ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนตุลาคม 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 25, 2020 11:03 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

ดัชนีราคาส่งออก เดือนตุลาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน หดตัวลดลงที่ร้อยละ 0.1 (YoY) และหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 9 เดือน สะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ฟื้นตัวต่อเนื่อง หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 23.9 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ชะลอตัว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.6 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้น ส่วนไก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้าวติดลบครั้งแรกในรอบ 39 เดือน และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ได้แก่ น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นจากผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูปตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ทองคำ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร ที่ขยายตัวตามการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งมีความก้าวหน้าสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ที่ความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น

ดัชนีราคานำเข้า เดือนตุลาคม 2563 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อน ลดลงร้อยละ 1.3 (YoY) หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ลดลงร้อยละ 19.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.1 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รวมทั้งโครงรถและตัวถัง ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.2 ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และปลาทูน่าสดซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องที่ขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ ตามความต้องการใช้อุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ภายในประเทศที่ยังคงเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ เครื่องรับส่งสัญญาณและอุปกรณ์ (โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์) เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ ตามการปรับราคาของประเทศแหล่งนำเข้า ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มราคาส่งออก-นำเข้าของไทย ปี 2563 คาดว่าจะมีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้าๆ ในช่วงที่เหลือของปีโดยมีปัจจัยกดดัน ได้แก่ 1) ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ระยะที่ 2 ในประเทศสำคัญ ทำให้ความต้องการสินค้าสำคัญของโลกชะลอตัว 2) ราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า 3) ค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อความสามารถทางการแข่งขันด้านราคา อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยสนับสนุนให้ราคาส่งออก-นำเข้าสูงขึ้น ได้แก่ 1) ปัญหาภัยธรรมชาติส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตร และสินค้าเกษตรแปรรูปสูงขึ้น 2) การปรับตัวสูงขึ้นชั่วคราวของราคาทองคำ 3) สินค้าที่อยู่ในกระแสความต้องการของตลาด โดยเฉพาะสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น คอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และการสื่อสาร และ 4) ต้นทุนการขนส่งระหว่างประเทศที่สูงขึ้น

อัตราการค้า (Term of Trade) เดือนตุลาคม 2563

อัตราการค้าของไทย ในเดือนตุลาคม 2563 เท่ากับ 109.7 (เดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 109.4) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี โดยกลุ่มสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการแข่งขัน ได้แก่ เคมีภัณฑ์ ผักและผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผักและผลไม้ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิวเม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์พลาสติก ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก ได้แก่ น้ำมันดิบน้ำมันสำเร็จรูป แผงวงจรไฟฟ้า ทองแดงและผลิตภัณฑ์ ทองคำ นมและผลิตภัณฑ์นม กระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ และสิ่งทอและเสื้อผ้า

ดัชนีราคาส่งออกประจำเดือนตุลาคม ปี 2563

1. ดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนตุลาคม 2563 เท่ากับ 100.6 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 100.5) โดยดัชนีราคาส่งออกหมวดสินค้าเกษตรกรรม เท่ากับ 107.0 หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร เท่ากับ 110.6 หมวดสินค้าอุตสาหกรรม เท่ากับ 102.5 และหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง เท่ากับ 58.8

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคาส่งออกของประเทศเดือนตุลาคม 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น จากผลผลิตสินค้าสำคัญลดลง และตามทิศทางสินค้าที่ได้ประโยชน์จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้ยางพาราภายในประเทศและต่างประเทศมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปริมาณผลผลิตยางพาราออกสู่ตลาดลดลง ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง เนื่องจากผลผลิตออกสู่ตลาดลดลง และความต้องการผลิตภัณฑ์มันสำปะหลังในการส่งออกเพิ่มสูงขึ้นจากตลาดจีน และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตรสูงขึ้นร้อยละ 0.5 ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากผลผลิตในตลาดโลกลดลง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้มีความต้องการสินค้าอาหารที่เก็บไว้ได้นานเพิ่มขึ้น ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลี ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์ยาง ตามราคาสินค้าเกี่ยวเนื่องกับยางพาราที่ปรับเพิ่มขึ้น และอัญมณีและเครื่องประดับ ตามการเก็งกำไรของสินทรัพย์ปลอดภัย และกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ซึ่งเป็นสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ขณะที่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ราคาหดตัวคาดว่าเป็นปัจจัยชั่วคราว สำหรับหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้น

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 0.1 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

ดัชนีราคาส่งออกหดตัวลดลงและหดตัวในอัตราที่น้อยที่สุดในรอบ 9 เดือนสะท้อนถึงกิจกรรมทางเศรษฐกิจส่วนใหญ่ฟื้นตัวต่อเนื่อง หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วยหมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 23.9 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูปและน้ำมันดิบ ตามความต้องการใช้น้ำมันทั่วโลกที่ชะลอตัว จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 5.6 ได้แก่ ยางพารา เนื่องจากความต้องการใช้เพื่อผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้น ส่วนไก่ ผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง สูงขึ้นตามความต้องการของตลาดคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ข้าวติดลบครั้งแรกในรอบ 39 เดือน และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ได้แก่ น้ำตาลทราย เพิ่มขึ้นจากผลผลิตในตลาดโลกที่ลดลง อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และผลไม้กระป๋องและแปรรูปตามความต้องการบริโภคสินค้าประเภทอาหารจากทั่วโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ ยานพาหนะ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องใช้ไฟฟ้า และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน เช่น เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์พลาสติก และเคมีภัณฑ์ ส่วนสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ทองคำ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะ เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์สื่อสาร ที่ขยายตัวตามการพัฒนาเทคโนโลยีสมัยใหม่ซึ่งมีความก้าวหน้าสูงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้ง เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน และเครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ที่ความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น

2.3 เฉลี่ย 10 เดือน ม.ค.-ต.ค. ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 1.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 24.9 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ปรับตัวลดลงในช่วงก่อนหน้า และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ลดลงร้อยละ 0.8 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เม็ดพลาสติก เครื่องใช้ไฟฟ้า ผลิตภัณฑ์ยาง และผลิตภัณฑ์พลาสติก เป็นผลจากความต้องการสินค้าที่ชะลอตัวตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลก และสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน ขณะที่หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 2.3 ได้แก่ ข้าว ไก่ และผลไม้สดแช่เย็นแช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการสินค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ น้ำตาลทราย อาหารทะเลกระป๋อง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และอาหารสัตว์เลี้ยง ตามความต้องการสินค้าในหมวดอาหารที่ขยายตัว เนื่องจากได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19

ดัชนีราคานำเข้าประจำเดือนตุลาคม ปี 2563

1. ดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนตุลาคม 2563 เท่ากับ 91.7 (ปีฐาน 2555 = 100) (เดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 91.9) โดยดัชนีราคานำเข้าหมวดสินค้าเชื้อเพลิง เท่ากับ 53.9 หมวดสินค้าทุน เท่ากับ 105.3 หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป เท่ากับ 101.0 หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เท่ากับ 105.4 และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง เท่ากับ 95.8

2. การเปลี่ยนแปลงของดัชนีราคานำเข้าของประเทศเดือนตุลาคม 2563 เมื่อเทียบกับ

2.1 เทียบกับเดือนก่อนหน้า (MoM) ลดลงร้อยละ 0.2 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 1.3 ได้แก่ น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป มีการปรับตัวลดลงเนื่องจากความกังวลเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 หลังตัวเลขผู้ติดเชื้อยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 0.3 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รวมทั้งโครงรถและตัวถัง เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ภาระหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มขึ้นจนกระทบกำลังซื้อผู้บริโภค ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคและบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.2 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีสินค้าเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้าสู่ตลาดต่อเนื่อง และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ แผงวงจรไฟฟ้า ไดโอด ทรานซิสเตอร์และอุปกรณ์กึ่งตัวนำ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ อลูมิเนียมและผลิตภัณฑ์ เคมีภัณฑ์อินทรีย์ และเม็ดพลาสติก สำหรับหมวดสินค้าทุนไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่มีกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวลดลง ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ แต่คาดว่าจะลดลงชั่วคราวเนื่องจากภาพรวมของธุรกิจนี้ยังขยายตัวดี และกลุ่มสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้น ได้แก่ เครื่องจักรใช้ในอุตสาหกรรมและส่วนประกอบ และเครื่องรับส่งสัญญาณและอุปกรณ์ (โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์) ตามเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีประสิทธิภาพและอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตในยุคดิจิทัลมากขึ้น

2.2 เทียบกับเดือนเดียวกันปีก่อนหน้า (YoY) ลดลงร้อยละ 1.3 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิงเป็นหลัก ลดลงร้อยละ 19.6 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน เนื่องจากราคาน้ำมันดิบโลกลดลงจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มเศรษฐกิจโลก และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง ลดลงร้อยละ 1.1 ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์รวมทั้งโครงรถและตัวถัง ขณะที่หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 3.2 ได้แก่ ทองคำ เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า และปลาทูน่าสดซึ่งสอดคล้องกับการส่งออกอาหารทะเลกระป๋องที่ขยายตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ ตามความต้องการใช้อุปกรณ์สื่อสารรุ่นใหม่ภายในประเทศที่ยังคงเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.9 ได้แก่ เครื่องรับส่งสัญญาณและอุปกรณ์ (โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์) เครื่องคอมพิวเตอร์ และอุปกรณ์ ตามการปรับราคาของประเทศแหล่งนำเข้า ที่มีการพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยอย่างต่อเนื่อง

2.3 เฉลี่ย 10 เดือน (ม.ค.-ต.ค.) ปี 2563 เทียบกับปี 2562 (AoA) ลดลงร้อยละ 2.5 โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 22.9 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน ขณะที่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ เครื่องรับวิทยุโทรศัพท์ โทรเลข โทรทัศน์ เนื่องจากวัฏจักรสินค้าอยู่ในช่วงขาขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 1.8 ได้แก่ ทองคำ แผงวงจรไฟฟ้า และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 1.2 ได้แก่ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ การทดสอบเครื่องรับส่งสัญญาณและอุปกรณ์ (โทรศัพท์ วิทยุ โทรทัศน์) เครื่องคอมพิวเตอร์และอุปกรณ์ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.1 โดยเฉพาะรถยนต์นั่ง ซึ่งส่วนมากเป็นรถยนต์รุ่นใหม่ที่ผลิตภายในประเทศไม่ได้

อัตราการค้าประจำเดือนตุลาคม ปี 2563

อัตราการค้าของไทย ในเดือนตุลาคม 2563 เท่ากับ 109.7 (เดือนกันยายน 2563 เท่ากับ 109.4) ทั้งนี้ อัตราการค้ายังสูงกว่า 100 แสดงว่า ประเทศไทยยังมีความสามารถทางการแข่งขันที่ดี

กลุ่มสินค้าที่ไทยมีศักยภาพการแข่งขันด้านการส่งออกที่ดี และราคาส่งออกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นมากกว่าราคานำเข้า ประกอบด้วย 1) กลุ่มที่นำเข้าวัตถุดิบขั้นกลาง และส่งออกสินค้าขั้นสุดท้าย (เพื่อบริโภค หรือใช้เป็นส่วนประกอบอีกครั้งในประเทศคู่ค้า) เช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเม็ดพลาสติก และผลิตภัณฑ์พลาสติก สะท้อนถึงการส่งออกสินค้ากลุ่มนี้จะสร้างมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นภายในประเทศจากการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ 2) กลุ่มสินค้านำเข้าและส่งออกไม่มีความเกี่ยวเนื่องกันโดยตรงในด้านห่วงโซ่การผลิต โดยสินค้าที่นำเข้าจะเป็นสินค้าสำเร็จรูปใช้สำหรับการบริโภคภายในประเทศเป็นหลัก ขณะที่การส่งออกจะเป็นสินค้าที่ผลิตและใช้วัตถุดิบภายในประเทศเป็นสำคัญ เช่น ผักกระป๋อง เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง

กลุ่มสินค้าสำคัญที่มีราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก โดยเฉพาะเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านอย่างมือถือและอุปกรณ์สื่อสาร สะท้อนถึงการนำเข้าสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง ส่วนสินค้าส่งออกจะเป็นสินค้าที่มีเทคโนโลยีต่ำกว่า ทำให้ราคาส่งออกจึงต่ำกว่าราคานำเข้า ด้านน้ำมันสำเร็จรูปเป็นสินค้าเกรดที่ต่างกัน คาดว่าสินค้าที่นำเข้าจะเป็นสินค้าที่ผลิตในประเทศไม่ได้ สำหรับราคาทองคำนำเข้าที่สูงกว่าราคาส่งออกในช่วงนี้เป็นไปตามพฤติกรรมการเก็งกำไรของผู้ส่งออก เมื่อราคาทองคำในตลาดโลกเริ่มชะลอลงผู้ส่งออกจะมีสต๊อกสินค้าโดยการเร่งนำเข้าเพื่อจะรอขายหรือส่งออกเมื่อราคาสูงขึ้นในระยะต่อไป

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ