สุนทรพจน์: การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน: ความท้าทายและบทบาทต่อเศรษฐกิจไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday September 3, 2010 17:21 —ธนาคารแห่งประเทศไทย

ปาฐกถาพิเศษ “ การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน : ความท้าทายและบทบาทต่อเศรษฐกิจไทย ” ดร. ธาริษา วัฒนเกส ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ในงานสัมมนาประจำปี 2553 บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ณ โรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน 2553 เวลา 9.40 น.

__________________

ท่านผู้มีเกียรติทุกท่าน

ดิฉันรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติที่ได้รับเชิญมากล่าวสุนทรพจน์ ในงานสัมมนาประจำปีของ TRIS ซึ่งนับเป็นโอกาสอันดีอีกครั้งที่คนในแวดวงระบบการเงินและธุรกิจ ได้มารวมตัวกันเพื่อร่วมรับทราบความเคลื่อนไหว และแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมและทิศทางเศรษฐกิจและการเงินในอนาคต รวมถึงการปรับตัวและพัฒนาการของระบบการเงินและภาคธุรกิจไทย เพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ให้ดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและมีเสถียรภาพ ดิฉันขอขอบคุณคณะผู้จัดสัมมนาไว้ ณ ที่นี้ด้วย

หัวข้อสุนทรพจน์ของดิฉันในวันนี้ การพัฒนาระบบสถาบันการเงิน : ความท้าทายและบทบาทต่อเศรษฐกิจไทย เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเราอย่างมาก เพราะเป็นที่ทราบกันว่า ระบบสถาบันการเงินนั้น เป็นกลไกสำคัญในการหล่อเลี้ยงเศรษฐกิจให้เติบโตได้ ผ่านการทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงิน ในการจัดสรรเงินทุนให้แก่ภาคธุรกิจ และภาคครัวเรือน ทำให้เกิดการลงทุนและใช้จ่าย โดยสำหรับประเทศไทย อาจกล่าวได้ว่าระบบสถาบันการเงินมีความสำคัญต่อภาคเศรษฐกิจสูง วัดจากอัตราส่วนสินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศที่ประมาณหนึ่งต่อหนึ่ง

และนับเป็นโจทย์ที่สำคัญยิ่งขึ้นไปอีกในระยะต่อไป เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อมทั้งภายในและภายนอกประเทศที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอ และดูเหมือนจะทวีความ ผันผวนมากขึ้นนั้น ทำให้การวางแผนเพื่อปรับตัวมีความท้าทายมากยิ่งขึ้น

วันนี้ ดิฉันมีเรื่องที่อยากจะแสดงความเห็นอยู่ 4 เรื่อง เรื่องแรกคือสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการเงินโลกที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องที่สอง การรับมือของสถาบันการเงินไทยและภาคธุรกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา เรื่องที่สาม ความท้าทายและอนาคตของระบบสถาบันการเงินไทย และเรื่องสุดท้าย บทบาทของสถาบันจัดอันดับเครดิตในการส่งเสริมการพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทย

ท่านผู้มีเกียรติคะ

เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วง 10 ปีที่แล้ว คงปฏิเสธไม่ได้ว่าการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่สุดของสภาพแวดล้องทางเศรษฐกิจและการเงินโลก เป็นผลจากกระแสโลกาภิวัตน์และการเปิดเสรีทางการค้าและการเงินที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปรากฎการณ์นี้ได้ทำให้ระบบเศรษฐกิจและการเงินโลกมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น รวมถึงสร้างแรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ประโยชน์ที่ตามมาก็คือ ระบบเศรษฐกิจและการเงินที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ทั้งด้านการใช้ทรัพยากร และการตอบสนองความต้องการของธุรกิจและประชาชนอย่างทั่วถึง ผ่านการริเริ่มรูปแบบธุรกิจใหม่ๆ เช่น บริษัทหรือสถาบันการเงินข้ามชาติขนาดใหญ่ รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่มีความซับซ้อนหลากหลายมากขึ้น แต่ผลก็อาจทำให้การดูแลความเสี่ยงที่ตามมามีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเช่นกัน

ขณะเดียวกัน เมื่อสภาพแวดล้อมเปลี่ยนแปลงไป ก็จำเป็นต้องมีการปฏิรูปกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่ใช้ในทั้งระบบเศรษฐกิจและระบบการเงิน ให้สอดรับ เหมาะสม กับรูปแบบความเสี่ยง และเอื้อต่อการเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ซึ่งในส่วนของประเทศไทยเอง นอกจากการเปลี่ยนแปลงของกฎหมาย โดย พรบ. ธุรกิจสถาบันการเงินได้มีผลบังคับใช้ในปี 2551 แล้ว ยังมีกฎเกณฑ์ใหม่ๆ ที่ถูกกำหนดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นด้านการกำกับดูแล เช่น Basel II การกำกับแบบรวมกลุ่ม (Consolidated Supervision) นโยบายด้านธรรมาภิบาล และนโยบายการเงิน เช่น Inflation targeting และการผสมผสานนโยบายการกำกับเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบเศรษฐกิจในภาพรวม (หรือ Macro Prudential)

แต่ทว่ากฎเกณฑ์ต่างๆ ก็ไม่สามารถไล่ตามนวัตกรรมใหม่ๆของตลาด และผลของกระแสโลกาภิวัฒน์ได้ทัน ซึ่งความเปราะบางที่เกิดขึ้นและได้สะสมมาเรื่อยๆ เป็นเวลานานนั้น สุดท้ายก็ได้ก่อให้เกิดปัญหาที่ลุกลามไปทั่วโลก จนกลายเป็นวิกฤตเศรษฐกิจที่มีความรุนแรง โดยแม้ประเทศไทยจะไม่ได้ถูกกระทบทางตรงจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้ แต่ก็ถูกกระทบทางอ้อม ซึ่งเมื่อผนวกกับปัญหาด้านการเมืองไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ทำให้เศรษฐกิจไทยที่กำลังเติบโตได้ดี กลับหยุดชะงักไปชั่วขณะ แต่ก็นับเป็นข่าวดียิ่ง ที่เมื่อปัญหาต่างๆ ได้รับการแก้ไขและเริ่มคลี่คลาย เศรษฐกิจไทยก็เริ่มกลับมาเติบโตได้อย่างรวดเร็วเป็นที่น่าพอใจอีกครั้ง โดยจากการประกาศตัวเลขทางเศรษฐกิจของสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติล่าสุดเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 เติบโตสูงถึงร้อยละ 9.1 ทำให้ครึ่งปีแรกขยายตัวร้อยละ 10.6 จากการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวดีขึ้น

ท่านผู้มีเกียรติคะ

ท่ามกลางวิกฤตที่เกิดขึ้น นับว่าสถาบันการเงินไทยสามารถรองรับความผันผวนได้ดี โดยแม้ว่าผลการดำเนินงานจะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปีที่แล้วบ้าง แต่ก็สามารถปรับดีขึ้นได้อย่างรวดเร็วตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ สินเชื่อของระบบธนาคารพาณิชย์กลับมาขยายตัวได้ตั้งแต่ไตรมาสที่ 1 ของปีนี้ และเร่งตัวขึ้นในไตรมาสที่ 2 เป็นร้อยละ 5.3 ซึ่งเป็นการขยายตัวในทุกภาคส่วน ทั้งสินเชื่อธุรกิจ สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม และสินเชื่อที่ให้แก่ภาคครัวเรือน ขณะเดียวกัน การดูแลควบคุมความเสี่ยงก็เป็นไปอย่างรัดกุมและระมัดระวัง สะท้อนจากสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมของระบบที่โน้มลดลงต่อเนื่อง ทั้ง Gross NPL และ Net NPL เหลือร้อยละ 4.4 และ 2.4 เช่นเดียวกับอัตราการผิดนัดชำระหนี้ หรือ Delinquency rateที่ลดลงเหลือร้อยละ 3.0

ผลการดำเนินงานที่ดี เมื่อผนวกกับการเพิ่มทุนเพื่อรองรับการขยายธุรกิจ ทำให้ระบบธนาคารพาณิชย์มีฐานะเงินกองทุนเพิ่มขึ้น โดยอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 16.9 สูงกว่าเกณฑ์ของทางการที่กำหนดไว้ที่ร้อยละ 8.5 ซึ่งจะช่วยให้ ธนาคารพาณิชย์ สามารถรองรับการขยายตัวของสินเชื่อและเศรษฐกิจต่อไปได้

สำหรับภาคธุรกิจเอง ในภาพรวมก็มีผลการดำเนินงานที่ดีและเติบโตได้ตามสมควร ถึงแม้ว่าจะได้รับแรงกดดันต่างๆ ที่เข้ามากระทบ ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจโลกถดถอย ความผันผวนของตลาดการเงินโลก ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวนมากขึ้น รวมถึงความไม่แน่นอนทางการเมืองที่ลดทอนความเชื่อมั่นของผู้บริโภค ส่งผลต่อความสามารถในการทำกำไร และยังทำให้ยากต่อการวางแผนลงทุนใหม่ๆ แต่ที่ผ่านมาก็สามารถปรับตัว และประคับประคองให้ผ่านมาได้ ส่วนหนึ่งเนื่องจากความระมัดระวังดูแลมิให้ฐานะหนี้สินสูงจนเกินไป โดยล่าสุดก็มีสัญญาณที่ดีในการกลับมาฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง

ความสามารถในการกลับมาฟื้นตัวอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทยนั้น มีสาเหตุจากหลายปัจจัย อาทิ นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจที่ทันท่วงที ทั้งจากนโยบายการเงินและการคลัง รวมถึงความตื่นตัวและการปรับตัวของภาคธุรกิจและครัวเรือนเอง ซึ่งส่วนนี้ ดิฉันคิดว่าเป็นเรื่องน่ายินดีมากที่ภาคเอกชนไทยมีความเข้าใจ และสามารถปรับตัวตามสถานการณ์ภายนอกที่เข้ามารุมล้อมได้

นอกจากนี้ ปัจจัยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่สำคัญยิ่งอีกประการ ได้แก่พื้นฐานที่แข็งแกร่งของระบบสถาบันการเงินไทย โดยเป็นผลมาจากการที่ตัวธนาคารพาณิชย์เอง และ ธปท. ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงและมีความสามารถบริหารความเสี่ยงที่ดีขึ้นอย่างมากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ประกอบกับส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 1 ที่ดำเนินการไปในช่วงปี 2547-2551 โดยภายใต้แผนฯ 1 ได้มีการสนับสนุนให้มีการควบรวมและปรับโครงสร้างระบบสถาบันการเงิน ทำให้สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่ง รวมถึงการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่จำเป็น เช่น กฎหมายและกฎเกณฑ์เพื่อรองรับการกำกับแบบรวมกลุ่ม และการจัดตั้งบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด อีกทั้งการกำกับดูแลความเสี่ยงให้มีประสิทธิภาพ เป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล และสอดคล้องกับลักษณะและความรุนแรงของความเสี่ยงต่างๆ มากขึ้นด้วย ดิฉันขอถือโอกาสนี้ขอบคุณและแสดงความยินดีกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจ ประคับประคอง และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้มาได้อย่างน่าชื่นชมค่ะ

ท่านผู้มีเกียรติคะ

จากการประเมินโครงสร้างและศักยภาพของระบบสถาบันการเงินไทยในปัจจุบัน หรือที่เรียกกันว่า SWOT Analysis พบว่าในภาพรวมได้พัฒนาไปมาก ทั้งในด้านประสิทธิภาพการดำเนินงาน และความเข้มแข็งของฐานะทางการเงิน แต่ก็ยังมีประเด็นที่สามารถปรับปรุงให้ดีขึ้นได้อีก ที่สำคัญมี 3 เรื่องด้วยกัน

เรื่องแรก คือการปรับปรุงประสิทธิภาพ ทั้งด้านการลดต้นทุนการดำเนินงาน การขยายรูปแบบผลิตภัณฑ์และบริการให้สอดคล้องกับความต้องการของธุรกิจ ผู้ออม และประชาชน และการปรับปรุงระบบบริหารความเสี่ยงให้สอดรับกับความเสี่ยงประเภทใหม่ๆ

เรื่องที่สอง คือการทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินอย่างทั่วถึงขึ้น กล่าวคือ การให้บริการที่กว้างขวางและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่หลากหลายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การปล่อยกู้กับธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือแม้แต่ Microfinance เป็นต้น ตลอดจนการให้บริการทางการเงินในราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรมมากขึ้น เช่น การทบทวนค่าธรรมเนียมในการใช้บริการต่างๆ

และเรื่องที่สาม คือ ระบบสถาบันการเงินมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินไม่ว่าจะเป็นระบบกฎหมายทางการเงิน ข้อมูลการเงิน ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ (หรือ IT platform) ตลอดจนตลาดการเงิน และบุคคลากรทางการเงินที่ทันสมัยเทียบเคียงได้กับมาตรฐานสากล ซึ่งทั้งสามเรื่องนี้ ธปท. ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก และเป็นองค์ประกอบหลักหรือเสาหลักของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 และอยู่ระหว่างการหารือแนวทางปรับปรุงอย่างใกล้ชิดร่วมกับสถาบันการเงิน

ดิฉันคิดว่ากลยุทธ์การพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยก็ตั้งอยู่บนหลักการเดียวกับแนวทางการพัฒนาทั่วไป กล่าวคือต้องมีการวางแผนระยะยาว ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และมีการอ้างอิงกับการประเมินสภาพแวดล้อมภายในและภายนอกอย่างสม่ำเสมอ ทั้งนี้ ธปท. มองว่าความท้าทายที่สำคัญในอีก 5 ปีข้างหน้า ได้แก่ แรงกดดันด้านการแข่งขันที่รุนแรงขึ้น โดยไม่ได้มาจากธนาคารพาณิชย์ด้วยกันเองเท่านั้น แต่จะมาจากตลาดทุนและ Non-bank และมาจากทั้งภายในและภายนอกประเทศ ความต้องการบริการทางการเงินที่ซับซ้อนและหลากหลายขึ้น อันเป็นผลจากกระแสโลกาภิวัฒน์ และการเปลยนแปลงของโครงสร้างประชากร โดยประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากขึ้นและเครื่องมือการออมและประกันสุขภาพจะเป็นสิ่งสำคัญ บทบาทการบริโภคและการลงทุนในประเทศที่มีต่อเศรษฐกิจสูงขึ้น เทียบกับการพึ่งพาการส่งออกในช่วงที่ผ่านมา รวมไปถึงกระแสเงินทุนไหลเข้าจากต่างประเทศ และผลกระทบที่ยังหลงเหลือจากวิกฤตเศรษฐกิจโลก

จากการประเมินโครงสร้างและศักยภาพของระบบสถาบันการเงินไทยและความท้าทายในอนาคตดังกล่าว จึงเป็นที่มาของแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินระยะที่ 2 ที่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้วในปีนี้ และมีระยะเวลาต่อเนื่องไปถึงปี 2557

สำหรับรายละเอียดของแผนฯ 2 นั้น ดิฉันคิดว่าได้มีการประชาสัมพันธ์อย่างค่อนข้างแพร่หลายไปแล้วในช่วงที่ผ่านมา จึงขอไม่กล่าวถึงในรายละเอียด ณ ที่นี้

ทั้งนี้ เมื่อการดำเนินการตามแผนฯ 2 สิ้นสุดลงในอีก 4 ปีข้างหน้า ธปท. คาดหวังว่าระบบสถาบันการเงินไทยจะมีคุณลักษณะดังต่อไปนี้

อันดับแรก คือความมีประสิทธิภาพ โดยมีต้นทุนอยู่ในระดับที่เอื้อต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ

อันดับที่สอง คือความเข้มแข็ง ปรับตัวได้เร็ว และสามารถรองรับความผันผวนต่างๆ ที่เข้ามากระทบจากภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วได้

อันดับที่สาม คือศักยภาพในการให้บริการที่มีความหลายหลาย และลึกขึ้น โดยสามารถทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินแก่ภาคธุรกิจและครัวเรือนได้อย่างทั่วถึง และการให้บริการที่เป็นธรรมและโปร่งใส

สำหรับสิ่งที่ ธปท. ได้ดำเนินการไปแล้วตามแผนฯ 2 นั้นมีหลายประการซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัว ตลอดจนประสิทธิภาพของธนาคารพาณิชย์ อาทิ ได้มีการปรับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ให้สอดรับกับความเสี่ยงและการดำเนินธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ โดยมีการปรับแล้ว 67 ประเด็น คิดเป็นประมาณครึ่งหนึ่งของคำขอ และอยู่ระหว่างการพิจารณาอีกประมาณหนึ่งในห้า ที่เหลือได้ตอบไปแล้วว่าจะไม่ปรับเพราะอาจไม่สอดคล้องกับการกำกับดูแลที่ดี ซึ่งในส่วนที่ปรับนี้ก็จะเอื้อให้ธนาคารพาณิชย์มีการบริหารคล่องตัว แต่ก็มิได้เป็นการผ่อนคลายเรื่องการดูแลความมั่นคง ซึ่งถือว่าเป็นหัวใจหลัก ที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ ธนาคารพาณิชย์ที่มีการบริหารจัดการความเสี่ยงดีจะได้รับอนุญาตให้ปรับเปลี่ยนย้ายสาขาได้เสรีโดยไม่ต้องมาขออนุญาตจาก ธปท. ก่อน และโดยที่การบริหารเครือข่ายสาขาเป็นหัวใจหลักของการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ จึงเชื่อได้ว่าแนวทางนี้จะทำให้บริการมีประสิทธิภาพขึ้น นอกจากนี้ยังได้อนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ขยายขอบเขตธุรกิจให้สามารถให้บริการ การจัดการกองทุนรวม และการจัดการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital Fund Management) นอกจากนี้เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์รอการขายให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ยังอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์ร่วมทุนกับธุรกิจที่มีความชำนาญในการบริหารอสังหาริมทรัพย์รอการขายเหล่านั้น ซึ่งจะเป็นการช่วยให้สินทรัพย์เหล่านั้นกลับมาเป็นรายได้จากที่เคยเป็นสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ

จะเห็นได้ว่ามีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการดำเนินการตามแผนฯ 2 แม้ในหลายมาตรการที่ออกมาดังกล่าวนั้น อาจจะไม่มีการให้ข่าวเจาะจงว่าเป็นส่วนหนึ่งของแผนฯ 2 แต่ก็เป็นการดำเนินการตามแผนฯ 2 และมีผลอย่างจับต้องได้ต่อการดำเนินธุรกิจและการให้บริการของธนาคารพาณิชย์ ที่สำคัญในหลายประการมีความเชื่อมโยงอย่างใกล้ชิดกับตลาดทุน ไม่ว่าจะเป็นการทำธุรกิจเชิงบริหารสินทรัพย์ ตลอดจนการบริหารเครือข่ายสาขา ซึ่งก็มีบทบาทอย่างสูงต่อการขายบริการของตลาดทุนรวมถึงประกันภัย ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการมี Cross Selling นั้นเป็นไปตามความต้องการของผู้ใช้บริการ ขณะเดียวกัน ธนาคารพาณิชย์เองก็จะมีความท้าทายมากขึ้นในการบริหารความเสี่ยง ขณะที่ ธปท. ก็จะต้องร่วมมือ กลต. และ คปภ.เพื่อให้สามารถกำกับแบบรวมกลุ่มหรือ Consolidated Supervision ได้อย่างเหมาะสม โดยก็มีการประสานความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง และก็จะมีมากขึ้นในอนาคต

นอกจากปัจจัยภายในประเทศดังกล่าวข้างต้นแล้ว ธนาคารพาณิชย์ ยังต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่จะส่งผลกระทบโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มาตรฐานการบัญชีใหม่ (IFRS) ที่จะเริ่มมีผลบังคับในปี 2554 และเกณฑ์การกำกับตาม Basel III ของ Basel Committee on Banking Supervision (BCBS) อันเป็นผลจากประสบการณ์และบทเรียนของวิกฤตในสหรัฐอเมริกาและยุโรปที่ผ่านมา ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งของเงินกองทุนและสภาพคล่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่จะมีผลทางตรงกับสถาบันการเงิน ได้แก่ ข้อเสนอให้มีการเพิ่มขนาดและคุณภาพของเงินกองทุน การเพิ่มเงินกองทุน หรือ Capital Buffer ในภาวะปกติเพื่อแก้ปัญหา Procyclicality นั่นคือปรากฎการณ์ที่การขยายตัวของสินเชื่อและ GDP พันเสริมกันจนอาจเกิดภาวะฟองสบู่ รวมถึงการกำหนดหลักเกณฑ์เชิงปริมาณสำหรับการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับวิกฤต ซึ่งขณะนี้ข้อเสนอต่างๆ อยู่ระหว่างการพิจารณาให้ความเห็นจากหน่วยงานกำกับดูแลระบบการเงินทั่วโลก โดย BCBS มีกำหนดออกบทสรุปส่วนใหญ่ภายในสิ้นปีนี้ ยกเว้นบางเรื่องที่คาดว่าจะเสร็จสิ้นในกลางปีหน้า เพื่อให้สามารถนำมาทยอยใช้ได้สำหรับประเทศสมาชิกในกลุ่ม G20 ในช่วง ปี2556 ถึง 2561 ซึ่งแม้ประเทศไทยจะไม่ใช่สมาชิกในกลุ่มประเทศ G20 แต่ก็จะได้รบผลกระทบทางอ้อม ทั้งด้านบวก และความท้าทายในการปรับตัว จากผลของมาตรการดังกล่าวต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจของโลก ส่วนการจะนำมาใช้ในประเทศไทยนั้น อยู่ระหว่างพิจารณาความเหมาะสมซึ่งในรายละเอียด และแนวทางที่จะนำมาปรับใช้นั้น ธปท. ก็ร่วมกับธนาคารพาณิชย์ ตลอดจนผู้กำกับดูแลในภูมิภาคเพื่อให้ความเห็นต่อ BCBS เพื่อดูแลให้เกณฑ์ที่กำลังมีการเสนอนั้นสามารถนำมาปรับใช้กับระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศเราได้อย่างเหมาะสม มิใช่เป็นเพียงกฎเกณฑ์ที่สะท้อนถึงวิกฤติที่เกิดขึ้นในประเทศพัฒนาแล้วเท่านั้น

นอกจากนี้ก็ยังจะมีการปรับปรุงมาตรฐานของการกำกับในระดับสากลไม่ว่าจะโดย IOSCO สำหรับธุรกิจหลักทรัพย์ และ IAIS สำหรับธุรกิจประกัน ซึ่งล้วนแต่จะมีผลต่อการดำเนินงานและการบริหารความเสี่ยงและที่สำคัญธรรมาภิบาลที่ดีของตลาดการเงินโลกจึงเป็นปัจจัยท้าทายที่สำคัญของสถาบันการเงินและตลาดการเงินของไทยด้วย

ท่านผู้มีเกียรติคะ

ในลำดับสุดท้าย ดิฉันขอฝากประเด็นสั้นๆ เกี่ยวกับบทบาทของสถาบันจัดอันดับเครดิตต่อการพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

การพัฒนาระบบสถาบันการเงินตามแนวทางข้างต้น เพื่อให้สามารถสนับสนุนการเติบโตของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่องภายใต้ความท้าทายต่างๆ ที่กล่าวมานั้น จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย ไม่ใช่เพียง ธปท. หรือกระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินเองเท่านั้น แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ ซึ่งในส่วนนี้ สถาบันจัดอันดับเครดิตน่าจะมีบทบาทสำคัญ 3 เรื่อง

เรื่องแรก คือการทำหน้าที่เป็นกระจกสะท้อน Feedback แก่สถาบันการเงิน ให้ทราบจุดดีจุดด้อย และกระตุ้นให้เกิดการปรับตัวให้ทันต่อสภาวะแวดล้อมและ Peer ตลอดเวลา รวมถึงการเป็นแหล่งข้อมูลให้ผู้เกี่ยวข้อง เช่น นักลงทุนที่สนใจธุรกิจสถาบันการเงิน

เรื่องที่สอง คือการมีส่วนร่วมในการยกระดับศักยภาพของสถาบันการเงิน ผ่านการให้คำปรึกษาเกี่ยวกับระบบงาน และโครงสร้างองค์กรที่เหมาะสม สอดรับกับรูปแบบธุรกิจและตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นภารกิจหนึ่งของ TRIS อยู่แล้ว

เรื่องสุดท้าย คือการให้ข้อมูลเพื่อประกอบการประเมินความเสี่ยงในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ของสถาบันการเงิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการคำนวณเงินกองทุนตามเกณฑ์ Basel ซึ่งให้ความสำคัญต่อการจัดอันดับของลูกหนี้ อย่างไรก็ตาม ผลจากวิกฤตการเงินได้ทำให้สถาบันจัดอันดับเครดิตได้รับการวิพากษ์วิจารณ์และได้รับผลกระทบด้านความน่าเชื่อถือมาก ไม่ใช่แค่เรื่องการประเมินความเสี่ยงของตราสารอนุพันธ์ที่เป็นปัญหาเท่านั้น แต่รวมถึงภาพลักษณ์ขององค์กรโดยรวม จนมีแนวคิดที่จะเข้ามากำกับดูแลสถาบันจัดอันดับเครดิตด้วย ซึ่งก็คงจะเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาอีกครั้ง

สุดท้ายนี้ ระบบสถาบันการเงิน ตลาดทุน ธุรกิจประกัน จะมีความเชื่อมโยงกันมากขึ้น ทั้งในประเทศ และระหว่างประเทศ การบริหารงานและการบริหารความเสี่ยง ตลอดจนการกำกับดูแลย่อมมีความซับซ้อนขึ้น ดังนั้น ผู้วิเคราะห์ สถาบันจัดอันดับ รวมถึงผู้ลงทุนและธนาคารพาณิชย์เองล้วนมีบทบาทสำคัญในการดูแลให้ระบบข้อมูลและให้กลไกของตลาดมีวินัยที่ดี กล่าวคือ มี Market Discipline ที่ดี โปร่งใส เป็นธรรม มีธรรมาภิบาลที่ดี ซึ่งเป็นพื้นฐานที่สำคัญยิ่งต่อประสิทธิภาพและเสถียรภาพ มิใช่เฉพาะสำหรับระบบการเงิน แต่สำหรับเศรษฐกิจไทยในภาพรวม ดังนั้น ทุกๆ ท่านในที่นี้ จึงมีบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบที่สำคัญยิ่ง

ขอบคุณค่ะ

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ