รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 10, 2015 16:36 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนตุลาคม 2558

ผู้บริโภคมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้งและหนี้ภาคครัวเรือน

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนตุลาคม 2558 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,390 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 36.2 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนกันยายน 2558 ที่มีค่า 35.4 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 42.0 ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 40.0 แต่ค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 27.7 ปรับลดลงเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 28.4 ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ แต่เริ่มมีความหวังว่าเศรษฐกิจในอนาคตจะปรับตัวดีขึ้นจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลผ่านมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระดับชุมชุน การช่วยเหลือเยียวยาเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง และมาตรการกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์ ที่จะช่วยให้ธุรกิจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องมีทิศทางการฟื้นตัว ทั้งยังมีปัจจัยบวกจากการที่ราคาน้ำมันขายปลีกลดลงหลายรายการ กรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มีมติ ปรับลดค่าไฟฟ้าขายปลีกเฉลี่ยของงวดเดือนพฤศจิกายน - ธันวาคม 2558 ลง 1.05 สตางค์ต่อหน่วยที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพของประชาชนได้ ทั้งนี้ในเดือนตุลาคมเริ่มเข้าสู่ฤดูกาลการท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อรายได้ของประชาชนในท้องถิ่น แต่โดยภาพรวมยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ปัญหาหมอกควันในภาคใต้ที่เกิดจากปัญหาไฟป่าในอินโดนีเซีย อีกทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 48.3 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 จากที่ปรับลดลงไปเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ทั้งนี้ค่าดัชนียังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต ส่วนการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบัน จึงระมัดระวังการใช้จ่ายที่อาจจะก่อให้เกิดหนี้ที่ไม่จำเป็น

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ               เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม      38.8     38.9     38.9     33.7     34.6     35.4     36.2

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)

รายการ                            เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน      32.5     32.6     32.5     27.5     28.5     28.4     27.7
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต      42.9     43.1     43.2     37.8     38.7     40.0     42.0

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                        เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)      47.0     47.3     47.8     43.5     44.9     45.9     48.3

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                     เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน      24.2     26.1     26.2     22.1     21.5     22.3     21.4
โอกาสในการหางานทำในอนาคต      31.6     31.7     31.4     26.8     25.9     27.5     27.6
(3 เดือนข้างหน้า)

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                     เม.ย.58   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน           59.8     58.5     59.0     56.3     58.9     52.9     53.8
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า            14.6     15.3     16.4     14.0     13.4     12.7     13.0
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ      19.8     20.2     20.7     20.2     19.3     19.7     19.7
(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนตุลาคม 2558 ภาคที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 36.2 เป็น 37.3 ภาคกลาง จาก 40.4 เป็น 41.0 ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 40.1 เป็น 40.5 และภาคใต้จาก 21.4 เป็น 30.2 ส่วนภาคที่ปรับลดลง คือ ภาคเหนือ จาก 36.3 เป็น 34.2 และภาคตะวันออก จาก 35.1 เป็น 30.4 โดยค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ในระดับ ต่ำกว่า 50 แสดงว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ จากความกังวลที่มีต่อปัญหาภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อภาคการเกษตรและอาจต่อเนื่องยาวนานไปถึงปี 2559 ทั้งยังอาจส่งผลให้เกษตรกร มีรายได้ลดลง ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ซึ่งล้วนเป็นปัจจัยลบที่จะส่งผลต่อการบริโภคและการจับจ่ายใช้สอย รวมทั้ง สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพ ราคาสินค้าอุปโภคและบริโภคของประชาชน

2. กระตุ้นการท่องเที่ยวและส่งเสริมการลงทุน

3. กระตุ้นกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ

4. ช่วยเหลือเกษตรกร เพิ่มราคาผลผลิตทางการเกษตรเพื่อไม่ให้มีราคาตกต่ำ เช่น ยางพาราและปาล์มน้ำมัน พร้อมหาตลาดในประเทศและต่างประเทศเพื่อรองรับสินค้าภาคการเกษตร

5. เร่งผลักดันการลงทุนและกระตุ้นให้มีเม็ดเงินกระจายสู่ภาคประชาชน

6. สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

ด้านสังคม

1. จัดระเบียบสังคม ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น มีบทลงโทษที่ชัดเจน

2. แก้ไขปัญหายาเสพติด ดูแลให้ครอบคลุมทุกหมู่บ้านและชุมชนต่างๆ เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม

3. ดูแลรักษาความสงบภายในประเทศ แก้ไขปัญหาความรุนแรงและความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

4. ปรับโครงสร้างค่าแรงขั้นต่ำให้สอดคล้องกับค่าครองชีพ

5. สร้างงาน กระจายรายได้ ช่วยเหลือเงินทุนหมุนเวียน รวมทั้ง ส่งเสริมการท่องเที่ยวในชุมชุนต่างๆ

6. แก้ไขปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม ดูแลความเป็นอยู่และสิทธิการรักษาพยาบาล ของประชาชนในชุมชุนต่างๆให้ดียิ่งขึ้น

7. เร่งหามาตรการรับมือกับวิกฤติภัยแล้ง พร้อมแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำเพื่อการเกษตร

8. ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีคุณภาพเพื่อรองรับการเข้าสู่ประชาคมอาเซียน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ