ค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้น ส่งผลให้ความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 3
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ของประเทศ ทั้งส่วนกลาง(กรุงเทพฯและปริมณฑล) และภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ยังอยู่ในระดับต่ำ ปัญหาที่ผู้บริโภคกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน และเศรษฐกิจทั่วไป ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมของทั้งประเทศปรับตัวลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 20.3* เป็น 18.9 แสดงให้เห็นว่าประชาชนมีความเชื่อมั่นต่อสภาวะเศรษฐกิจในระดับต่ำ โดยสะท้อนได้จากค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังคงมีความกังวลต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศ โดยเฉพาะการปรับขึ้นราคาของสินค้าหลายชนิด เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปาล์ม ซึ่งส่งผลกระทบต่อรายได้และกำลังซื้อของประชาชน ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ของปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจาก 24.9 เป็น 18.9 เนื่องจากผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับปัญหาราคาสินค้าและค่าครองชีพที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ขณะที่รายได้ในปัจจุบันไม่เพียงพอกับค่าครองชีพที่สูงขึ้น ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 12.9* เป็น 11.6 เนื่องจากประชาชนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกกังวล เกี่ยวกับสถานการณ์ความวุ่นวายในประเทศอียิปต์ และลิเบีย จะลุกลามไปสู่ประเทศอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกอยู่ในระดับสูงต่อไป
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 25.2* เป็น 23.8 เป็นผลมาจากสินค้าที่เป็นวัตถุดิบในการผลิตและน้ำมันเบนซิน มีการปรับราคาสูงขึ้น ส่งผลกระทบให้สินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพมีราคาที่สูงขึ้นตามไปด้วย
เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนกุมภาพันธ์ 2554 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 35.14 บาท เป็น 36.84 บาท ส่วนน้ำ มันดีเซล มีราคาคงตัวอยู่ที่ราคาลิตรละ 29.99 บาท
(ที่มา:บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน)
- หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
- สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 12.1 “ไม่ดี” ร้อยละ 65.3
- สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 16.4 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 50.3
- ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 5.5 “หางานยาก” ร้อยละ 67.0
- ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 6.3 “หางานยาก” ร้อยละ 62.1
- รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 17.6 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 29.4
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น (เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา) คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 14.5* เป็น 15.7 ภาคเหนือ จาก 22.2* เป็น 26.0 ภาคตะวันออก จาก 15.6* เป็น 18.0 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 20.9* เป็น 23.5 เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้รายได้และกำลังซื้อของเกษตรกรสูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้ง 9 มาตรการตามนโยบายประชาวิวัฒน์ ซึ่งได้เริ่มดำเนินโครงการบางส่วนแล้ว และนโยบายตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร ทำให้ต้นทุนการขนส่งยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก
ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคกลาง จาก 19.0* เป็น 10.4 และภาคใต้ จาก 28.3* เป็น 22.1 เนื่องจากปัญหาการชุมนุมทางการเมืองภายในประเทศ และปัญหาความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง
- หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน เศรษฐกิจทั่วไป การว่างงาน ค่าครองชีพ คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ
ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและเศรษฐกิจทั่วไป
ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ
ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาน้ำมันเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาสินค้าและค่าครองชีพ
ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ
1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นไม่ให้มีราคาสูงจนเกินไป เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปาล์ม น้ำตาล ปุ๋ยเคมี
2. ดูแลราคาสินค้าที่เป็นต้นทุนการผลิตสินค้าภาคการเกษตรไม่ให้สูงจนเกินไป
3. ปราบปรามและแก้ไขปัญหายาเสพติด ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาหนี้นอกระบบ/ ผู้มีอิทธิพลเถื่อน และปัญหาการคอรัปชั่น
4. ลดปัญหาความเลื่อมล้ำทางสังคม เพื่อให้ทุกคนมีโอกาสเท่าเทียมกัน ปรับปรุงโครงสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน
5. ดูแลสวัสดิการประกันสังคมและสวัสดิการผู้สูงอายุ/ผู้พิการให้เหมาะสมและพอเพียง รวมทั้งเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ
---------------------------------------
ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้
- ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
- ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชน นักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ
2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th