การบัญชีสำหรับการขายทรัพย์สินรอการขายเหตุผลในการออกหนังสือเวียน

ข่าวกฏหมายและประกาศ Wednesday February 4, 2004 11:19 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                    4  กุมภาพันธ์  2547
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร
บริษัทบริหารสินทรัพย์ทุกบริษัท
ที่ ธปท.สนส.(31) ว. 166 /2547 เรื่อง การบัญชีสำหรับการขายทรัพย์สินรอการขายเหตุผลในการออกหนังสือเวียน
เพื่อให้การบันทึกบัญชีรับรู้รายได้จากการขายทรัพย์สินรอการขาย โดยไม่รวมถึงการขายทรัพย์สินรอการขายประเภทตราสารหนี้และตราสารทุน ของธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์ มีความถูกต้องและเป็นมาตรฐานเดียวกัน ขอบเขตการถือปฏิบัติ
หนังสือเวียนฉบับนี้ใช้สำหรับการถือปฏิบัติของ ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร และบริษัทบริหารสินทรัพย์ทุกบริษัท
เนื้อหา
1. หลักเกณฑ์ในการรับรู้รายได้จากการขายในการขายทรัพย์สินรอการขาย ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์จะรับรู้รายได้จากการขายได้ต่อเมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขทุกข้อดังต่อไปนี้
1.1 ได้โอนความเสี่ยงและผลตอบแทนที่เป็นสาระสำคัญของความเป็นเจ้าของในทรัพย์สินรอการขายให้กับผู้ซื้อแล้ว
1.2 ไม่เกี่ยวข้องในการบริหารทรัพย์สินรอการขายอย่างต่อเนื่องในระดับที่เจ้าของพึงกระทำ หรือไม่ได้มีการควบคุมทั้งทางตรงและทางอ้อมในทรัพย์สินรอการขายที่ขายไปแล้ว
1.3 สามารถวัดมูลค่าของจำนวนรายได้จากการขายทรัพย์สินรอการขายได้อย่างน่าเชื่อถือ
1.4 มีความเป็นไปได้ค่อนข้างแน่ที่จะได้รับประโยชน์เชิงเศรษฐกิจของรายการบัญชีนั้น
1.5 สามารถวัดมูลค่าของต้นทุนที่เกิดขึ้นหรือที่จะเกิดขึ้นอันเนื่องมาจากการขายทรัพย์สินรอการขายนั้นได้อย่างน่าเชื่อถือ
2. การบัญชีสำหรับการขายทรัพย์สินรอการขาย
2.1 การขายทรัพย์สินรอการขายรายการใดที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1 ให้บันทึกบัญชีเป็นการรับเงินมัดจำ
2.2 การขายทรัพย์สินรอการขายที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ในข้อ 1 แล้ว แยกพิจารณาเป็น 2 ประเภท คือ การขายให้กับบุคคลทั่วไป และการขายให้กับบริษัทในเครือหรือผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยวิธีการบัญชีสำหรับการขายแต่ละประเภทให้ถือปฏิบัติดังนี้
2.2.1 การขายทรัพย์สินรอการขายให้กับบุคคลทั่วไป สำหรับรายการที่มียอดขายสูงกว่า 10 ล้านบาท ธนาคารพาณิชย์ หรือบริษัทบริหารสินทรัพย์ จะสามารถรับรู้กำไรเป็นรายได้ทั้งจำนวน เมื่อเข้าเงื่อนไขดังต่อไปนี้
(1) ได้รับชำระเงินสดแล้วไม่น้อยกว่าร้อยละ 20 ของราคาขาย
(2) ผู้ซื้อแสดงให้เห็นว่ามีความสามารถที่จะชำระค่าทรัพย์สินได้ครบตามจำนวน หากการขายไม่เป็นไปตามเงื่อนไขดังกล่าวข้างต้น ให้รับรู้กำไรเป็นรายได้ตามงวดที่ถึงกำหนดชำระ จนกว่าการขายจะเข้าเงื่อนไขทั้งสองข้อจึงให้รับรู้กำไรเป็นรายได้ทั้งจำนวน เช่น ในกรณีที่ได้รับชำระเงินสดน้อยกว่าร้อยละ 20 ในครั้งแรกเนื่องจากการให้กู้ยืมเงินเกินกว่าร้อยละ 80 เมื่อผู้ซื้อได้นำเงินสดมาชำระจนถึงร้อยละ 20 แล้ว ก็สามารถรับรู้กำไรเป็นรายได้ทั้งจำนวนได้
2.2.2 การขายทรัพย์สินรอการขายให้กับบริษัทในเครือ กรรมการ ผู้บริหารระดับสูง ผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรรมการหรือผู้บริหารระดับสูง หรือผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ให้ถือปฏิบัติดังนี้
(1) กรณีไม่มีการกู้ยืมเงินจาก ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือบริษัทในเครือ
(ก) กรณีรับเป็นเงินสดทั้งจำนวน สามารถรับรู้กำไรเป็นรายได้ทั้งจำนวน
(ข) กรณีให้มีการทยอยชำระ ให้รับรู้กำไรเป็นรายได้ทั้งจำนวน เมื่อได้รับเงินครบถ้วนตามสัญญาแล้ว (Cost Recovery Method)
(2) กรณีมีการกู้ยืมเงินจาก ธนาคารพาณิชย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ หรือบริษัทในเครือ
(ก) การให้กู้ยืมเพื่อชำระค่าทรัพย์สินทั้งจำนวน ให้รับรู้กำไรเป็นรายได้ทั้งจำนวน
เมื่อได้รับชำระเงินกู้ยืมครบถ้วนตามสัญญาแล้ว (Cost Recovery Method)
(ข) การให้กู้ยืมเพื่อชำระค่าทรัพย์สินไม่เต็มจำนวน โดยผู้ซื้อจ่ายชำระเป็นเงินสดบางส่วน ให้รับรู้กำไรเป็นรายได้ตามสัดส่วนของเงินสดที่ได้รับชำระต่อราคาขาย สำหรับส่วนที่มีการให้กู้ยืมเงิน ให้รับรู้กำไรเป็นรายได้ทั้งจำนวน เมื่อได้รับชำระเงินกู้ยืมครบถ้วนตามสัญญาแล้ว (Cost Recovery Method) ทั้งนี้ หลักเกณฑ์และวิธีการขายทรัพย์สินรอการขายให้แก่กรรมการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรรมการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการธนาคารพาณิชย์และประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วย การขายสังหาริมทรัพย์ให้แก่กรรมการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับกรรมการ
3. ในกรณีที่มีรายการขาดทุนจากการขายทรัพย์สินรอการขาย จะต้องรับรู้ขาดทุนนั้นในงบกำไรขาดทุนทันทีทั้งจำนวน
4. ให้เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการขายทรัพย์สินรอการขายในหมายเหตุประกอบงบการเงินวันเริ่มต้นถือปฏิบัติให้ถือปฏิบัติกับรายการขายที่เกิดขึ้นตั้งแต่วันที่ 2 กรกฎาคม 2547 เป็นต้นไป
ขอแสดงความนับถือ
(ม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล)
ผู้ว่าการ
ฝ่ายนโยบายเงินกองทุน
โทร. 0-2283-5806, 0-2283-5869, 0-2283-6829
หมายเหตุ [
] ธปท. จะจัดให้มีการประชุมชี้แจงในวันที่......เวลา........ ณ ............
[/
] ไม่มีการจัดประชุมชี้แจง
-ยก-

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ