ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปและดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐานของประเทศเดือนกรกฎาคม 2562

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 1, 2019 14:30 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนกรกฎาคม 2562 เท่ากับ 103.00 เมื่อเทียบกับ

          ระยะเวลา                                  การเปลี่ยนแปลง     ร้อยละ
          1. เดือนมิถุนายน 2562 (MoM)                       สูงขึ้น         0.06
          2. เดือนกรกฎาคม 2561 (YoY)                      สูงขึ้น         0.98
          3. ระยะ 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค) ปี 2562 เทียบกับ        สูงขึ้น         0.92

ช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA)

ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือนกรกฎาคม 2562 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ 0.98 (YoY) เป็นการสูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าเดือนก่อนหน้า ที่สูงขึ้นร้อยละ 0.87 ทั้งนี้สินค้ากลุ่มอาหารสดยังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยสูงขึ้นร้อยละ 7.12 ซึ่งสูงขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี โดยเฉพาะผักและผลไม้ เนื้อสุกร ข้าวสารเหนียวและข้าวสารเจ้า ขณะที่สินค้ากลุ่มพลังงานยังคงหดตัว โดยลดลงร้อยละ -3.31 ซึ่งลดลงน้อยกว่าเดือนที่ผ่านมา ที่ลดลงร้อยละ -3.86 ตามราคาน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ ส่วนเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมสินค้ากลุ่มอาหารสดและพลังงาน) ขยายตัวร้อยละ 0.41 (YoY) เมื่อพิจารณาเงินเฟ้อเฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ของปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 สูงขึ้นร้อยละ 0.92

ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์คาดการณ์ว่า ปี 2562 (ณ เดือนมิถุนายน 2562) เงินเฟ้อจะเคลื่อนไหวอยู่ระหว่างร้อยละ 0.7 -1.3 (YoY) (ค่ากลาง 1.0)

1. ดัชนีราคาผู้บริโภค เดือนกรกฎาคม 2562 เทียบกับเดือนก่อนหน้า สูงขึ้นร้อยละ 0.06 (MoM) (มิถุนายน 2562 ลดลงร้อยละ -0.36) โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.01 โดยผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 1.00 อาทิ ส้มเขียวหวาน กล้วยน้ำว้า ฝรั่ง ปริมาณผลผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 0.37 โดยเฉพาะข้าวสารเหนียว ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณข้าวในสต๊อกมีน้อย ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 0.45 โดยเฉพาะไข่ไก่ ปรับสูงขึ้นตามต้นทุน (ค่าขนส่ง อาหารสัตว์) รวมทั้ง นมผง นมถั่วเหลือง ราคาปรับสูงขึ้น เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 0.12 อาทิ เนื้อสุกร ปลานิล กุ้งขาว เครื่องประกอบอาหาร สูงขึ้นร้อยละ 0.31 อาทิ น้ำมันพืช กะทิสำเร็จรูป ซีอิ๊ว เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 0.26 อาทิ กาแฟ (ร้อน/เย็น) กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม รวมทั้ง อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้าน สูงขึ้นเล็กน้อย ร้อยละ 0.28 และ 0.11 ตามลำดับ อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป พิซซ่า เฟรนฟราย อาหารตามสั่ง ขณะที่ผักสด ลดลงร้อยละ -4.86 อาทิ มะนาว พริกสด ผักชี ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดมาก ส่งผลให้หมวดผักและผลไม้ ลดลงร้อยละ -1.38

หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.08 ตามการสูงขึ้นของสินค้ากลุ่มพลังงาน ร้อยละ 1.05 กลับมาเป็นบวกอีกครั้งหลังจากหดตัวในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 1.62 จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท (ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ (NGV) ราคาลดลงเล็กน้อย) ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 0.04 ตามราคาค่าโดยสารรถเมล์เล็ก/รถสองแถวที่ทยอยปรับราคาขึ้น ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสาร สูงขึ้นร้อยละ 0.50 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า สูงขึ้นร้อยละ 0.16 อาทิ เสื้อผ้าบุรุษและสตรี หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.03 ตามการสูงขึ้นของสุราเป็นสำคัญ ขณะที่หมวดเคหสถาน ลดลงร้อยละ -0.04 ตามการลดลงของสิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาถูพื้น น้ำยาล้างจาน) รวมทั้งหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ -0.96 (แชมพู ยาสีฟัน ผ้าอนามัย) หมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา ลดลงร้อยละ -0.09 ตามการลดลงของเครื่องถวายพระ และเครื่องรับโทรทัศน์ จากการส่งเสริมการตลาดเป็นสำคัญ

2. เทียบเดือนกรกฎาคม 2561 (YoY) สูงขึ้นร้อยละ 0.98 โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 3.47 โดยเฉพาะผักสดสูงขึ้นร้อยละ 20.01 อาทิ มะนาว พริกสด มะเขือ จากสภาพอากาศที่แปรปรวนมากกว่า ปีที่ผ่านมาทำให้พืชผักเน่าเสียง่าย ประกอบกับราคาฐานต่ำ ผลไม้สด สูงขึ้นร้อยละ 9.18 อาทิ ฝรั่ง มะม่วง ทุเรียน เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ สูงขึ้นร้อยละ 5.73 อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ปลานิล ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 4.02 จากการสูงขึ้นของข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว เนื่องจากปริมาณข้าวในสต๊อกมีน้อย ขณะที่ความต้องการมีอย่างต่อเนื่อง ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้นร้อยละ 1.80 จากการสูงขึ้นของไข่ไก่ นมสด นมถั่วเหลือง เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.90 อาทิ น้ำอัดลม กาแฟ (ร้อน/เย็น) ครื่องดื่มรสชอกโกแลต อาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.80 และ 1.12 ตามลำดับ อาทิ กับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ข้าวราดแกง ขณะที่เครื่องประกอบอาหาร ลดลงร้อยละ -0.93 อาทิ น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.42 ตามการลดลงน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท (ยกเว้นก๊าซธรรมชาติ (NGV)) ลดลงร้อยละ -5.44 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล ลดลงร้อยละ -0.87 โดยเฉพาะของใช้ส่วนบุคคล (แชมพู แป้งทาผิวกาย ยาสีฟัน) จากการแข่งขันทางการตลาดเป็นสำคัญ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ลดลงร้อยละ -0.04 (รองเท้า เสื้อผ้าบุรุษและสตรี) และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.03 (เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ขณะที่ค่าโดยสารสาธารณะ สูงขึ้นร้อยละ 5.91 หมวดเคหสถาน สูงขึ้นร้อยละ 0.27 (ค่ากระแสไฟฟ้า ค่าเช่าบ้าน) หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.73 (ค่าเช่าเหมารถตู้ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นเล็กน้อยร้อยละ 0.04

3. เฉลี่ย 7 เดือน (ม.ค.-ก.ค.) ปี 2562 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2561 (AoA) สูงขึ้นร้อยละ 0.92 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 2.47 สูงขึ้นทุกหมวดสินค้า โดยข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง สูงขึ้นร้อยละ 4.27 โดยเฉพาะข้าวสารเจ้า และข้าวสารเหนียว เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ สูงขึ้น ร้อยละ 4.13 โดยเฉพาะเนื้อสุกร ราคายังคงสูงขึ้นต่อเนื่องจากช่วงที่ผ่านมา ไข่และผลิตภัณฑ์นม ร้อยละ 1.12 (ไข่ไก่ นมผง นมสด) ผักและผลไม้ ร้อยละ 5.38 (พริกสด มะนาว มะเขือ) เครื่องประกอบอาหาร ร้อยละ 1.62 (น้ำพริกแกง กะปิ ซอสมะเขือเทศ) เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ร้อยละ 0.72 (กาแฟ (ร้อน/เย็น) น้ำอัดลม กาแฟสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) ส่วนอาหารบริโภค-ในบ้าน และนอกบ้าน สูงขึ้นร้อยละ 0.74 และ 1.58 ตามลำดับ

หมวดอื่น ๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นร้อยละ 0.05 จากการสูงขึ้นของค่าโดยสารสาธารณะ ร้อยละ 2.91 หมวดเคหสถาน ร้อยละ 0.50 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล สูงขึ้นร้อยละ 0.16 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า ร้อยละ 0.19 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ สูงขึ้นร้อยละ 0.43 ขณะที่น้ำมันเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ -2.36 และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.04 ส่งผลให้หมวดพาหนะการขนส่ง การสื่อสาร ลดลง ร้อยละ -0.51 หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ดัชนีราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง

คาดการณ์เงินเฟ้อ ปี 2562 อยู่ระหว่าง 0.7 - 1.3 (YoY) (ค่ากลาง 1.0)

อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ 3.3 - 3.8 % (สศช.)

ราคาน้ำมันดิบดูไบ 60 - 70 เหรียญสหรัฐฯ/บาร์เรล

อัตราแลกเปลี่ยน 31.0 - 32.0 บาท/เหรียญสหรัฐ ฯ

สถานการณ์และปัจจัยสำคัญที่กระทบต่อเงินเฟ้อ ปี 2562

ราคาพลังงาน ยังคงมีความเสี่ยงจากความผันผวนในโครงสร้างการผลิตและความต้องการโลก รวมทั้งบริบททางการเมือง และความมั่นคงในภูมิภาคต่าง ๆ

การลงทุน มีทิศทางที่ดีขึ้น โดยมีสัญญาณจากความคืบหน้าการลงนามในสัญญาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใหม่ ความต่อเนื่องของโครงการลงทุนเดิม แต่ยังมีความเสี่ยงจากการที่ไม่สามารถทำงานได้ตามแผน

ราคาสินค้าเกษตร ราคาสินค้าเกษตรสำคัญยังคงมีแนวโน้มในทิศทางที่ดี รวมทั้งภาครัฐมีมาตรการแก้ไขปัญหาที่ชัดเจน

ราคาสินค้อุตสาหกรรม สินค้าอุตสาหกรรมหลายตัวที่ผลิตในประเทศมีสัญญาณต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แต่ยังมีแรงกดดันจาก การแข่งขันที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะจากการนำเข้า

การส่งออก มีความเสี่ยงจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก แต่โอกาสในการย้ายฐานการผลิตเพื่อส่งออกหลายชนิดมา ยังประเทศไทยยังมีอยู่สูง

ค่าเงินบาท มีความเสี่ยงและความผันผวนสูง ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจสหรัฐ รวมถึงปริมาณเงิน ทุนไหลเข้าในประเทศ

อื่น ๆ - การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ คาดว่าจะไม่ส่งผลโดยตรงต่อเงินเฟ้อมากนัก แต่อาจจะส่งผลกระทบทางอ้อมใน กรณีที่มีการปรับค่าแรงในระดับอื่นๆ ตามการปรับค่าสาธารณูปโภค รวมทั้งภาษีต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากการ คาดการณ์ เป็นต้น

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ