ดัชนีราคาส่งออก-นำเข้าของประเทศเดือนสิงหาคม 2566

ข่าวเศรษฐกิจ Monday September 25, 2023 13:04 —สำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า

Highlights

ดัชนีราคาส่งออก เดือนสิงหาคม 2566 เท่ากับ 109.4เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ขยายตัวขึ้น ที่ร้อยละ 1.1 (YoY)จากเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ขยายตัวร้อยละ 0.5 ปัจจัยหลักเป็นผลจากสถานการณ์ภัยแล้ง (เอลนีโญ) ที่ส่งผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตรลดลง และส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงสินค้าอุตสาหกรรมบางกลุ่มยังได้รับอานิสงส์จากคำสั่งซื้อที่มีอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมัน ทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นต่อเนื่อง และส่งผลให้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 6.6 โดยเฉพาะข้าว ได้รับอานิสงส์จากการที่อินเดียมีนโยบายระงับการส่งออกข้าวบางชนิด ทำให้ความต้องการสั่งซื้อข้าวจากไทยเพิ่มขึ้น ประกอบกับสภาพภูมิอากาศทั่วโลกเปลี่ยนแปลง อาจส่งผลกระทบต่อผลผลิตข้าวลดลง นอกจากนี้ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยธรรมชาติ และโรคใบด่างมันสำปะหลัง ทำให้ปริมาณผลผลิตลดลง ขณะที่ความต้องการบริโภคยังขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับไก่สดแช่เย็นแช่แข็ง และแปรรูป ราคาสูงขึ้นตามต้นทุนอาหารสัตว์ที่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 2.5 ได้แก่อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป น้ำตาลทราย อาหารสัตว์เลี้ยง และผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ตามต้นทุนวัตถุดิบที่ใช้ประกอบการผลิต และความต้องการบริโภคสินค้าจากประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตามความต้องการของตลาดที่ขยายตัวต่อเนื่อง สำหรับทองคำ ราคายังอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า ตามความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ติดลบในอัตราที่น้อยลง อยู่ที่ร้อยละ 5.2 จากเดือนกรกฎาคม 2566 ลดลงร้อยละ 15.3 และลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 6 ติดต่อกัน โดยเฉพาะน้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ตามความกังวลเกี่ยวกับอุปทานตึงตัว และความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

ดัชนีราคานำเข้า เดือนสิงหาคม 2566 เท่ากับ 110.8 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน หดตัวในอัตราน้อยลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 1.9 (YoY) จากเดือนกรกฎาคม 2566ที่หดตัวร้อยละ 3.3ปัจจัยหลักเป็นผลจากอุปสงค์น้ำมันของโลกเพิ่มขึ้น ขณะที่อุปทานน้ำมันตึงตัวหลังประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต ประกอบกับฐานราคาน้ำมันในเดือนสิงหาคม 2565 ที่ชะลอลงต่อเนื่องจากเดือนที่ผ่านมาส่งผลให้หมวดสินค้าเชื้อเพลิง ติดลบในอัตราน้อยลง ที่ร้อยละ 13.9 จากเดือนกรกฎาคม 2566 ที่ลดลงร้อยละ 21.2 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป และก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และหมวดสินค้าทุน ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 0.9 ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ เนื่องจากความต้องการสินค้าเพื่อการลงทุนลดลง และตามทิศทางราคาโลหะตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ขณะที่หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 2.8 ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก และส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ จากฐานที่ต่ำในปีก่อนหน้า และอุตสาหกรรมยานยนต์ฟื้นตัวดีขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณีเงินแท่งและทองคำ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ พืชและผลิตภัณฑ์จากพืช และเคมีภัณฑ์ ตามความต้องการนำมาใช้เป็นวัตถุดิบเพื่อการผลิตและบริโภคเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผักและผลไม้ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ และผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ตามความต้องการอุปโภคบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง

แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก และดัชนีราคานำเข้า เดือนกันยายน 2566 คาดว่าจะขยายตัวต่อเนื่อง ตามราคาสินค้าเกษตรและอาหารที่เกี่ยวเนื่องขยายตัวได้ดี สอดรับกับกระแสความมั่นคงทางด้านอาหารตลอดห่วงโซ่อุปทาน ตลอดจนแนวโน้มราคาพลังงานโลกที่ปรับสูงขึ้น ตามการปรับลดกำลังการผลิตของประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเสี่ยงที่คาดว่าจะส่งผลกระทบให้ดัชนีราคาส่งออก -นำเข้า ปรับตัวลดลงยังคงมีอยู่ ได้แก่ 1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้าสำคัญ โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยเติบโตช้ากว่าที่คาดการณ์ 2) ผลกระทบจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ 3) ประเทศคู่ค้าหลักยังคงดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวด 4) ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าปี 2565 และ 5)ความผันผวนของค่าเงินบาทอัตราการค้า (Term of Trade)เดือนสิงหาคม 2566

อัตราการค้าของไทย ในเดือนสิงหาคม 2566 เท่ากับ 98.7 (เดือนกรกฎาคม 2566 เท่ากับ 99.0) ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และยังคงต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกัน สะท้อนถึง ไทยยังมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้ายังสูงกว่าราคาส่งออก ส่งผลให้ราคานำเข้าน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำมันนำเข้าสูงกว่าส่งออก) สูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าการสูงขึ้นของราคาส่งออก ซึ่งหากราคาน้ำมันยังมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง จะส่งผลให้แนวโน้มอัตราการค้า เดือนกันยายน 2566คาดว่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากราคานำเข้าจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาส่งออก

1. เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 (MoM)สูงขึ้นร้อยละ 0.6โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 7.8 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป โดยเฉพาะน้ำมันดีเซล เนื่องจากสต็อกน้ำมันดีเซลในยุโรปลดลง และน้ำมันดิบ ราคาสูงขึ้นจากการที่กลุ่มโอเปกพลัสมีมติลดการผลิต 1.66ล้านบาร์เรลต่อวันไปจนถึงเดือนธันวาคม 2566 ประกอบกับสต็อกน้ำมันของสหรัฐฯ มีแนวโน้มลดลงหมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.9 ได้แก่ ข้าว เนื่องจากการงดส่งออกข้าวบางชนิดของอินเดีย รวมถึงจีนซึ่งเป็นผู้ผลิตข้าวรายใหญ่ของโลกเผชิญกับปัญหาอุทกภัยในภูมิภาคตอนเหนือและตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งเพาะปลูกข้าวที่สำคัญ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง จากความต้องการบริโภคผลไม้ไทยที่ยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในตลาดจีน และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง จากผลผลิตมันสำปะหลังทั่วโลกที่ไม่เพียงพอกับความต้องการ และหมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 0.4 ได้แก่ น้ำตาลทราย เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับอุปทานลดลงในกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ อาทิ อินเดีย และไทย ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเอลนีโญ ผลิตภัณฑ์ข้าวสาลีและอาหารสำเร็จรูปอื่น ๆ ได้รับผลกระทบจากการที่รัสเซียยุติข้อตกลงส่งออกธัญพืชของยูเครนผ่านทะเลดำ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ได้รับอานิสงส์จากความต้องการในจีนที่เพิ่มขึ้น และอาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ตามความต้องการของประเทศคู่ค้าที่มีอย่างต่อเนื่อง สำหรับหมวดสินค้าอุตสาหกรรม ดัชนีราคาไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีการเปลี่ยนแปลงในระดับกลุ่มสินค้าสำคัญ โดยสินค้าที่มีราคาสูงขึ้น ได้แก่รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากความต้องการรถยนต์ส่วนบุคคลที่เพิ่มขึ้น และเม็ดพลาสติก โดยเฉพาะโพลิเอทิลีน ที่ความต้องการในตะวันออกกลางและจีนเพิ่มขึ้น ขณะที่เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ราคาลดลงสอดคล้องกับความต้องการคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC)ทั่วโลกที่อยู่ในช่วงชะลอตัว

2.เทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 (YoY)สูงขึ้นร้อยละ 1.1โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ6.6 ได้แก่ ข้าว ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตในประเทศผู้ส่งออกสำคัญได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่เกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี ประกอบกับความต้องการข้าวจากต่างประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่องผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ได้รับอานิสงส์จากการที่จีนเปิดประเทศ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากผลผลิตได้รับความเสียหายจากปัญหาอุทกภัยในปีก่อนหน้า รวมถึงผลกระทบปีนี้จากโรคระบาดใบด่าง และปัญหาเอลนีโญ สำหรับไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ราคาอยู่ในระดับที่สูงกว่าปีก่อนหน้า ประกอบกับอุปทานตึงตัวเพราะยังอยู่ในช่วงประกาศภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขในสัตว์ เพื่อป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกในบราซิลซึ่งเป็นผู้ผลิตไก่รายใหญ่ของโลก หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 2.5 ได้แก่ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป สอดคล้องกับการคาดการณ์ว่าธุรกิจจะเติบโตในช่วงครึ่งปีหลังของปี 2566น้ำตาลทราย จากความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์เอลนีโญในมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งจะกระทบต่อประเทศผู้ผลิตรายใหญ่อย่างบราซิล อาหารสัตว์เลี้ยง ราคาสูงขึ้นเนื่องจากสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยังรุนแรง ทำให้ราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ของโลกพุ่งสูงขึ้น และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 0.7 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ จากความต้องการของประเทศคู่ค้าเพิ่มขึ้นเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยเฉพาะในกลุ่มเครื่องปรับอากาศที่ได้รับอานิสงส์จากภาวะเอลนีโญ ซึ่งทำให้สภาพอากาศร้อนยาวนานถึงครึ่งปีหลัง เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ราคาสูงตามแนวโน้มอุตสาหกรรมก่อสร้างที่จะเติบโตในปี 2566 ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง หดตัวร้อยละ 5.2 โดยเป็นการหดตัวในอัตราที่น้อยลง ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ จากปัญหาเศรษฐกิจโลกชะลอตัว โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนที่ขยายตัวต่ำกว่าคาดการณ์ จากภาคการผลิตชะลอตัว และวิกฤตภาคอสังหาริมทรัพย์

3. เฉลี่ย8 เดือน(ม.ค. -ส.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 (AoA)สูงขึ้นร้อยละ 1.0โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคาส่งออกปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเกษตรกรรม สูงขึ้นร้อยละ 3.8 ได้แก่ ข้าว ราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยอยู่ในระดับสูงสุดในรอบเกือบ 15ปี จากการที่อินเดียระงับการส่งออกข้าว ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2566ประกอบกับผลผลิตข้าวลดลงในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยวในซีกโลกเหนือ ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็งและแห้ง ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นจากการเปิดประเทศของจีนผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ราคาสูงขึ้นจากผลผลิตในไทยซึ่งเป็นผู้ส่งออกรายใหญ่ของโลก ได้รับความเสียหายจากโรคระบาดใบด่าง ครอบคลุมพื้นที่กว่า 3 ล้านไร่หมวดสินค้าอุตสาหกรรมการเกษตร สูงขึ้นร้อยละ 3.6 ได้แก่อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ราคาสูงขึ้นจากปรากฏการณ์เอลนีโญที่ส่งผลให้วัตถุดิบที่นำมาใช้ผลิตอาหารกระป๋องและแปรรูปลดลง อาหารสัตว์เลี้ยงตามต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สูงขึ้น ประกอบกับตลาดอาหารสัตว์เลี้ยงในจีนเข้าสู่ช่วงพัฒนาเชิงคุณภาพอย่างรวดเร็ว ท่ามกลางกระแสการเลี้ยงสัตว์ที่เติบโต น้ำตาลทราย ราคาสูงขึ้นเนื่องจากอินเดียซึ่งเป็นผู้ผลิตรายใหญ่ประสบปัญหาภัยแล้ง และหมวดสินค้าอุตสาหกรรม สูงขึ้นร้อยละ 1.0 ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ จากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนชิปเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ตามสถานการณ์ยานยนต์ที่ปรับตัวดีขึ้น และการเดินทางท่องเที่ยวในหลายประเทศที่ฟื้นตัว เครื่องใช้ไฟฟ้า ได้รับอานิสงส์จากปัญหาเอลนีโญที่ส่งผลให้อุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลกสูงขึ้น ขณะที่หมวดสินค้าแร่และเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 8.7 ได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป และน้ำมันดิบ ราคาลดลงจากความกังวลเกี่ยวกับอุปสงค์น้ำมันที่ชะลอตัวในจีน ซึ่งเป็นผู้นำเข้าน้ำมันรายใหญ่ของโลก รวมถึงได้รับแรงกดดันจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว

4. แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกเดือนกันยายน 2566 แนวโน้มดัชนีราคาส่งออก เดือนกันยายน 2566 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ปัจจัยหลักเป็นผลจากราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะปรับสูงขึ้น จากผลกระทบปัญหาภัยแล้ง รวมถึงการไม่มีสัญญาณชัดเจนในการฟื้นข้อตกลงกรณีรัสเซียให้ยูเครนขนส่งธัญพืชผ่านทะเลดำ ซึ่งกระทบต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก ประกอบกับราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น ตามการขยายเวลาการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ และส่งผลให้สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมันปรับสูงขึ้นตาม อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงจาก (1) การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกและประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะตลาดหลักอย่างจีน (2) สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยืดเยื้อ (3) ผลกระทบจากเงินเฟ้อที่ยังอยู่ในระดับสูง ทำให้หลายประเทศมีการดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ส่งผลให้ความต้องการสินค้าปรับตัวลดลง (4) ราคาน้ำมัน แม้จะมีทิศทางปรับสูงขึ้น แต่ยังคงต่ำกว่าปี 2565และ (5) ความผันผวนของค่าเงินบาท อาจทำให้แนวโน้มดัชนีราคาส่งออกไม่สามารถขยายตัวได้อย่างที่คาดการณ์ไว้

1. เทียบกับเดือนกรกฎาคม 2566 (MoM) สูงขึ้นร้อยละ 0.8โดยมีการเปลี่ยนแปลงดังนี้

หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง สูงขึ้นร้อยละ 4.6 ได้แก่น้ำมันดิบ และน้ำมันสำเร็จรูป เป็นผลจากอุปทานน้ำมันดิบในตลาดโลกมีแนวโน้มตึงตัว เนื่องจากเกิดเหตุไฟไหม้ถังเก็บน้ำมันที่โรงกลั่น MarathonPetroleumของสหรัฐฯ ประกอบกับซาอุดิอาระเบีย ประกาศขยายเวลาปรับลดกำลังการผลิต สำหรับก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน จากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้เกิดความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติและถ่านหินเพิ่มขึ้น หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.4 จากส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์เป็นสำคัญ ตามการฟื้นตัว4.6

ของอุตสาหกรรมยานยนต์ ล้อรถยนต์ และรถไฟฟ้า และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 0.1 ได้แก่ ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ผลิตภัณฑ์อาหารอื่น ๆ และเครื่องใช้เบ็ดเตล็ด เนื่องจากความต้องการบริโภคมีแนวโน้มเติบโตต่อเนื่อง ขณะที่หมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.4 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ตามความต้องการลงทุนที่ลดลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตและภาคบริการที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความต้องการคอมพิวเตอร์เริ่มเข้าสู่ภาวะชะลอตัว และผลิตภัณฑ์โลหะ เนื่องจากการลงทุนในภาคอสังหาริมทรัพย์ลดลง และหมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป ลดลงเล็กน้อย ที่ร้อยละ 0.1 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณีเงินแท่ง และทองคำ โดยเฉพาะทองคำ ราคาลดลงเนื่องจากเงินเหรียญสหรัฐฯ กลับมาแข็งค่า ทำให้ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยลดลงสำหรับเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ราคาปรับลดลงตามทิศทางราคาตลาดโลก จากอุปทานเหล็กส่วนเกิน ซึ่งได้รับผลกระทบจากวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน ทำให้ความต้องการใช้เหล็กที่เกี่ยวข้องกับอสังหาริมทรัพย์ลดลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ปุ๋ย ราคาสูงขึ้นเนื่องจากราคาวัตถุดิบปุ๋ยในตลาดโลกปรับเพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรหลายชนิดปรับตัวสูงขึ้น จึงทำให้มีปริมาณความต้องการใช้ปุ๋ยเพิ่มมากขึ้น2. เทียบกับเดือนสิงหาคม 2565 (YoY)ลดลงร้อยละ 1.9โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง ประกอบด้วย หมวดสินค้าเชื้อเพลิง หดตัวในอัตราน้อยลง ที่ร้อยละ 13.9 ได้แก่ น้ำมันดิบ เนื่องจากมีการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มประเทศผู้ผลิตน้ำมัน อาทิ ซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย ประกอบกับความต้องการใช้น้ำมันมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียมและถ่านหิน เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนจัด ส่งผลให้ความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 0.9 ได้แก่เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลจากความต้องการฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์(HDD) ปรับตัวลดลง เนื่องจากมีการนำอุปกรณ์(SSD)เข้ามาแทนที่ในการจัดเก็บข้อมูล ประกอบกับกำลังซื้อของผู้บริโภคเริ่มชะลอลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สำหรับเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ ปรับตัวลดลงจากการชะลอตัวของภาคการผลิตและภาคบริการ ขณะที่หมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 2.8 ได้แก่ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน และรถยนต์นั่ง เป็นผลจากการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมยานยนต์ในประเทศ ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และการเปิดตัวรถยนต์โมเดลใหม่ โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้า ประกอบกับการฟื้นตัวของตลาดแรงงาน การจ้างงานและรายได้ที่ปรับตัวดีขึ้น ส่งผลให้ความต้องการซื้อรถยนต์ใหม่เพิ่มขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.0 ได้แก่ เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ โดยเฉพาะทองคำ ราคายังทรงตัวสูงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า เนื่องจากความกังวลเรื่องเงินเฟ้อ วิกฤตสถาบันการเงินการธนาคาร ส่งผลให้ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มขึ้นสำหรับอุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า ได้รับปัจจัยหนุนจากสถานการณ์การขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกที่มีแนวโน้มคลี่คลายลง ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าเป็นหลัก ประกอบกับความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์บางประเภทมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 1.5 ได้แก่ ผัก ผลไม้ และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้ เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ ตามความต้องการอุปโภคบริโภคที่มีอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นผลจากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว สำหรับผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ตามความต้องการอุปกรณ์การแพทย์ที่เกี่ยวข้องกับสุขอนามัยและการดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

3. เฉลี่ย8 เดือน(ม.ค. -ส.ค.) ปี 2566 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2565 (AoA)ลดลงร้อยละ 1.1โดยมีการเปลี่ยนแปลง ดังนี้หมวดสินค้าที่ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวลดลง คือหมวดสินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 12.5 ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม และถ่านหิน ตามความต้องการใช้ที่ปรับตัวลดลง จากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ขณะที่หมวดสินค้าที่ส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้าปรับตัวสูงขึ้น ประกอบด้วยหมวดสินค้าอุปโภคบริโภค สูงขึ้นร้อยละ 2.6 ได้แก่ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผัก ผลไม้เสื้อผ้า รองเท้า และผลิตภัณฑ์สิ่งทออื่น ๆ เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด และสบู่ ผงซักฟอกและเครื่องสำอาง ตามความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง สำหรับผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม ปรับตัวสูงขึ้นเนื่องจากต้นทุนและวัตถุดิบของผู้ผลิตยาในประเทศมีแนวโน้มสูงขึ้น รวมถึงกระแสการใส่ใจสุขภาพและการดูแลสุขภาพแบบครบวงจรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป สูงขึ้นร้อยละ 2.4 ได้แก่ อุปกรณ์ ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะแผงวงจรไฟฟ้า ได้รับปัจจัยหนุนจากปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์เครื่องเพชรพลอย อัญมณี เงินแท่งและทองคำ โดยเฉพาะทองคำ ราคายังทรงตัวสูง เนื่องจากความกังวลเกี่ยวกับนโยบายทางการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ ทำให้ความต้องการถือครองสินทรัพย์ปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น สำหรับพืชและผลิตภัณฑ์จากพืช ตามความต้องการใช้เพื่อเป็นวัตถุดิบในการบริโภคเพิ่มขึ้น หมวดสินค้าทุน สูงขึ้นร้อยละ 0.8 ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เครื่องมือ เครื่องใช้ทางวิทยาศาสตร์ การแพทย์ และการทดสอบ และผลิตภัณฑ์โลหะ ราคายังปรับตัวสูงขึ้น ตามความต้องการลงทุนของภาคอุตสาหกรรมและภาคอสังหาริมทรัพย์ และหมวดยานพาหนะและอุปกรณ์การขนส่ง สูงขึ้นร้อยละ 0.6 ได้แก่ รถยนต์นั่ง รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก และส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน เป็นผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศทยอยฟื้นตัว ประกอบกับปัญหาการขาดแคลนชิ้นส่วนเซมิคอนดักเตอร์ที่เริ่มคลี่คลาย รวมถึงแนวโน้มความต้องการรถยนต์นั่งส่วนบุคคล และรถยนต์เพื่อการพาณิชย์เพิ่มขึ้นจากโครงการก่อสร้างแนวโน้มดัชนีราคานำเข้า เดือนกันยายน 2566 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ต่อเนื่อง ปัจจัยหลักเป็นผลจากแนวโน้มราคาวัตถุดิบนำเข้าจากต่างประเทศที่อาจปรับตัวสูงขึ้น จากการที่รัสเซียยุติข้อตกลงส่งออกธัญพืชยูเครนผ่านทะเลดำ ภาวะเอลนีโญที่ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรขาดแคลน ข้อพิพาทระหว่างจีนและไต้หวันที่อาจกดดันให้อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตเครื่องอิเล็กทรอนิกส์และแผงวงจรไฟฟ้าอยู่ในภาวะตึงตัว และราคาพลังงานปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องอย่างไรก็ตาม ทิศทางเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนจากผลกระทบของความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ยังไม่คลี่คลาย การดำเนินนโยบายการเงินแบบเข้มงวด ราคาน้ำมันมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นแต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าปี 2565และค่าระวางเรือที่ลดลง ทำให้ต้นทุนการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศลดลง ล้วนเป็นปัจจัยที่อาจส่งผลให้ดัชนีราคานำเข้าปรับลดลงได้

อัตราการค้าของไทย ในเดือนสิงหาคม 2566 เท่ากับ 98.7(เดือนกรกฎาคม 2566 เท่ากับ 99.0) ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และยังคงต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกัน สะท้อนถึงไทยยังมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก

อัตราการค้าของไทย ในเดือนสิงหาคม 2566เท่ากับ 98.7 (เดือนกรกฎาคม 2566 เท่ากับ 99.0) ลดลงจากเดือนก่อนหน้า และยังคงต่ำกว่า 100 เป็นเดือนที่ 20 ติดต่อกันสะท้อนถึง ไทยยังมีความเสียเปรียบทางโครงสร้างราคาระหว่างประเทศ เนื่องจากระดับราคานำเข้ายังสูงกว่าราคาส่งออก ส่งผลให้ราคานำเข้าน้ำมันและสินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับราคาน้ำมัน (ซึ่งมีสัดส่วนน้ำมันนำเข้าสูงกว่าส่งออก) สูงขึ้นในอัตราที่มากกว่าการสูงขึ้นของราคาส่งออก

สำหรับกลุ่มสินค้าที่ราคาส่งออกยังคงอยู่ในระดับที่สูงกว่าราคานำเข้า (ได้เปรียบในอัตราการค้า) ประกอบด้วย กลุ่มสินค้าที่ใช้วัตถุดิบขั้นกลางจากต่างประเทศในการผลิตเช่น เคมีภัณฑ์ เครื่องสำอาง สบู่และผลิตภัณฑ์รักษาผิวเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์พลาสติก เม็ดพลาสติก และเครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และกลุ่มสินค้าขั้นกลางที่ใช้วัตถุดิบภายในประเทศในการผลิตเช่น ผลไม้ ผลไม้กระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผลไม้ ผัก ผักกระป๋องและแปรรูป และของปรุงแต่งทำจากผัก และผลิตภัณฑ์ทำจากข้าวและแป้ง เป็นต้น

ขณะที่กลุ่มสินค้าที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก (เสียเปรียบในอัตราการค้า) ได้แก่ น้ำมันดิบ น้ำมันสำเร็จรูป ทองคำ ทองแดงและผลิตภัณฑ์ และนมและผลิตภัณฑ์นม นอกจากนี้ ยังมีสินค้าอื่น ๆ ที่ราคานำเข้าสูงกว่าราคาส่งออก อาทิ อัญมณีและเครื่องประดับ สิ่งทอและเสื้อผ้า แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และกระดาษและผลิตภัณฑ์กระดาษ เป็นต้น

แนวโน้มอัตราการค้า เดือนกันยายน 2566 คาดว่าจะปรับตัวลดลง ตามทิศทางราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลให้ราคานำเข้ามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมากกว่าราคาส่งออก

ที่มา: สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์

แท็ก ดัชนีราคา  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ