แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday September 26, 2017 10:24 —ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย

ที่ สนส. 16/2560

เรื่อง แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

1. เหตุผลในการออกประกาศ

ธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการทำหน้าที่เป็นตัวกลางทางการเงินเพื่อสนับสนุนกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศไทยมาโดยตลอด การกำกับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์มีความมั่นคงและสามารถให้บริการทางการเงินได้อย่างต่อเนื่องโดยไม่เกิดการหยุดชะงักจึงถือเป็นเรื่องสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่ มีความเชื่อมโยงระหว่างสถาบันการเงินและระบบการเงินสูง มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความซับซ้อน และเป็นผู้ให้บริการหลักในผลิตภัณฑ์ทางการเงินหรือโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นถึงความสำคัญและความจำเป็นที่ต้องกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวให้เข้มงวดขึ้นกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยกำกับดูแลให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic systemically important banks: D-SIBs) มีความสามารถในการรองรับความเสียหายได้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสที่ธนาคารพาณิชย์จะประสบปัญหาฐานะทางการเงิน และส่งผลกระทบ (Negative externalities) ต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ อันจะเป็นการส่งเสริมให้ระบบสถาบันการเงินของประเทศมีเสถียรภาพและได้รับการยอมรับตามมาตรฐานสากล โดยแนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามประกาศฉบับนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างอิงจาก A framework for dealing with domestic systemically important banks ของ Basel Committee on Banking Supervision ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมาตรการกำกับดูแลสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ Basel III

การกำหนดธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศนี้ มีวัตถุประสงค์เพื่อกำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้การกำกับดูแลที่เข้มงวดขึ้น ซึ่งต้องดำรงเงินกองทุนในอัตราที่สูงขึ้นและต้องปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่นที่มากกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไป โดยการกำหนดรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศนั้นไม่ได้หมายความว่าธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวจะต้องได้รับความช่วยเหลือจากทางการโดยปริยายในกรณีที่ประสบปัญหาด้านสภาพคล่องหรือปัญหาฐานะทางการเงิน ซึ่งการตัดสินใจในเรื่องดังกล่าวจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่นที่สะท้อนความเชื่อมั่นต่อระบบสถาบันการเงินและระบบการเงินในขณะนั้นด้วย

2. อำนาจตามกฎหมาย

อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 มาตรา 30 มาตรา 31 มาตรา 32 และมาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ธนาคารแห่งประเทศไทยออกหลักเกณฑ์แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศให้ธนาคารพาณิชย์ถือปฏิบัติตามที่กำหนดในประกาศฉบับนี้

3. ขอบเขตการบังคับใช้

ประกาศฉบับนี้ให้ใช้บังคับกับธนาคารพาณิชย์ตามกฎหมายว่าด้วยธุรกิจสถาบันการเงินทุกแห่ง

4. เนื้อหา

4.1 คำจำกัดความ

ในประกาศฉบับนี้

“ธนาคารพาณิชย์” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงินพ.ศ. 2551

“ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic systemically important banks: D-SIBs)” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศว่า เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามหลักเกณฑ์ในประกาศฉบับนี้

“ธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ” หมายความว่า ธนาคารพาณิชย์ตามพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 ยกเว้นสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ

“สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ” หมายความว่า สาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

“อัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต (Conservation buffer)” หมายความว่า อัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต (Conservation buffer) ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์

“อัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง (Countercyclical buffer)” หมายความว่า อัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง (Countercyclical buffer) ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การกำกับดูแลเงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์

4.2 หลักการ

ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดหลักเกณฑ์การกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวมีความสามารถในการรองรับความเสียหายได้มากขึ้น เพื่อลดโอกาสที่จะประสบปัญหาจนส่งผลกระทบต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวม ทั้งนี้ หลักเกณฑ์การกำกับดูแลดังกล่าว ธนาคารแห่งประเทศไทยอ้างอิงจากมาตรฐานสากลตามที่ Basel Committee on Banking Supervision กำหนด โดยประกอบด้วย สาระสำคัญ 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 แนวทางการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ และส่วนที่ 2 มาตรการในการกำกับดูแลเพิ่มเติมสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

4.3 รายละเอียดของหลักเกณฑ์

4.3.1 แนวทางการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

(1) ดัชนีชี้วัดที่ใช้ในการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ดัชนีชี้วัดหลัก (Main indicators) ในการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ และหากดัชนีชี้วัดหลักไม่สามารถ ใช้แบ่งกลุ่มได้อย่างชัดเจน ธนาคารแห่งประเทศไทยอาจนำดัชนีชี้วัดเสริม (Ancillary indicators) มาใช้พิจารณาเพิ่มเติมได้ โดยมีรายละเอียดของดัชนีชี้วัด ดังนี้

(1.1) ดัชนีชี้วัดหลัก (Main indicators)

ธนาคารแห่งประเทศไทยใช้ดัชนีชี้วัดหลัก 4 ด้านในการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ โดยคำนึงถึงผลกระทบที่อาจมีต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นสำคัญ ซึ่งดัชนีชี้วัดหลักทั้ง 4 ด้านสามารถสะท้อนถึงระดับของผลกระทบที่ธนาคารพาณิชย์นั้นอาจมีต่อระบบการเงินและระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศรวมถึงกลไกการทำงานของตลาดการเงินในประเทศ โดยมีรายละเอียดดังนี้

(ก) ด้านขนาด (Size): ธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดใหญ่และมีปริมาณธุรกรรมทางการเงินเป็นจำนวนมากจะส่งผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและระบบการเงินโดยรวมมากกว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีขนาดเล็ก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงกำหนดให้ขนาดของธนาคารพาณิชย์เป็นดัชนีชี้วัดหลัก โดยพิจารณาจากขนาดของสินทรัพย์รวมและรายการนอกงบดุลของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์

(ข) ด้านความเชื่อมโยง (Interconnectedness): ธนาคารพาณิชย์ที่มีความเชื่อมโยงกับสถาบันการเงินอื่นและระบบการเงินสูงจะมีโอกาสที่จะส่งผ่านความเสี่ยงและส่งผลกระทบไปยังสถาบันการเงินอื่นและระบบการเงินได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงกำหนดให้ความเชื่อมโยงเป็นดัชนีชี้วัดหลัก โดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้

  • ความเชื่อมโยงด้านสินทรัพย์ของธนาคารพาณิชย์ที่มีต่อระบบสถาบันการเงินในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้หรือผู้ลงทุน โดยพิจารณาจากปริมาณเงินฝาก เงินให้สินเชื่อและเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุน ของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่มีคู่สัญญาเป็นสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นต้น
  • ความเชื่อมโยงด้านหนี้สินของธนาคารพาณิชย์ที่มีต่อระบบสถาบันการเงินในฐานะที่เป็นลูกหนี้ โดยพิจารณาจากปริมาณเงินรับฝากและเงินกู้ยืมของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่มีคู่สัญญาเป็นสถาบันการเงินอื่น ๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ เป็นต้น
  • ความเชื่อมโยงด้านความต้องการเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ที่มีต่อระบบการเงิน โดยพิจารณาจากมูลค่าของตราสารหนี้และตราสารทุนที่กลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์เป็นผู้ออกจำหน่ายให้กับนักลงทุนทุกประเภท

(ค) ด้านการทดแทนกันได้ (Substitutability) และด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน (Financial institution infrastructure): ธนาคารพาณิชย์ ที่เป็นผู้ให้บริการทางการเงินที่สำคัญหรือเป็นผู้ให้บริการด้านโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญจะมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ซึ่งจะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมได้มากกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์แห่งอื่นอาจไม่สามารถให้บริการทดแทนกันได้หรือมีต้นทุนในการดำเนินการที่สูงมาก ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงกำหนดให้การทดแทนกันได้และการให้บริการโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงินเป็นดัชนีชี้วัดหลักโดยพิจารณาจาก 3 ปัจจัย ดังนี้

  • มูลค่าการโอนเงินผ่านระบบการชำระเงินบาทเนตซึ่งเป็นระบบที่ให้บริการในด้านการชำระเงินของประเทศ โดยธนาคารพาณิชย์ที่มีมูลค่าการโอนเงินในระบบการชำระเงินบาทเนตสูง จะมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบการชำระเงินมากกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาด้านสภาพคล่องในระบบการเงินและส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศหยุดชะงักได้ โดยพิจารณาจากมูลค่าเฉลี่ยการโอนเงินผ่านระบบการชำระเงินบาทเนตต่อวันของธนาคารพาณิชย์
  • ความเป็นศูนย์กลางในระบบการชำระเงินบาทเนตธนาคารพาณิชย์ที่มีความเชื่อมโยงในเครือข่ายของระบบการชำระเงินสูง จะมีโอกาสที่จะส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อการให้บริการการชำระเงินในระบบบาทเนตซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักของระบบการชำระเงินในประเทศมากกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น โดยใช้แบบจำลองเชิงเครือข่าย (Network model) ในการพิจารณาความเป็นศูนย์กลางในระบบการชำระเงินบาทเนตดังกล่าว
  • จำนวนผู้ฝากเงิน ธนาคารพาณิชย์ที่มีจำนวนผู้ฝากเงินสูงจะแสดงถึงระดับความสำคัญในการให้บริการทางการเงินพื้นฐานดังกล่าว

(ง) ด้านความซับซ้อน (Complexity): ธนาคารพาณิชย์ที่มีผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ซับซ้อนหรือกระบวนการดำเนินธุรกิจที่ซับซ้อน จะมีขั้นตอนและกระบวนการในการแก้ไขปัญหาที่ยุ่งยากและซับซ้อนกว่าธนาคารพาณิชย์อื่น รวมถึงอาจเกิดการเร่งขายสินทรัพย์(Fire sale) ซึ่งอาจส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อระดับราคาของสินทรัพย์ในระบบการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยจึงกำหนดให้ความซับซ้อนเป็นดัชนีชี้วัดหลัก โดยพิจารณาจาก 2 ปัจจัย ดังนี้

  • มูลค่าธุรกรรมอนุพันธ์นอกตลาด โดยพิจารณาจากจำนวนเงินตามสัญญาของธุรกรรมอนุพันธ์นอกตลาดของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์
  • มูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในบัญชีเพื่อค้าและบัญชีเผื่อขาย โดยพิจารณาจากมูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในบัญชีเพื่อค้าและบัญชีเผื่อขายของกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ ทั้งนี้ ไม่รวมเงินลงทุนในสินทรัพย์สภาพคล่องชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ในบัญชีเพื่อการค้าตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับสถานการณ์ด้านสภาพคล่องที่มีความรุนแรง(Liquidity Coverage Ratio: LCR)

(1.2) ดัชนีชี้วัดเสริม (Ancillary indicators)

ในกรณีที่ดัชนีชี้วัดหลักไม่สามารถใช้ในการระบุความมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศของธนาคารพาณิชย์ได้อย่างชัดเจน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณานำดัชนีชี้วัดเสริมอื่น ๆ ทั้งที่เป็นดัชนีชี้วัดเชิงปริมาณ (Quantitative indicators) หรือดัชนีชี้วัดเชิงคุณภาพ (Qualitative indicators) มาใช้ประกอบการพิจารณาเพิ่มเติมได้ เช่น ปริมาณสินทรัพย์เสี่ยงการทำธุรกรรมในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และความซับซ้อนของโครงสร้างธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น

(2) น้ำหนักของดัชนีชี้วัดหลัก

ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดให้ดัชนีชี้วัดหลักด้านขนาด ด้านความเชื่อมโยงรวมถึงด้านการทดแทนกันได้และด้านโครงสร้างพื้นฐานของระบบสถาบันการเงิน มีน้ำหนักเท่ากันที่ร้อยละ 30 ส่วนดัชนีชี้วัดด้านความซับซ้อนกำหนดให้มีน้ำหนักที่ร้อยละ 10 เนื่องจากธุรกรรมอนุพันธ์ในประเทศยังมีปริมาณธุรกรรมและความเสี่ยงที่ไม่สูงนัก จึงอาจไม่ได้ส่งผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศเท่ากับดัชนีชี้วัดหลักด้านอื่น ๆ โดยดัชนีชี้วัดหลักและปัจจัยในแต่ละด้าน มีน้ำหนักสรุปได้ตามตาราง ดังนี้

ดัชนีชี้วัดหลัก ปัจจัย และน้ำหนักที่ใช้ในการพิจารณา

ดัชนีชี้วัดหลัก                    ปัจจัย                                           น้ำหนัก
1) ด้านขนาด (Size)           - สินทรัพย์รวมและรายการนอกงบดุล                      30
2) ด้านความเชื่อมโยง           - ความเชื่อมโยงด้านสินทรัพย์ ร้อยละ 10
(Interconnectedness)        - ความเชื่อมโยงด้านหนี้สิน ร้อยละ 10                    30
                            - ความเชื่อมโยงด้านความต้องการเงินทุน ร้อยละ 10
3) ด้านการทดแทนกันได้          - มูลค่าการโอนผ่านระบบการชำระเงินบาทเนตร้อยละ 10
(Substitutability) และ      - ความเป็นศูนย์กลางในระบบการชำระเงินบาทเนตร้อยละ 10
ด้านโครงสร้างพื้นฐาน            - จำนวนผู้ฝากเงิน ร้อยละ 10                          30
ของระบบสถาบันการเงิน
(Financial institution
infrastructure)
4) ด้านความซับซ้อน             - มูลค่าธุรกรรมอนุพันธ์นอกตลาด ร้อยละ 5
(Complexity)                - มูลค่าเงินลงทุนในตราสารหนี้และตราสารทุนในบัญชี          10
                              เพื่อค้าและบัญชีเผื่อขาย ร้อยละ 5

(3) วิธีการคำนวณคะแนนรวมความมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศของธนาคารพาณิชย์

(3.1) คำนวณหาสัดส่วนส่วนแบ่งตลาด (Market share) ของธนาคารพาณิชย์ในแต่ละดัชนีชี้วัดหลัก (หรือแต่ละปัจจัย) โดยนำ มูลค่าที่ธนาคารพาณิชย์มีในแต่ละดัชนีชี้วัดหลัก (หรือแต่ละปัจจัย) หารด้วยมูลค่ารวมของระบบในแต่ละดัชนีชี้วัดหลัก (หรือแต่ละปัจจัย) ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้มีหน่วยเป็นร้อยละ

(3.2) นำผลลัพธ์ที่คำนวณได้ตาม (3.1) คูณด้วยน้ำหนักที่กำหนดไว้สำหรับดัชนีชี้วัดหลักแต่ละด้าน (หรือแต่ละปัจจัย) ตามที่กำหนดไว้ในตารางข้างต้น แล้วคูณด้วย 100 เพื่อให้ได้ผลลัพธ์เป็นจำนวนเต็มหน่วย

(3.3) นำผลลัพธ์ของทุกดัชนีชี้วัดหลัก (หรือแต่ละปัจจัย) ที่คำนวณได้ตาม (3.2) มารวมกันเพื่อใช้เป็นคะแนนรวมในการประเมินความมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศของธนาคารพาณิชย์

(3.4) นำผลคะแนนรวมที่คำนวณได้ตามข้อ (3.3) มาเรียงลำดับและจัดกลุ่มความมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศของธนาคารพาณิชย์ตามการกระจายตัวของคะแนน (Cluster analysis) โดยแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ และ 2) กลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ทั้งนี้ หากการกระจายตัวของคะแนนดังกล่าวส่งผลให้ไม่สามารถแบ่งกลุ่มได้ชัดเจน ธนาคารแห่งประเทศไทยจะนำดัชนีชี้วัดเสริมอื่น ๆ มาใช้ประกอบการพิจารณาความมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศของธนาคารพาณิชย์เพิ่มเติม

(4) ความถี่ในการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

ธนาคารแห่งประเทศไทยจะคำนวณคะแนนรวมความมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศของธนาคารพาณิชย์เป็นประจำทุกปี โดยใช้ข้อมูลในปีก่อนหน้ามาพิจารณาและจะประกาศว่าธนาคารพาณิชย์เป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ เมื่อผลคะแนนรวมความมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศของธนาคารพาณิชย์ใดถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามข้อ 4.3.1 (3.4) ติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ปี (Observation period) และจะเปลี่ยนแปลงสถานะของธนาคารพาณิชย์ดังกล่าว เมื่อผลคะแนนรวมความมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศของธนาคารพาณิชย์นั้นถูกจัดอยู่ในกลุ่มที่ไม่ใช่กลุ่มที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศติดต่อกันเป็นระยะเวลา 2 ปี (Observation period)

อนึ่ง ธนาคารแห่งประเทศไทยจะพิจารณาทบทวนแนวทางการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามข้อ 4.3.1 (1) (2) และ (3) ข้างต้นเป็นประจำทุก ๆ 3 ปี เพื่อให้แนวทางการระบุธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศสามารถสะท้อนถึงความมีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบได้อย่างเหมาะสม

4.3.2 มาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติมสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

(1) มาตรการกำกับดูแลด้านเงินกองทุนสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหายสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Higher loss absorbency) ดังนี้

ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศเป็นธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศ ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ (Common equity tier 1) เพิ่มเติมจากการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำ อัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต(Conservation buffer) และอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง (Countercyclical buffer) อีกร้อยละ 1 ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น เพื่อเป็นเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหายสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Higher loss absorbency)

ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศเป็นสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นเพิ่มเติมจากการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำ อัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต (Conservation buffer) และอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสี่ยงเชิงระบบที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเศรษฐกิจขาลง (Countercyclical buffer) อีกร้อยละ 1 ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น เพื่อเป็นเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหายสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Higher loss absorbency)

ทั้งนี้ หากธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศไม่สามารถดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดข้างต้นได้ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศดังกล่าวเก็บสะสมเงินกำไรสุทธิบางส่วนหรือทั้งหมดตามสัดส่วนที่กำหนดในเอกสารแนบ โดยจำกัดการจัดสรรกำไรสุทธิ๑ ของธนาคารพาณิชย์ (Earning distribution) ได้แก่ การจ่ายเงินปันผล การจ่ายโบนัสพนักงาน๒ การจ่ายผลตอบแทนแก่ผู้ถือตราสารทางการเงินที่นับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 และการซื้อหุ้นคืน ซึ่งธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศอาจเลือกใช้วิธีใดวิธีหนึ่งข้างต้นหรือทั้งหมดก็ได้ เพื่อให้สามารถดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่มได้ครบตามที่กำหนดจึงจะสามารถจัดสรรกำไรสุทธิได้๓ อนึ่ง ในกรณีที่ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศเก็บสะสมกำไรสุทธิตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด แต่ยังไม่สามารถดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนได้ตามหลักเกณฑ์ข้างต้น ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศหารือกับฝ่ายกำกับสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยถึงแผนการดำรงเงินกองทุนต่อไป

อย่างไรก็ดี หากธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศไม่สามารถดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มได้ จะยังไม่ถือว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศไม่ปฏิบัติตามการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนตามมาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 เว้นแต่ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขการจำกัดการจัดสรรกำไรสุทธิตามสัดส่วนที่กำหนดในเอกสารแนบจึงจะถือว่าธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศไม่ปฏิบัติตามการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนตามมาตรา 29 มาตรา 30 หรือมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ. 2551 แล้วแต่กรณี

(2) มาตรการกำกับดูแลด้านอื่น ๆ สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยสามารถติดตามดูแลความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศอย่างใกล้ชิด รวมทั้งเป็นการส่งเสริมให้ธนาคารพาณิชย์มีระบบการควบคุมภายในที่ดีและมีการบริหารจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ ดังต่อไปนี้

(2.1) การจัดส่งรายงานที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงภายในของธนาคารพาณิชย์ (Internal management report/Risk report)

ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศจัดส่งรายงานที่ใช้ในการบริหารความเสี่ยงเป็นการภายในของธนาคารพาณิชย์ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยเมื่อมีการร้องขอ ภายในระยะเวลาที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

(2.2) การจัดให้มีวาระการประชุมของคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ (Board of directors) เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานผลการตรวจสอบที่สำคัญ

ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศจัดให้มีวาระการประชุมของคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ธนาคารแห่งประเทศไทยรายงานผลการตรวจสอบที่สำคัญต่อคณะกรรมการของธนาคารพาณิชย์ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

(2.3) การจัดส่งรายงานการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในระดับกลุ่ม Solo Consolidation

ให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศจัดส่งรายงานการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในระดับกลุ่ม Solo Consolidation ตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานและการตรวจสอบกลุ่มธุรกิจทางการเงินและชุดข้อมูลตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการส่งรายงานข้อมูลต่อธนาคารแห่งประเทศไทยตามเงื่อนไขและข้อกำหนดในประกาศฉบับนี้แทน ดังนี้

(ก) ให้จัดส่งรายงานการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในระดับกลุ่ม Solo Consolidation ให้แก่ธนาคารแห่งประเทศไทยตามที่กำหนดในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์การจัดทำรายงานและการตรวจสอบกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เป็นรายเดือนภายในระยะเวลา 45 วันนับจากวันสิ้นเดือน ยกเว้นรายงานการประเมินความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยในบัญชีเพื่อการธนาคาร และรายงานการดำรงฐานะเงินตราต่างประเทศในระดับกลุ่ม Solo Consolidation ให้จัดส่งเป็นรายไตรมาส ภายในระยะเวลา 90 วัน นับจากวันสิ้นไตรมาสตามเดิม

(ข) ให้จัดส่งชุดข้อมูลการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในระดับกลุ่ม Solo Consolidation ตาม (ก) ข้างต้นที่กำหนดตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยว่าด้วยการส่งรายงานข้อมูลต่อธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นรายเดือน ภายในระยะเวลา 45 วัน นับจากวันสิ้นเดือน ยกเว้นชุดข้อมูล Provision Summary1 และชุดข้อมูล Total Trading Book Position ในระดับกลุ่ม Solo Consolidation ให้จัดส่งเป็นรายไตรมาส ภายในระยะเวลา 45 วัน นับจากวันสิ้นไตรมาส

(2.4) มาตรการอื่น ๆ ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

4.3.3 กรอบระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรการกำกับดูแลเพิ่มเติมสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

(1) ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการประกาศว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศในปี 2560 และปี 2561

(1.1) ให้เริ่มดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหายสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามข้อ 4.3.2 (1) ที่ร้อยละ 0.5 ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 และดำรงเพิ่มเป็นร้อยละ 1 ของสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้น ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2563 เป็นต้นไป โดยสรุปได้ตามตาราง ดังนี้

การดำรงเงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

อัตราส่วนเงินกองทุน                               1 ม.ค.2562           1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป
อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของขั้นต่ำ
(CET1 ratio)                                        4.5%                         4.5%
อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ขั้นต่ำ (T1 ratio)                6.0%                         6.0%
อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นขั้นต่ำ (Total capital ratio)       8.5%                         8.5%
Conservation buffer                                 2.5%                         2.5%
Countercyclical buffer                                     ตามที่ ธปท. กำหนด
Higher loss absorbency
สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ       0.5%                         1.0%
รวม CET1 ratio ที่ต้องดำรง                             7.5%                         8.0%
รวม T1 ratio ที่ต้องดำรง                               9.0%                         9.5%
รวม Total capital ratio ที่ต้องดำรง                   11.5%                        12.0%
          การดำรงเงินกองทุนของสาขาของธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ
อัตราส่วนเงินกองทุน                               1 ม.ค.2562           1 ม.ค.2563 เป็นต้นไป
อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้นขั้นต่ำ (Total capital ratio)       8.5%                         8.5%
Conservation buffer                                 2.5%                         2.5%
Countercyclical buffer                                       ตามที่ ธปท. กำหนด
Higher loss absorbency
สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ       0.5%                         1.0%
รวม Total capital ratio ที่ต้องดำรง                   11.5%                        12.0%

(1.2) ให้ปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลด้านอื่น ๆ สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามข้อ 4.3.2 (2) โดยมีผลบังคับใช้ทันที ยกเว้น การจัดส่งรายงานการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในระดับกลุ่ม Solo Consolidation ตามข้อ 4.3.2 (2.3) ให้เริ่มจัดส่งรายงานและชุดข้อมูลตามแนวทางดังกล่าวตั้งแต่งวดสิ้นเดือนมกราคม 2562 เป็นต้นไป

(2) ธนาคารพาณิชย์ที่ได้รับการประกาศว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป

(2.1) ให้ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหายสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามข้อ 4.3.2 (1) ทั้งจำนวนตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีถัดจากวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ทราบว่ามีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

(2.2) ให้ปฏิบัติตามมาตรการกำกับดูแลด้านอื่น ๆ สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศตามข้อ 4.3.2 (2) โดยมีผลบังคับใช้ทันที ยกเว้น การจัดส่งรายงานการกำกับดูแลกลุ่มธุรกิจทางการเงินในระดับกลุ่ม Solo Consolidation ตามข้อ 4.3.2

(2.3) ให้เริ่มจัดส่งรายงานและชุดข้อมูลตามแนวทางดังกล่าวตั้งแต่งวดสิ้นเดือนมกราคมของปีถัดจากวันที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ทราบว่ามีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

(3) การเลิกดำเนินการตามมาตรการกำกับดูแลสำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ

ให้ธนาคารพาณิชย์ที่เคยได้รับการประกาศว่าเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ยกเลิกการดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่มเพื่อรองรับความเสียหาย สำหรับธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Higher loss absorbency) ตามข้อ 4.3.2 (1) และไม่ต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การกำกับดูแลด้านอื่น ๆ ตามข้อ 4.3.2 (2) ได้ทันทีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศให้ธนาคารพาณิชย์ทราบว่าไม่ได้มีสถานะเป็นธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศแล้ว

5. วันเริ่มต้นบังคับใช้

ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

ประกาศ ณ วันที่ ๓๑ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๖๐

วิรไท สันติประภพ

ผู้ว่าการ

ธนาคารแห่งประเทศไทย

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๔, ตอนพิเศษ ๒๓๕ ง, หน้า ๒๖-๓๗, ๒๕ กันยายน ๒๕๖๐


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ