ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 25, 2019 11:50 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนพฤษภาคม 2562 เท่ากับ 101.2 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2561 ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง (YoY) เนื่องจากภาพรวมเศรษฐกิจโลกยังคงมีทิศทางชะลอตัวจากผลสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ ประกอบกับแนวโน้มค่าเงินบาทมีทิศทางแข็งค่า ส่งผลกระทบให้การส่งออกของไทยชะลอลง อย่างไรก็ตาม คำสั่งซื้อจากตลาดต่างประเทศยังเป็นปัจจัยสนับสนุนให้การส่งออกสินค้าบางรายการขยายตัวได้ดี โดยหมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ปลาสดแช่เย็นแช่แข็ง และไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่หมวดสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีราคาส่งออกลดลง คือ หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาส่งออกไม่เปลี่ยนแปลง

ดัชนีราคานำเข้า เดือนพฤษภาคม 2562 เท่ากับ 93.5 (ปี 2555 = 100) เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2561 ลดลงร้อยละ 0.2 (YoY) หมวดสินค้าที่ปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ และทองคำ ขณะที่ดัชนีราคานำเข้าที่ปรับตัวสูงขึ้นคือ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ และการทดสอบ สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง

อัตราการค้า (Term of Trade) ของประเทศไทย เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นเกณฑ์วัดความได้เปรียบเสียเปรียบทางการค้าของประเทศ พิจารณาจากอัตราส่วนระหว่างดัชนีราคาส่งออกกับ ดัชนีราคานำเข้า ซึ่งอัตราการค้าของไทย ในเดือนพฤษภาคม 2562 เท่ากับ 108.2 (เดือนเมษายน 2562 เท่ากับ 108.1) มีค่าสูงกว่า 100 แสดงว่าประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี ทั้งนี้ เนื่องจากราคาสินค้าส่งออกโดยรวมอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคานำเข้า โดยเฉพาะสินค้าส่งออกสำคัญของไทย อาทิ เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผักและผลไม้แปรรูป ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง ปุ๋ย เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิว และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ซึ่งเป็นไปตามความต้องการสินค้าจากตลาดต่างประเทศที่มีอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาส่งออกยังคงสูงกว่าราคานำเข้าเช่นกัน เนื่องจากเป็นวัตถุดิบเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ดัชนีราคาส่งออกของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้าส่งออกในรูปของดัชนี โดยใช้วัดการเปลี่ยนแปลงของราคาส่งออกที่ผู้ส่งออกในประเทศไทยได้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคาส่งออกที่สำรวจเป็นราคา F.O.B (Free On Broad) ครอบคลุม 4 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเกษตรกรรม หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร หมวดสินค้าอุตสาหกรรม และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 682 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2562 เท่ากับ 101.2 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนเมษายน 2562 เท่ากับ 101.3) โดยดัชนีราคาส่งออกเดือนพฤษภาคม 2562 ในหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 101.2 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 106.8 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.8 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 83.4

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนพฤษภาคม 2562 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนเมษายน 2562 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.1 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ เนื่องจากเป็นสินค้าเกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมันที่ปรับลดลง นอกจากนี้ คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ปรับตัวลดลงตามความต้องการของตลาดต่างประเทศที่ชะลอตัว รวมถึงทองคำ ราคาลดลงเล็กน้อยเนื่องจากได้รับแรงกดดันจากการแข็งค่าของสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ เนื่องจากตลาดมีความกังวลต่อเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยังคงยืดเยื้อ นอกจากนี้ ยังได้รับแรงกดดันจากปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐฯ ที่อยู่ในระดับสูงขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อยลง ขณะที่ความต้องการยังมีอย่างต่อเนื่อง สำหรับข้าว ราคาสูงขึ้นเล็กน้อย โดยเฉพาะข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ตามความต้องการของตลาดที่ยังขยายตัวได้ดี นอกจากนี้ ไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากอียูเพิ่มปริมาณโควต้าการนำเข้าจากไทย ประกอบกับตลาดต่างประเทศยังมีความต้องการอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากสภาพอากาศแห้งแล้งในบราซิลกลาง-ใต้ ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตอ้อยในตลาดโลกลดลง ขณะที่ความต้องการน้ำตาลในระยะสั้นปรับตัวเพิ่มขึ้น

2.2 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2561 (YoY) ดัชนีราคาส่งออกไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีร้อยละการเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าส่งออกจำแนกตามรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น คือ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ยางพารา ข้าว ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งปลาสด แช่เย็นแช่แข็ง และไก่สด แช่เย็นแช่แข็ง ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในกลุ่มสินค้าสำคัญ โดยกลุ่มสินค้าที่ราคาสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคาลดลง ได้แก่ เม็ดพลาสติก ทองคำ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.3 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าอุตสาหกรรม ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และสิ่งทอ หมวดสินค้าเกษตรกรรม ได้แก่ ไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง ข้าว ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้งกล้วยไม้ และปลาสด แช่เย็นแช่แข็ง และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป ขณะที่หมวดสินค้าที่ปรับตัวลดลง คือ หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร ได้แก่ น้ำตาลทราย และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกในช่วงที่เหลือของปี 2562 คาดว่าจะต้องเผชิญกับปัจจัยเสี่ยงภายนอกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ เช่น การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ซึ่งปัจจัยหนึ่งเป็นผลกระทบจากปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ยืดเยื้อ รวมถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจในหลายประเทศที่ชะลอตัว โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน เนื่องจากไทยส่งออกไปจีนค่อนข้างมาก มาตรการกีดกันทางการค้าจากต่างประเทศ ความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน และความไม่แน่นอนจากปัญหา Brexit ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาวะการเงินโลก นอกจากนี้ สินค้าเกษตรบางรายการที่ราคายังอยู่ในระดับต่ำจากปัญหาอุปทานล้นตลาดและการแข่งขันที่รุนแรงจากประเทศคู่แข่ง ได้แก่ ข้าว น้ำตาลทราย ไก่สดและกุ้งสด แช่เย็นแช่แข็ง เป็นต้น ซึ่งอาจเป็นปัจจัยสำคัญกดดันต่อทิศทางราคาส่งออกได้

ดัชนีราคานำเข้าของประเทศ แสดงถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับราคาสินค้านำเข้าที่ผู้นำเข้าในประเทศไทยได้จ่ายไปเพื่อนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ ทั้งนี้ ราคานำเข้าที่สำรวจเป็นราคา C.I.F. (Cost, Insurance และ Freight) ครอบคลุม 5 หมวดสินค้า ได้แก่ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หมวดสินค้าทุน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง มีจำนวนรายการสินค้าทั้งหมด 728 รายการ สรุปได้ดังนี้

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2562 เท่ากับ 93.5 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนเมษายน 2562 เท่ากับ 93.7) โดยดัชนีราคานำเข้าเดือนพฤษภาคม 2562 ในหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 73.6 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 103.3 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 96.8 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 102.5 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 94.7

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนพฤษภาคม 2562 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนเมษายน 2562 (MoM) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลงคือ หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และน้ำมันสำเร็จรูป โดยราคาน้ำมันได้รับแรงกดดันจากสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีนที่ทวีความรุนแรงขึ้น ประกอบกับปริมาณน้ำมันดิบคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการทดสอบ หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปุ๋ย สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เสื้อผ้า รองเท้าและผลิตภัณฑ์สิ่งทอ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ รถยนต์นั่ง

2.2 เทียบกับเดือนพฤษภาคม 2561 (YoY) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ถ่านหิน และเชื้อเพลิงอื่นๆ หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ทองคำ ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้นคือ หมวดสินค้าทุน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการทดสอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ สำหรับหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ดัชนีราคานำเข้าไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เลนส์ แว่นตาและส่วนประกอบ ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง

2.3 เทียบเฉลี่ยกับเดือนมกราคม-พฤษภาคม 2561 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.2 โดยมีร้อยละการเปลี่ยนแปลงจำแนกรายหมวดสินค้า ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม น้ำมันดิบและหมวดสินค้าทุน ได้แก่ ผลิตภัณฑ์โลหะ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการทดสอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคา นำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ได้แก่ เคมีภัณฑ์ สินแร่โลหะอื่นๆ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เลนส์ แว่นตาและส่วนประกอบ เครื่องใช้และเครื่องตกแต่งภายในบ้านเรือน วัสดุและอุปกรณ์สำนักงาน สบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง

ทั้งนี้ แนวโน้มดัชนีราคานำเข้าในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 คาดว่าจะยังได้รับแรงกดดันจากราคาสินค้านำเข้าหลักของไทย คือ น้ำมันดิบ ที่อาจจะยังคงผันผวนค่อนข้างสูงและมีแรงกดดันอย่างต่อเนื่องจากสถานการณ์น้ำมันในตลาดโลก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อสินค้านำเข้าที่เกี่ยวเนื่อง เช่น เคมีภัณฑ์ เม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์ทำจากพลาสติก สินค้าเชื้อเพลิงอื่นๆ เป็นต้น นอกจากนี้ ประเด็นสงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่มีผลกระทบเชื่อมโยงกับการค้าโลก อาจส่งผลต่ออุปสงค์ของสินค้าต่างๆ ในตลาด รวมถึงระดับราคาสินค้านำเข้าของไทยได้

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ