ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนพฤศจิกายน 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 3, 2018 12:50 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนพฤศจิกายน 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนตุลาคม 2561 ที่ระดับ 35.5 มาอยู่ที่ 36.0 รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบัน และอนาคต จากความเชื่อมั่นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า รายได้ 3 เดือนข้างหน้า และการหางานทำในปัจจุบัน ขณะที่ความเชื่อมั่นต่อการหางานทำ 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง สำหรับกำลังซื้อของผู้บริโภคด้านการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในปัจจุบันปรับตัวลดลง แต่ยังคงสูงกว่าระดับ 50 มาตั้งแต่ ต้นปี 2561 ขณะที่การวางแผนซื้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น

+ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 26.5 มาอยู่ที่ 27.0 โดยผู้บริโภคมีความคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจ และการหางานทำในปัจจุบัน ดีขึ้นจากระดับ 30.4 และ 22.7 มาอยู่ที่ 31.0 และ 22.9 ตามลำดับ

+ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 41.5 มาอยู่ที่ 42.1 โดยผู้บริโภคมีความคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจ และรายได้ ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดีขึ้นจากระดับ 47.0 และ 48.9 มาอยู่ที่ 48.1 และ 50.5 ตามลำดับ ขณะที่การหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจากระดับ 28.7 มาอยู่ที่ 27.7

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในปัจจุบัน ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.5 มาอยู่ที่ 54.4 แต่ยังคงสูงกว่าระดับ 50 มาตั้งแต่ต้นปี 2561 ขณะที่การวางแผนระยะ 6 เดือนข้างหน้า ในการซื้อรถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 15.4 และ 24.1 มาอยู่ที่ 16.7 และ 24.3 ตามลำดับ

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. เพิ่มราคาสินค้าและผลิตผลทางการเกษตร ได้แก่ ยางพารา ปาล์มน้ำมัน มะพร้าว และผลไม้ เช่น สับปะรด

2. ส่งเสริมการส่งออก การเงิน และการท่องเที่ยว

3. แก้ปัญหาราคาน้ำมัน และราคาสินค้าแพง

4. มาตรการป้องกันการทะลักของสินค้าจากต่างประเทศที่แย่งตลาดคนไทย

5. ดำเนินการเกี่ยวกับการผูกขาดทางการค้ารวมถึงทุนขนาดใหญ่ รวมถึงการขยายอิทธิพลของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่

6. ลดค่าครองชีพ และราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งปัจจุบันจะลดตามโปรโมชั่น พอหมดก็แพงเหมือนเดิม รวมทั้งแก้ปัญหาเงินเฟ้อ

7. กระตุ้นภาวะเศรษฐกิจ การบริโภค การลงทุน ของประชาชนและภาคเอกชนให้ดีขึ้น พร้อมสร้างความเชื่อมั่นในการใช้จ่ายสินค้าอุปโภคบริโภค

8. พัฒนาการคมนาคม รถบริการสาธารณะ เพื่อลดการใช้รถส่วนตัว (น้ำมัน)

9. การกระจายรายจ่ายในภาครัฐอย่างเท่าเทียม

10. ลดภาษีต่างๆ ที่ประชาชนต้องจ่าย และดอกเบี้ยเงินกู้ในทุกๆ ด้าน รวมทั้งภาษีสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ

ด้านสังคม

1. ลดปัญหาการว่างงาน ขณะเดียวกันก็จ้างงานให้เพิ่มขึ้น ประชาชนจะได้มีรายได้ เช่น การเปิดโอกาสให้บัณฑิตใหม่และผู้ด้อยโอกาสเข้าทำงาน กระจายงานและรายได้สู่ท้องถิ่น ไม่กระจุกตัวตามเมืองใหญ่ เพื่อให้เท่าเทียมกับกรุงเทพฯ

2. แก้ปัญหายาเสพติด

3. การโกงประเทศ และคอรัปชั่น

4. จัดการเลือกตั้ง เพื่อการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่ยังไม่มีเสถียรภาพ

5. ปรับปรุงภูมิประเทศและกฎหมายให้สามารถรองรับนักท่องเที่ยวให้ได้มากที่สุด เพราะเป็นสิ่งที่ประเทศ ไม่ต้องลงทุนอะไรมาก เนื่องจากธรรมชาติสร้างให้อยู่แล้ว เพียงแต่ประชาชนทุกคนช่วยกันรักษาให้สวยงาม

6. พัฒนาการศึกษาตั้งแต่เด็กจนโตให้เหมาะสมกับวัยและความรู้ที่รับได้

7. ปัญหาความยากจน ให้ประชาชนระดับรากหญ้ามีที่ทำกิน

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ