รายงานดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2559

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 7, 2016 15:48 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนมิถุนายน 2559

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลก ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค

ผลการสำรวจความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนมิถุนายน 2559 จากประชาชน สาขาอาชีพต่างๆ ทุกจังหวัด จำนวน 3,478 คน พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นฯ มีค่า 35.1 ปรับลดลงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับเดือนพฤษภาคม 2559 ที่มีค่า 35.5 ซึ่งลดลงต่อเนื่องกันเป็นเดือนที่ 4 ส่วนดัชนี ความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ปัจจุบันมีค่า 29.1 ปรับลดลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 29.9 และค่าดัชนีความเชื่อมั่นฯ ที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต(3 เดือนข้างหน้า) มีค่า 39.1 ปรับลดลงเล็กน้อยเช่นกันเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ที่มีค่า 39.3 โดยค่าดัชนีทุกรายการยังอยู่ต่ำกว่าที่ระดับ 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจประเทศหลักอย่าง จีน ญี่ปุ่นและยุโรป ซึ่งส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทย กอปรกับปัญหาความยากจนและความเลื่อมล้ำของรายได้ หนี้ครัวเรือนที่ยังอยู่ในระดับสูง รวมทั้ง ช่วงภัยแล้งที่ผ่านมาเกษตรกรสูญเสียโอกาสและขาดรายได้ ซึ่งแม้ว่าจะเริ่มเข้าสู่ฤดูฝน ภัยแล้งเริ่มคลี่คลาย หลายพื้นที่เริ่มทำการเพาะปลูก แต่เกษตรกรหลายพื้นที่ยังมีความกังวลต่อรายได้และหนี้สิน ทั้งนี้ รัฐบาลได้เร่งออกมาตรการต่างๆเพื่อช่วยเหลือประชาชนทุกระดับให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พัฒนาโครงสร้างเศรษฐกิจให้มีความเข้มแข็ง เร่งช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยและเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง เร่งการเบิกจ่ายงบประมาณ/การลงทุนเพื่อกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

ทั้งนี้ ความคาดหวังที่มีต่อรายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า) อยู่ที่ระดับ 43.9 โดยปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากภัยแล้งที่ผ่านมาทำให้เกษตรกรขาดรายได้ ส่วนรายได้จากผลผลิตทางการเกษตรในอนาคตต้องเตรียมไว้เพื่อชำระหนี้ รวมทั้งภาคการส่งออกที่ลดลงส่งผลกระทบถึงรายได้ของลูกจ้าง/พนักงาน ส่วนการวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ/รถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า ยังอยู่ในระดับที่ยังไม่มีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง แต่ทั้งนี้ ตัวเลขด้านการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 55.4 ซึ่งมีค่าเท่ากับเดือนที่ผ่านมา และยังคงอยู่ในระดับที่ประชาชนมีความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index)
รายการ               ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59
ดัชนีความเชื่อมั่นโดยรวม     37.2     36.4     38.1     36.0      35.8     35.5     35.1

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค  (Consumer Confidence Index)
รายการ                            ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน     30.1     30.9     32.0     29.8      29.9     29.9     29.1
ดัชนีความเชื่อมั่นที่มีต่อสถานการณ์ในอนาคต     42.0     40.0     42.2     40.0      39.7     39.3     39.1

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                        ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59
รายได้ในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     47.8     45.1     47.7     45.5      44.2     44.1     43.9

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                    ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59
โอกาสในการหางานทำในปัจจุบัน                    24.2     25.4     26.9     25.0      25.2     25.3     23.5
โอกาสในการหางานทำในอนาคต (3 เดือนข้างหน้า)     29.3     28.7     31.0     28.7      29.5     30.2     28.2

ระดับความเชื่อมั่นผู้บริโภคในด้านต่างๆ
รายการ                                   ธ.ค.58   ม.ค.59   ก.พ.59   มี.ค.59   เม.ย.59   พ.ค.59   มิ.ย.59
การใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นในปัจจุบัน        56.0     55.3     53.0     51.2      56.8     55.4     55.4
การวางแผนที่จะซื้อรถยนต์ใน 6 เดือนข้างหน้า         14.6     12.8     13.3     12.1      13.9     11.9     13.2
การวางแผนที่จะซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทน       20.8     19.5     21.6     20.7      22.2     22.4     22.0
ต่างๆ(ยกเว้นบ้านและรถยนต์) ใน 6 เดือนข้างหน้า

ผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภครายภูมิภาค
          เมื่อพิจารณาเป็นรายภาค พบว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในเดือนมิถุนายน 2559 ภาคที่ปรับลดลง คือ ภาคกลาง จาก 42.9 เป็น 42.8 และภาคตะวันออกเฉียงเหนือจาก 38.9 เป็น 31.8 ส่วนภาคที่ปรับเพิ่มขึ้น คือกรุงเทพฯ/ปริมณฑล จาก 35.3 เป็น 36.4 ภาคเหนือ จาก 33.7 เป็น 36.9 ภาคตะวันออก จาก 35.9 เป็น 36.4 และภาคใต้ จาก 26.6  เป็น 27.5 ทั้งนี้ ค่าดัชนีในทุกภาคยังอยู่ระดับต่ำกว่า 50 สะท้อนให้เห็นว่าประชาชนมีความกังวลและยังไม่ค่อยมีความเชื่อมั่นต่อภาวะเศรษฐกิจ เนื่องจากผลกระทบภัยแล้งที่ผ่านมาทำให้เกษตรกร            มีรายได้น้อยกว่ารายจ่าย ก่อให้เกิดหนี้ครัวเรือน แม้ว่า ราคาสินค้าเกษตรหลายรายการจะปรับตัวดีขึ้นบ้างก็ตาม แต่รายได้ก็ยังไม่เพียงพอต่อรายจ่ายในปัจจุบัน อีกทั้งรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตในอนาคตของเกษตรกรอาจจะต้องนำมาเพื่อชำระหนี้

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. แก้ไขปัญหาค่าครองชีพ ดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคบริโภค รายได้ไม่เพียงพอต่อการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน

2. แก้ไขปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ

3. ส่งเสริมการลงทุน และกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว

4. เร่งการลงทุน/เบิกจ่ายจากภาครัฐ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ

5. ส่งเสริม/พัฒนาศักยภาพการผลิต หาแนวคิดและวิธีการเพิ่มมูลค่าสินค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตร

6. สนับสนุนให้มีการจัดงานจำหน่ายสินค้าโอทอป เพื่อกระจายรายได้และสร้างงานแก่คนในชุมชนต่างๆ

ด้านสังคม

1. ปราบปรามการทุจริตและคอรัปชั่น ใช้งบประมาณอย่างมีประสิทธิภาพ

2. เร่งปราบปรามปัญหายาเสพติด เพื่อลดปัญหาสังคม

3. แก้ไขปัญหาความยากจน ลดปัญหาการว่างงานและหนี้ภาคครัวเรือน

4. เร่งแก้ไขปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อความมั่นคงของประเทศ

5. บริหารจัดการน้ำให้เป็นระบบ สร้างแหล่งกักเก็บน้ำในพื้นที่ต่างๆ รวมทั้งส่งเสริมให้ประชาชนสร้างแหล่งกักเก็บน้ำและพึ่งพาตนเอง

6. สร้างแนวทางที่ยั่งยืนเพื่อช่วยเหลือประชาชนในระดับรากหญ้าและผู้ที่มีรายได้น้อย ให้มีงาน มีอาชีพและมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เพื่อลดปัญหาหนี้นอกระบบและปัญหาอาชญากรรม

7. ดูแลราคาปุ๋ย/ต้นทุนสินค้าการเกษตรต่างๆไม่ให้มีราคาสูง และสอดคล้องกับราคาผลผลิตที่สามารถจำหน่ายได้

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์

โทร 0 2507 7000 โทรสาร 0 2507 5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ