ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนธันวาคม 2558 และปี 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 4, 2016 15:02 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

กระทรวงพาณิชย์ ขอรายงานความเคลื่อนไหวดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศ ปีฐาน 2555 = 100 ในรูปเงินเหรียญสหรัฐ เดือนธันวาคม 2558 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.6 และดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 2.1

ดัชนีราคาส่งออกเดือนธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าปรับตัวลดลงร้อยละ 0.6 สาเหตุหลักเป็นผลมาจากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.6 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงเท่ากันร้อยละ 0.2 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 6.4 โดยสินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว น้ำตาลทราย จากปริมาณผลผลิตส่วนเกินในตลาดที่ยังอยู่ในระดับสูง ขณะที่ความต้องการสั่งซื้อจากประเทศคู่ค้าสำคัญชะลอตัว เช่นเดียวกับราคาน้ำมันสำเร็จรูป ที่ยังคงปรับตัวลดลงตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลก นอกจากนี้ สินค้าอื่นๆที่ราคาลดลง ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์ยาง ลดลงตามราคาวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องที่ปรับตัวลดลง ทองคำลดลงจากการคาดการณ์การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและยุโรป ทำให้การถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมีความน่าสนใจลดลง

ดัชนีราคานำเข้าเดือนธันวาคม 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 2.1 เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยหมวดสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 8.9 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 0.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 0.9 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งลดลงร้อยละ 1.0 สินค้าสำคัญที่ส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลงนั้นเป็นสินค้าในหมวดเชื้อเพลิงเป็นหลัก ได้แก่ น้ำมันดิบและน้ำมันสำเร็จรูป ซึ่งราคานำเข้าปรับลดลงอย่างมากตามสถานการณ์ในตลาดโลก นอกจากนี้ ยังมีสินค้ากลุ่มเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะและทองคำ ที่ราคาปรับลดลง เนื่องมาจากสถานการณ์ในตลาดโลกของสินค้าเหล่านี้ยังคงเผชิญกับภาวะอุปทานล้นตลาด ขณะที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัว และค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นยังเป็นอีกปัจจัยสำคัญหนึ่งที่กดดันราคาสินค้า

1. ดัชนีราคาส่งออก

1.1 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนธันวาคม 2558

ปี 2555 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 94.7และเดือนพฤศจิกายน 2558 เท่ากับ 95.3

1.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคาส่งออกของประเทศ เดือนธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับ

เดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 0.6

เดือนธันวาคม 2557 ลดลงร้อยละ 2.7

เฉลี่ยมกราคม-ธันวาคม 2558 เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2557 ลดลงร้อยละ 2.3

1.3 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนธันวาคม 2558 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ดัชนีราคาลดลงร้อยละ 0.6 (เดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 0.3) เป็นผลจากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 1.6 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 0.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 0.2 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 6.4

หมวดสินค้าที่ราคาส่งออกปรับลดลง

หมวดสินค้าเกษตรกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 1.6 (เดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 1.8) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า          ร้อยละ (ธ.ค.58/พ.ย.58)
ยางพารา                    - 1.3
ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง            - 4.3
ข้าว                        - 1.9
ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง            - 1.6

สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ สินค้ากสิกรรมลดลงร้อยละ 1.9 (ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ข้าว) เนื่องจากปริมาณการผลิตออกสู่ตลาดมาก และความต้องการสินค้าชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจโลก สินค้าปศุสัตว์ลดลงร้อยละ 1.3 (ไก่สดแช่เย็น แช่แข็ง)

หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.2 (เดือนพฤศจิกายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 0.6) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า           ร้อยละ (ธ.ค.58/พ.ย.58)
น้ำตาลทราย                   - 0.8
ผักกระป๋องและแปรรูป            - 0.6
อาหารสัตว์เลี้ยง                - 0.8

สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ น้ำตาลทรายลดลงร้อยละ 0.8 เนื่องจากสภาพอากาศฝนตกน้อยลงสนับสนุนให้มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตได้มากขึ้น ผักกระป๋องและแปรรูปลดลงร้อยละ 0.6 และอาหารสัตว์เลี้ยงลดลงร้อยละ 0.8

หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 0.2 (เดือนพฤศจิกายน 2558 ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า          ร้อยละ (ธ.ค.58/พ.ย.58)
เอทิลีน                    - 3.1
โพรพิลีน                   - 2.7
ไวนิลคลอไรด์               - 2.6
เคมีภัณฑ์อินทรีย์              - 1.5
ทองคำ                    - 1.3
ผลิตภัณฑ์ยาง                - 0.1

สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ได้แก่ เม็ดพลาสติกลดลงร้อยละ 1.7 (เอทิลีน โพรพิลีน ไวนิลคลอไรด์) เคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ 1.2 (เคมีภัณฑ์อินทรีย์) ทองคำลดลงร้อยละ 1.3 เป็นผลจากการคาดการณ์การผ่อนคลายนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่นและยุโรป ทำให้การถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยอย่างทองคำมีความน่าสนใจลดลง และผลิตภัณฑ์ยางลดลงร้อยละ 0.1

หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 6.4 (เดือนพฤศจิกายน 2558 สูงขึ้นร้อยละ 2.7) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง ดังนี้

รายการสินค้า ร้อยละ (ธ.ค.58/พ.ย.58)
น้ำมันเบนซิน             - 6.7
น้ำมันดีเซล              - 9.2

น้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 7.0 (น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล) ซึ่งเป็นการปรับลดลงตามทิศทางราคาตลาดโลก

1.4 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนธันวาคม 2558 เทียบกับเดือนธันวาคม 2557 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.7 จากการลดลงของดัชนีราคาส่งออกทุกหมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 8.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 2.1 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.3 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 12.0

1.5 ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเฉลี่ยปี 2558 เทียบกับเฉลี่ยปี 2557 ดัชนีราคาส่งออกลดลงร้อยละ 2.3 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรมลดลงร้อยละ 6.0 (ยางพารา ข้าว ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง กุ้ง ไก่) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรลดลงร้อยละ 1.8 (น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่นๆ) หมวดสินค้าอุตสาหกรรมลดลงร้อยละ 1.2 (เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ เครื่องอิเลคทรอนิกส์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก) และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 10.2 (น้ำมันสำเร็จรูป)

แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกปี 2559 คาดว่ายังคงปรับตัวลดลง โดยมีสาเหตุหลักมาจากเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ และปริมาณผลผลิตส่วนเกินของสินค้าเกษตรที่เข้าสู่ตลาดจำนวนมาก ทำให้มีการแข่งขันด้านราคาสูง ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้สินค้าที่ใช้วัตถุดิบเกี่ยวเนื่องมีราคาปรับลดลงตาม ทำให้คาดว่าดัชนีราคาส่งออกปี 2559 ยังคงมีแนวโน้มปรับตัวลดลง

2. ดัชนีราคานำเข้า

2.1 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนธันวาคม 2558

ปี 2555 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เท่ากับ 100 เดือนธันวาคม 2558 เท่ากับ 80.9 และเดือนพฤศจิกายน 2558 เท่ากับ 82.6

2.2 การเปลี่ยนแปลงดัชนีราคานำเข้าของประเทศ เดือนธันวาคม 2558 เมื่อเทียบกับ

                 เดือนพฤศจิกายน 2558           ลดลงร้อยละ 2.1
                 เดือนธันวาคม 2557             ลดลงร้อยละ 10.5

เฉลี่ยปี 2558 เทียบกับเฉลี่ยปี 2557 ลดลงร้อยละ 10.8

2.3 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนธันวาคม 2558 เทียบกับเดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 2.1 (เดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 1.5) โดยหมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 8.9 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 0.8 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 0.9 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งลดลงร้อยละ 1.0 ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคปรับสูงขึ้นร้อยละ 0.1

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับลดลง

หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 8.9 (เดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 6.1) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า               ร้อยละ (ธ.ค.58/พ.ย.58)
น้ำมันดิบ                       - 11.9
น้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเบรก          - 2.9
น้ำมันเตา                      - 13.1
น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ                - 6.7
ก๊าซธรรมชาติ                    - 1.7

น้ำมันดิบลดลงร้อยละ 11.9 โดยสาเหตุหลักมาจากภาวะอุปทานน้ำมันดิบที่ล้นตลาด เนื่องจากกลุ่มโอเปคและรัสเซียยังคงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในระดับสูงเพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดของตนเองไว้ รวมทั้งได้รับแรงกดดันจากค่าเงินเหรียญสหรัฐฯ ที่แข็งค่าขึ้นจากการการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ น้ำมันสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 4.3 (น้ำมันหล่อลื่นและน้ำมันเบรก น้ำมันเตา น้ำมันสำเร็จรูปอื่นๆ) ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียมลดลงร้อยละ 0.7 (ก๊าซธรรมชาติ)

หมวดสินค้าทุน ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.8 (เดือนพฤศจิกายน 2558 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.4) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                             ร้อยละ (ธ.ค.58/พ.ย.58)
ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์                          - 7.7
เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ           - 0.5
อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า          - 1.2
เครื่องจักรไฟฟ้าอื่นๆ และส่วนประกอบ                - 0.7

เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบลดลงร้อยละ 2.9 (ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์) เครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 0.5 (เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ) เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 0.6 (อุปกรณ์ไฟฟ้าสำหรับตัดต่อหรือป้องกันวงจรไฟฟ้า เครื่องจักรไฟฟ้าอื่นๆ และส่วนประกอบ)

หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 0.9 (เดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 0.9) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                      ร้อยละ (ธ.ค.58/พ.ย.58)
เคมีภัณฑ์อินทรีย์                          - 2.3
เคมีภัณฑ์อนินทรีย์                         - 2.9
เม็ดพลาสติก                            - 0.8
ทองคำ                                - 1.7
เงิน                                  - 2.9
เหล็ก                                 - 0.7
เหล็กแผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่นๆ          - 1.6
ทองแดงและผลิตภัณฑ์                      - 1.6
อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์                     - 1.4

เคมีภัณฑ์ลดลงร้อยละ 1.5 (เคมีภัณฑ์อินทรีย์ เคมีภัณฑ์อนินทรีย์ เม็ดพลาสติก) เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ ลดลงร้อยละ 1.5 (ทองคำ เงิน) เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 0.8 (เหล็ก เหล็กแผ่นรีดทำด้วยเหล็กกล้าเจืออื่นๆ) จากภาวะอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะในตลาดจีน ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจจีนกลับอ่อนตัวลง สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ลดลงร้อยละ 1.3 (ทองแดงและผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์)

หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 1.0 (เดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 1.0) สินค้าสำคัญที่ราคาลดลง มีดังนี้

รายการสินค้า                               ร้อยละ (ธ.ค.58/พ.ย.58)
ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง            - 1.3
ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ                            - 1.4

ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ลดลงร้อยละ 1.3 (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ รวมทั้งโครงรถและตัวถัง ส่วนประกอบและอุปกรณ์อื่นๆ)

หมวดสินค้าที่ราคานำเข้าปรับสูงขึ้น

หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าสูงขึ้นร้อยละ 0.1 (เดือนพฤศจิกายน 2558 ลดลงร้อยละ 0.2) สินค้าสำคัญที่ราคาสูงขึ้น มีดังนี้

รายการสินค้า                         ร้อยละ (ธ.ค.58/พ.ย.58)
เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์          + 0.9
เครื่องประดับอัญมณีแท้                        + 1.2
อุปกรณ์และส่วนประกอบอื่นๆ ของนาฬิกา           + 1.1
นาฬิกาข้อมือ                               + 0.7

เครื่องใช้ไฟฟ้าสูงขึ้นร้อยละ 0.7 (เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์) เครื่องประดับอัญมณีสูงขึ้นร้อยละ 1.1 (เครื่องประดับอัญมณีแท้) นาฬิกาและส่วนประกอบสูงขึ้นร้อยละ 0.8 (อุปกรณ์และส่วนประกอบอื่นๆ ของนาฬิกา นาฬิกาข้อมือ)

2.4 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนธันวาคม 2558 เทียบกับเดือนธันวาคม 2557 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.5 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 35.0 หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.6 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 5.8 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 1.7 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 4.3

2.5 ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเฉลี่ยปี 2558 เทียบกับเฉลี่ยปี 2557 ดัชนีราคานำเข้าลดลงร้อยละ 10.8 จากการลดลงของทุกหมวดสินค้า ได้แก่ ดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิงลดลงร้อยละ 37.6 (น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม) หมวดสินค้าทุนลดลงร้อยละ 2.7 (เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ) หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูปลดลงร้อยละ 4.6 (เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ทองคำ สินแร่โลหะอื่นๆ และผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย) หมวดสินค้าอุปโภคบริโภคลดลงร้อยละ 1.5 (ยารักษาโรค เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เครื่องสำอาง ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ เครื่องประดับอัญมณีแท้) และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่งลดลงร้อยละ 6.0 (ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์) แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าปี 2559 คาดว่าจะยังคงชะลอตัว โดยมีปัจจัยหลักมาจากราคาน้ำมันในตลาดโลก ซึ่งประเทศไทยมีสัดส่วนการนำเข้าสูง (ประมาณร้อยละ 20 ของมูลค่าการนำเข้าทั้งหมด) น่าจะยังคงเผชิญกับภาวะอุปทานที่ยังคงล้นตลาดต่อไปและส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้าจะยังคงเคลื่อนไหวอยู่ในระดับต่ำตามราคาน้ำมันและภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่สามารถฟื้นตัวได้อย่างชัดเจน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ