ร่างปฏิญญาพนมเปญ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 10, 2010 16:13 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างปฏิญญาพนมเปญและเอกสารสำหรับการประชุมผู้นำยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS Summit) ครั้งที่ 4

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างปฏิญญาพนมเปญและร่างแผนปฏิบัติการ ACMECS ค.ศ. 2010-2012 และอนุมัติให้นายกรัฐมนตรีรับรองร่างเอกสารดังกล่าว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขเอกสารดังกล่าวที่ไม่ใช่สาระสำคัญหรือไม่ขัดต่อผลประโยชน์ของไทย ให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการได้โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

ข้อเท็จจริง

ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจอิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง ประกอบด้วยสมาชิก 5 ประเทศ คือ กัมพูชา ลาว พม่า ไทย และเวียดนาม เป็นข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2546 เพื่อลดช่องว่างทางเศรษฐกิจระหว่างไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน ลดผลกระทบที่ไทยได้รับจากความแตกต่างในระดับการพัฒนา โดยมุ่งเน้นการสร้างงาน สร้างรายได้ พัฒนาขีดความสามารถของประชาชนตามแนวชายแดน เพื่อสร้างความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนในอนุภูมิภาค

สาระสำคัญ

1. ทบทวนการดำเนินการตามปฏิญญาผู้นำ ครั้งที่ 3 และความก้าวหน้าการดำเนินการในสาขาต่างๆ ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้าการลงทุน คมนาคม เกษตร อุตสาหกรรมและพลังงาน สาธารณสุข การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

2. รับรองร่างแผนปฏิบัติการ ACMECS ปี ค.ศ. 2010-2012 เพื่อส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืนและ ความมั่นคงในอนุภูมิภาค ประกอบด้วย รายละเอียดแผนการดำเนินความร่วมมือสาขาต่าง ๆ ของ ACMECS 8 สาขา ความร่วมมือกับหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา และความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับภาคเอกชนในท้องถิ่น

3. เร่งรัดการดำเนินการตามปฏิญญาผู้นำว่าด้วยการอำนวยความสะดวกและการส่งเสริมการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว ซึ่งผู้นำได้รับรองในการประชุม ACMECS Summit ครั้งที่ 3 เมื่อปี 2551 และส่งเสริมการประสานงานให้ใกล้ชิดขึ้น โดยการจัดงานแสดงสินค้าส่งเสริมความโปร่งใสและพัฒนากฎระเบียบและนโยบายที่เกี่ยวกับการค้าและการลงทุนที่ไม่ยุ่งยากและส่งเสริมให้มีการพบปะระหว่างสภาธุรกิจ ACMECS กับภาคเอกชนอย่างสม่ำเสมอ

4. ยินดีต่อการจัดตั้งกลไกความร่วมมือเรื่องข้าวในกลุ่มประเทศ ACMECS เพื่อให้เกิดการจัดตั้งสมาคมประเทศผู้ผลิตข้าวภายในประเทศ ACMECS ส่งเสริมความร่วมมือการถ่ายทอดเทคโนโลยีและแลกเปลี่ยนข้อมูลการเกษตร ป่าไม้ และประมง เพื่อเพิ่มผลผลิตความมั่นคงทางอาหาร และความปลอดภัยทางอาหาร รวมทั้งเร่งรัดการดำเนินการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญา และการสร้างความเข้าใจให้สาธารณชนทราบถึงกฎระเบียบ ขั้นตอน และประโยชน์ของการลงทุนเกษตรแบบมีสัญญา

5. ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลและถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิต การใช้พลังงานชีวภาพ ส่งเสริมความ ร่วมมือด้านพลังงานน้ำ การสำรวจน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ การพัฒนาระบบและเครือข่ายสายส่งไฟฟ้าในอนุภูมิภาค

6. ส่งเสริมการประสานงานอย่างใกล้ชิด ในการใช้ประโยชน์โครงข่ายคมนาคมทางบกอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะแนวพื้นที่เศรษฐกิจตามกรอบ GMS ทั้งตะวันออก-ตะวันตก (EWEC) แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (NSEC) และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (SEC) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยว รวมทั้งพัฒนาการเชื่อมโยงทางอากาศระหว่างเมืองใหญ่ แหล่งวัฒนธรรมและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ

7. ส่งเสริมการท่องเที่ยวใน ACMECS โดยการประชาสัมพันธ์แนวคิด “ห้าประเทศ หนึ่งจุดหมาย” (Five Countries,One Destination) ส่งเสริมการอำนวยความสะดวกในการเดินทาง สนับสนุนโครงการพัฒนาขีดความสามารถ เช่น จัดทำเว็บไซต์การท่องเที่ยว ACMECS และการขยายโครงการฝึกอบรมด้านการท่องเที่ยว

8. สนับสนุนการให้ทุนการศึกษาและทุนฝึกอบรมในสาขาต่าง ๆ ในกรอบ ACMECS รวมทั้งการฝึกอบรมวิชาชีพ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 พฤศจิกายน 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ