รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday April 1, 2013 14:14 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับตัวเพิ่มขึ้น เนื่องจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งยังส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมีนาคม 2556 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,185 คน ทุกจังหวัดทั้งประเทศ พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 32.4 เป็น 37.9 ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 24.2 เป็น 32.2 และดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือน) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 37.9 เป็น 41.8 เนื่องจาก นโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ประชาชนมีรายได้เพิ่มขึ้นทั้งยังส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ทั้งนี้ประชาชนยังมีความกังวลเกี่ยวกับค่าครองชีพที่เพิ่มสูงขึ้น อีกทั้งหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง รวมทั้งปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกและการแข็งค่าขึ้นของเงินบาท ทั้งนี้ ค่าดัชนี ทุกรายการยังต่ำกว่าเส้น 50 สะท้อนให้เห็นว่าระดับความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก

นอกจากนี้ พบว่า ประชาชนมีความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ลดลง ส่งผลให้ดัชนีด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันปรับตัวลดลง แต่ทั้งนี้ดัชนีมีค่าสูงกว่าระดับ 50 แสดงว่าประชาชนยังมีการใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง ส่วนการวางแผนซื้อรถยนต์และการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆใน 6 เดือนข้างหน้าปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ ค่าดัชนีของการซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 แสดงว่า ประชาชนมีการใช้จ่ายอย่างระมัดระวังมากขึ้นและซื้อสินค้าประเภทดังกล่าวเท่าที่จำเป็นหรือเพื่อทดแทนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามผลจากการสำรวจความคิดเห็น พบว่า ประชาชนยังให้ความสำคัญในเรื่องค่าครองชีพและปากท้องเป็นอันดับแรกในด้านเศรษฐกิจ และปัญหาเรื่องการคอรัปชั่นและยาเสพติด ซึ่งเป็นปัญหาอันดับแรกด้านสังคม

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมีนาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคที่มีการปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 32.7 เป็น 37.0 ภาคกลาง จาก 38.2 เป็น 41.9 ภาคเหนือ จาก 30.0 เป็น 36.9 ภาคตะวันออก จาก 14.8 เป็น 31.6 และภาคใต้ จาก 16.4 เป็น 32.2 ส่วนภูมิภาคที่ปรับตัวลดลง คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 45.7 เป็น 43.7 ทั้งนี้ค่าดัชนีในแต่ละภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจาก ประชาชนรู้สึกว่าสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นและค่าครองชีพสูงขึ้น หนี้สินภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นแต่เงินออมลดลง อีกทั้งหลายพื้นที่ประสบปัญหาภัยแล้ง ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนน้ำดื่มน้ำใช้ พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย ส่วนภาคเหนือได้รับผลกระทบจากปัญหาหมอกควัน

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

                                                                                       หน่วย:ร้อยละ
     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ    การว่างงาน     เศรษฐกิจทั่วไป      คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             17.5       16.2        13.6         10.9            10.7         7.8         7.4
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        17.8       15.3        13.7         10.7            10.6         9.2         9.1
ภาคกลาง               15.0       14.4        12.8         11.1             9.8         7.9         7.4
ภาคเหนือ               19.0       18.7        13.6         10.9            11.9         6.4         5.2
ภาคตะวันออก            16.7       17.1        15.8         11.3             9.6         9.1         6.5
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    19.7       17.8        14.7          9.9             9.8         7.1         8.4
ภาคใต้                 16.5       14.4        12.3         11.7            12.1         7.8         6.9

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ปัญหาเรื่องปากท้องของประชาชน ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม

2. สร้างความมีเสถียรภาพทางการเมือง ลดความขัดแย้ง สร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน

3. ส่งเสริมเศรษฐกิจพอเพียงในทุกชุมชน

ด้านสังคม

1. ปัญหาการคอรัปชั่น สร้างความโปร่งใสในทุกระดับของระบบราชการ

2. แก้ไขปัญหายาเสพติดอย่างเร่งด่วน

3. แก้ไขปัญหาความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อให้ประชาชนรู้สึกปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

4. แก้ไขปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือน

5. ปัญหาภัยแล้ง โดยบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

6. แก้ไขราคาสินค้าเกษตรที่มีราคาตกต่ำ ดูแลต้นทุนปัจจัยการผลิต เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้ที่ดีขึ้น

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ