รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Friday August 14, 2015 13:34 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2558

ภาวะภัยแล้งส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภค

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนกรกฎาคม 2558 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,382 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 33.7 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนมิถุนายน 2558 ที่มีค่า 38.9 ดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 27.5 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 32.5 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 37.8 ปรับลดลงเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 43.2 โดยค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศยังมีความเปราะบาง การส่งออกที่ลดลง จากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง ภาวะภัยแล้งที่ขยายวงกว้างและสร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชน บางพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหาย เกษตรกรหลายจังหวัดต้องงดทำการเกษตรเพื่อบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อการบริโภค ส่งผลให้รายได้และกำลังซื้อในประเทศลดลง ทั้งนี้ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งให้ความช่วยเหลือประชาชนโดยเฉพาะเกษตรกรและผู้ที่มีรายได้น้อย เช่นมาตรการ พักชำระหนี้เกษตรกร มาตรการจ้างงานเพื่อให้เกษตรกรในพื้นที่มีรายได้ มาตรการลดค่าครองชีพประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ได้แก่ โครงการธงฟ้าเคลื่อนที่สู่ชุมชน เป็นต้น

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 43.5 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา อีกทั้งยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) รวมทั้ง ตัวเลขการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง จากการที่ราคาสินค้าภาคการเกษตรยังคงหดตัวต่อเนื่อง ปัญหาภัยแล้ง หนี้ภาคครัวเรือนยังอยู่ในระดับสูง ประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยระมัดระวังการใช้จ่ายเพื่อหลีกเลี่ยงการก่อหนี้เพิ่ม ส่วนประชาชนที่มีรายได้ปานกลางไม่แน่ใจในภาวะเศรษฐกิจในอนาคตจึงชะลอการใช้จ่ายออกไปก่อนเพื่อรอดูทิศทางเศรษฐกิจ

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               ม.ค.58   ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     43.3     42.4     40.0      38.8     38.9     38.9     33.7

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                            ม.ค.58   ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     38.7     36.8     34.1      32.5     32.6     32.5     27.5
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     46.5     46.1     44.0      42.9     43.1     43.2     37.8

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                            ม.ค.58   ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)         50.4     50.9     49.5      47.0     47.3     47.8     43.5

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                    ม.ค.58   ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    27.6     27.5     25.6      24.2     26.1     26.2     22.1
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     32.0     31.8     30.6      31.6     31.7     31.4     26.8

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                    ม.ค.58   ก.พ.58   มี.ค.58   เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน         60.0     62.4     61.7      59.8     58.5     59.0     56.3
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า          15.2     13.0     14.6      14.6     15.3     16.4     14.0
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ    21.4     19.0     22.0      19.8     20.2     20.7     20.2
(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนกรกฎาคม 2558 ทุกภาคปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาคือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 41.6 เป็น 34.1 ภาคกลาง จาก 41.1 เป็น 39.4 ภาคเหนือ จาก 41.2 เป็น 37.5 ภาคตะวันออก จาก 30.1 เป็น 24.2 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 41.9 เป็น 36.9 และภาคใต้จาก 30.2 เป็น 23.1 โดยค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ในระดับที่ต่ำกว่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ขยายวงกว้าง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนบางพื้นที่ขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค พืชผลทางการเกษตรได้รับความเสียหายและไม่สามารถเพาะปลูกได้ อีกทั้งความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีการลอบวางระเบิดในชุมชน สร้างความสูญเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน เจ้าหน้าที่ทหาร ตำรวจและพระภิกษุ

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน ดูแลราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพ

2. ดูแลค่าครองชีพที่กระทบต่อประชาชนที่มีรายได้น้อย ลูกจ้างและเกษตรกร

3. หามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ และการจับจ่ายใช้สอยของประชาชน

4. ลดขั้นตอนระบบราชการเพิ่มความรวดเร็วในการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ

5. กระตุ้นการท่องเที่ยว กระจายความเจริญสู่ชนบท

6. ดูแลรายได้ของเกษตรกร แก้ไขปัญหาราคาปุ๋ยแพงแต่ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำโดยเฉพาะราคาข้าว ยางพารา และปาล์มน้ำมัน

7. เร่งสร้างความเชื่อมั่นและส่งเสริมการลงทุนในระยะยาวให้กับภาคเอกชน

8. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทยในเวทีโลก

9. แก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจในระยะยาว

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่นอย่างจริงจังเพื่อให้ประเทศพัฒนา

2. แก้ไขปัญหายาเสพติดเพื่อลดการเกิดปัญหาอาชญากรรม

3. แก้ไขปัญหาความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4. สร้างงานสร้างรายได้ให้กับผู้ว่างงาน แก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือนและหนี้นอกระบบของคนรายได้น้อย

5. วางระบบแก้ไขปัญหาภัยแล้งควบคู่ไปกับการบริหารจัดการน้ำ

6. เข้าถึงประชาชนให้มากกว่าที่เป็นอยู่เพื่อจะได้ทราบความเดือดร้อนของประชาชนอย่างแท้จริง

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ