รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 9, 2015 11:16 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนพฤศจิกายน 2558

มีสัญญาณการฟื้นตัวเล็กน้อย แต่ภาพรวมประชาชนยังมีความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจและปัญหาภัยแล้ง

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2558 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,541 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 37.6 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนตุลาคม 2558 ที่มีค่า 36.2 โดยปรับเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ส่วนดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 29.6 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมาที่มีค่า 27.7 รวมทั้ง ค่าดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 42.9 ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 42.0 แต่ทั้งนี้ ค่าดัชนีทุกรายการยังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชน ยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ ทั้งยังกังวลเกี่ยวกับปัญหาภัยแล้ง แม้ว่าจะเริ่มมีสัญญาณบวกของเศรษฐกิจในประเทศ โดยมีปัจจัยเสริมจากการที่ราคาน้ำมันขายปลีกปรับลดลงหลายรายการและมีแนวโน้มอยู่ในระดับต่ำมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวที่ช่วยสนับสนุนการขยายตัว ทางเศรษฐกิจ อีกทั้ง คณะรัฐมนตรีมีมติให้ขยายมาตรการ รถไฟ-รถเมล์ฟรี ออกไปอีก 6 เดือน (ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 58 - 30 เม.ย. 59) มาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่โดยภาพรวมยังมีปัจจัยเสี่ยงจากการที่เศรษฐกิจโลกยังคงเปราะบาง ปัญหาภัยแล้ง ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาหนี้ภาคครัวเรือน หลายจังหวัดในภาคใต้ประสบปัญหาฝนตกหนักและน้ำท่วม ประชาชนได้รับความเดือดร้อน อีกทั้งสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 49.2 ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 แต่ทั้งนี้ค่าดัชนียังต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าผู้บริโภคยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อรายได้ในอนาคต แต่ก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น ส่วนการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังคงอยู่ในระดับที่ไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง เพราะยังไม่มั่นใจในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาเศรษฐกิจโลก ภัยธรรมชาติ ทั้งภัยแล้งและน้ำท่วม ที่ส่งผลให้ภาคการเกษตรมีต้นทุนที่สูงขึ้นแต่รายได้ลดลง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index

รายการ               พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     38.9     38.9     33.7     34.6     35.4     36.2     37.6

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)

รายการ                            พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     32.6     32.5     27.5     28.5     28.4     27.7     29.6
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     43.1     43.2     37.8     38.7     40.0     42.0     42.9

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                        พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     47.3     47.8     43.5     44.9     45.9     48.3     49.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                    พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    26.1     26.2     22.1     21.5     22.3     21.4     23.8
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     31.7     31.4     26.8     25.9     27.5     27.6     29.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ

รายการ                                   พ.ค.58   มิ.ย.58   ก.ค.58   ส.ค.58   ก.ย.58   ต.ค.58   พ.ย.58
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        58.5     59.0     56.3     58.9     52.9     53.8     54.4
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         15.3     16.4     14.0     13.4     12.7     13.0     13.0
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       20.2     20.7     20.2     19.3     19.7     19.7     20.6
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค

เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนพฤศจิกายน 2558 ภาคที่ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา คือ กรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 37.3 เป็น 41.1 ภาคเหนือ จาก 34.2 เป็น 38.4 ภาคตะวันออก จาก 30.4 เป็น 31.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จาก 40.5 เป็น 42.2 ส่วนภาคที่ปรับลดลง คือ ภาคกลาง จาก 41.0 เป็น 39.4 และภาคใต้จาก 30.2 เป็น 25.7 โดยค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่มีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากปัญหาภัยแล้งเริ่มเข้าสู่ภาวะวิกฤตประชาชนในหลายพื้นที่ได้รับผลกระทบน้ำไม่เพียงพอต่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อการเกษตร ภาคใต้ มีหลายพื้นที่ประสบปัญหาฝนตกหนักและน้ำท่วม ประชาชนได้รับความเดือดร้อน รวมทั้ง สถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่สร้างความเสียแก่ชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ดูแลปัญหาปากท้อง ค่าครองชีพและภาระหนี้สินของประชาชน

2. กระตุ้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจเพื่อให้ประชาชนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น

3. เร่งผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เร่งเบิกจ่ายเงินโครงการต่างๆให้เร็วขึ้น

4. ดูแลเงินทุนหมุนเวียนและแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร รวมทั้งดูแลราคาผลผลิตทางการเกษตรให้มีราคาดีขึ้น

5. สนับสนุนผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรายย่อยต่างๆ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน

6. เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าและพัฒนาสินค้าส่งออก

7. วางแผนนโยบายระยะยาวให้ชัดเจนเพื่อสร้างความมั่นใจให้นักลงทุน

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น สร้างความโปร่งใสและความถูกต้องในสังคม

2. แก้ไขปัญหายาเสพติด เพื่อลดปัญหาอาชญากรรม

3. ปรับปรุงระบบการศึกษาให้มีคุณภาพ

4. ยกระดับและพัฒนาชุมชน สร้างถนนและสาธารณูปโภคอื่นๆ ที่จำเป็น พร้อมทั้งดูแลความเป็นอยู่และ สิทธิการรักษาพยาบาล

5. สนับสนุนการใช้พลังงานแสงอาทิตย์

6. บริหารจัดการทรัพยากรภาคเกษตรกรรม เตรียมรับมือกับสถานการณ์ภัยแล้ง

7. ปรับโครงสร้าง/เพิ่มประสิทธิภาพระบบราชการ

8. ดูแลประโยชน์ของประเทศเมื่อเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ