ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปของประเทศเดือนมีนาคม และไตรมาสที่ 1 ปี 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday April 7, 2020 12:51 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนมีนาคม 2563เท่ากับ 101.82

Highlights

อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมีนาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ -0.54 (YoY)หดตัวครั้งแรกในรอบ 33 เดือน และเป็นอัตราที่ต่ำที่สุดในรอบ 51 เดือน โดยมีสาเหตุสำคัญจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการลดลงของกลุ่มพลังงาน ที่ลดลงต่ำสุดในรอบ 48 เดือน (ร้อยละ -11.14) ตามภาวะสงครามราคาน้ำมันโลกระหว่างซาอุดิอาระเบียและรัสเซีย ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศลดลงถึง 11 ครั้งในเดือนนี้ นอกจากนั้น กลุ่มอาหารสดแม้จะยังขยายตัว แต่ขยายตัวในอัตราต่ำที่สุดในรอบปีที่ร้อยละ 2.46 เป็นผลจากความต้องการที่ลดลงตามจำนวนนักท่องเที่ยว การปิดให้บริการของร้านค้า และการปิดภาคเรียน ขณะที่ราคาอาหารสำเร็จรูป เครื่องประกอบอาหาร และของใช้ส่วนบุคคลยังทรงตัวและเปลี่ยนแปลงตามโปรโมชั่นของห้างโมเดิร์นเทรด อย่างไรก็ตาม สินค้าบางรายการ โดยเฉพาะ มะนาวปรับตัวสูงขึ้นตามภาวะภัยแล้ง และไข่ไก่ปรับขึ้นตามพฤติกรรมการซื้อไข่ครั้งละจำนวนมากเพื่อลดการเดินทางของผู้บริโภค ประกอบกับผลผลิตไข่ลดลงในช่วงฤดูแล้ง เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐานขยายตัวที่ร้อยละ 0.54 (ลดลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 0.58) และไตรมาสแรกปี 2563 เงินเฟ้อทั่วไปสูงขึ้นร้อยละ 0.41 (YoY)และเงินเฟ้อพื้นฐานสูงขึ้นร้อยละ 0.53 (YoY)

1. เทียบกับเดือนมีนาคม 2562 ลดลงร้อยละ -0.54(YoY)

โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้

  • หมวดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -1.74 จากการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารร้อยละ -4.93โดยราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง (น้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท) ลดลงร้อยละ -16.69หมวดการสื่อสาร(เครื่องรับโทรศัพท์มือถือ) ลดลงร้อยละ -0.04ขณะที่สินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเคหสถาน(ค่าเช่าบ้าน) สูงขึ้นในอัตราที่ชะลอตัวลงร้อยละ 0.09 (เดือนก่อนสูงขึ้นร้อยละ 0.22) จากการลดลงของก๊าซหุงต้มที่ลดลงร้อยละ -2.37 สิ่งที่เกี่ยวกับทำความสะอาด (ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า) ลดลงร้อยละ -0.94 หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อยกทรง รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ กางเกงขายาวสตรี) สูงขึ้นร้อยละ 0.09 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(แชมพู น้ำยาระงับกลิ่นกาย ค่าแต่งผมชาย ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) สูงขึ้นร้อยละ 0.36 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้นร้อยละ 0.47 และค่าโดยสารสาธารณะ (ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าโดยสารรถสองแถว ค่าโดยสารรถตู้) สูงขึ้นร้อยละ 5.70 รวมทั้ง หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(สุรา) สูงขึ้นร้อยละ 0.02
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.58 จากทุกหมวดสินค้ายกเว้นหมวดผักสดที่ลดลงร้อยละ -5.40 ได้แก่ มะนาว กะหล่ำปลี พริกสด แตงกวา จากปริมาณผักสดในแหล่งเพาะปลูกสำคัญที่เร่งเพาะปลูกในช่วงที่มีน้ำและครบช่วงเก็บเกี่ยวทำให้ปริมาณผักสดเข้าสู่ตลาดมาก ประกอบกับความต้องการการบริโภคที่ลดลงจากการหดตัวของการท่องเที่ยว การปิดร้านค้าและการปิดภาคเรียน ขณะที่สินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) สูงขึ้นร้อยละ 7.68 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร ปลานิล ไก่ย่าง กระดูกซี่โครงหมู) สูงขึ้นร้อยละ 1.78 ผลไม้สด(ส้มเขียวหวาน ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า สับปะรด) สูงขึ้นร้อยละ 2.25 เนื่องจากเป็นช่วงปลายฤดูของผลไม้บางชนิด ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมสด) สูงขึ้นร้อยละ 2.53 เครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) สูงขึ้นร้อยละ 2.76 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน กาแฟผงสำเร็จรูป) สูงขึ้นร้อยละ 2.30 อาหารบริโภคในบ้านและนอกบ้านสูงขึ้นร้อยละ 0.76 และ 0.41 ตามลำดับ จากกับข้าวสำเร็จรูป อาหารเช้า ข้าวแกง/ข้าวกล่อง อาหารเย็น(อาหารตามสั่ง) ข้าวราดแกง และก๋วยเตี๋ยว
2. เทียบกับเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ลดลงร้อยละ -0.86 (MoM)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ ลดลงร้อยละ -0.25 ตามการลดลงของ หมวดผักและผลไม้ร้อยละ -1.16 ประกอบด้วยผักสด (ผักคะน้า ผักบุ้ง แตงกวา มะเขือ ผักชี หัวหอมแดง) ลดลงร้อยละ -2.57 และผลไม้สด (มะม่วง ฝรั่ง ชมพู่ กล้วยน้ำว้า แตงโม) ลดลงร้อยละ -0.17 เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร ไก่สด กระดูกซี่โครงหมู ปลาทู กุ้งขาว) ลดลงร้อยละ -0.67 จากปริมาณการบริโภคลดลงขณะที่ผลผลิตยังคงมีปกติ โปรโมชั่นขนส่งอาหารในช่วงการระบาดของไวรัสโควิด-19 หรืออาหารประเภทโทรสั่ง (delivery) เช่น พิชซ่า และราคาข้าวราดแกงตามศูนย์อาหารบางแห่งปรับลดราคาเพื่อช่วยเหลือผู้บริโภค ทำให้อาหารบริโภคในบ้านลดลงร้อยละ -0.08 และอาหารบริโภคนอกบ้านลดลงร้อยละ -0.07 ขณะสินค้าที่ปรับสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช ซอสหอยนางรม เครื่องปรุงรส ซีอิ๊ว) สูงขึ้นร้อยละ 0.53 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(กาแฟผงสำเร็จรูป น้ำอัดลม ชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) สูงขึ้นร้อยละ 0.09 ข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง (ข้าวสารเจ้า ขนมอบ ขนมปังปอนด์) สูงขึ้นร้อยละ 0.21 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมเปรี้ยว ไข่เค็ม) สูงขึ้นร้อยละ 0.09
  • หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -1.21 ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารร้อยละ -3.16 จากการปรับลดราคาของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด ร้อยละ -10.23 ค่าโดยสารสาธารณะ (ค่าโดยสารเครื่องบิน) ลดลงร้อยละ -0.07 หมวดเคหสถาน(ก๊าซหุงต้ม ผงซักฟอก น้ำยารีดผ้า น้ำยาปรับผ้านุ่ม) ลดลงร้อยละ -0.10 หมวดการบันเทิง การอ่าน การศึกษาฯ(ห้องพักโรงแรม เครื่องรับโทรทัศน์) ลดลงร้อยละ -0.05 ขณะที่สินค้าและบริการที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อยกทรง กางเกงขายาวสตรี) สูงขึ้นร้อยละ 0.05 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(ยาสีฟัน แชมพู น้ำหอม โฟมล้างหน้า) สูงขึ้นร้อยละ 0.01 และหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(สุรา ไวน์) สูงขึ้นร้อยละ 0.02 และ หมวดการสื่อสารโดยเฉลี่ยไม่มีการเปลี่ยนแปลง
3.ไตรมาสที่ 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นร้อยละ0.41 (YoY)โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 1.81 ตามการสูงขึ้นของข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า) สูงขึ้นร้อยละ 7.91 เป็นผลต่อเนื่องจากปัญหาภัยแล้งที่ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตออกสู่ตลาดน้อย เนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร กระดูกซี่โครงหมู ปลานิล ไก่ย่าง) สูงขึ้นร้อยละ 2.58 ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมสด นมเปรี้ยว ไข่เป็ด) สูงขึ้นร้อยละ 1.66 ผลไม้สด (ฝรั่ง กล้วยน้ำว้า ส้มเขียวหวาน สับปะรด ) สูงขึ้นร้อยละ 2.36 เครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด น้ำปลา เกลือป่น) สูงขึ้นร้อยละ 2.04 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(น้ำอัดลม น้ำหวาน เครื่องดื่มรสช็อคโกแลต กาแฟ (ร้อน/เย็น)) สูงขึ้นร้อยละ 2.18 อาหารบริโภคในบ้าน(กับข้าวสำเร็จรูป ข้าวแกง/ข้าวกล่อง ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด) สูงขึ้นร้อยละ 0.74 และอาหารบริโภคนอกบ้าน(อาหารเช้า ข้าวราดแกง อาหารเย็น(อาหารตามสั่ง)) สูงขึ้นร้อยละ 0.38 ขณะที่ผักสด (ผักกาดขาว พริกสด มะนาว มะเขือเทศ ผักชี) ลดลงร้อยละ -2.55
  • หมวดอื่นๆที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.38 ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ -1.41 ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -6.05 และการสื่อสาร ลดลงร้อยละ -0.05 ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(รองเท้าหุ้มส้นหนังบุรุษ กางเกงขายาวสตรี เสื้อยืดสตรี) สูงขึ้นร้อยละ 0.08 หมวดเคหสถาน(ค่าเช่าบ้าน ไม้กวาด น้ำยาล้างจาน ค่าบริการขนขยะ) สูงขึ้นร้อยละ 0.15 หมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(น้ำยาระงับกลิ่นกาย โฟมล้างหน้า ค่าแต่งผมชาย) สูงขึ้นร้อยละ 0.31 หมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา(ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเล่าเรียน-ค่าธรรมเนียมการศึกษา) สูงขึ้นร้อยละ 0.59 และค่าโดยสารสาธารณะ(ค่าโดยสารรถประจำทาง ค่าโดยสารรถสองแถว ค่าโดยสารรถตู้) สูงขึ้นร้อยละ 5.80 ส่วนหมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ ราคาโดยเฉลี่ยไม่เปลี่ยนแปลง
4. ไตรมาส 1 ปี 2563 เทียบกับไตรมาสก่อนหน้า ลดลงร้อยละ -0.22(QoQ)โดยมีการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการ ดังนี้
  • หมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลงร้อยละ -0.56ตามการลดลงของหมวดพาหนะการขนส่งและการสื่อสารลดลงร้อยละ -1.52 ตามการลดลงของราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิง ร้อยละ -4.82 รวมถึงหมวดการบันเทิง การอ่านและการศึกษา(ค่าทัศนาจรใน-ต่างประเทศ) ลดลงร้อยละ -0.13 และหมวดการตรวจรักษาและบริการส่วนบุคคล(ลิปสติก ครีมนวดผม ผลิตภัณฑ์ป้องกันและบำรุงผิว) ลดลงร้อยละ -0.03รวมทั้งค่าโดยสารสาธารณะลดลงร้อยละ-0.31 ขณะที่หมวดเครื่องนุ่งห่มและรองเท้า(เสื้อยึดบุรุษ กระโปรงสตรี) สูงขึ้นร้อยละ 0.10 หมวดเคหสถาน(ค่าเช่าบ้าน น้ำยาปรับผ้านุ่ม น้ำยารีดผ้า) สูงขึ้น 0.06 และ หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์(เบียร์ สุรา) สูงขึ้นร้อยละ 0.06
  • หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้นร้อยละ 0.36 ตามสูงขึ้นของเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ(เนื้อสุกร ไก่สด กระดูกซี่โครงหมู) สูงขึ้นร้อยละ 2.65 เครื่องประกอบอาหาร(น้ำมันพืช มะพร้าว (ผลแห้ง/ขูด) ซอสหอยนางรม) สูงขึ้นร้อยละ 1.93 เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์(ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำปั่นผลไม้/ผัก น้ำผลไม้) สูงขึ้นร้อยละ 0.41 อาหารบริโภคในบ้าน(อาหารเย็น (อาหารตามสั่ง) อาหารตะวันตก (ไก่ทอด พิซซ่า)) สูงขึ้นร้อยละ 0.11 และอาหารบริโภคนอกบ้าน(กับข้าวสำเร็จรูป ก๋วยเตี๋ยว ข้าวผัด) สูงขึ้นร้อยละ 0.22 ขณะที่หมวด ไข่และผลิตภัณฑ์นม(ไข่ไก่ นมเปรี้ยว นมสด) ลดลงร้อยละ -1.18 หมวดผักและผลไม้ร้อยละ -1.90 ประกอบด้วย ผักสด (พริกสด มะเขือเทศ ต้นหอม ผักบุ้ง) ลดลงร้อยละ -3.11 ผลไม้สด (ทุเรียน ชมพู่ แตงโม) ลดลง ร้อยละ -0.75 รวมทั้งข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง(ข้าวสารเหนียว ข้าวสารเจ้า ขนมปังปอนด์) ลดลงร้อยละ -0.19
5. แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปไตรมาสที่ 2 ปี 2563

สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และแนวโน้มการลดลงของราคาพลังงานโลก เป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกของปี โดยส่งผลทั้งด้านอุปสงค์และด้านอุปทาน และยังไม่มีสัญญาณที่ชัดเจนว่าจะคลี่คลายได้เมื่อใด ในขณะที่สถานการณ์ภัยแล้ง แม้จะส่งผลต่อผลผลิตสินค้าเกษตรบางชนิด แต่โดยรวมน่าจะมีผลน้อยกว่าปัจจัยด้านอุปสงค์

ซึ่งหากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปภายใต้ความไม่แน่นอนและส่งผลให้พฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนแปลงในลักษณะที่ลดทอนความต้องการและลดกิจกรรมทางธุรกิจแล้ว คาดว่าเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 2จะมีโอกาสลดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงครึ่งหลังของปี

ดังนั้น กระทรวงพาณิชย์จึงปรับคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อ ทั้งปี 2563ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ดังนี้

เดิม ร้อยละ 0.4 -1.2 (ค่ากลางอยู่ที่ 0.8)

เป็น ร้อยละ (-1.0) -(-0.2) (ค่ากลางอยู่ที่ -0.6)

โดยมีสมมติฐานปี 2563ดังนี้
  • ราคาน้ำมันดิบดูไบเคลื่อนไหวในช่วง35-45เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล
  • อัตราแลกเปลี่ยนเคลื่อนไหวระหว่าง30.5-32.5บาท/เหรียญสหรัฐ
  • ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP)หดตัวร้อยละ5.8-4.8(อ้างอิงจากธนาคารแห่งประเทศไทย)

อย่างไรก็ตามหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญอาจมีการทบทวนกรอบการคาดการณ์เพื่อความเหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์อีกครั้งในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ