ผลการศึกษาการปรับปรุงการสำรวจข้อมูลธุรกิจสถานที่พักแรม

ข่าวเศรษฐกิจ Friday April 30, 2010 16:28 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ชนิดา เงาจินตรักษ์

พรสวรรค์ รักเป็นธรรม

บทคัดย่อ

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ดำเนินการสำรวจธุรกิจสถานที่พักแรมเป็นรายเดือนต่อเนื่องมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2540 การสำรวจชุดเดิมนี้ได้ข้อมูลจากสถานประกอบการที่พักแรมประมาณ 160 รายครอบคลุม 29 จังหวัดทั่วประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อวิเคราะห์ภาพรวมอัตราการเข้าพักแรมของทั้งประเทศและติดตามภาวะธุรกิจการท่องเที่ยวที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศที่เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ก่อให้เกิดการจ้างงานและกระจายรายได้ รวมทั้งส่งเสริมให้เกิดธุรกิจต่อเนื่องอีกหลายสาขา

ฝ่ายบริหารข้อมูล ธปท. ซึ่งมีหน้าที่ในการจัดทำและจัดเก็บข้อมูล รวมถึงมีการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพของข้อมูล ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการวิเคราะห์ข้อมูลธุรกิจสถานที่พักแรมจำแนกรายภูมิภาค อันจะมีประโยชน์ต่อการติดตามภาวะการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาค จึงได้มีการดำเนินการทบทวนกรอบการสำรวจ พร้อมปรับปรุงคุณภาพของการสำรวจธุรกิจสถานที่พักแรมตามหลักการและวิธีการทางสถิติ โดยกำหนดให้มีขนาดตัวอย่างรวมที่ต้องตอบกลับไม่น้อยกว่า 354 ราย (ขยายจากกลุ่มตัวอย่างเดิมจำนวน 160 ราย) เพื่อให้สามารถติดตามภาวะธุรกิจเป็นรายภูมิภาค หรือวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกอื่นได้เหมาะสมต่อไป รวมถึงสามารถเปรียบเทียบข้อมูลอนุกรมเวลาจากขนาดตัวอย่างเดิมและข้อมูลอนุกรมจากตัวอย่างใหม่ได้

นอกเหนือจากการปรับปรุงขนาดตัวอย่างในการสำรวจธุรกิจสถานที่พักแรมนี้ การสำรวจที่ปรับปรุงใหม่ได้เพิ่มข้อคำถามในแบบสำรวจที่มีความเกี่ยวข้องกับธุรกิจการเข้าพักแรมอีก 4 รายการ คือ 1) จำนวนการจองห้องพักล่วงหน้า 3 เดือน 2) ราคาเฉลี่ยต่อห้องที่ขายได้จริง 3) สัดส่วนรายได้จัดประชุม / สัมมนาต่อรายได้รวม และ4) สัดส่วนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ นอกเหนือจากคำถามเดิมที่สอบถามเฉพาะจำนวนห้องพักรวมและจำนวนห้องพักที่มีแขกเข้าพักจริง

ผลการสำรวจในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนมีนาคม 2553 ที่ผ่านมา พบว่าอัตราการเข้าพักแรมที่ได้จากตัวอย่างชุดใหม่มีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันกับผลการสำรวจที่ได้จากตัวอย่างชุดเดิมทั้ง 3 เดือน แต่สำหรับข้อมูลจากตัวอย่างชุดใหม่นี้สามารถสะท้อนรายละเอียดอัตราการเข้าพักแรมโดยรวมจากอัตราการเข้าพักแรมรายภูมิภาคได้เพิ่มมากขึ้นและเป็นไปตามหลักการทางสถิติ

ทั้งนี้ จากตัวอย่างชุดใหม่ ในไตรมาสแรกของปี 2553 อัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 60.73 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 แต่ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมที่ลดลงต่ำกว่าเฉลี่ยมากกว่าสองเดือนก่อนหน้า ซึ่งเมื่อพิจารณาเป็นรายภาค ผลการสำรวจให้ภาพสอดคล้องกันทุกภาคที่อาจสะท้อนถึงผลกระทบจากความไม่สงบทางการเมืองในเดือนมีนาคมที่เริ่มมีต่อธุรกิจการท่องเที่ยว 1. บทนำ

การท่องเที่ยวนับเป็นธุรกิจในภาคบริการที่สำคัญ โดยในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา สามารถทำรายได้ให้กับประเทศไทยเป็นจำนวนมากกว่าปีละ 5 แสนล้านบาท และมีแนวโน้มที่เพิ่มขึ้นทุกปี ด้วยความสำคัญนี้เองทำให้หลายองค์กรในประเทศไทยให้ความสำคัญกับข้อมูลที่เกี่ยวกับธุรกิจการท่องเที่ยวซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญของตัวชี้วัดกิจกรรมทางเศรษฐกิจรวมถึงใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณากำหนดนโยบายหรือแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ อาทิ สำนักงานสถิติแห่งชาติ ที่มีการจัดทำการสำรวจการประกอบกิจการโรงแรม และเกสต์เฮาส์ ความถี่ราย 2 ปี หรือการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยที่มีการจัดทำการสำรวจธุรกิจการท่องเที่ยวโดยสำนักพัฒนาการท่องเที่ยวเป็นผู้สำรวจมีความถี่เป็นรายไตรมาส เป็นต้น

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะที่เป็นองค์กรสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศ จำเป็นต้องติดตามและเผยแพร่เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจรายเดือน เพื่อการดำเนินนโยบายที่เหมาะสมทันเหตุการณ์ ฝ่ายบริหารข้อมูล จึงได้รวบรวมและจัดทำข้อมูลเครื่องชี้รายเดือนที่ครอบคลุมภาคเศรษฐกิจที่สำคัญ โดยในภาคบริการได้ดำเนินการจัดทำการสำรวจธุรกิจสถานที่พักแรมมาเป็นเวลานานกว่า 10 ปี เพื่อใช้ในการวิเคราะห์อัตราการเข้าพักแรมรายเดือนที่แสดงถึงอุปสงค์ของสถานที่พักแรมและเป็นเครื่องชี้ภาวะการท่องเที่ยว โดยในการสำรวจที่ผ่านมาได้มีการเก็บข้อมูลจากสถานที่พักแรมที่เป็นโรงแรมขนาดใหญ่ประมาณ 160 รายครอบคลุม 29 จังหวัดกระจายอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ โดยส่วนใหญ่เป็นโรงแรมที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและผู้ที่มีรายได้สูงเป็นหลักเป็นผลให้กลุ่มตัวอย่างดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับการขยายตัวของผู้ประกอบการ ซึ่งมีความหลากหลายด้านขนาดมากขึ้น นอกจากนี้ขนาดตัวอย่างดังกล่าวที่ใช้ในปัจจุบันไม่เพียงพอที่จะนำข้อมูลไปวิเคราะห์เชิงลึกเพื่อติดตามภาวะธุรกิจสถานที่พักแรมเป็นรายภูมิภาค หรือวิเคราะห์เชิงลึกอื่นๆได้มากนักตามหลักการทางสถิติ

ฝ่ายบริหารข้อมูลได้มีการพัฒนาและปรับปรุงคุณภาพการสำรวจข้อมูลที่จัดทำและจัดเก็บอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจมีคุณภาพตามหลักการทางสถิติและมาตรฐานสากล ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารข้อมูลได้เล็งเห็นถึงปัญหาและข้อจำกัดของการสำรวจโรงแรมที่กล่าวมาในข้างต้นนี้ จึงเป็นเหตุให้ดำเนินการปรับปรุงการสำรวจข้อมูลธุรกิจสถานที่พักแรม โดยมีเป้าหมาย 2 ประการ ดังนี้ 1) ออกแบบกรอบการสำรวจตัวอย่างให้สอดคล้องกับลักษณะการใช้งาน และสามารถสะท้อนสภาพธุรกิจของสถานที่พักแรม รวมถึงอัตราการเข้าพักของนักท่องเที่ยวในปัจจุบันได้อย่างเหมาะสม พร้อมทั้งสามารถติดตามภาวะธุรกิจสถานที่พักแรมเป็นรายภูมิภาคได้ถูกต้องตามมาตรฐานทางสถิติ และ 2) ปรับปรุงแบบสำรวจให้มีความครอบคลุมกับการวิเคราะห์ข้อมูลในเชิงลึกเพื่อที่จะสามารถสะท้อนสภาพธุรกิจการท่องเที่ยวในปัจจุบันได้ โดยการปรับปรุงการสำรวจข้อมูลธุรกิจสถานที่พักแรมในครั้งนี้ได้รับความร่วมมือจากสำนักงานภาคของ ธปท. ได้แก่ สำนักงานภาคใต้ สำนักงานภาคเหนือ และสำนักงานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการเป็นศูนย์กลางการกระจาย ติดตามแบบสอบถาม และประมวลผลกลุ่มตัวอย่างในพื้นที่จังหวัดของภูมิภาคนั้นๆ รวมถึงมีส่วนร่วมในการปรับปรุงข้อคำถามในแบบสำรวจให้ครอบคลุมและสามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงสถิติรายภูมิภาคได้เหมาะสม

บทความนี้จัดทำขึ้นเพื่อให้เห็นกระบวนการทางสถิติในการปรับปรุงและผลการสำรวจธุรกิจสถานที่พักแรมเพื่อใช้เป็นหลักปฏิบัติในการทำงานและการพัฒนาคุณภาพของการสำรวจต่อไป สำหรับการนำเสนอในลำดับถัดไปประกอบด้วย 5 หัวข้อดังนี้ 1) กรอบประชากร และตัวอย่างในการสำรวจ ซึ่งจะอธิบายประชากรในการสำรวจและเกณฑ์การสุ่มตัวอย่างและการคัดเลือกตัวอย่างเพื่อทำการสำรวจ 2) โครงสร้างแบบสอบถาม ซึ่งจะอธิบายที่มาและความสำคัญของแต่ละคำถามในแบบสอบถาม 3) การประมวลผล ซึ่งจะอธิบายถึงวิธีการประมวลผลค่าดัชนีทั้งรายภูมิภาคและรายประเทศ 4) ผลการสำรวจธุรกิจสถานที่พักแรมเดือนมกราคม — มีนาคม 2553 และ 5) สรุปปัญหาที่พบในการสำรวจและแนวทางการปรับปรุง

2. กรอบประชากร และตัวอย่างในการสำรวจ

เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ของการปรับปรุงการสำรวจในการสะท้อนภาวะธุรกิจการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคได้อย่างมีประสิทธิภาพตามหลักการและมาตรฐานทางสถิติ จึงมีการปรับกรอบการสำรวจซึ่งประกอบไปด้วย 2 ส่วนคือ

1) ประชากรที่ใช้ในการสำรวจสถานที่พักแรม และ2) การกำหนดขนาดและการคัดเลือกตัวอย่างตามหลักการทางสถิติ ที่คำนึงถึงข้อจำกัดทางด้านเวลาและทรัพยากรที่มีอยู่

2.1 ประชากร

ธุรกิจสถานที่พักแรม กำหนดให้ครอบคลุมสถานที่พักแรมหลายประเภท เช่น โรงแรม รีสอร์ท เกสต์เฮาส์โฮมสเตย์ เป็นต้น โดยใช้ฐานข้อมูลธุรกิจสถานที่พักแรมปี 2552 จากการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยครอบคลุม 76 จังหวัดจำนวน 7,959 ราย ดังนี้

ตารางที่ 1: ประชากรที่ใช้ในการสำรวจสถานที่พักแรม

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++
          ภูมิภาค              จังหวัด        สถานที่พักแรม
          ภาคกลาง               26           3,623
          ภาคใต้                 14           2,058
          ภาคเหนือ               19           1,488
          ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    17             790
          รวม                   76           7,959
+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2552

2.2 การกำหนดขนาดตัวอย่างและการคัดเลือกตัวอย่าง

การกำหนดขนาดตัวอย่างในการสำรวจสถานที่พักแรม ใช้เทคนิคการสุ่มตัวอย่างแบบ 2 ขั้น (Two — stage Sampling) ประกอบด้วยขั้นที่ 1) ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง(*1) (Purposive Sampling) เพื่อเลือกจังหวัดในแต่ละภูมิภาค ที่มีศักยภาพเพียงพอที่สามารถรองรับนักท่องเที่ยวได้สูง ตามเกณฑ์ที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ และขั้นที่ 2) ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ(*2) (Stratified Random Sampling) สุ่มตัวอย่างสถานที่พักแรมจากแต่ละภูมิภาค

โดยกำหนดให้ ภาคกลาง ภาคใต้ ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นชั้นภูมิ และสถานที่พักแรมเป็นหน่วย ตัวอย่าง แต่ละชั้นภูมิทำการจัดแบ่งขนาดสถานที่พักแรมออกเป็น 3 กลุ่มดังนี้ กลุ่มสถานที่พักแรมขนาดเล็ก คือ กลุ่มสถานที่พักแรมที่มีจำนวนห้องพักไม่เกิน 60 ห้อง กลุ่มสถานที่พักแรมขนาดกลาง คือกลุ่มสถานที่พักแรมที่มีจำนวนห้องพักมากกว่า 60 ห้องแต่ไม่เกิน 150 ห้อง และกลุ่มสถานที่พักแรมขนาดใหญ่ คือ กลุ่มสถานที่พักแรมที่มีจำนวนห้องพักมากกว่า 150 ห้องขึ้นไป

การสุ่มตัวอย่างในขั้นแรกเป็นการคัดกรองจังหวัดที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้สูง โดยใช้เกณฑ์การกำหนดตัวอย่างที่วัดจากสัดส่วนความหนาแน่นของห้องพักในแต่ละจังหวัดต่ำกว่า 6 ตารางกิโลเมตรต่อ 1 ห้องพัก(*3) จากเกณฑ์ดังกล่าวเป็นผลให้เหลือจังหวัดที่ใช้ในการสำรวจเพียง 57 จังหวัด จาก 76 จังหวัด โดยมีสถานที่พักแรมจำนวน 7,475 ราย จาก 7,959 ราย มีรายละเอียดแบ่งตามภูมิภาคดังนี้

ตารางที่ 2: ภาพรวมของสถานที่พักแรมและประชากรที่ใช้ในการสำรวจ

ภูมิภาค                      ประชากร              ตัวอย่างในขั้นแรก
                       จังหวัด   สถานที่พักแรม    จังหวัด     สถานที่พักแรม
ภาคกลาง                   26     3,623        24         3,562
ภาคใต้                     14     2,058        14         2,058
ภาคเหนือ                   19     1,488        10         1,205
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ        17       790         9           650
รวม                       76     7,959        57         7,475
ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2552

          การสุ่มตัวอย่างในขั้นที่ 2 เป็นการสุ่มตัวอย่างในแต่ละภูมิภาคที่คำนวณจำนวนสถานที่พักแรมจากจังหวัดที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวได้สูง โดยใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ และกำหนดขนาดตัวอย่างเพื่อควบคุมค่าความคลาดเคลื่อนในการประมาณค่าสัดส่วนของประชากร(*4) ที่ระดับความเชื่อมั่นร้อยละ 95 และค่าความ คลาดเคลื่อนในการประมาณค่าสัดส่วนของประชากรให้แตกต่างไปจากค่าจริงไม่เกินร้อยละ 10 โดยใช้ข้อมูลอัตราการเข้าพักเฉลี่ยจากปี 2549 ถึงปี 2551 เนื่องจากการสำรวจดังกล่าวเน้นการเก็บข้อมูลอัตราการเข้าพักรายเดือนเป็นหลัก จึงเป็นเหตุให้นำข้อมูลอัตราการเข้าพักเฉลี่ยรายปีและรายจังหวัดที่มีศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวตามเกณฑ์ขั้นต้นจากข้อมูลของสำนักพัฒนาการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา(*5) ปี 2549 -2551 มาเป็นปัจจัยหนึ่งในการกำหนดขนาดตัวอย่างดังนี้ ภาคกลางมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 52.8 ภาคใต้มีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 50.3 ภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 39.7 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ยร้อยละ 47.6 จากข้อมูลอัตราเข้าพักเฉลี่ยในแต่ละภูมิภาคนำมาคำนวณขนาดตัวอย่างที่น้อยที่สุดที่ใช้ในการสำรวจข้อมูลธุรกิจสถานที่พักแรมที่มีความถี่เป็นรายเดือนในแต่ละภูมิภาค ได้ดังนี้

ตารางที่ 3: จำนวนตัวอย่างเพื่อใช้ในการสำรวจข้อมูลธุรกิจสถานที่พักแรม

ภูมิภาค                    ประชากร           หน่วยตัวอย่าง
                    จังหวัด   สถานที่พักแรม       ขั้นที่สอง
ภาคกลาง               24       3,562           93
ภาคใต้                 14       2,058           92
ภาคเหนือ               10       1,205           85
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ     9         650           84
รวม                   57       7,475          354
ที่มา : ฝ่ายบริหารข้อมูล

          จากขนาดตัวอย่างในแต่ละภูมิภาคจัดสรรขนาดตัวอย่างตามกลุ่มของขนาดสถานที่พักแรม โดยคำนวณตามสัดส่วนที่แท้จริงของจำนวนห้องพักซึ่งแสดงถึงอุปทานของสถานที่พักแรมในแต่ละกลุ่ม เพื่อให้ค่าที่ได้สามารถสะท้อนสภาพภาวะธุรกิจของสถานที่พักแรมได้อย่างเหมาะสม โดยตารางที่ 4 จะแสดงถึงจำนวนห้องพัก และตารางที่ 5 แสดงถึงสัดส่วนจำนวนห้องพักในแต่ละภูมิภาคแบ่งตามขนาดของสถานที่พักแรม ได้ดังนี้

ตารางที่ 4: จำนวนห้องพักจำแนกตามขนาดสถานที่พักแรมและภูมิภาค

ภูมิภาค                             จำนวนห้องพัก (ห้อง)
                  กลุ่มสถานที่พักแรม  กลุ่มสถานที่พักแรม    กลุ่มสถานที่พักแรม     รวม
                    ขนาดเล็ก         ขนาดกลาง         ขนาดใหญ่
ภาคกลาง             56,069         53,506           118,823       228,398
ภาคใต้               35,134         36,039            36,810       107,983
ภาคเหนือ             20,166         18,754            18,922        57,842
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ  10,431         11,883             6,588        28,902
ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2552

ตารางที่ 5: สัดส่วนจำนวนห้องพักจำแนกตามขนาดของสถานที่พักแรมในแต่ละภูมิภาค

ภูมิภาค                       สัดส่วนจำนวนห้องพัก (  pi )
                    กลุ่มสถานที่พักแรม กลุ่มสถานที่พักแรม กลุ่มสถานที่พักแรม
                    ขนาดเล็ก         ขนาดกลาง       ขนาดใหญ่
ภาคกลาง              0.25           0.23           0.52
ภาคใต้                0.33           0.33           0.34
ภาคเหนือ              0.35           0.32           0.33
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ   0.36           0.41           0.23
ที่มา: การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2552

จากสัดส่วนของจำนวนห้องพักแบ่งตามขนาดสถานที่พักแรมในแต่ละภูมิภาค คำนวณขนาดตัวอย่างในแต่ละ
ขนาดสถานที่พักแรมด้วยวิธีการจัดสรรตัวอย่างตามสัดส่วนจำนวนห้องพัก(*6) ได้ดังนี้

ตารางที่ 6 จำนวนตัวอย่างแบ่งตามขนาดสถานที่พักแรม

ภูมิภาค                               จำนวนตัวอย่าง
                    กลุ่มสถานที่พักแรม  กลุ่มสถานที่พักแรม  กลุ่มสถานที่พักแรม
                       ขนาดเล็ก       ขนาดกลาง       ขนาดใหญ่
คกลาง                    23             22             48
ภาคใต้                    30             31             31
ภาคเหนือ                  30             27             28
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ       30             35             19
ที่มา : ฝ่ายบริหารข้อมูล

ขนาดตัวอย่างที่คำนวณได้ เป็นขนาดตัวอย่างที่น้อยที่สุดที่เหมาะสำหรับทำการสำรวจข้อมูลสถานที่พักแรมรายเดือนในแต่ละภูมิภาค ภายใต้ระดับความเชื่อมั่นและสัดส่วนความคลาดเคลื่อนที่กำหนด ซึ่งสืบเนื่องจากข้อจำกัดทางด้านเวลาและทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัด
          นอกจากนี้การกำหนดขนาดตัวอย่างในแต่ละชั้นภูมิต้องคำนึงถึงการเลือกตัวอย่างให้เหมาะสม ในแต่ละขนาดของสถานที่พักแรมตามรายชื่อสถานที่พักแรมที่มาจากฐานข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เพื่อให้ตัวอย่างที่ใช้ในการสำรวจ สามารถสะท้อนข้อมูลได้อย่างเหมาะสมและเป็นตัวแทนที่ดีของข้อมูลทั้งประเทศ ซึ่งการคัดเลือกตัวอย่างดังกล่าวใช้เทคนิคการเลือกตัวอย่างแบบผสม (Combination Sampling) แบ่งออกเป็น 2 ส่วนคือ 1) การกำหนดขนาดตัวอย่างที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ไว้จำนวนหนึ่ง ที่สามารถส่งผลต่อการเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยวตามดุลพินิจของ ฝ่ายบริหารข้อมูล และสำนักงานภาค ซึ่งเป็นผู้ที่รับผิดชอบการสำรวจในแต่ละภูมิภาคเนื่องจากเล็งเห็นว่ามีความสามารถและมีความเชี่ยวชาญในแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งมีหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกตัวอย่างได้อย่างเหมาะสม รวมถึงมีความสะดวกในการหาช่องทางการติดต่อเพื่อขอความร่วมมือในการตอบแบบสำรวจได้อย่างสม่ำเสมอ และ 2) จำนวนตัวอย่างที่ขาดไป ใช้วิธีการสุ่มตัวอย่างแบบเป็นระบบ (Systematic Sampling) ที่เรียงตามตัวอักษรในแต่ละขนาดสถานที่พักแรม เพื่อให้การสำรวจมีการกระจายตัวของตัวอย่างได้อย่างมีประสิทธิภาพ

   3. โครงสร้างแบบสอบถาม
          การปรับปรุงการสำรวจธุรกิจสถานที่พักแรมนี้ ใช้แบบสำรวจ 23(*7( ในการขอข้อมูลต่างๆ จากผู้ประกอบการธุรกิจสถานที่พักแรม โดยมีข้อคำถาม 6 ข้อดังนี้
          จำนวนห้องพัก หมายถึง จำนวนห้องพักทั้งหมดที่โรงแรมเปิดขายให้กับลูกค้าคูณด้วยจำนวนวันในเดือนนั้น ซึ่งมี สูตรการคำนวณดังนี้ จำนวนห้องพัก = (จำนวนห้องพักทั้งหมดที่มี — จำนวนห้องพักที่ปิดเพื่อซ่อมบำรุง) x จำนวน วันในเดือนนั้น
          จำนวนเข้าพักจริง หมายถึง จำนวนห้องพักที่มีลูกค้าเข้าพักจริงในแต่ละเดือน นับเป็นหน่วยห้องต่อคืน เช่น กรณีลูกค้าพัก 1 ห้อง 3 คืน การคำนวณจำนวนเข้าพัก = 1 ห้อง x 3 คืน = 3 ห้อง เป็นต้น
          จำนวนการจองห้องพักล่วงหน้า หมายถึง จำนวนห้องพักที่มีการแจ้งจองล่วงหน้า 3 เดือน นับจากเดือนของข้อมูลซึ่งนับรวมถึง กรณีที่มีการชำระเงินบางส่วนเพื่อยืนยันการจองแล้วและยังไม่มีการชำระเงินบางส่วนล่วงหน้าด้วย เช่น ขอข้อมูลของเดือนมกราคม จำนวนการจองห้องพักล่วงหน้าจะเป็นจำนวนห้องพักที่มีการจองล่วงหน้าของเดือนกุมภาพันธ์ มีนาคม เมษายน เป็นต้น
          ราคาเฉลี่ยต่อห้องที่ขายได้จริง หมายถึง รายได้ค่าห้องพักรวมในแต่ละเดือน หารด้วย จำนวนห้องที่ขายได้จริงในเดือนนั้น
          สัดส่วนรายได้จากการจัดประชุม / สัมมนา หมายถึง สัดส่วนรายได้ที่ได้รับจากการให้บริการจัดงาน ประชุมสัมมนา เทียบเป็นร้อยละกับรายได้ทั้งหมดของโรงแรมในเดือนนั้น
          สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ หมายถึง สัดส่วนร้อยละของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าพักแรมที่เป็นชาวต่างชาติเทียบกับผู้เข้าพักรวมทั้งสิ้นในเดือนนั้น

   4. การประมวลผล
          จากข้อมูลที่ได้จากข้อถามในแบบสำรวจทั้ง 6 ข้อ นำมาประมวลผลเป็นภาพรวมรายภูมิภาค ดังนี้
     4.1 การประมวลผลในระดับภูมิภาค
          อัตราการเข้าพักแรม แสดงถึงอุปสงค์ของสถานที่พักแรม ที่สามารถสะท้อนภาพรวมของการท่องเที่ยว และสถานที่พักแรมในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย
          จำนวนการจองห้องพักล่วงหน้า 3 เดือน แสดงถึงความต้องการห้องพักของนักท่องเที่ยวในอนาคต ล่วงหน้า 3 เดือน ซึ่งสะท้อนถึงแนวโน้มภาวะการท่องเที่ยวในระยะ 3 เดือนข้างหน้าของแต่ละภูมิภาค
          ราคาเฉลี่ยต่อห้องที่ขายได้จริง แสดงถึงระดับราคาห้องพัก ซึ่งสะท้อนระดับราคาเฉลี่ยของห้องพักที่ขายได้จริงในแต่ละภูมิภาค
          สัดส่วนรายได้จากการจัดประชุม / สัมมนา สะท้อนภาพรวมของสัดส่วนรายได้จากการจัดประชุม หรือ สัมมนาในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย
          สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติ สะท้อนภาพรวมของสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติในแต่ละภูมิภาคของประเทศไทย

   4.2 การประมวลผลรวมทั้งประเทศ
          การประมวลผลจากระดับภูมิภาคเป็นข้อมูลรวมทั้งประเทศ คำนวณโดยการเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักตามสัดส่วนห้องพักรวมของสถานที่พักแรมในแต่ละภูมิภาค เทียบกับห้องพักรวมของทั้งประเทศ ซึ่งใช้ข้อมูลจำนวนห้องพักรวมของแต่ละภูมิภาคของทั้งประเทศ จากข้อมูลของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ปี 2552
          ข้อมูลจากการสำรวจด้วยแบบสอบถามใหม่นี้ เริ่มทำการเผยแพร่เมื่อสิ้นเดือนเมษายน 2553 โดยเผยแพร่ภายใต้หัวข้อ สถิติ / สถิติเศรษฐกิจและการเงิน / ดัชนีและเครื่องชี้เศรษฐกิจ / ดัชนีและเครื่องชี้ภาคเศรษฐกิจจริงด้วยรหัสตาราง EC_EI_028 หัวข้อเรื่อง เครื่องชี้ภาวะการท่องเที่ยว ทาง BOT Website(*8)

   5. ผลการสำรวจธุรกิจสถานที่พักแรมเดือนมกราคม — มีนาคม 2553
          สรุปผลการสำรวจอัตราการเข้าพักแรมด้วยจำนวนตัวอย่างชุดใหม่ เทียบกับตัวอย่างชุดเดิม ดังตารางที่ 7 รวมทั้งสรุปผลสำรวจในส่วนที่สอบถามเพิ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมกราคม ถึง มีนาคม 2553 ดังตารางที่ 8 ซึ่งเป็นข้อมูล ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 ดังนี้
          1. โดยภาพรวมอัตราการเข้าพักแรมจากตัวอย่างชุดใหม่ในเดือนมกราคม-มีนาคม 2553 ไม่แตกต่างจากตัวอย่างชุดเดิมอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีความต่างไม่เกินร้อยละ +/- 1 ฉะนั้น ผลการสำรวจอัตราการเข้าพักแรมจากตัวอย่างชุดใหม่ที่เริ่มตั้งแต่เดือนมกราคม 2553 ย่อมมีความสอดคล้องกับอัตราการเข้าพักแรมจากตัวอย่างชุดเดิมที่มีการเผยแพร่ในปัจจุบัน และตัวอย่างชุดใหม่นี้สร้างความเชื่อมั่นในข้อมูลได้มากกว่าด้วยคุณภาพที่เป็นไปตามหลักการทางสถิติ รวมทั้งมีข้อมูลอัตราการเข้าพักแรมจำแนกเป็นรายภาค ซึ่งสะท้อนภาพการท่องเที่ยวในแต่ละภูมิภาคของไทยได้

ตารางที่ 7 : สรุปผลการสำรวจอัตราการเข้าพักแรมด้วยจำนวนตัวอย่างชุดใหม่ เทียบกับตัวอย่างชุดเดิม เดือนมกราคม — มีนาคม 2553 (หน่วย: ร้อยละ)

ผลการสำรวจ                           มกราคม      กุมภาพันธ์      มีนาคม     ไตรมาสที่1
1. อัตราการเข้าพักแรมจากตัวอย่างชุดเดิม      59.71       65.51      56.92        60.73
2. อัตราการเข้าพักแรมจากตัวอย่างชุดใหม่1/
   รวมทั้งประเทศ                        59.68       68.35      58.53        62.04
   ภาคกลาง (รวมกรุงเทพ)                65.72       70.96      64.79        67.13
   ภาคใต้                              53.29       51.33      40.25        48.96
   ภาคเหนือ                            50.36       50.99      48.20        50.00
   ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ2/              59.68        68.35      58.53         62.04
1/ ข้อมูลการสำรวจสถานที่พักแรมจากจำนวนตัวอย่างชุดใหม่ครอบคลุมทั่วประเทศด้วยจำนวนตัวอย่างที่ตอบกลับประมาณ 400 ราย
2/ จำนวนตัวอย่างที่ตอบกลับในเดือนม.ค. ก.พ. และ มี.ค. เท่ากับ 66 59 และ 42 ราย ซึ่งยังน้อยกว่าจำนวนรายขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 84 ราย
จึงยังไม่มากพอที่จะใช้เป็นตัวแทนที่ดีของภาคได้ ดังนั้นโปรดใช้ข้อมูลด้วยความระมัดระวัง
          ที่มา : ฝ่ายบริหารข้อมูล และสำนักงานภาค ธปท.

          2. ความแตกต่างเพียงเล็กน้อยของข้อมูลทั้งสองชุดนี้ ทำให้สามารถใช้วิเคราะห์ต่อข้อมูลอนุกรมเวลาจาก ข้อมูลที่เผยแพร่ตั้งแต่เดือนมกราคม 2540 โดยใช้ตัวอย่างเดิมได้ ทั้งนี้ ผลการสำรวจอัตราการเข้าพักแรมจาก ตัวอย่างชุดใหม่ที่เริ่มจัดทำขึ้นตามแบบการสำรวจที่ได้ปรับปรุงขึ้นในเดือนมกราคม - มีนาคม 2553 (ตารางที่ 7) พบว่าอัตราการเข้าพักรวมของทั้งประเทศจากตัวอย่างชุดใหม่อยู่ที่ประมาณร้อยละ 57-65 และโดยเฉลี่ยทั้งไตรมาสแรกของปี 2553 มีอัตราการเข้าพักอยู่ที่ร้อยละ 60.73 ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงภาวะการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่ดีขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ร้อยละ 53.40(*9)
          อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาอัตราการเข้าพักแรมรายเดือนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2553 เทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วงปี 2548 — 2552 (ภาพที่ 1) พบว่า ยังต่ำกว่าค่าเฉลี่ย โดยเฉพาะในเดือนมีนาคมซึ่งเริ่มมีเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมือง ทำให้อัตราการเข้าพักแรมในเดือนมีนาคมต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมากสอดคล้องกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่ปรับฤดูกาลแล้ว (ภาพที่ 2) ในเดือนมีนาคมที่ลดลงจากเดือนก่อนหน้าร้อยละ 4.3
          3. เมื่อพิจารณาแยกแต่ละภูมิภาคในช่วงเดือนมกราคม-มีนาคม อัตราการเข้าพักแรมในภาคกลางอยู่ที่ประมาณร้อยละ 58-68 ภาคใต้มีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 65-71 และสำหรับภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักแรมอยู่ที่ประมาณร้อยละ 40-53 จากข้อมูลดังกล่าวสะท้อนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและการส่งเสริมด้าน การตลาด ทำให้ธุรกิจท่องเที่ยวในภาคใต้ขยายตัวดี มีอัตราการเข้าพักแรมสูงที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับภาคอื่นๆ อย่างไรก็ตามจากข้อมูลจากการสำรวจในเดือนมีนาคมที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าทั้งภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักแรมลดลง โดยเฉพาะภาคเหนือมีอัตราการเข้าพักแรมต่ำกว่าร้อยละ 50 หรือหมายถึงมีห้องว่างมากกว่าครึ่งหนึ่ง ทั้งนี้ แม้ว่าส่วนหนึ่งเป็นผลจากปัญหาหมอกควันในจังหวัดทางภาคเหนือตอนบน แต่อีกส่วนก็สะท้อนสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและการออกประกาศเตือนการเดินทางเข้าท่องเที่ยวในประเทศไทยของประเทศต่างๆ เริ่มส่งผลกระทบต่อธุรกิจการท่องเที่ยว สำหรับในภาคตะวันออกเฉียงเหนือนั้น จำนวนตัวอย่างที่ตอบกลับในเดือนมกราคม-มีนาคม 2553 เท่ากับ 66 59 และ 42 ราย ตามลำดับ ซึ่งไม่มีเดือนใดมีจำนวนรายตอบกลับเกินกว่า 84 รายที่เป็นจำนวนรายขั้นต่ำที่กำหนดไว้ จึงยังไม่มากพอที่จะใช้เป็นตัวแทนที่ดีของภาคได้
          4. ในส่วนที่สอบถามเพิ่มขึ้นแสดงในตารางที่ 8 เนื่องจากเป็นการสำรวจใหม่จึงยังไม่มีข้อมูลย้อนหลังยาวพอเพื่อวิเคราะห์เชิงเปรียบเทียบได้ อย่างไรก็ตามผลการสำรวจให้ภาพสอดคล้องกันทุกภาคที่อาจสะท้อนผลกระทบจาก ความไม่สงบทางการเมืองในเดือนมีนาคมที่มีต่ออัตราการจองห้องพักล่วงหน้าบ้าง

ตารางที่ 8 : สรุปผลการสำรวจส่วนที่สอบถามเพิ่มขึ้นด้วยจำนวนตัวอย่างชุดใหม่เดือน มกราคม — มีนาคม 2553

ผลการสำรวจ                           มกราคม    กุมภาพันธ์    มีนาคม    ไตรมาส1
1. อัตราการจองห้องพักล่วงหน้า (ร้อยละ)
รวมทั้งประเทศ                          22.36       24.91    21.58      20.46
ภาคกลาง (รวมกรุงเทพ)                  23.58      26.31     21.95      21.06
ภาคใต้                                24.11      28.31     26.35      24.18
ภาคเหนือ                              20.98      20.78     17.74      17.13
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ1/                  9.03       9.36      8.53       8.52
2.ค่าห้องพักเฉลี่ยที่ขายได้จริง (บาท:ห้อง)
รวมทั้งประเทศ                       2,412.67   2,169.86  2,083.45   2,232.40
ภาคกลาง (รวมกรุงเทพ)               2,284.45   2,171.79  2,082.56   2,182.68
ภาคใต้                             3,662.18   3,011.91  2,921.98   3,220.77
ภาคเหนือ                           1,371.18   1,245.79  1,129.36   1,272.38
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ1/                841.96     857.92    867.02     853.90
3.สัดส่วนรายได้จากการประชุม/สัมมนา (ร้อยละ)
รวมทั้งประเทศ                          17.67      16.77     17.50      17.20
ภาคกลาง (รวมกรุงเทพ)                  17.34      15.12     16.72      16.34
ภาคใต้                                16.96      17.78     15.11      16.63
ภาคเหนือ                              15.08      15.02     19.18      15.88
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ1/                 28.04      29.46     29.23      28.85
4.สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ (ร้อยละ)
รวมทั้งประเทศ                          68.52      71.94     67.14      69.32
ภาคกลาง (รวมกรุงเทพ)                  76.83      80.95     73.89      77.52
ภาคใต้                                76.10      78.24     74.67      76.41
ภาคเหนือ                              45.68      49.55     51.45      48.33
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ1/                 20.21      21.97     17.10      20.09
1/ จำนวนตัวอย่างที่ตอบกลับในเดือนม.ค. ก.พ. และ มี.ค. เท่ากับ 66 59 และ 42 ราย ซึ่งยังน้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนดไว้ที่ 84 ราย จึง
ยังไม่มากพอที่จะใช้เป็นตัวแทนที่ดีของภาคได้
ที่มา : ฝ่ายบริหารข้อมูล และสำนักงานภาค ธปท.

          -  อัตราการจองห้องพักล่วงหน้า ชี้ให้เห็นถึงแนวโน้มภาวะการท่องเที่ยวในอนาคตระยะ 3 เดือนข้างหน้าโดยอัตราการจองห้องพักล่วงหน้าทั้งประเทศของเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 22.4 24.9 และ 21.6 ตามลำดับ โดยในเดือนมีนาคมมีอัตราการจองห้องพักล่วงหน้าลดลง ทั้งนี้อัตราการจองห้องพักล่วงหน้ารวมทั้งประเทศในไตรมาสแรกปีนี้ อยู่ที่ร้อยละ 20.46
          -  ค่าห้องพักเฉลี่ยที่ขายได้จริง ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2553 อยู่ที่ 2,412.70 2,169.90 และ 2,083.40 บาท ตามลำดับ ราคาเฉลี่ยของห้องพักที่ขายได้จริงในภาคใต้สูงกว่าภูมิภาคอื่น สำหรับราคาเฉลี่ยของห้องพักที่ขายได้จริงรวมทั้งประเทศในไตรมาสแรกปีนี้อยู่ที่ 2,232.40 บาท
          -  สัดส่วนรายได้จากการประชุม/สัมมนา ซึ่งแสดงให้เห็นถึงสัดส่วนรายได้จากการจัดประชุม หรือสัมมนาต่อรายได้รวมของสถานที่พักแรม ในเดือนมกราคม กุมภาพันธ์ และมีนาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 17.7 16.8 และ 17.5 ตามลำดับ ซึ่งเป็นสัดส่วนที่ใกล้เคียงกัน โดยค่าเฉลี่ยของสัดส่วนดังกล่าวในไตรมาสแรกของปีนี้ อยู่ที่ 17.2
          - สัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ ในเดือนมกราคม ถึงมีนาคม 2553 อยู่ที่ร้อยละ 68.5 71.9 และ 67.1 ตามลำดับ และมีสัดส่วนร้อยละ 69.3 ในไตรมาสแรกของปี 2553

   6. สรุปปัญหาที่พบในการสำรวจ และแนวทางการปรับปรุง
          จากการดำเนินการสำรวจข้อมูลใน 3 เดือนที่ผ่านมา จำนวนตัวอย่างที่ตอบข้อมูลในแต่ละภูมิภาค ซึ่งสะท้อนความน่าเชื่อถือทางสถิติของข้อมูลในระดับภาคได้นั้น ปรากฏว่า ภาคกลาง ภาคใต้ และภาคเหนือ สามารถติดตามข้อมูลให้ได้จำนวนรายที่ตอบกลับสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำของแต่ละภาคได้ตามกำหนด แต่จำนวนรายที่ตอบกลับของภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงไม่ถึงจำ นวนขั้นต่ำ ที่จะสามารถนำ ข้อมูลที่ได้ไปใช้อ้างอิงเป็นตัวแทนที่ดีของภาคได้ จำเป็นต้องหาแนวทางเพื่อปรับปรุงการสำรวจของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้มีจำนวนตัวอย่างตอบกลับเพิ่มสูงขึ้นกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำที่กำหนด เพื่อให้ข้อมูลเป็นตัวแทนที่ดีสามารถใช้สะท้อนภาวะการท่องเที่ยวในระดับภูมิภาคได้
          สำหรับผลการสำรวจอัตราการเข้าพักแรมจากตัวอย่างชุดใหม่ เมื่อเทียบกับอัตราการเข้าพักแรมจากตัวอย่าง ชุดเดิมมีความสอดคล้องต่อเนื่องกัน ดังนั้น ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจชุดใหม่นี้จะเผยแพร่ ณ สิ้นเดือนเมษายน 2553 เป็นต้นไป โดยเผยแพร่ข้อมูลเป็นรายเดือน ทุกวันทำการสุดท้ายของสิ้นเดือน ทาง BOT Website

          (*1) การสุ่มตัวอย่างแบบเจาะจง (Purposive Sampling) เป็นการสุ่มตัวอย่างแบบไม่อาศัยความน่าจะเป็น ซึ่งเป็นวิธีสุ่มที่ผู้สำรวจเจาะจงเลือกหน่วยขั้นต้นมาอยู่ในตัวอย่างตามดุลพินิจของผู้สำรวจเอง เพื่อสะดวกต่อการการทำสำรวจ และในด้านการขอความร่วมมือจากหน่วยตัวอย่าง
          (*2) การสุ่มตัวอย่างแบบชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) เป็นการสุ่มตัวอย่างแบบอาศัยความน่าจะเป็น ซึ่งเป็นกระบวนการของการจำแนกสมาชิกของประชากรออกเป็น ชั้นต่าง ๆ โดยที่สมาชิกของประชากรที่อยู่ในชั้นภูมิเดียวกันจะมีลักษณะหรือคุณสมบัติเดียวกัน แต่ต่างชั้นภูมิกันจะมีลักษณะหรือคุณสมบัติที่แตกต่างกันและมีการสุ่มตัวอย่างเพื่อให้ได้กลุ่มตัวอย่างจากแต่ละชั้นภูมิเพื่อนำมาศึกษา
          (*3) อ้างอิงข้อมูลขนาดพื้นที่จากกรมการปกครองกระทรวงมหาดไทย ปี พ.ศ. 2551
          (*4) การกำหนดขนาดตัวอย่างเพื่อควบคุมค่าความคลาดเคลื่อนในการประมาณค่าสัดส่วน
          (*5) เนื่องจากข้อมูลจากสำนักพัฒนาการท่องเที่ยวมีการทำสำรวจจากกลุ่มตัวอย่างที่มีปริมาณมาก จนอนุมานได้ว่าเป็นการเก็บข้อมูลจากประชากร
          (*6) สูตรการกระจายขนาดตัวอย่างออกตามขนาดสถานที่พักแรมในแต่ละภูมิภาค ni = pi(n); เมื่อ n คือ ขนาดตัวอย่างในแต่ละภูมิภาค และ pi คือ สัดส่วนจำนวนห้องพักจำแนกตามขนาดสถานที่พักแรมในแต่ละภูมิภาค
          (*7) แบบสำรวจจำนวนการเข้าพักแรม
          (*8)http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/EconomicIndices/Pages/StatRealsectorIndices.aspx
          (*9) http://www.bot.or.th/Thai/Statistics/EconomicAndFinancial/EconomicIndices/Pages/StatRealsectorIndices.aspx

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ