การปรับปรุงหลักเกณฑ์การระงับการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้การจัดชั้นลูกหนี้การกันเงินสำรองและมาตรการอื่น

ข่าวกฏหมายและประกาศ Tuesday May 12, 1998 11:20 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

                                                    ธนาคารแห่งประเทศไทย
31 มีนาคม 2541
เรียน ผู้จัดการ
ธนาคารพาณิชย์ทุกธนาคาร, บริษัทเงินทุน, บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์
ทุกบริษัท
ที่ ธปท.ง.(ว) 1236,1237/2541 เรื่องการปรับปรุงหลักเกณฑ์การระงับการรับรู้
ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ การจัดชั้นลูกหนี้ การกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้
ที่จัดชั้น และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง
ตามที่ธนาคารได้มีแนวทางในการปรับปรุงหลักเกณฑ์การรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้การจัดชั้นลูกหนี้ การกันเงินสำรองฯ ของสถาบันการเงิน รวมทั้งการเปิดเผยข้อมูลและการรายงานอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากล โดยได้มีการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ดังกล่าวร่วมกับสถาบันการเงินเพื่อความเข้าใจอันดีและลดปัญหาในทางปฎิบัติดังแจ้งแล้ว นั้น
ธนาคารด้วยความเห็นชอบของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำหนดหลักเกณฑ์การรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ การจัดชั้นลูกหนี้ การกันเงินสำรองฯ และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้องตามเอกสารแนบ 1 เพื่อให้สถาบันการเงินเตรียมการถือปฎิบัติ และพิจารณาดำเนินการปรับปรุงเสริมสร้างฐานะเงินกองทุนให้มีความเพียงพอ โดยได้กำหนดวันที่เริ่มบังคับใช้หลักเกณฑ์ใหม่ในแต่ละเรื่องไว้ด้วย ตามเอกสารแนบ 2
ทั้งนี้ ธนาคารกำลังดำเนินการปรับปรุงประกาศและหนังสือเวียนที่เกี่ยวข้อง เพื่อถือปฎิบัติต่อไป
จึงเรียนมาเพื่อทราบ
ขอแสดงความนับถือ
(นายชัยวัฒน์ วิบูลย์สวัสดิ์)
ผู้ว่าการ
สิ่งที่ส่งมาด้วย 1. หลักเกณฑ์การระงับการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ การจัดชั้นลูกหนี้ การกันเงินสำรอง สำหรับลูกหนี้ที่จัดชั้น และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง
2. สำหรับเวลาในการบังคับใช้หลักเกณฑ์การระงับการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้การจัดชั้น ลูกหนี้การกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ที่จัดชั้น และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง
ฝ่ายกำกับสถาบันการเงินโทร. 283-5303, 283-5837, 283-5304
___________________________________________________________________________
เอกสารแนบ 1
หลักเกณฑ์การระงับการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ การจัดชั้นลูกหนี้ การกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ที่จัดชั้น และมาตรการอื่นที่เกี่ยวข้อง
1. ลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงิน
ให้สถาบันการเงินพิจารณาดำเนินการตามหลักเกณฑ์ในการระงับการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ การจัดชั้นลูกหนี้ และการกันเงินสำรองฯ สำหรับลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงิน
ลูกหนี้ที่มีปัญหาในการชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงิน หมายรวมถึง ลูกหนี้ที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินเกินกว่า 3 เดือน นับจากวันครบกำหนด หรือลูกหนี้ที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินไม่ถึง 3 เดือน แต่มีความไม่แน่นอนเกี่ยวกับความสามารถในการชำระคืนเงินหรือดอกเบี้ย นอกจากนั้นยังหมายถึงลูกหนี้ที่มีการต่ออายุสัญญา ลูกหนี้ที่ทบดอกเบี้ยเป็นต้นเงิน หรือลูกหนี้ที่ได้ปรับปรุงกำหนดการชำระหนี้ใหม่ โดยไม่สามารถแสดงการวิเคราะห์อย่างเพียงพอและเหมาะสมเกี่ยวกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้
วันที่ใช้บังคับ : งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2541
2. การระงับการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้
ให้สถาบันการเงินระงับการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้ตามเกณฑ์สิทธิ (Accrual Basis) สำหรับลูกหนี้ที่ค้างชำระดอกเบี้ยเกินกว่า 3 เดือน นับจากวันที่ครบกำหนดชำระและต้องบันทึกยกเลิกรายการดอกเบี้ยค้างรับที่ได้บันทึกบัญชีเป็นรายได้แล้วนั้นออกจากบัญชีด้วยสำหรับการบันทึกรายได้ดอกเบี้ยรับหลังจากนั้นให้ถือปฎิบัติตามเกณฑ์เงินสด (Cash Basis)
วันที่ใช้บังคับ : 1 มกราคม 2542 สำหรับการระงับการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้
1 มกราคม 2543 สำหรับการบันทึกยกเลิกรายการดอกเบี้ยค้างรับที่ได้บันทึกเป็นรายได้ไว้แล้ว
สำหรับดอกเบี้ยค้างรับของลูกหนี้ข้างต้นในจำนวนที่บันทึกบัญชีเป็นรายได้ไว้แล้วก่อนวันที่ 1 มกราคม 2543 และยังมิได้บันทึกยกเลิกรายการดอกเบี้ยค้างรับดังกล่าว ให้สถาบันการเงินนับรวมดอกเบี้ยค้างรับดังกล่าวเข้ากับต้นเงินเพื่อการจัดชั้นและกันเงินสำรองฯ ตามคุณภาพของลูกหนี้เมื่อเข้าเกณฑ์การจัดชั้นที่กำหนด
3. เกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้
ในการจัดชั้นลูกหนี้และภาระผูกพันทั้งในและนอกงบดุลตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศกำหนด ในเบื้องต้นให้พิจารณาจากคุณภาพของลูกหนี้เป็นหลัก โดยการวิเคราะห์โครงการและความเป็นไปได้ทางธุรกิจของลูกหนี้ การวิเคราะห์งบการเงิน กระแสเงินสด และความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ตามกำหนด ทั้งนี้ ต้องไม่เกินระยะเวลาของการค้างชำระที่เป็นเกณฑ์ในการจัดชั้น โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับตามคุณภาพของลูกหนี้ ประกอบด้วย ลูกหนี้ปกติ ลูกหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย และลูกหนี้จัดชั้นสูญ ดังนี้
3.1 ลูกหนี้ปกติ : หมายถึงลูกหนี้ที่ไม่ผิดนัดชำระหนี้ และไม่มีสัญญาณใด ๆ แสดงว่าจะมีการผิดนัดชำระหนี้อันจะเป็นเหตุให้สถาบันการเงินได้รับความเสียหาย ได้แก่ ลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ
3.2 ลูกหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ : หมายถึงลูกหนี้ที่ไม่มีสัญญาณว่าจะเกิดความเสียหายแต่มีฐานะหรือผลการดำเนินงานอ่อนลงซึ่งหากไม่ได้รับการแก้ไขในเวลาอันควรจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้อ่อนลงไปอีกจนไม่สามารถชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินได้ตามกำหนด ได้แก่ ลูกหนี้ที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินไม่เกิน 3 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ
3.3 ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน : หมายถึงลูกหนี้ที่มีโอกาสที่จะก่อให้เกิดความเสียหายหากปัจจัยที่เป็นจุดอ่อนไม่มีการแก้ไข หรือแหล่งที่มาหลักของการชำระหนี้อาจไม่เพียงพอ เนื่องจากความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้มีความไม่แน่นอน สถาบันการเงินจำเป็นต้องใช้แหล่งที่มาอื่นหรือหลักประกันในการชำระหนี้ ได้แก่ ลูกหนี้ที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินไม่เกิน 6 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ
3.4 ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย : หมายถึงลูกหนี้ที่มีคุณภาพด้อยกว่าลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน หรือคาดว่าจะไม่สามารถเรียกให้ลูกหนี้ชำระคืนได้ครบถ้วน ได้แก่ ลูกหนี้ที่ค้างชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ
3.5 ลูกหนี้จัดชั้นสูญ : หมายถึงลูกหนี้ที่ไม่มีความสามารถชำระหนี้ได้โดยสิ้นเชิง หรือลูกหนี้ค้างชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินเกินกว่า 12 เดือน นับแต่วันที่ครบกำหนดชำระ
อย่างไรก็ตามในกรณีที่สถาบันการเงินมีเหตุผลสมควรจะจัดชั้นลูกหนี้ โดยผ่อนคลายกว่าเกณฑ์ระยะเวลาการค้างชำระดังกล่าว จะต้องจัดทำเอกสารหลักฐานแสดงเหตุผลประกอบการพิจารณาการจัดชั้นให้ชัดเจน และพร้อมให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบได้ทุกขณะ
วันที่ใช้บังคับ : งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2541
4. การกันเงินสำรองสำหรับลูกหนี้ที่จัดชั้น
ในการกันเงินสำรองฯ สำหรับความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น สถาบันกาเรงินต้องแสดงเป็นรายการหักจากรายการสินทรัพย์ (Contra-asset Account) ในงบดุล และเป็นค่าใช้จ่ายในงบกำไรขาดทุนตามอัตราดังนี้
ลูกหนี้ที่จัดชั้น อัตราการกันเงินสำรองฯ (ร้อยละ)
ลูกหนี้ปกติ 1
ลูกหนี้ที่กล่าวถึงเป็นพิเศษ 2
ลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน 20
ลูกหนี้จัดชั้นสงสัยจะสูญ 50
ลูกหนี้จัดชั้นสูญ 100 หรือตัดออกจากบัญชี
ทั้งนี้ ในกรณีที่มีความจำเป็นธนาคารแห่งประเทศไทยอาจกำหนดอัตราการกันเงินสำรองฯ เป็นอย่างอื่นได้
วันที่ใช้บังคับ : - ภายในงวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2541 ให้กันเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 20 ของจำนวนเงินที่ต้องกันสำรองฯ
- ภายในงวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2542 ให้กันเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ40 ของจำนวนเงินที่ต้องกันสำรองฯ
- ภายในงวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2542 ให้กันเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 60 ของจำนวนเงินที่ต้องกันสำรองฯ
- ภายในงวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2543 ให้กันเงินสำรองฯ ไม่ต่ำกว่าร้อยละ80 ของจำนวนเงินที่ต้องกันสำรองฯ
- ภายในงวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2543 ให้กันเงินสำรองฯ ให้ครบถ้วน
ในกรณีที่สถาบันการเงินได้กันเงินสำรองฯ ไว้แล้วมากกว่าจำนวนเงินที่ต้องทยอยกันเงินสำรองฯ ในแต่ละงวด สถาบันการเงินจะต้องคงจำนวนเงินกันสำรองฯ ดังกล่าวไว้ในบัญชีต่อไปจนกว่าจะกันเงินสำรองฯ ได้ครบถ้วนแล้ว
5. การปรับปรุงโครงสร้างหนี้
ในกรณีที่สถาบันการเงินยินยอมผ่อนปรนให้กับลูกหนี้ที่มีปัญหาฐานะการเงินจะต้องประเมินสภาพที่แท้จริงของลูกหนี้และเงื่อนไขใหม่ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะต้องมีรายละเอียดและการวิเคราะห์อย่างเพียงพอ โดยจัดทำเป็นเอกสารหลักฐานและพร้อมให้ธนาคารแห่งประเทศไทยตรวจสอบได้ทุกขณะ
การทำความตกลงกับลูกหนี่เพื่อปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะต้องสอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ โดยอาจมีการขยายระยะเวลาชำระหนี้ หรือลดดอกเบี้ยหรือต้นเงิน และอาจมีหลักประกันเพิ่มเติมด้วยก็ได้
ธนาคารแห่งประเทศไทย จะกำหนดหลักเกณฑ์โดยเฉพาะ สำหรับการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ โดยหลักการในการปรับปรุงโครงสร้างหนี้จะต้องมีการกันเงินสำรองฯ ในอัตราร้อยละ 100 สำหรับความเสียหายทั้งหมดที่คาดว่าจะเกิดขึ้น หรือตัดบัญชีส่วนสูญเสีย ส่วนยอดหนี้ที่เหลือจะถือได้ว่าเป็นลูกหนี้ปกติ ก็ต่อเมื่อได้มีการปฏิบัติตามเงื่อนไขในการชำระหนี้ตามสัญญาใหม่หลังจากตกลงปรับปรุงโครงสร้างหนี้เป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว
วันที่ใช้บังคับ : งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2541
6.การสอบทานเงินให้สินเชื่อ
สถาบันการเงินจะต้องสอบทานคุณภาพของเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้น ได้แก่ เงินให้กู้ยืม เงินเบิกเกินบัญชี ลูกหนี้ และการให้เครดิตรูปแบบอื่น ๆ รวมทั้งภาระผูกพันทั้งในและนอกงบดุล โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของระบบการควบคุมการบริหารความเสี่ยง และดำเนินการโดยอิสระแยกต่างหากจากกระบวนการให้สินเชื่อ ในกรณีที่ลูกหนี้มีหนี้หลายประเภทและหนี้แต่ละประเภทอยู่ในเกณฑ์จัดชั้นที่ต่างกัน หนี้ทุกประเภทของลูกหนี้รายนั้นจะต้องนำมาจัดชั้นเดียวกันในระดับคุณภาพที่ต่ำสุดของลูกหนี้รายนั้น ยกเว้นในกรณีที่มีเหตุผลหรือมีหลักฐานชัดเจนว่าหนี้บางประเภทจะสามารถได้รับชำระคืนอย่างแน่นอน โดยต้องมีเอกสารหลักฐานประกอบการพิจารณาให้ชัดเจน
สถาบันการเงินจะต้องสอบทานเงินให้สินเชื่ออย่างน้อยร้อยละ 70 ของเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นรวมภาระผูกพันทุกไตรมาส ในจำนวนนี้จะต้องรวมลูกหนี้รายใหญ่ 100 รายแรก และรวมเงินให้สินเชื่อและภาระผูกพันแก่บุคคลที่เกี่ยวข้องกับกรรมการ ผู้บริหาร และสถาบันการเงิน ส่วนสินเชื่อที่มีมาตรฐานอยู่แล้วบางประเภท เช่น บัตรเครดิต เช่าซื้อ และสินเชื่อที่อยู่อาศัยอาจสอบทานเป็นกลุ่มรวมกันโดยใช้วิธีการทางสถิติก็ได้
สถาบันการเงินจะต้องสรุปผลการสอบทานเงินให้สินเชื่อ รวมทั้งข้อมูลเกี่ยวกับการจัดชั้นและการกันเงินสำรองฯ รายงานต่อธนาคารแห่งประเทศไทยภายใน 1 เดือน นับแต่วันสิ้นไตรมาสที่ต้องรายงานตามรูปแบบรายงานที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย อาจประเมินวิธีการและผลของการสอบทานเงินให้สินเชื่อของสถาบันการเงินตามที่กล่าวข้างต้นในการตรวจสอบประจำปี
วันที่ใช้บังคับ : งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2541
7. การประเมินมูลค่าหลักประกัน
ให้สถาบันการเงินใช้วิธีการเกี่ยวกับการนับหลักประกันในการจัดชั้นและการกันเงินสำรองฯ ดังนี้
7.1 การจัดชั้น ไม่ต้องพิจารณามูลค่าของหลักประกันเป็นเกณฑ์ในการจัดชั้นลูกหนี้
7.2 การกันเงินสำรองฯ สามารถนำมูลค่าของหลักประกันซึ่งได้มีการประเมินราคาตลาดอย่างเหมาะสมแล้วมาหักออกจากเงินให้สินเชื่อที่ต้องกันเงินสำรองฯ เฉพาะลูกหนี้จัดชั้นต่ำกว่ามาตรฐาน ลูกหนี้จัดชั้นสงสัย และลูกหนี้จัดชั้นสูญ
7.3 มูลค่าของหลักประกัน
- หลักประกันที่เป็นเงินสดหรือเงินฝากที่ถาบันการเงินนั้น นำมาหักได้ร้อยละ 100
- หลักประกันที่ใกล้เคียงเงินสด เช่น หลักทรัพย์ในความต้องการของตลาดนำมาหักได้ไม่เกินร้อยละ 95 ของราคาตลาด
- หลักประกันที่ได้มีการประเมินราคาทุก 6 เดือน นำมาหักได้ไม่เกินร้อยละ 90 ของราคาตลาด
- หลักประกันนำมาหักได้ไม่เกินร้อยละ 50 ของราคาตลาด
7.4 วิธีการประเมินมูลค่าหลักประกัน สามารถประเมินโดยสถาบันการเงินหรือผู้ประเมินราคาอิสระภายใต้หลักเกณฑ์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
วันที่ใช้บังคับ : งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2541
______________________________________________________________________________
เอกสารแนบ 2
กำหนดเวลาในการใช้บังคับ
งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2541 เกณฑ์ลูกหนี้มีปัญหาในการชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงิน
เกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้
เกณฑ์การกันเงินสำรองฯ ร้อยละ 20
เกณฑ์การปรับปรุงโครงสร้างหนี้
เกณฑ์การสอบทานเงินให้สินเชื่อ
เกณฑ์การประเมินมูลค่าหลักประกัน
วันที่ 1 มกราคม 2542 เกณฑ์การระงับการรับรู้ดอกเบี้ยค้างรับเป็นรายได้
งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2542 เกณฑ์การกันเงินสำรองฯ ร้อยละ 40
งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2542 เกณฑ์การกันเงินสำรองฯ ร้อยละ 60
วันที่ 1 มกราคม 2543 บันทึกยกเลิกรายการรายได้ดอกเบี้ยค้างชำระ
งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2543 เกณฑ์การกันเงินสำรองฯ ร้อยละ 80
งวดการบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2543 เกณฑ์การกันเงินสำรองฯ ร้อยละ 100

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ