รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2556

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday November 4, 2013 14:57 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคปรับเพิ่มขึ้น เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่เริ่มคลี่คลาย

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2556 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ จำนวน 3,227 คน ทุกจังหวัด พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯโดยรวมปรับตัวเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา จาก 34.9 เป็น 36.2 อีกทั้งดัชนีความเชื่อมั่นฯ ต่อสถานการณ์ปัจจุบันปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 27.6 เป็น 29.0 และดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 39.7 เป็น 41.0 ค่าดัชนีเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา เนื่องจากสถานการณ์น้ำท่วมคลี่คลายในหลายพื้นที่ นอกจากนี้ในเดือนตุลาคมเป็นช่วงเข้าสู่ฤดูท่องเที่ยวมีเทศกาลกินเจและ วันออกพรรษา การจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น และมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของรัฐบาลที่ประกาศ ขยายเวลารถเมล์ รถไฟฟรีต่อไปอีก 6 เดือน รวมทั้ง ปัจจัยบวกเรื่องการขยายเพดานหนี้ของสหรัฐอเมริกาที่ส่งผลดีทางจิตวิทยาต่อภาวะเศรษฐกิจไทย

ทั้งนี้ประชาชนมีความคาดหวังว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯและยุโรปจะมีการฟื้นตัวในอนาคต อย่างไรก็ตามค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าความเชื่อมั่นของประชาชนยังไม่สูงมากนัก เนื่องจากบางพื้นของประเทศที่ยังมีน้ำท่วมขัง ภาคการเกษตรได้รับ ความเสียหาย ราคาก๊าชหุงต้มปรับเพิ่มขึ้นเป็นเดือนที่สาม ตัวเลขการออมของภาคครัวเรือนลดลง มีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมทั้งความไม่แน่นอนของสถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ

อีกทั้ง ระดับความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) ปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นปัจจัยบวกต่อการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบันและการวางแผนซื้อรถยนต์/เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆในอนาคต (6 เดือนข้างหน้า) ทุกรายการปรับเพิ่มขึ้น เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาสะท้อนให้เห็นว่าเมื่อภาคการท่องเที่ยวดีขึ้น ก็ส่งผลให้เกิดการกระจายรายได้และการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้น

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2556 เมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา พบว่าภูมิภาคที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 38.6 เป็น 39.2 ภาคกลาง จาก 35.9 เป็น 36.7 ภาคเหนือ จาก 33.1 เป็น 36.2 ภาคตะวันออก จาก 30.9 เป็น 35.6 และภาคใต้ จาก 26.3 เป็น 28.2 ส่วนภูมิภาคที่มี การปรับตัวลดลง คือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 39.7 เป็น 39.1 ทั้งนี้ค่าดัชนีทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าค่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากหลายพื้นที่ยังประสบปัญหาน้ำท่วมขังอยู่ แม้ว่าในหลายพื้นที่สถานการณ์เริ่มคลี่คลายบ้างแล้ว ส่งผลให้ประชาชนได้รับความเดือดร้อน ภาคการเกษตรได้รับความเสียหาย ราคายางพาราตกต่ำทำให้เกษตรกรไม่พอใจและมีการเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาดูแล อีกทั้งปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ยังมีเหตุการณ์ความรุนแรงรายวัน กระทบต่อความเชื่อมั่นและเป็นอยู่ของประชาชนรวมทั้งเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดังกล่าว

ปัญหาต่างๆที่ ผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไข พิจารณาตามสัดส่วน ดังนี้

หน่วย : ร้อยละ

     พื้นที่          ราคาสินค้า   ราคาน้ำมัน    ค่าครองชีพ     เศรษฐกิจทั่วไป    การว่างงาน     คอรัปชั่น     ยาเสพติด
ประเทศไทย             16.7       14.6        13.3            11.8         10.4        7.8         7.1
กรุงเทพฯ/ปริมณฑล        17.3       11.4        12.6            10.8         11.3        9.0        10.8
ภาคกลาง               14.1       14.9        13.3            12.0         11.5        7.5        12.0
ภาคเหนือ               17.5       17.2        13.6            13.7          9.9        5.3         5.2
ภาคตะวันออก            19.3       17.5        12.4             9.7          8.3        8.2         7.4
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ    17.0       15.4        14.9            11.3          9.3        8.0         5.8
ภาคใต้                 16.4       13.8        12.2            12.0         10.6        8.4         7.4

โดยภาพรวมผู้บริโภคต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหา ราคาสินค้าเป็นอันดับแรก รองลงมาคือ ราคาน้ำมันและค่าครองชีพ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคและค่าครองชีพของประชาชน

2. หามาตรการส่งเสริมธุรกิจ SMEs รวมทั้งสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุน

3. ส่งเสริม/สนับสนุนงบประมาณเพื่อขับเคลื่อนภาคการเกษตรและการส่งออก จัดหาตลาดการส่งออกเพื่อแก้ไขปัญหา

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำและล้นตลาด พร้อมทั้งช่วยยกระดับราคาสินค้าเกษตร

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริต คอรัปชั่น และยาเสพติดที่มีการระบาดอย่างหนักอย่างจริงจัง

2. แก้ไขปัญหาทางสังคม ความยากจน หนี้สินภาคครัวเรือนและภาคเกษตร

3. สร้างเสถียรภาพ ความมั่นคงและลดความขัดแย้งทางการเมือง

4. ศึกษา/วางแผนการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด

5. ปรับปรุง/พัฒนาระบบการศึกษาของประเทศอย่างจริงจัง

---------------------------------------

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ