอบแทนหรือภาระผูกพัน (Unrequited transfers)

ตารางที่ 2 : แนวทางการบันทึกการสรร SDRs ในสถิติการเงิน ตาม MFSM

Monetary Statistics

Sectoral Balance sheet — Central Bank

                  Assets                                Liabilities
Dr. SDR holdings             xx,xxx
                                     Cr. Shares & equities           xx,xxx
ที่มา : Monetary and Financial Statistics Manual, IMF

4.2 การบันทึก SDRs ตามคู่มือบัญชีประชาชาติปี 2551 (System of National Accounts 2008 — SNA2008) และคู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 6 (Balance of Payments and International Investment Position Manual — BPM6)

SDRs เป็นเครื่องมือทางการเงินที่มีลักษณะแตกต่างจากเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ ทำให้ยากต่อการกำหนดแนวทางในการบันทึกในบัญชีต่างๆ ทั้งนี้ เมื่อได้พิจารณาคุณสมบัติของ SDRs อย่างละเอียดพบว่า

(1) การถือครอง SDRs ของประเทศสมาชิกเป็นไปตามคำนิยามของสินทรัพย์ที่ SNA1993 (ย่อหน้า 11.16) ได้กำหนดไว้ กล่าวคือประเทศที่ถือครอง SDRs มีความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจนและผู้ถือครองจะได้รับผลประโยชน์จากการถือครองหรือการใช้สินทรัพย์ดังกล่าว

(2) การจัดสรร SDRs มีลักษณะเป็นหนี้ กล่าวคือประเทศที่ได้รับการจัดสรร SDRs จำเป็นต้องชำระดอกเบี้ยตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรให้แก่กองทุนการเงินฯ โดยอ้างอิงจากอัตราดอกเบี้ย SDRs ในตลาด และในกรณีที่ประเทศที่ได้รับการจัดสรร SDRs ไม่สามารถชำระดอกเบี้ยที่เกิดได้นั้น จะต้องบันทึกเป็นธุรกรรมค้างจ่าย (Arrears)

นอกจากนี้ หากประเทศสมาชิกลาออกจากการเป็นสมาชิกของกองทุนการเงินฯ ประเทศดังกล่าวจะต้องชำระคืนภาระหนี้ที่มีกับกองทุนการเงินฯ คืนทั้งหมด รวมทั้งชำระ SDRs ตามจำนวนที่ได้รับจัดสรรคืนให้แก่กองทุนการเงินฯ ด้วย ดังนั้น ภาระที่เกิดขึ้น เมื่อลาออกจากการเป็นสมาชิกนั้น แสดงให้เห็นว่ามีหนี้สินอยู่จริง จึงเป็นเหตุผลที่เพียงพอที่จะบันทึกการจัดสรร SDRs เป็นหนี้ได้

ด้วยเหตุผลดังกล่าว การปรับปรุงคู่มือบัญชีประชาชาติเป็น SNA2008(*4) และดุลการชำระเงินเป็น BPM6(*5) เพื่อให้ครอบคลุมรายละเอียดที่มีเพิ่มขึ้นตามธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้น จึงได้ปรับนิยามของ SDRs เพื่อให้สอดคล้องกับคุณสมบัติของ SDRs ตามที่กล่าวมาข้างต้น ดังนี้

(1) คู่มือบัญชีประชาชาติปี 2551 (SNA2008) (ย่อหน้า 11.47 — 11.49) ได้นิยาม SDRs ไว้ว่าเป็นเงินสำรองระหว่างประเทศชนิดหนึ่งที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินฯ ที่ได้จัดสรรให้แก่ประเทศสมาชิกเพื่อใช้เสริมเงินสำรองระหว่างประเทศที่ประเทศสมาชิกถือครองอยู่

SDRs นั้นถือเป็นสินทรัพย์ ที่มีหนี้สินในจำนวนที่เท่ากัน โดยการทำธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับการจัดสรรหรือยกเลิก SDRs นั้น จะถูกบันทึกอยู่ในบัญชีการเงินของธนาคารกลางและ Rest of the World ทั้งนี้ ผู้ถือครอง SDRs จะต้องเป็นธนาคารกลางและองค์กรระหว่างประเทศเท่านั้น

ตารางที่ 3 : แนวทางการบันทึกการสรร SDRs ในบัญชีประชาชาติ ตาม SNA2008

National Account

                           Debit                                        Credit
AF1 Monetary Gold and SDR          xx,xxx

AF1 Monetary Gold and SDR xx,xxx ที่มา : System of National Accounts 2008

(2) คู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 6 (BPM6) ให้คำนิยามของ SDRs สอดคล้องกับ SNA2008 และแนะนำแนวทางการบันทึก SDRs ในบัญชีดุลการชำระเงิน ให้บันทึกการถือครอง SDRs เป็นสินทรัพย์ของประเทศที่ถือครอง และบันทึกการจัดสรร SDRs เป็นหนี้สินของประเทศที่รับการจัดสรร เนื่องจากมีภาระผูกพันที่ต้องชำระการจัดสรรคืนในบางกรณี(*6) และมีภาระที่ต้องชำระดอกเบี้ยที่เกิดขึ้น โดยในส่วนของสินทรัพย์จะบันทึกภายใต้หัวข้อเงินสำรองระหว่างประเทศ และหนี้สินภายใต้หัวข้อเงินลงทุนอื่นๆ ระยะยาวของธนาคารกลาง

ในส่วนของฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ ควรบันทึกการจัดสรร SDRs แยกเป็นการถือครอง SDRs ภายใต้หัวข้อสินทรัพย์เงินสำรองระหว่างประเทศ และการจัดสรร SDRs ภายใต้หัวข้อหนี้สินที่เป็นเงินลงทุนอื่นๆ ระยะยาวของธนาคารกลางในจำนวนที่เท่ากัน

ตารางที่ 4 : แนวทางการบันทึกการสรร SDRs ในดุลการชำระเงิน ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และหนี้ต่างประเทศตาม BPM6

BOP
       Items                       Debit                              Credit
Current Account
Other investment income   Accrued interest on SDR allocations   Accrued interest on SDR holdings
       Items                       Debit                              Credit
Financial Account
Other investment (liabilities)
  Allocation of SDRs                                              SDR allocations + accrued by

unsettled interest on total

outstanding holdings Reserve Assets

  Holdings of SDRs          SDR allocations + accrued by

unsettled interest on total

outstanding holdings

IIP
Items                          Opening      Transaction    Valuation   Other         Ending
                               Balance     (BOP Flow)      Changes    Changes       Balance
Other Investment (liabilities)
  Allocation of SDRs                      SDRs Allocated                         Value of (total)
                                          /Canceled                              allocation including

unsettled interest

payable Reserve Assets

  Holdings of SDRs                        SDRs Allocated                         Value of (total)
                                          /Canceled                              holdings including

unsettled interest

payable ที่มา : Balance of Payments and International Investment Position Manual 6th edition, IMF นอกจากการบันทึกการจัดสรร SDRs ในบัญชีดุลการชำระเงินและฐานะการลงทุนระหว่างประเทศแล้ว การปรับคำนิยามของ SDRs ตาม SNA2008 และ BPM6 แสดงให้เห็นว่าการจัดสรร SDRs เป็นการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์และหนี้สินในจำนวนที่เท่ากัน ดังนั้น จึงจำเป็นที่ต้องบันทึกการจัดสรร SDRs เพิ่มเติมในข้อมูลหนี้ต่างประเทศ โดยบันทึกภายใต้หัวข้อหนี้ต่างประเทศระยะยาวของธนาคารกลาง

(3) สำหรับการบันทึกการจัดสรร SDRs ในสถิติการเงิน กองทุนการเงินฯ แนะนำให้ปรับการบันทึกการจัดสรร SDR ให้สอดคล้องกับนิยามของ SDRs ใน SNA2008 และ BPM6 โดยให้บันทึกการจัดสรร SDRs ในงบดุลของธนาคารกลาง (Sectoral Balance for Central Bank) โดยให้บันทึกการจัดสรร SDRs เป็นสินทรัพย์ต่างประเทศภายใต้หัวข้อสินทรัพย์ต่างประเทศ สิทธิเรียกร้องจากผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ และบันทึกหนี้สินในส่วนของหนี้สินต่างประเทศที่มีต่อผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ ซึ่งแต่เดิมบันทึกภายใต้ Share and equities ในจำนวนที่เท่ากัน

ตารางที่ 5 : แนวทางการบันทึกการสรร SDRs ในสถิติการเงิน ที่ปรับแนวทางการบันทึกตามนิยามของ SNA2008 และ BPM6

Monetary Statistics

Sectoral Balance sheet — Central Bank

                  Assets                                                      Liabilities
Dr. SDR holdings          xx,xxx

Cr. Foreign liabilities — SDR allocation xx,xxx ที่มา : Monetary and Financial Statistics Manual, IMF

5. ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนิยามของ SDRs ต่อการจัดทำข้อมูลการเปลี่ยนแปลงนิยามของ SDRs ทั้งใน SNA2008 และ BPM6 ส่งผลให้ประเทศสมาชิกต้องปรับวิธีการบันทึกข้อมูล ในบัญชีประชาชาติ ดุลการชำระเงิน และฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ รวมถึงการบันทึกธุรกรรมที่เกี่ยวข้องกับ SDRs ในสถิติเศรษฐกิจอื่นๆ ถึงแม้ว่ากองทุนการเงินฯ ยังมิได้ปรับคู่มือการจัดทำข้อมูลให้สอดคล้องการแนวทางที่เปลี่ยนไปก็ตาม

อย่างไรก็ดี เพื่อให้เกิดความสอดคล้องในการจัดทำข้อมูลในทุกๆ บัญชีในระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งให้การจัดทำข้อมูลของประเทศสมาชิกมีความสอดคล้องและถูกต้องตามแนวทางการจัดทำข้อมูลในคู่มือ SNA และ BPM ฉบับใหม่ที่กองทุนการเงินฯ และองค์กรระหว่างประเทศเช่น ธนาคารโลก ได้เริ่มใช้งานแล้ว กองทุนการเงินฯ จึงสนับสนุนให้ประเทศสมาชิกปรับปรุงการจัดทำข้อมูลให้เป็นในทิศทางเดียวกันด้วย โดยกองทุนการเงินฯ คาดหวังว่าในระยะอันใกล้ประเทศสมาชิกจะสามารถปรับแนวทางการจัดทำข้อมูลให้เป็นไปตามคู่มือฉบับใหม่ได้

นอกจากนี้ สำหรับข้อมูลที่กองทุนการเงินฯ เป็นผู้รวบรวมและจัดทำในเอกสารเผยแพร่ต่างๆ เช่นรายงานประจำปีสถิติดุลการชำระเงิน(*7) และรายงานสถิติการเงินระหว่างประเทศ(*8) นั้น กองทุนการเงินฯ จะทำการปรับปรุงข้อมูลให้เป็นไปตามแนวทางการจัดทำข้อมูลใน BPM6 และเผยแพร่ภายข้อมูลดังกล่าวภายในปี 2555

5.1 ผลกระทบที่สำคัญของการปรับคำนิยาม SDRs ต่อการจัดทำข้อมูลในทุกบัญชีเศรษฐกิจ

บัญชีประชาชาติ : บันทึกสินทรัพย์และหนี้สินเท่ากับจำนวน SDRs ที่ได้รับจัดสรรโดยบันทึกในบัญชีการเงินของธนาคารกลาง แทนการบันทึกเป็นการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ ในบัญชีสินทรัพย์

สถิติการเงิน : บันทึกเป็นสินทรัพย์ต่างประเทศและหนี้สินต่างประเทศของธนาคารกลางแทนการบันทึกภายใต้ส่วนของทุน (Share and equities) ดังนั้นการจัดสรร SDRs จะทำให้มีสิทธิเรียกร้องจากผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ และภาระผูกพันกับผู้ที่มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศเพิ่มขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน

การจัดสรร SDRs ใหม่จะไม่มีผลกระทบต่อฐานะสินทรัพย์ระหว่างประเทศสุทธิ (Net Foreign Assets) เนื่องจากสินทรัพย์และหนี้สินต่างประเทศได้เพิ่มขึ้นในจำนวนที่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม สำหรับการปรับวิธีการบันทึก SDRs ที่ได้รับการจัดสรรมาแล้วเป็นหนี้แทนการบันทึกเป็นทุนจะทำให้สินทรัพย์ระหว่างประเทศสุทธิลดลง

ดุลการชำระเงิน : บันทึกเป็นสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศภายใต้หัวข้อการถือครองสิทธิพิเศษถอนเงิน (Holdings of SDRs) สำหรับการจัดสรร SDRs ให้บันทึกหนี้สินเป็นธุรกรรมเพิ่มเติมเท่ากับมูลค่าที่ได้รับจัดสรรรวมดอกเบี้ยค้างจ่ายตามเกณฑ์คงค้าง โดยบันทึกในบัญชีการเงินภายใต้หัวข้อเงินลงทุนระยะยาวอื่นๆ ของธนาคารกลาง ทั้งนี้ธุรกรรมการรับและจ่ายดอกเบี้ย SDRs ยังคงบันทึกในบัญชีเดินสะพัดภายใต้หัวข้อรายได้จากเงินลงทุนเช่นเดิม

การจัดสรร SDRs ใหม่จะทำให้เงินสำรองระหว่างประเทศเพิ่มขึ้น และหนี้สินในหัวข้อเงินลงทุนระยะยาวอื่นๆ ของธนาคารกลางเพิ่มขึ้น

ฐานะการลงทุนเงินระหว่างประเทศ : บันทึกการจัดสรรและการยกเลิก SDRs เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากธุรกรรม (Transaction changes) แทนการบันทึกเป็นการเปลี่ยนแปลงอื่นๆ

สำหรับสินทรัพย์บันทึกภายใต้หัวข้อสินทรัพย์สำรองระหว่างประเทศ และหนี้สินภายใต้หัวข้อเงินลงทุนระยะยาวอื่นๆ ของธนาคารกลาง

หนี้ต่างประเทศ : บันทึกเป็นหนี้ต่างประเทศเท่ากับมูลค่าที่ได้รับจัดสรรรวมดอกเบี้ยค้างจ่ายตามเกณฑ์คงค้าง ภายใต้หัวข้อเงินลงทุนระยะยาวอื่นๆ ของธนาคารกลาง

ดังนั้น การจัดสรร SDRs ใหม่จะทำให้หนี้ต่างประเทศในหัวข้อเงินลงทุนระยะยาวอื่นๆ ของธนาคารกลางเพิ่มขึ้น

สถิติการคลัง : เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของคำนิยามตาม SNA2008 และ BPM6 ในกรณีที่การถือครองสิทธิพิเศษถอนเงินถูกบันทึกอยู่บนงบดุลของรัฐบาล ให้บันทึกการถือครอง SDRs เป็นภาระผูกพันที่มีต่อผู้มีถิ่นที่อยู่ในต่างประเทศ และบันทึกสินทรัพย์ทางการเงินสำหรับการจัดสรรในจำนวนที่เท่ากัน แทนการบันทึกเปลี่ยนแปลงทางปริมาณอื่นๆ (other volume changes) ตามที่คู่มือการจัดทำข้อมูลภาครัฐ (Government Finance Statistics Manual 2001 : GSFM2001) ได้แนะนำไว้ โดยดอกเบี้ยของ SDRs ทั้งในด้านรับและจ่ายให้บันทึกตามเกณฑ์คงค้าง

ตารางที่ 6 : สรุปแนวทางการบันทึก SDRs ในคู่มือการจัดทำข้อมูลต่างๆ
แนวทางการ             คู่มือการจัดข้อมูลฉบับใหม่                    คู่มือการจัดทำข้อมูลฉบับเก่า
บันทึกข้อมูล           SNA2008             BPM6          SNA1993           BPM5               MFSM
สินทรัพย์          บันทึกการถือครอง    บันทึกการถือครอง      บันทึกการถือครอง    บันทึกการถือครอง       บันทึกการถือครอง
                SDRsเป็นสินทรัพย์ใน  SDRsภายใต้สินทรัพย์    SDRs เป็นสินทรัพย์   SDRs ภายใต้สินทรัพย์    SDRs ภายใต้สินทรัพย์
                บัญชีการเงินของ     สำรองระหว่างประเทศ  ในบัญชีการเงิน      สำรองระหว่างประเทศ   ต่างประเทศของ
                ธนาคารกลาง                          ของธนาคารกลาง                       ธนาคารกลาง
หนี้สิน            บันทึกเป็นหนี้        บันทึกเป็นหนี้          ไม่บันทึก           ไม่บันทึก             บันทึกภายใต้ส่วน
                ต่างประเทศ        ต่างประเทศ                                               ของทุน (Shares

and Equities)

บันทึกเป็นธุรกรรม   บันทึกธุรกรรม       บันทึกธุรกรรม         บันทึกเป็นการ       บันทึกเป็นการ         ไม่บันทึก flow แต่
(transaction)   (transaction)    (transaction       เปลี่ยนแปลงอื่นๆ     เปลี่ยนแปลงอื่นๆ       บันทึกเฉพาะยอด
หรือการเปลี่ยนแปลง  ในบัญชีการเงิน     ในบัญชีการเงิน        ในบัญชีสินทัรพย์      ที่ไม่ใช่การทำ         คงค้าง
อื่นๆ                              สำหรับการจัดสรรใหม่   ใน volume of     ธุรกรรมสำหรับ

assets (OCVA) การจัดสรรใหม่

                                                    account          และไม่บันทึกหนี้สิน
แนวทางการ                        แบบแยกบันทึก                          ไม่ได้ระบุหลักการ     ไม่ได้ระบุหลักการ
บันทึกดอกเบี้ย                       (gross) สำหรับ                       ชัดเจน             ชัดเจน

ดอกเบี้ยจากการ

จัดสรรและการถือครอง ที่มา : IMF หมายเหตุ : BPM5 (1993) หมายถึง Balance of Payments Manual 5th Edition BPM6 (2008) หมายถึง Balance of Payments and International Investment Position Manual 6th Edition MFSM (2000) หมายถึง Monetary and Financial Statistics Manual

5.2 ผลกระทบต่อการจัดทำข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

ตามพระราชบัญญัติธนาคารแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2485 (ปรับปรุงแก้ไขในปี 2551) ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) โดยฝ่ายบริหารข้อมูล (ฝบข.) มีหน้าที่ในการจัดทำสถิติการเงิน ดุลการชำระเงิน ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และหนี้ต่างประเทศ การจัดทำข้อมูลดังกล่าวอิงตามหลักการและแนวทางการจัดทำข้อมูลในคู่มือการเงิน (MFSM) และคู่มือดุลการชำระเงินฉบับที่ 5 (BPM5) ของกองทุนการเงินฯ ซึ่งการจัดทำข้อมูลตามแนวทางการจัดทำในคู่มือที่กล่าวมาข้างต้นนี้เป็นไปตามมาตราฐานสากลและถูกต้องตามหลักการในขณะนั้น

ฝบข. ได้ดำเนินการปรับปรุงสถิติการเงินและข้อมูลเศรษฐกิจต่างประเทศครอบคลุมข้อมูลดุลการชำระเงิน ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และหนี้ต่างประเทศ ให้สอดคล้องกับนิยามของ SDRs ที่ได้เปลี่ยนไปและแนวทางการจัดทำข้อมูลใน BPM6 โดยได้เผยแพร่ข้อมูลที่ปรับใหม่นี้ในเดือนธันวาคม 2552 พร้อมทั้งปรับข้อมูลย้อนหลังถึงปี 2546 การปรับข้อมูลดังกล่าวส่งผลให้

(1) หนี้สินต่างประเทศในเดือนส.ค.และก.ย. 2552 เพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวนที่ได้รับจัดสรรโดยในเดือนส.ค. เพิ่มขึ้นจำนวน 802.0 ล้าน SDR และในเดือนก.ย. จำนวน 83.6 ล้าน SDR เทียบเท่า 1,254 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 148 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ

(2) ปรับข้อมูลอนุกรมเวลาย้อนหลังถึงปี 2546 สำหรับสถิติการเงิน ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ และหนี้ต่างประเทศ

สำหรับสถิติการเงิน การปรับวิธีการบันทึกการจัดสรร SDRs ในส่วนของทุนเป็นหนี้ต่างประเทศ ทำให้สินทรัพย์ต่างประเทศสุทธิของธนาคารกลางลดลงเท่ากับจำนวน SDRs ที่ถือครอง

ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ บันทึกเพิ่มในส่วนของหนี้สินต่างประเทศของธนาคารกลางในหัวข้อเงินลงทุนระยะยาวอื่นๆ โดยปรับเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวน SDRs ที่ถือครองอยู่

หนี้ต่างประเทศ ในหัวข้อเงินลงทุนระยะยาวอื่นๆ ของธนาคารกลาง ปรับเพิ่มขึ้นเท่ากับจำนวน SDRs ที่ถือครองอยู่

(3) ดุลการชำระเงิน บันทึกธุรกรรมการจัดสรรเป็น flow เพิ่มขึ้นตามจำนวนที่ได้รับการจัดสรรใหม่ในเดือน ส.ค. และ ก.ย. จำนวน 802.0 ล้าน SDRs และ 83.6 ล้าน SDRs เทียบเท่า 1,251.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. และ 132.3 ล้านดอลลาร์ สรอ. ตามลำดับ โดยบันทึกด้านสินทรัพย์ภายใต้หัวข้อเงินสำรองระหว่างประเทศ และด้านหนี้สินในบัญชีการเงินภายใต้หัวข้อเงินลงทุนระยะยาวอื่นๆ ของธนาคารกลาง

ทั้งนี้ ฝบข.ได้เผยแพร่ข้อมูลอนุกรมเวลาของสถิติการเงินที่ได้ปรับย้อนหลังแล้วเมื่อเดือนส.ค. 2552 สำหรับข้อมูลดุลการชำระเงิน หนี้ต่างประเทศ และฐานะการลงทุนระหว่างประเทศจะเผยแพร่ ณ สิ้นเดือน ธ.ค. 2552 กำหนดการเผยแพร่ข้อมูลตามแนวทางการบันทึกใหม่แสดงในตารางที่ 7

ตารางที่ 7 : สรุปกำหนดการปรับและเผยแพร่ข้อมูลที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของธปท.
ข้อมูลสถิติ                    เวลาการเผยแพร่    งวดข้อมูลที่เผยแพร่        ระยะเวลาการปรับข้อมูลย้อนหลัง
ฐานะการเงินของธนาคารกลาง     ส.ค. 2552          ก.ค. 2552                 ถึง ม.ค. 2546
ดุลการชำระเงิน                ธ.ค. 2552          ต.ค. 2552                 ถึง ม.ค. 2546
หนี้ต่างประเทศ                 ธ.ค. 2552          ก.ย. 2552                 ถึง มี.ค. 2546
ฐานะการลงทุนระหว่างประเทศ     ธ.ค. 2552          ธ.ค. 2551                 ถึง ปี 2546
ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย

เอกสารอ้างอิง
International Monetary Fund, Public Information Notice (PIN) No. 05/171 December 29, 2005, “IMF Executive Board Determines New Currency Amounts for SDR Valuation Basket”, Washington D.C.
International Monetary Fund Factsheet, “Special Drawing Rights”, Washington D.C.
IMF Committee on Balance of Payments Statistics Reserve Assets Technical Expert Group (December 2005), “Issue paper #10 : Liability Aspect of SDRs”, IMF Statistics Department
International Monetary Fund (1993), “Balance of Payments Manual 5th Edition”, Washington D.C.
International Monetary Fund (2001), “Monetary and Financial Statistics”, Washington D.C.
International Monetary Fund (2001), “Government Finance Statistics Manual”, Washington D.C.
International Monetary Fund (2003), “External Debt Statistics : Guide for Compilers and Users”, Washington D.C
International Monetary Fund (2009), “Proposal for a General Allocation of SDRs”, Washington D.C.
International Monetary Fund (2008), “Balance of Payments and International Investment Position Manual”, Washington D.C.
United Nations (1993), “System of National Accounts, 1993”, Washington D.C.
United Nations (2008), “System of National Accounts, 2008”, Washington D.C

(*1) ณ พฤศจิกายน 2552 ประเทศไทยมีการถึงครอง SDRs รวมทั้งสิน 1,081.9 ล้าน SDR เท่ากับร้อยละ 0.05 ของจำนวน SDRs ที่ได้จัดสรรทั้งหมด

(*2) ประเทศสมาชิกของกองทุนการเงินฯ มีทั้งหมด 186 ประเทศ

(*3) ในบัญชีการเปลี่ยนแปลงในปริมาณของสินทรัพย์ (other changes in volume of assets (OCVA) account)

(*4) การปรับปรุงคู่มือบัญชีประชาชาติใหม่ได้อิงตามกรอบทฤษฎีใน SNA1993 เป็นหลัก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ครอบคลุมรายละเอียดที่มีเพิ่มขึ้นตามธุรกรรมทางการเงินที่ซับซ้อนขึ้น และเพื่อปรับปรุงและปรับเปลี่ยนวิธีการต่างๆ ที่เกิดขึ้นภายหลังจากคู่มือฉบับที่แล้ว รวมทั้ง ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีปฏิบัติในการจัดทำข้อมูล เพื่อให้เกิดความสอดคล้องและตรงตามความต้องการใช้งานของผู้ใช้งานมากที่สุด ทั้งนี้ ข้อแตกต่างระหว่าง SNA1993 และ SNA2008 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน SNA2008 annex 3

(*5) การปรับปรุงคู่มือดุลการชำระเงิน โดยกองทุนการเงินฯ สอดคล้องการแนวทางและคำนิยามใน SNA2008 ทั้งนี้ ข้อแตกต่างระหว่าง BPM5 และ BPM6 สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ใน BPM6 Appendix 8

(*6) เช่น เมื่อประเทศสมาชิกลาออกจากการเป็นสมาชิก เป็นต้น

(*7) Balance of Payments Yearbook (BOPSY)

(*8) International Financial Statistics (IFS)

ข้อคิดเห็นที่ปรากฎในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ