ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคประจำเดือนธันวาคม 2561

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 25, 2019 09:07 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม เดือนธันวาคม 2561 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนพฤศจิกายน 2561 ที่ระดับ 36.0 มาอยู่ที่ 37.3 รวมทั้งความเชื่อมั่นผู้บริโภคปัจจุบัน และอนาคต จากความเชื่อมั่นที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า การหางานทำในปัจจุบัน และ 3 เดือนข้างหน้า ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่รายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลง สำหรับกำลังซื้อของผู้บริโภคด้านการใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในปัจจุบันปรับตัวลดลง แต่ยังคงสูงกว่าระดับ 50 มาตั้งแต่ต้นปี 2561 รวมทั้งการวางแผนซื้อรถยนต์ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงเช่นกันขณะที่การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ (ไม่รวมถึงบ้านและรถยนต์) ปรับตัวเพิ่มขึ้น

+ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในปัจจุบัน ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 27.0 มาอยู่ที่ 28.1 โดยผู้บริโภคมีความคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจปัจจุบัน และการหางานทำในปัจจุบัน ดีขึ้นจากระดับ 31.0 และ 22.9 มาอยู่ที่ 32.4 และ 23.8 ตามลำดับ

+ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในอนาคต ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 42.1 มาอยู่ที่ 43.4 โดยผู้บริโภคมีความคิดเห็นต่อภาวะเศรษฐกิจอีก 3 เดือนข้างหน้า และการหางานทำในอีก 3 เดือนข้างหน้า ดีขึ้นจากระดับ 48.1 และ 27.7 มาอยู่ที่ 48.3 และ 31.4 ตามลำดับ ขณะที่รายได้ในอีก 3 เดือนข้างหน้า ลดลงจากระดับ 50.5 มาอยู่ที่ 50.4

สำหรับความคิดเห็นเกี่ยวกับกำลังซื้อของผู้บริโภค ได้แก่ การใช้จ่ายเพื่อซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภคที่จำเป็นต่อการครองชีพในปัจจุบัน และการวางแผนซื้อรถยนต์ ในระยะ 6 เดือนข้างหน้า ปรับตัวลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 54.4 และ 16.7 มาอยู่ที่ 53.0 และ 16.4 ตามลำดับ ขณะที่ การวางแผนซื้อเครื่องใช้ไฟฟ้าและสินค้าคงทนต่างๆ (ไม่รวมถึงบ้านและรถยนต์) ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 24.3 มาอยู่ที่ 24.5

บทสะท้อนจากข้อคิดเห็นของประชาชนที่ต้องการให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาต่างๆ

ด้านเศรษฐกิจ

1. ควบคุมราคาสินค้า บริการสาธารณะ และสาธารณูปโภค แก๊ส-ไฟฟ้า ไม่ให้สูงเกินไปเมื่อเทียบกับเงินเดือนของประชาชนทั้งประเทศ เพื่อให้รายจ่ายครัวเรือนลดลง จะได้มีหนี้สินน้อยลง

2. สนับสนุนส่งเสริมสินค้าเกษตร กระตุ้นให้มีการส่งออก แก้ไขราคาผลผลิตตกต่ำ รวมทั้งดูแลราคาให้มีเสถียรภาพ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย มันสำปะหลัง ปาล์มน้ำมัน และยางพารา

3. กระจายรายได้สู่เศรษฐกิจระดับฐานราก โดยกระจายลงตลาดล่างและตลาดกลางไม่ให้กระจุกตามหัวเมืองใหญ่ รวมถึงไม่ให้ผูกขาดกับกลุ่มทุนใดกลุ่มทุนหนึ่ง

4. กระตุ้นเศรษฐกิจโดยรวมให้เกิดการหมุนเวียนเงินภายในประเทศเพิ่มขึ้น รวมทั้งส่งเสริมและสนับสนุนการค้าขายให้มากขึ้น

5. แก้ไขปัญหาคนว่างงาน เปิดโอกาสการเข้าทำงานให้มากขึ้น สร้างอาชีพให้กับประชาชน สร้างรายได้เสริมให้กับคนที่มีอาชีพหลัก และขึ้นค่าแรง

6. กระตุ้นการใช้จ่ายภาครัฐ เพื่อเพิ่มเม็ดเงินเข้าสู่ระบบในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ

7. กระตุ้นการท่องเที่ยวเพื่อให้มีเงินไหลเวียนในระบบเศรษฐกิจ

8. ลดราคาน้ำมัน ซึ่งมีผลต่อการขนส่งสินค้า

9. จัดหาช่องทางการตลาด เพื่อให้สินค้าได้ระบายออก และสอดคล้องกับการผลิต

10. สร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุน

ด้านสังคม

1. แก้ไขปัญหาคอรัปชั่นในวงราชการ

2. ปัญหาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

3. ปัญหาผู้มีอิทธิพล

4. ปัญหายาเสพติด

5. การขาดแคลนแพทย์ในต่างจังหวัด

6. แก้ไขการบริหารจัดการภาครัฐให้เหมาะสมกับการดำเนินงาน

7. ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางสังคม

8. การแก้ไขปัญหาความยากจนในประเทศ

9. ปรับปรุงการบริหารจัดการภาษีของประชาชนที่ต้องจ่ายให้รัฐ แต่ยังไม่ได้รับความคุ้มครองที่มากพอ

10. แก้ไขปัญหาการจราจร และการขนส่ง

ที่มา: สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงพาณิชย์ โทร. 0-2507-5850 โทรสาร. 0-2507-5825


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ