วิกฤติพิบัติภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ของประเทศ สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนแก่ประชาชน
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2554 ของประเทศ ทั้งส่วนกลาง(กรุงเทพฯและปริมณฑล) และภูมิภาคทั้ง 5 ภาค ยังอยู่ใน ระดับต่ำ ส่วนปัญหาที่ผู้บริโภคมีความกังวลมากที่สุด คือ ราคาสินค้า ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ
ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2554 ปรากฏว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมของทั้งประเทศปรับตัว ลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 29.6 เป็น 23.8*โดยค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ภายในประเทศ เนื่องจากวิกฤติพิบัติภัยน้ำท่วมครั้งใหญ่ที่สร้างความเสียหายและความเดือดร้อนแก่ประชาชนในหลายจังหวัดของภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพฯและปริมณฑล อีกทั้งส่งผลกระทบรุนแรงและสร้างความเสียหายแก่ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างมาก ค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคมของปีที่ผ่านมา ปรับตัวลดลงจาก 24.6 เป็น 23.8* เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมสร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตรของประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งกระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวลดลงจาก 17.1 เป็น 15.3* เนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำท่วมยังคงขยายพื้นที่เป็นวงกว้างและสร้างความเสียหายอย่างต่อเนื่อง ประชาชนต้องการความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนจากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 37.8 เป็น 29.5* เนื่องจากประชาชนมี ความกังวลต่อความเสียหายจากภัยพิบัติน้ำท่วมในพื้นที่หลายจังหวัดและผลกระทบที่จะตามมาในอนาคต เช่น ปัญหาการว่างงาน ปัญหาอาชญากรรมและปัญหายาเสพติด เป็นต้น รวมทั้งปัจจัยลบที่มาจากความเสี่ยงและความผันผวนจากเศรษฐกิจโลกโดยเฉพาะปัญหาหนี้สาธารณะของสหรัฐอเมริกาและยุโรป
เมื่อพิจารณาราคาน้ำมันขายปลีกภายในประเทศของเดือนตุลาคม 2554 พบว่า ราคาน้ำมันเบนซิน 91 และน้ำมันเบนซิน(แก๊สโซฮอล์ 95) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากราคาลิตรละ 35.37 บาท เป็น 36.37 บาท ส่วนน้ำมันดีเซล ราคาทรงตัวอยู่ที่ราคาลิตรละ 27.99 บาท ( ที่มา:บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) )
- หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
- สถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันผู้บริโภครู้สึกว่า “ดีขึ้น” ร้อยละ 14.6 “ไม่ดี” ร้อยละ 64.0
- สถานการณ์เศรษฐกิจในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 20.8 “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 49.8
- ภาวการณ์หางานทำในปัจจุบันประเมินว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 8.8 “หางานยาก” ร้อยละ 64.6
- ภาวการณ์หางานทำในอนาคตคาดว่า “หางานง่าย” ร้อยละ 8.3 “หางานยาก” ร้อยละ 60.8
- รายได้ในอนาคต “คาดว่าจะดีขึ้น” ร้อยละ 24.2 และ “คาดว่าจะไม่ดี” ร้อยละ 27.1
ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2554 เทียบกับเดือนกันยายน 2554 มีภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ ภาคตะวันออก จาก 17.7 เป็น 22.2* ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 26.7 เป็น 18.8* ภาคกลาง จาก 22.3 เป็น 11.9* ภาคเหนือ จาก 32.7 เป็น 27.7* ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 39.6 เป็น 37.2* และภาคใต้ จาก 29.2 เป็น 20.1* อย่างไรก็ตาม ค่าดัชนีที่ต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนในทุกภาคยังขาดความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจซึ่งมีผลต่อการบริโภคโดยรวมของประเทศ เนื่องจากภัยพิบัติน้ำท่วมในหลายภาคของประเทศได้สร้างความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตรของประชาชน ภาคอุตสาหกรรม ภาคการท่องเที่ยว รวมทั้งกระทบต่อการจ้างงานและเศรษฐกิจของประเทศส่งผลให้ประชาชนจำนวนมากได้รับความเดือดร้อน
- หมายเหตุ : การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะมีการปรับปรุงข้อมูลย้อนหลังทุกเดือน ซึ่งจะรายงานในเดือนถัดไป
ผู้บริโภคในทุกพื้นที่ ต้องการให้แก้ไขปัญหา ราคาสินค้า ราคาน้ำมัน ค่าครองชีพ เศรษฐกิจทั่วไป การว่างงาน คอรัปชั่น และยาเสพติด ตามลำดับ เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาดังนี้
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ
ภาคกลาง ต้องการให้แก้ไขปัญหาค่าครองชีพเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและราคาสินค้า
ภาคเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมา คือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ
ภาคตะวันออก ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ
ภาคใต้ ต้องการให้แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ
1. ดูแลปัญหาราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าครองชีพที่สูงขึ้น รวมทั้งปัญหาค่าแรงขั้นต่ำ
2. แก้ไขปัญหาน้ำท่วมอย่างเร่งด่วนและวางแผนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในระยะยาว รวมทั้งจัดทำยุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศอย่างเป็นรูปธรรม
3. เร่งช่วยเหลือและเยียวยารวมทั้งฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ประสบภัยน้ำท่วม
4. ปราบปรามการทุจริต/คอรัปชั่น แก้ไขปัญหาทางด้านสังคม ยาเสพติดและอาชญากรรม โดยรัฐบาลควรปราบปรามอย่างจริงจัง เพื่อความมั่นคงของประเทศและความปลอดภัยของประชาชน
5. ประชาชนต้องการให้รัฐบาลดำเนินนโยบายและโครงการต่างๆอย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม อีกทั้งดูแลสวัสดิการประกันสังคม และสวัสดิการผู้สูงอายุ/ผู้พิการให้เหมาะสมและพอเพียง รวมทั้งเพิ่มเบี้ยยังชีพให้กับผู้สูงอายุ
6. สร้างงานสร้างอาชีพให้กับประชาชนรวมทั้งพัฒนาฝีมือแรงงานให้สอดคล้องกับภาวะตลาดแรงงานในปัจจุบัน
7. ดูแลราคาสินค้าทางการเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ และสนับสนุนผู้ประกอบการรายย่อยให้สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้
---------------------------------------
ระดับของค่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค จะมีค่าอยู่ระหว่าง 0-100 โดยมีเกณฑ์การอ่านค่า ดังนี้
- ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 100 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ดี”
- ดัชนีมีค่า เข้าใกล้ 0 หมายถึง ความเชื่อมั่นผู้บริโภคต่อภาวะเศรษฐกิจ “ไม่ดี”
1. การจัดทำดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสะท้อนอำนาจการซื้อของประชาชนในประเทศ ซึ่งพิจารณาจากรายได้ที่แต่ละบุคคลได้รับ โดยใช้หลักการแบ่งกลุ่มอาชีพเป็นการกำหนดรายได้ของประชากรซึ่งใช้ข้อมูลพื้นฐานของสำนักงานสถิติแห่งชาติ โดยแบ่งเป็น 7 กลุ่มอาชีพดังนี้ ผู้ที่ไม่ได้ทำงาน กำลังศึกษา เกษตรกร รับจ้างรายวัน/รับจ้าง พนักงานเอกชน นักธุรกิจ และข้าราชการ/รัฐวิสาหกิจ
2. การนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อสะท้อนให้เห็นอำนาจซื้อที่เกิดขึ้นจริงของประชาชนในแต่ละช่วงเวลา ใช้เป็นสัญญาณเตือนภัยล่วงหน้า สำหรับเป็นแนวทางในการวางแผนและนโยบายเศรษฐกิจของภาครัฐและเอกชน
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ โทร.0-2507-6553 Fax.0-2507-5806 www.price.moc.go.th