รายงานแนวโน้มธุรกิจ ไตรมาส 3 ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 30, 2010 11:20 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

สรุปภาพรวมภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจในช่วงไตรมาสที่ 2 และแนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ปี 2553

บทคัดย่อ

จากการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจ สถาบันและสมาคมธุรกิจในสาขาต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 254 รายพบว่า ภาวะธุรกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องแม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เนื่องจากผลกระทบอยู่ในวงจำกัด ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ปรับดีขึ้นในช่วงท้ายของไตรมาส สำหรับแนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่าธุรกิจโดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ ส่งผลให้ภาคเอกชนวางแผนลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่การปรับราคาสินค้าเริ่มทำได้ยากจากการแข่งขันที่รุนแรงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการควบคุมราคาสินค้าของทางการ

  • การบริโภคภาคเอกชน ยังคงขยายตัวแม้จะชะลอลงบ้างจากปัญหาเสถียรภาพทางการเมือง โดยยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคและยอดขายสินค้าคงทน (Durable Goods) ยังอยู่ในระดับสูง อาทิ รถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้า เป็นผลจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลที่อยู่ในระดับสูง การส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ เงื่อนไขการชำระสินเชื่อที่ผ่อนปรนขึ้น และความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้นในเดือนสุดท้ายของไตรมาส
  • การท่องเที่ยว หดตัวจากไตรมาสที่ผ่านมาจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพและภาคกลาง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวในภาคใต้ยังคงขยายตัวจากนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ ขณะที่นักท่องเที่ยวจากเอเชีย โดยเฉพาะ จีน ฮ่องกง และอาเซียน เริ่มฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาสหลังจากความไม่สงบทางการเมืองคลี่คลายลง
  • การผลิตและการส่งออก ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นตามคำสั่งซื้อทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้า สำหรับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองส่งผลกระทบเล็กน้อยต่อการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ รวมถึงการผลิตในรอบกลางคืนของบางโรงงานในเขตพื้นที่ที่ประกาศเคอร์ฟิว (Curfew) แต่ผลกระทบมีเพียงชั่วระยะเวลาสั้นๆ ขณะที่ระดับการผลิตในไตรมาส 2 ใกล้เคียงกับไตรมาส 1 และคำสั่งซื้อล่วงหน้ายังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยานยนต์ซึ่งมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าถึง 2-4 เดือน
  • การลงทุนภาคเอกชน ยังคงขยายตัวต่อเนื่องเพื่อรองรับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ Hard Disk Drive และเครื่องใช้ไฟฟ้า สอดคล้องกับการนำเข้าสินค้าทุนที่เพิ่มขึ้น ขณะที่ยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI เพิ่มขึ้นจากระยะเดียวกันปีก่อน โดยเฉพาะกิจการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทน การผลิตโลหะขั้นมูลฐาน และการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์
  • การจ้างงาน ภาวะการจ้างงานปรับดีขึ้น โดยความต้องการแรงงานในภาคอุตสาหกรรมขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้อุตสาหกรรม SMEs บางบริษัทประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันในด้านอัตราค่าจ้างกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ เป็นผลให้อัตรา Turn Over สูงขึ้น และต้องใช้เวลาในการจัดหาแรงงานทดแทนนานขึ้น อย่างไรก็ดี ในไตรมาสนี้มีแรงงานที่จบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น ทำให้ภาวะตลาดแรงงานลดความตึงตัวลง
  • ต้นทุนการดำเนินธุรกิจและราคา แรงกดดันด้านต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้าง จากการผลิตที่ขยายตัวส่งผลให้อุปสงค์ต่อวัตถุดิบเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการพยายามปรับตัวโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Cost Efficiency) มากกว่าการปรับเพิ่มราคา (Mark up Price) เนื่องจากตลาดมีการแข่งขันสูง
  • สินเชื่อ ความต้องการสินเชื่อของภาคธุรกิจขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน โดยบริษัทขนาดใหญ่ขอสินเชื่อเพื่อลงทุนในทรัพย์สินถาวรและเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียน ขณะที่บริษัท SMEs ขอสินเชื่อเพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อการ Refinance จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ สำหรับมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินใกล้เคียงกับไตรมาสก่อน และสถาบันการเงินยังคงติดตามดูแลสินเชื่อธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างใกล้ชิด
  • ปัจจัยเสี่ยงและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจที่สำคัญ ได้แก่ การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก จากการแข่งขันที่รุนแรงทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการควบคุมราคาสินค้าในประเทศของทางการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าได้แม้เริ่มมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการเห็นว่าปัจจัยเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจได้ผ่อนคลายลงต่อเนื่อง

จากการเข้าพบเพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับนักธุรกิจ สถาบัน และสมาคมธุรกิจในสาขาต่าง ๆทั่วประเทศ จำนวน 254 ราย ในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2553 รวมถึงผลจากการสำรวจความเชื่อมั่นผู้ประกอบการ (Business Sentiment Survey)(*1) พบว่า ภาวะธุรกิจโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 มีทิศทางขยายตัวต่อเนื่องแม้ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง เนื่องจากผลกระทบอยู่ในวงจำกัด ขณะที่อุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศขยายตัวต่อเนื่อง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลก รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและผู้ประกอบการที่ปรับดีขึ้นในช่วงท้ายของไตรมาส

แนวโน้มเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่า ธุรกิจโดยรวมมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการใช้จ่ายภาครัฐและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ ส่งผลให้ภาคเอกชนวางแผนลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ปัจจัยเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนทางการเมืองและความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจผ่อนคลายลง อย่างไรก็ตาม การปรับราคาสินค้าเริ่มทำได้ยาก จากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการควบคุมราคาสินค้าในประเทศของทางการ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าได้แม้เริ่มมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

การบริโภคภาคเอกชน

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 การบริโภคภาคเอกช นขยายตัวต่อเนื่องแม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยสินค้าที่ได้รับผลกระทบมาก ได้แก่ สินค้า Brand Name ซึ่งมีช่องทางการจำหน่ายผ่านศูนย์การค้าในบริเวณใจกลางเมือง อย่างไรก็ดีหลังจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองคลี่คลายลง การบริโภคภาคเอกชนกลับมาฟื้นตัวต่อเนื่อง สอดคล้องกับดัชนีการบริโภคภาคเอกชนและดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

โดยเฉพาะยอดขายสินค้าอุปโภคบริโภคและยอดขายสินค้าคงทน (Durable Goods) เช่น ยอดจำหน่ายรถยนต์ ซึ่งได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองเพียงเล็กน้อย การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนดังกล่าวเป็นผลจากเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวต่อเนื่อง รายได้เกษตรกรที่เพิ่มขึ้นจากราคาพืชผลที่อยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะยางพาราและมันสำปะหลัง การจัดรายการส่งเสริมการขายของผู้ประกอบการ และเงื่อนไขการชำระสินเชื่อที่ผ่อนปรนขึ้น เช่น การลดเงินดาวน์ การขยายระยะเวลาผ่อนชำระ เป็นต้น

ในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่าการอุปโภคบริโภคมีทิศทางขยายตัวต่อเนื่อง จากกำลังซื้อของผู้บริโภคที่อยู่ในระดับสูง ตามภาวะการจ้างงานที่มีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่องทั้งในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม การฟื้นตัวของความเชื่อมั่นของผู้บริโภค การแข่งขันการให้สินเชื่อผู้บริโภคของสถาบันการเงินรวมทั้งการจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายของผู้ประกอบการ

การท่องเที่ยว

ภาวะธุรกิจการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 หดตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวและอัตราการเข้าพักลดลงต่ำสุดในเดือนพฤษภาคม 2553 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพมหานครและภาคกลาง อย่างไรก็ดี การท่องเที่ยวในภาคใต้ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ไม่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองยังขยายตัวต่อเนื่อง จากนักท่องเที่ยวมาเลเซียและสิงคโปร์ และจำนวนเที่ยวบินตรงไปยังสนามบินในภาคใต้ที่เพิ่มขึ้น

หลังจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองคลี่คลายลง หลายประเทศได้ลดระดับการประกาศเตือนนักท่องเที่ยว (Travel Advisory) ในการมาเยือนไทย ทำให้นักท่องเที่ยวต่างประเทศมีความเชื่อมั่นมากขึ้น จำนวนนักท่องเที่ยวในเดือนมิถุนายน 2553 จึงปรับตัวสูงขึ้นเป็น 9.5 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวจากเอเชีย โดยเฉพาะจีน ฮ่องกง และอาเซียน สอดคล้องกับทิศทางการฟื้นตัวในอดีต เนื่องจากนักท่องเที่ยวเอเชียเป็นนักท่องเที่ยวระยะใกล้ทำให้มีความคล่องตัวในการเปลี่ยนแปลงแผนการเดินทาง โดยใช้เวลาวางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้าเพียง 1-3 เดือน ขณะที่นักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรปใช้เวลาวางแผนท่องเที่ยวล่วงหน้า 3-6 เดือน

ในครึ่งหลังของปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่าธุรกิจการท่องเที่ยวจะดีขึ้นเป็นลำดับ หากไม่มีปัจจัยลบเพิ่มเติมที่จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยว และคาดว่าการท่องเที่ยวของไทยจะปรับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ แต่การปรับลดราคาลงของผู้ประกอบการเพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยวอาจเป็นสาเหตุให้รายรับของธุรกิจท่องเที่ยวต่ำกว่าช่วงเดียวกันปีก่อน โดยล่าสุด สภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2553 จะอยู่ที่ประมาณ 15.0-15.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 5-10 จากปีที่ผ่านมา

การผลิตและการส่งออก

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 การผลิตและการส่งออกปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสที่ผ่านมา ตามคำสั่งซื้อจากทั้งในและต่างประเทศ ประเทศที่การส่งออกขยายตัวสูง ได้แก่ กลุ่มประเทศอาเซียน ญี่ปุ่น จีน ออสเตรเลีย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์ อาหาร และสิ่งทอ เป็นผลจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าสำคัญ สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีการผลิตและดัชนีคำสั่งซื้อที่ได้จากการสำรวจผู้ประกอบการ เป็นที่น่าสังเกตว่า สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองส่งผลกระทบเพียงช่วงระยะเวลาสั้นๆ ต่อการขนส่งสินค้าและวัตถุดิบ และการผลิตในรอบกลางคืนของบางโรงงานในเขตพื้นที่ที่ประกาศเคอร์ฟิว อย่างไรก็ดี การผลิตในไตรมาสที่ 2 อยู่ในระดับใกล้เคียงกับไตรมาสที่ 1 ตามคำสั่งซื้อล่วงหน้าที่อยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง

การผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ยังอยู่ในระดับสูง แม้อัตราการขยายตัวจะชะลอลงจากฐานการส่งออกในช่วงเดียวกันปีก่อนที่เริ่มปรับสูงขึ้น การเติบโตของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการลงทุนด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information Technology: IT) และด้านHardware ของทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วโลก เนื่องจากวงจรเทคโนโลยีถึงรอบการลงทุนครั้งใหม่ หลังจากแผนการลงทุนทางด้าน IT และ Hardware ในอดีตถูกเลื่อนออกไปเนื่องจากเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ(*2) ด้านอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยเฉพาะเครื่องปรับอากาศมียอดการผลิตและจำหน่ายเพิ่มขึ้นมากจากปรากฏการณ์เอลนิโญที่ทำให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกเพิ่มสูงขึ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน สะท้อนจากยอดขายทั้งในและต่างประเทศ

ในไตรมาสที่ 2 ประมาณ 390,000 คัน โดยเฉพาะการส่งออกขยายตัวสูงร้อยละ 109.9 จากช่วงเดียวกันปีก่อน จากคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ขณะที่ยอดขายในประเทศขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 53.6 จากช่วงเดียวกันปีก่อน ตามรายได้เกษตรกรที่ปรับดีขึ้น ความนิยมรถยนต์นั่งขนาดเล็กรุ่นใหม่ และการแข่งขันปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงิน เช่น การลดเงินดาวน์ การขยายระยะเวลาผ่อนชำระเพิ่มขึ้นสูงสุดเป็น 84 เดือน เป็นต้น ทั้งนี้ คำสั่งซื้อล่วงหน้าของอุตสาหกรรมยานยนต์ยังอยู่ในระดับสูง โดยมียอดค้างการส่งมอบ 2-4 เดือน

ในไตรมาส 3 ปี 2553 แนวโน้มการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง จากปัจจัยบวกทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับดีขึ้น และความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้าที่เติบโตอย่างต่อเนื่อง อาทิ Solid State Drive (SSD) และหน้าจอสัมผัส ซึ่งเป็นอุปกรณ์สำคัญในโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภท Smartphone ซึ่งมีการขยายตัวสูง และคอมพิวเตอร์ Notebook ขนาดพกพา เช่น Netbook และ Ipad

แนวโน้มการผลิตและการส่งออกของอุตสาหกรรมรถยนต์ ผู้ประกอบการคาดว่าจะขยายตัวได้ดีกว่าประมาณการเดิม จากปัจจัยเอื้อต่างๆ ได้แก่ รายได้ที่เพิ่มขึ้นของผู้บริโภคจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำ การเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และการเปิดตลาดใหม่ภายใต้กรอบข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ทั้งนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรม ได้ปรับเป้าหมายการผลิตในปี 2553 เพิ่มขึ้นเป็น 1,560,000 คัน จากประมาณการเดิม 1,400,000 คัน โดยแบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 670,000 คัน และปรับเพิ่มเป้าหมายการส่งออกเป็น 890,000 คัน การลงทุนภาคเอกชน

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 การลงทุนภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนหน้าเพื่อรองรับอุปสงค์ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามคำสั่งซื้อที่อยู่ในระดับสูงของอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก โดยเฉพาะการลงทุนด้านเครื่องจักรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของอุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ Hard Disk Drive และเครื่องใช้ไฟฟ้า สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนี

การลงทุนภาคเอกชน (Private Investment Index: PII) และการนำเข้าสินค้าทุน (Capital Goods) ที่เพิ่มขึ้น นอกจากนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 52.1 ในเดือนมิถุนายน 2553 สะท้อนว่า ผู้ประกอบการมีความมั่นใจในภาวะธุรกิจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลดีต่อแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป(*3) การลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่วนหนึ่งมาจากนโยบายสนับสนุนการลงทุนของรัฐบาล อาทิ โครงการลงทุนรถยนต์Eco Car และศักยภาพของอุตสาหกรรมการผลิตในไทย เช่น มีต้นทุนการผลิตที่เหมาะสม แรงงานไทยที่มีฝีมือประณีต มีบริษัทผู้ผลิตวัตถุดิบและชิ้นส่วนที่มีคุณภาพรองรับ ส่งผลให้ผู้ประกอบการตัดสินใจขยายการลงทุนเพิ่มขึ้นเช่น โครงการผลิตรถยนต์นั่งเพื่อการส่งออกของบริษัทฟอร์ดที่ จ.ระยอง มูลค่า 15,000 ล้านบาท หรือโครงการผลิตกล้องถ่ายรูปของบริษัทโซนี่ที่ จ.อยุธยา มูลค่า 2,606 ล้านบาท เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการลงทุนในระยะต่อไป คาดว่าการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัวต่อเนื่องตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอุปสงค์ทั้งในและต่างประเทศ รวมทั้งความความเชื่อมโยงจากการลงทุนของรัฐบาล โดยการลงทุนของภาคเอกชนในระยะต่อไปจะเน้นโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานและอุตสาหกรรมเพื่อการส่งออก สะท้อนจากมูลค่าโครงการที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ในครึ่งแรกของปี 2553 ที่เพิ่มขึ้น โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่าลงทุนอันดับหนึ่ง คือ อุตสาหกรรมบริการและสาธารณูปโภค เช่น โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและพลังงานทางเลือก อันดับสอง คือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่ เซรามิคส์ และโลหะขั้นมูลฐาน เช่น โครงการผลิตเหล็กรีดร้อน อันดับสาม คือ อุตสาหกรรมโลหะ เครื่องจักร และอุปกรณ์ขนส่ง เช่น โครงการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และยางรถยนต์

อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของการลงทุนยังคงมีความเสี่ยงจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มสูงขึ้น ความยั่งยืนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก เสถียรภาพของการเมืองภายในประเทศ และ ปัญหามาบตาพุด(*4) ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ จากความล่าช้าในการแก้ปัญหาและความไม่ชัดเจนของกฎหมายและระเบียบปฏิบัติต่างๆ อย่างไรก็ดี ในปัจจุบันมีกฎหมายรองรับการปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญปี 2550 มาตรา 67 เกือบครบถ้วนแล้ว ยกเว้นรายชื่อประเภทกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง(*5) ซึ่งหากประกาศใช้จะมีผลให้โครงการลงทุนที่ไม่อยู่ในข่ายกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรงสามารถดำเนินการลงทุนได้ตามขั้นตอนปกติ

อสังหาริมทรัพย์

ภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 ชะลอตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา เป็นผลจากวันหยุดต่อเนื่องยาวหลายวันในเดือนเมษายน สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง และการเร่งซื้อขายอสังหาริมทรัพย์จำนวนมากในไตรมาส 1 เนื่องจากผู้บริโภคคาดว่ามาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์จะสิ้นสุดลง

ในไตรมาสที่ 2 ปี 2553 อุปสงค์ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ชะลอตัวลงจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยที่อยู่อาศัยประเภทอาคารชุดยังเป็นที่ต้องการของผู้บริโภค จากปัจจัยสนับสนุนคือ 1) ที่ดินในเมืองมีราคาแพง ทำให้พื้นที่บางทำเลไม่สามารถสร้างบ้านแนวราบได้ 2) น้ำมันมีราคาแพง 3) ขนาดครอบครัวที่เล็กลง6 4) ผู้ซื้อต้องการความสะดวกสบายและความปลอดภัย อาทิ มีกล้องวงจรปิดและพนักงานรักษาควมปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง 5) อาคารชุดเป็นทรัพย์สินที่ลงทุนได้ง่ายและให้ผลตอบแทนร้อยละ 6-7 ซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก โดยในปัจจุบันอาคารชุดมีสัดส่วนการซื้อเพื่อลงทุนให้เช่าร้อยละ 20 และเพื่อเก็งกำไรร้อยละ 207

สำหรับอุปทานใหม่ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาสที่ 2 ลดลงจากไตรมาสที่ผ่านมา สังเกตจากโครงการที่อยู่อาศัยเปิดขายใหม่มีจำนวนลดลง เป็นผลจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองและความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่ลดลง สำหรับแรงกดดันด้านราคาที่อยู่อาศัยชะลอตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อน8 เนื่องจากมีปริมาณอุปทานของที่อยู่อาศัยระดับล่างออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก

ความเสี่ยงของอุปทานล้นเกินในตลาดอสังหาริมทรัพย์ปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ สะท้อนจากยอดที่อยู่อาศัยเหลือขายสะสม ณ กลางปี 2553 ยังคงทรงตัวใกล้เคียงกับ ณ สิ้นปี 2552 ที่ 98,748 หน่วย (ร้อยละ 2.7 ของ GDP) จากที่เคยสูงสุด 118,979 หน่วย (ร้อยละ 4.4 ของ GDP) ในช่วงวิกฤตปี 2540 และสัดส่วนบ้านเหลือขายต่อบ้านสร้างเสร็จในเขต กทม. และปริมณฑลอยู่ที่ร้อยละ 2.56 เทียบกับร้อยละ 5.05 ในช่วงวิกฤตปี 2540 เป็นผลจากอัตราการดูดซับอุปทานใหม่ (Absorptionrate) ยังอยู่ในเกณฑ์ดี ผู้ประกอบการมีการสำรวจความต้องการในแต่ละทำเลก่อนตัดสินใจลงทุน และธนาคารมีความระมัดระวังในการปล่อยสินเชื่อเพื่อก่อสร้างโครงการใหม่ (Pre-finance) แต่การเปิดตัวโครงการจำนวนมาก อาจส่งผลให้เกิดอุปทานล้นเกินในบาง Segment ได้

แนวโน้มตลาดอสังหาริมทรัพย์ในไตรมาส 3 ปี 2553 ผู้ประกอบการคาดว่าตลาดอสังหาริมทรัพย์จะชะลอตัวลงบ้างในช่วงต้นไตรมาส จากมาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 30 มิถุนายน 2553 และปัจจัยทางฤดูกาลเนื่องจากฤดูฝนเป็น Low season ของตลาดอสังหาริมทรัพย์ ประกอบกับผู้ซื้อรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและการเมือง อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการคาดว่าตลาดจะเริ่มกลับมาฟื้นตัวในช่วงปลายไตรมาส โดยเฉพาะอสังหาริมทรัพย์ประเภทอาคารชุดที่ยังคงมีแนวโน้มเติบโตมากกว่าบ้านเดี่ยวและทาวน์เฮาส์ สอดคล้องกับการเร่งหาซื้อที่ดินใจกลางเมืองที่มีศักยภาพสำหรับการพัฒนาโครงการอาคารชุด ซึ่งอยู่ห่างจากสถานีรถไฟฟ้า BTS, MRT หรือ Airport link ไม่เกิน 200 เมตร

ภาวะการจ้างงานโดยรวมในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวจากไตรมาสที่ผ่านมา โดยการจ้างงานใน ภาคอุตสาหกรรมขยายตัวตามการผลิตและคำสั่งซื้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของดัชนีการจ้างงานในปัจจุบันที่ได้จากการสำรวจผู้ประกอบการ ส่งผลให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มประสบปัญหาขาดแคลนแรงงาน ทั้งในกลุ่มที่เน้นใช้เครื่องจักรในการผลิต เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และในกลุ่มที่เน้นใช้แรงงานในการผลิตเช่น อาหาร สิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม โดยขาดแคลนทั้งแรงงานมีฝีมือและแรงงานระดับล่าง โดยเฉพาะบริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ประสบปัญหาขาดแคลนแรงงานมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันด้านอัตราค่าจ้างกับบริษัทขนาดใหญ่ได้ ส่งผลให้อัตราการเปลี่ยนงาน (Turnover rate) เพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะแรงงานชั่วคราวรายวัน และบริษัท SMEs ต้องใช้เวลานานขึ้นในหาแรงงานทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง อย่างไรก็ดี ในไตรมาสนี้มีแรงงานที่จบการศึกษาเข้าสู่ตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น ช่วยให้ตลาดแรงงานลดความตึงตัวลงได้บ้าง

สำหรับสาเหตุของปัญหาขาดแคลนแรงงานในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ 1) แรงงานส่วนใหญ่หันไปประกอบอาชีพส่วนตัวมากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลจากนโยบายส่งเสริมอาชีพของรัฐบาล 2) แม้ค่าจ้างในภาคอุตสาหกรรมจะอยู่ในระดับสูงแต่ค่าจ้างในภาคอื่นๆ เพิ่มขึ้นเร็วกว่าภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะภาคเกษตรที่ค่าจ้างเร่งตัวขึ้นตามราคาพืชผล 3) แรงงานที่จบการศึกษาใหม่ไม่ตรงกับความต้องการ โดยตลาดแรงงานต้องการแรงงานระดับมัธยมศึกษาหรือต่ำกว่าเป็นจำนวนมาก 4) ภาคอุตสาหกรรมต้องการแรงงานในวัยหนุ่มสาวมากกว่าภาคอื่นๆ ขณะที่โครงสร้างประชากรของไทยเปลี่ยนไปส่งผลให้แรงงานในวัยหนุ่มสาวลดลง

ในระยะสั้น ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน โดยการเพิ่มจำนวนชั่วโมงทำงานล่วงเวลา สะท้อนจากชั่วโมงการทำงานล่วงเวลาเฉลี่ยที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และจำนวนผู้ที่ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ปรับเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และใช้การปรับขึ้นอัตราค่าจ้างและสวัสดิการเพื่อจูงใจแรงงานในหลายอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการพยายามหาแหล่งแรงงานใหม่เพิ่มเติม เช่น การจ้างแรงงานต่างด้าว การจ้างแรงงาน Outsource การจ้างแรงงานจากจังหวัดใกล้เคียงโดยการจัดรถรับส่ง สำหรับในระยะยาว ผู้ประกอบการแก้ปัญหาโดยการลงทุนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น ใช้เครื่องจักรทดแทนแรงงานมากขึ้น หรือลงทุนเพื่อปรับระยะเวลาที่ใช้ในสายการผลิต (Track Time) ให้เร็วขึ้น ทำให้ได้ผลผลิตมากขึ้นโดยใช้แรงงานเท่าเดิม นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางรายได้สร้างสถาบันการศึกษาขึ้นมาเองหรือสร้างหลักสูตรร่วมกันกับสถาบันการศึกษาอื่น เพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณสมบัติตรงตามความต้องการเข้ามาบรรจุในบริษัท

ต้นทุนการผลิตและราคาสินค้า

การคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เป็นต้นทุนใน 12 เดือนข้างหน้า
(%)       < 3%   3-6%   6-9%   9-12%   > 12%   ค่าเฉลี่ย
มี.ค. 53   44.3   43.2    8.7    1.8     2.0     4.2
เม.ย. 53  42.1   42.6   10.2    1.9     3.1     4.4
พ.ค. 53   43.2   42.3    9.8    2.4     2.4     4.3
มิ.ย. 53   42.3   43.6    9.6    2.0     2.4     4.3

แรงกดดันทางด้านต้นทุนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นบ้างจากไตรมาสที่ผ่านมา จากการผลิตที่ขยายตัวส่งผลให้อุปสงค์ต่อวัตถุดิบเพิ่มขึ้น ราคาวัตถุดิบจึงมีแนวโน้มสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลกที่เป็นวัตถุดิบของอุตสาหกรรมการผลิต อาทิ ยางพาราสำหรับการผลิตยางรถยนต์ และมันสำปะหลังสำหรับการผลิตแอลกอฮอล์ แรงกดดันด้านต้นทุนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับผลการสำรวจผู้ประกอบการ โดยค่าเฉลี่ยการคาดการณ์ราคาสินค้าและบริการที่เป็นต้นทุนใน 12 เดือนข้างหน้าเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 4.2 ในเดือนมีนาคม 2553 มาอยู่ที่ร้อยละ 4.3 ในเดือนมิถุนายน 2553 อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการไม่ได้ปรับเพิ่มราคาสินค้าหรือปรับขึ้นเพียงเล็กน้อย เนื่องจากธุรกิจมีการแข่งขันสูง ประกอบกับมีการควบคุมราคาสินค้าจากทางการ ผู้ประกอบการจึงพยายามปรับตัวโดยใช้วิธีเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต (Cost Efficiency) มากกว่าการปรับเพิ่มราคา นอกจากนี้ผู้ประกอบการบางรายได้ทำสัญญาซื้อขายวัตถุดิบล่วงหน้าเพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านราคาในอนาคต

สินเชื่อ

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2553 ความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนโดยความต้องการสินเชื่อของธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มขึ้นเล็กน้อย จากการขอสินเชื่อเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ถาวรและเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ขณะที่ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนและเพื่อการ Refinance จากอัตราดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับต่ำโดยธุรกิจที่มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นกระจุกตัวอยู่ในภาคตัวกลางทางการเงิน ภาคการผลิต และภาคการค้าส่งและปลีก สะท้อนสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจนขึ้นของอุปสงค์ในประเทศ ทั้งการบริโภคภาคเอกชนและความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ด้านความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนโดยรวมเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มขึ้นจากภาวะตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่ฟื้นตัวต่อเนื่องตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะที่สถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองส่งผลให้ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตลดลงเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตในศูนย์การค้าใจกลางเมือง

สำหรับมาตรฐานการให้สินเชื่อแก่ภาคธุรกิจทรงตัวต่อเนื่องจากไตรมาสก่อน โดยสถาบันการเงินมีความกังวลด้านความเสี่ยงเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมือง โดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและภัตตาคารธุรกิจก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และธุรกิจสิ่งทอ แต่การแข่งขันจากสถาบันการเงินอื่นและการออกตราสารหนี้ของธุรกิจเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้มาตรฐานการให้สินเชื่อยังคงทรงตัว ด้านมาตรฐานการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยผ่อนคลายต่อเนื่องจากไตรมาสก่อนจากการแข่งขันสูงระหว่างสถาบันการเงิน ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ ทรงตัวจากไตรมาสก่อน

สำหรับแนวโน้มในไตรมาสที่ 3 ของปี 2553 คาดว่าความต้องการสินเชื่อภาคธุรกิจทุกประเภทจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามความชัดเจนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังจากสถานการณ์ความไม่สงบทางการเมืองคลี่คลายมาตรฐานการให้สินเชื่อภาคธุรกิจของสถาบันการเงินคาดว่าจะยังทรงตัว สำหรับความต้องการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยคาดว่าจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้าหลังจากผู้บริโภคเร่งโอนกรรมสิทธิ์ไปแล้วในช่วงครึ่งปีแรก ขณะที่ความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อครัวเรือนอื่นๆ คาดว่าจะขยายตัวเล็กน้อยจากไตรมาสก่อนตามความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น

ปัจจัยเสี่ยงและอุปสรรคในการดำเนินธุรกิจ

ข้อจำกัดในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการสามปัจจัยแรก ณ สิ้นไตรมาสที่ 2 ได้แก่ การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก(ร้อยละ 51.7) ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะทางเศรษฐกิจ (ร้อยละ 50.0) และความไม่แน่นอนทางการเมือง (ร้อยละ 48.1) ตามลำดับ เป็นที่น่าสังเกตว่า ผู้ประกอบการผ่อนคลายความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางการเมืองลงมาก โดยมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 48.1 จากที่เคยสูงสุดร้อยละ 61.8 ในเดือนเมษายน 2553 ส่งผลให้ความไม่แน่นอนทางการเมืองกลายเป็นข้อจำกัดอันดับสาม จากที่เคยเป็นข้อจำกัดอันดับหนึ่งติดต่อกันนาน 4 เดือน สำหรับข้อจำกัดด้านความไม่แน่นอนของภาวะเศรษฐกิจมีแนวโน้มผ่อนคลายลงต่อเนื่องเช่นกัน ในขณะที่ข้อจำกัดด้านการปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นทำได้ยากกลายเป็นข้อจำกัดอันดับหนึ่งจากการแข่งขันที่รุนแรงขึ้นทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการควบคุมราคาของทางการในสินค้าบางกลุ่ม อาทิ อาหารและเครื่องดื่ม ผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เหล็กและปูนซิเมนต์ เป็นต้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการไม่สามารถเพิ่มราคาสินค้าได้แม้จะเริ่มมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้น

ข้อจำกัดในการทำธุรกิจ                     มี.ค. 53    เม.ย. 53    พ.ค. 53    มิ.ย. 53
1. การปรับราคาสินค้าทำได้ยาก               54.0         52.1       50.8       51.7
2. ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจ        51.0         52.9       52.6       50.0
3. ความไม่แน่นอนทางการเมือง               58.0         61.8       56.2       48.1
4. ต้นทุนการผลิตสูง                        42.4         42.2       40.4       42.4
5. การแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดในประเทศ       43.7         41.8       40.5       41.7
6. ความต้องการจากตลาดในประเทศต่ำ         26.9         31.5       30.6       26.5
7. การแข่งขันที่รุนแรงจากตลาดต่างประเทศ      22.0         19.8       20.2       21.6
8. ขาดแรงงานฝีมือ                        17.1         17.6       16.9       19.5
9. ขาดแคลนวัตถุดิบ                        13.9         12.3       13.9       14.4
10. ความต้องการจากตลาดต่างประเทศต่ำ       15.6         16.6       16.0       14.4
11. ไม่มีข้อจำกัด                           7.0          7.1        8.5        9.5
12. ขาดข้อมูลในการวางแผนทางธุรกิจ           7.9          7.1        7.2        9.3
13. ปัญหาด้านการเงิน                       8.1          8.5        9.9        8.7
หมายเหตุ: ตัวเลขแสดงร้อยละของผู้ตอบแบบสอบถาม
ที่มา: การสำรวจผู้ประกอบการ

          (*1) แบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Survey) เป็นแบบสอบถามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจัดทำเป็นประจำทุกเดือน โดยส่งแบบสอบถามไปยังบริษัทต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 865 ราย ครอบคลุมธุรกิจหลายประเภท เช่น ภาคบริการ บริการทางการเงิน การค้า ขนส่งและคมนาคม ก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ และสาธารณูปโภค โดยมีการตอบกลับมาทั้งสิ้นประมาณ 520 รายต่อเดือน หรือคิดเป็นร้อยละ 60
          (*2) International Data Corporation (IDC). 2010. Press Release. 24 May.
          (*3) จากการทดสอบความสัมพันธ์ระหว่างดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ และผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) และการลงทุนภาคเอกชนพบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจชี้นำ GDP และการลงทุนภาคเอกชน 1 ไตรมาสอย่างมีนัยสำคัญ
          (*4) ศาลปกครองสั่งระงับโครงการชั่วคราวในพื้นที่มาบตาพุดจำนวน 76 โครงการ เมื่อ 23 กันยายน 2552 ซึ่งในปัจจุบันมี 64 โครงการที่ยังไม่สามารถเปิดดำเนินการได้ (มี 27 โครงการจาก 64 โครงการที่สามารถดำเนินการได้เฉพาะการก่อสร้าง)
          (*5) บริษัทที่มีโครงการลงทุนถูกจัดอยู่ในกิจการที่มีผลกระทบต่อชุมชนอย่างร้ายแรง จะต้องปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ม.67 ก่อน จึงจะสามารถลงทุนได้
          (*6) จำนวนประชากรเฉลี่ยต่อครัวเรือนทั้งประเทศลดลงอย่างต่อเนื่องจาก 3.3 คนต่อครัวเรือน ในปี 2548 เป็น 3.0 คนต่อครัวเรือนในปี 2552 โดยเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีจำนวนประชากรเฉลี่ยต่อครัวเรือนเพียง 2.4 คนต่อครัวเรือน
          (*7) ข้อมูลจากการพบปะผู้ประกอบการ ภายใต้โครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจ/ธุรกิจระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคธุรกิจ
          (*8) ผลจากการศึกษาจากฐานข้อมูลสินเชื่อปล่อยใหม่ที่มีที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกันของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนภายในประเทศ 17 แห่ง โดยคำนวณหา Median Price ด้วยวิธีควบคุมคุณลักษณะบางประการ (Mix Adjusted Quality) เช่น พื้นที่ และ ประเภทที่อยู่อาศัย และถ่วงน้ำหนักตามจำนวนตัวอย่างของที่อยู่อาศัยในแต่ละเขต

ข้อมูลเพิ่มเติม ดร. เสาวณี จันทะพงษ์ ผู้บริหารทีม ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ E-Mail: SaovaneC@bot.or.th
           นายนิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ เศรษฐกร NitisanP@bot.or
           นางสาวรุจา อดิศรกาญจน์ เศรษฐกร RujaA@bot.or.th
           ทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ (Economic Intelligence Team)
           ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน
           ธนาคารแห่งประเทศไทย

          ที่อยู่ 273 ถนนสามเสน เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200
          เบอร์โทรศัพท์ 0-2283-6920, 5646
          เบอร์แฟกซ์ 0-2282-5082
          เวบไซต์ธนาคาร www.bot.or.th

          รายงานแนวโน้มธุรกิจจัดทำขึ้นโดยทีมวิเคราะห์สนเทศธุรกิจ ฝ่ายเศรษฐกิจในประเทศ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) วิเคราะห์จากข้อมูลภาวะธุรกิจและเศรษฐกิจที่ได้จากโครงการแลกเปลี่ยนข้อมูลเศรษฐกิจและการเงินระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและภาคธุรกิจ (Economic/Business Information Exchange Programme between the Bank of Thailand and the Business Sector) รวมถึงการตอบกลับแบบสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (Business Sentiment Survey) ซึ่ง ธปท. จัดทำเป็นประจำทุกเดือน
          รายงานฉบับนี้สามารถดูได้จาก http://www.bot.or.th/Thai/EconomicConditions/Thai/BLP/Pages/index.aspx

          Disclaimer: รายงานฉบับนี้ไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย และไม่ได้สะท้อนความเห็นของ
บริษัทใดบริษัทหนึ่ง คณะกรรมการนโยบายการเงินใช้ข้อมูลนี้เพื่อประกอบกับข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ในการวิเคราะห์และประเมิน
ภาวะเศรษฐกิจ

          ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ