ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวลงเป็นครั้งแรกในรอบ 9 เดือน เนื่องจาก ประชาชนยังมีความกังวลต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึน อีกทั้งภาระหนี้สินทางครัวเรือน ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคลดลง
ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2555 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,214 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวลดลง เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 36.6 เป็น 35.4 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวลดลงจาก 44.1 เป็น 42.0 เช่นกันเนื่องจาก ประชาชนยังมีความกังวลต่อภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น อีกทั้งภาระหนี้สินทางครัวเรือน ส่งผลให้กำลังซื้อและการบริโภคลดลง ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 25.1 เป็น 25.4 ซึ่งเป็นผลมาจากความต่อเนื่องของนโยบายภาครัฐในการเพิ่มรายได้และลดรายจ่ายของประชาชน ผ่านโครงการต่างๆ รวมทั้งการขยายตัวของภาคการท่องเทียวในช่วงเทศกาลปีใหม่ ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก
นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนมีความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ลดลง ส่งผลให้การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่ทั้งนี้ค่าดัชนีทั้งสองด้านยังสูงกว่าที่ระดับ 50 แสดงว่าประชาชนยังมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ ส่วนด้านการวางแผนซื้อรถยนต์ในอนาคตและการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลง เนื่องจาก มาตรการรถคันแรกที่จะหมดเขตในวันที่ 31 ธันวาคม 2555 ประกอบกับการระมัดระวังการใช้จ่ายของประชาชน
อย่างไรก็ตามผลจากการสำรวจความคิดเห็น พบว่า ประชาชนยังให้ความสำคัญในเรื่องค่าครองชีพและปากท้องเป็นอันดับแรกในด้านเศรษฐกิจ และปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นและยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาอันดับแรกด้านสังคม
โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ
1. ควบคุมราคาสินค้าที่มีแนวโน้มสูงขึ้น รวมทั้งดูแลราคาน้ำมันให้อยู่ในระดับที่สมดุล
2. แก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน โดยเฉพาะในชนบทและผู้มีรายได้น้อย
3. สร้างความเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนและผู้บริโภค
4. หามาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการรายเล็ก ที่ได้รับผลกระทบจากการปรับขึ้นค่าแรง 300 บาท
5. เร่งการใช้จ่ายงบประมาณของภาครัฐเพื่อช่วยขับเคลือนเศรษฐกิจภายในประเทศ เร่งพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภค
โดยเฉพาะระบบขนส่ง
1. แก้ไขปัญหาการคอรัปชั่นและปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน
2. แก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
3. แก้ไขปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะผู้ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี
4. บริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพ แก้ไขปัญหาภัยแล้ง ที่ปัจจุบันสร้างความเสียให้กับพื้นที่เพาะปลูกเป็นจำนวนมาก
5. ดูแลราคาสินค้าเกษตรไม่ให้มีราคาตกต่ำ เพื่อให้เกษตรกรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
---------------------------------------
ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์
โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825