การให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 15, 2010 15:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ทบทวนมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม 2550 เรื่อง การให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริตของประเทศไทย โดยให้เร่งรัดกระบวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ โดยมิต้องรอให้ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (เพิ่มบทนิยาม) ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พ.ศ. .... (การกำหนดหลักการและวิธีการติดตามสินทรัพย์คืน) และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... (แก้ไขเพิ่มเติมหลักการให้ความร่วมมือระหว่างประเทศเกี่ยวกับการยึด อายัด หรือริบทรัพย์สิน) รวม 3 ฉบับ มีผลใช้บังคับก่อน ตามที่สำนักงาน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติเสนอ

ข้อเท็จจริง

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เสนอว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. เสนอให้รัฐบาลไทยเร่งรัดกระบวนการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยทรัพย์สินที่ได้มาจากการกระทำความผิด พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติความร่วมมือระหว่างประเทศในเรื่องทางอาญา พ.ศ. 2535 (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... รวม 3 ฉบับ เพื่ออนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาฯ และพิจารณาดำเนินการเพื่อให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยมิต้องมีการแก้ไขกฎหมายอนุวัติการ ทั้ง 3 ฉบับ ซึ่งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะองค์กรหลักตามรัฐธรรมนูญทำหน้าที่ในการต่อต้านการทุจริต ได้ประสานและติดตามความคืบหน้าในการดำเนินการให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ โดยปรากฏข้อเท็จจริงอันเป็นเหตุให้ประเทศไทยควรเร่งดำเนินการให้สัตยาบันเป็นภาคีแก่อนุสัญญาฯ ดังนี้

1. ปัจจุบันร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภาผู้แทนราษฎร และการแก้ไขยกร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวยังไม่มีความคืบหน้าเท่าที่ควรอันเป็นการส่งผลให้การให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เนิ่นนานออกไปอีก

2. ในคราวประชุมร่วมเรื่อง การเตรียมความพร้อมในการจัดประชุมนานาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ครั้งที่ 14 (14th International Anti-Corruption Conference : IACC) เมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2553 นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการ ป.ป.ช. ในฐานะประธานในการประชุมร่วม ได้เห็นชอบในหลักการให้สำนักงาน ป.ป.ช. นำเสนอเรื่องความเห็นเกี่ยวกับการเร่งรัดกระบวนการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาฯ โดยมิต้องรอการยกร่างหรือแก้ไขกฎหมายอนุวัติการทั้ง 3 ฉบับ ต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณา

3. ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากหน่วยงาน UNODC (United Nations Office on Drug and Crimes) ชี้แจงต่อที่ประชุมร่วมฯ ว่าอนุสัญญาฯ ดังกล่าวมีลักษณะพิเศษ คือ มีความมุ่งหมายให้เกิดความร่วมมือระหว่างประเทศในการต่อต้านการทุจริตให้มากที่สุด ซึ่งแตกต่างจากอนุสัญญาทั้งหลายในอดีต ที่ประเทศต่าง ๆ สามารถให้สัตยาบันเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ คู่ขนานไปกับการดำเนินการแก้ไขกฎหมายภายในของตนให้สอดคล้องกับพันธกรณีที่กำหนดในอนุสัญญาฯ ได้ อีกทั้งไม่มีบทลงโทษในกรณีที่รัฐภาคีไม่มีกฎหมายภายในรองรับครบถ้วน โดยมีเพียงกลไกควบคุมติดตามการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ของรัฐภาคี (Review Mechanism) และปัจจุบันทาง UNODC ได้เริ่มกลไกดังกล่าวในรอบแรกเมื่อเดือนกรกฎาคม 2553 ที่ผ่านมา และเห็นว่าการดำเนินการกลไกควบคุมติดตามผลการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ ในรอบต่อไป ร่างกฎหมายอนุวัติการทั้ง 3 ฉบับ ของประเทศไทยก็ควรที่จะมีผลใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้ว

4. ผลเสียของการที่ประเทศไทยยังอยู่ในสถานะประเทศผู้ลงนามโดยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ ส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศอย่างมาก นานาชาติและภาคเอกชนขาดความมั่นใจในการทำธุรกิจการค้าและการลงทุน ซึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เหลือเพียงประเทศไทยและประเทศพม่าเท่านั้น ดังนั้น ประเทศไทยจึงควรเร่งรัดกระบวนการให้สัตยาบันอนุสัญญาฯ โดยมิต้องรอให้ร่างพระราชบัญญัติทั้ง 3 ฉบับ มีผลใช้บังคับก่อน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ