รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 15:52 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการ

ในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง —บางแค และช่วงบางซื่อ — ท่าพระ

ของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง — บางแค และช่วง เตาปูน — ท่าพระ ในรูปแบบ PPP Gross Cost ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ โดยภาครัฐลงทุนค่างานโยธาทั้งหมด และเอกชนลงทุนค่างานระบบไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า รวมทั้งบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุงตามมาตรฐานการให้บริการที่กำหนดไว้ในเงื่อนไขของสัญญา โดยรัฐเป็นผู้จัดเก็บรายได้ค่าโดยสารและรายได้เชิงพาณิชย์จากการใช้ประโยชน์โครงสร้างงานโยธาและรถไฟฟ้าทั้งหมด และรัฐจะจ่ายคืนเอกชนในลักษณะค่าจ้างบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง โดยให้กระทรวงคมนาคมและการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ดำเนินการตามขั้นตอนของพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 โดยเคร่งครัดต่อไป

2. เห็นชอบการปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้าจำนวน 448 ล้านบาท ตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย สามารถตรวจสอบความปลอดภัย (Proof of Safety) ของระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และตัวรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนก่อนเปิดให้บริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ ให้กระทรวงการคลัง และสำนักงบประมาณ พิจารณาความเหมาะสมของกรอบวงเงินดังกล่าวในรายละเอียดก่อนที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยจะดำเนินการต่อไป

3. มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทยรับความเห็นของคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปดำเนินการอย่างเคร่งครัดต่อไป

4. มอบหมายให้กระทรวงการคลัง เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตรวจสอบความเหมาะสมของวงเงินลงทุนในรายละเอียดในส่วนของโครงการลงทุนที่ใช้เงินกู้ในการดำเนินการ พร้อมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลัง พิจารณาแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรเพื่อรองรับการดำเนินการดังกล่าวต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานว่า กระทรวงคมนาคม ได้เสนอรายงานการศึกษาและวิเคราะห์โครงการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ.2535 โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง — บางแค และช่วงบางซื่อ — ท่าพระ และการปรับเพิ่มกรอบวงเงินค่าจ้างที่ปรึกษาบริหารและควบคุมงานระบบรถไฟฟ้าจำนวน 448 ล้านบาท เพื่อให้ สศช. พิจารณานำเสนอคณะรัฐมนตรี โดยผลการศึกษาของ รฟม. เสนอให้รัฐควรเลือกรูปแบบการดำเนินโครงการที่เหมาะสมที่สุด คือ รูปแบบ PPP Gross Cost คือรัฐลงทุนค่างานโยธาทั้งหมด และให้เอกชนลงทุนค่างานระบบรถไฟฟ้าและขบวนรถไฟฟ้า โดยรัฐจะจ่ายคืนเอกชนในลักษณะค่าจ้างการบริหารการเดินรถและซ่อมบำรุง ซึ่งทำให้รัฐมีสิทธิโดยสมบูรณ์ในการกำหนดนโยบายการบริหารโครงการทั้งหมด

สาระสำคัญของโครงการ

1. ลักษณะทางกายภาพของโครงการ

(1) แนวเส้นทาง มีระยะทางรวม 27 กิโลเมตร เป็นเส้นทางต่อขยายจากรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคลที่บริเวณสถานีหัวลำโพงและสถานีเตาปูน ซึ่งจะทำให้โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินเป็นระบบรถไฟฟ้าวงแหวนรอบเขตพื้นที่กรุงเทพมหานคร แบ่งออกเป็น 2 ช่วง ได้แก่

  • ช่วงหัวลำโพง — บางแค ระยะทาง 14 กม. แนวเส้นทางเป็นทางใต้ดินเริ่มต้นจากสถานีหัวลำโพง (เชื่อมต่อกับสายเฉลิมรัชมงคล) ไปตามถนนเจริญกรุง ผ่านสถานีวัดมังกร สถานีวังบูรพา และเลี้ยวซ้ายผ่านถนนมหาไชย สถานีสนามไชย ลอดแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณปากคลองตลาดแล้วลอดคลองบางกอกใหญ่ ผ่านถนนอรุณอัมรินทร์ ถนนอิสรภาพ ไปสิ้นสุดที่สถานีอิสรภาพและเริ่มยกระดับผ่านสถานีท่าพระไปตามถนนเพชรเกษม ผ่านสถานีบางไผ่ สถานีบางหว้า สถานีภาษีเจริญ และสถานีบางแคที่บริเวณแยกถนนเพชรเกษมตัดกับถนนวงแหวนรอบนอก ช่วงบางแค
  • ช่วงบางซื่อ — ท่าพระ ระยะทาง 13 กม. เป็นทางยกระดับทั้งหมด แนวเส้นทางเริ่มต้นจากสถานีเตาปูนที่เป็นสถานีร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงบางซื่อ — บางใหญ่ ผ่านแยกบางโพและสถานีบางโพข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนจรัญสนิทวงศ์ ผ่านสถานีบางอ้อที่ย่านบางอ้อ สถานีบางพลัดที่ย่านบางพลัด สถานีสิรินทรที่แยกบางพลัด สถานีบางยี่ขันที่ย่านบางยี่ขัน สถานีบรมราชชนนีที่แยกบรมราชชนนี สถานีบางขุนนนท์ที่ย่านบางกอกน้อย สถานี
แยกไฟฉายที่บริเวณแยกไฟฉาย สถานีจรัญสนิทวงศ์ 13 และสิ้นสุดที่บริเวณแยกท่าพระ

(2) สถานี จำนวน 21สถานี โดยมีสถานีร่วม 3 สถานี (สถานีหัวลำโพง เตาปูน และท่าพระ)

(3) อาคารจอดแล้วจร จำนวน 1 แห่ง ได้แก่ สถานีหลักสอง

(4) ศูนย์ซ่อมบำรุง (Depot) และศูนย์ควบคุมการเดินรถ (OCC) 1 แห่ง ที่บริเวณเพชรเกษม 48

2. ปริมาณผู้โดยสารของโครงการ

หน่วย คน/วัน

                                       เส้นทาง                              ปี พ.ศ.
                                                            2555       2565       2575       2585
          ค่าโดยสาร 10+ 1.8 บาท/        บางซื่อ — ท่าพระ     255,767    265,557    302,692    327,958
                 สถานี                  หัวลำโพง - บางแค   207,275    306,107    332,918    346,672

(ไม่มีค่าเปลี่ยนถ่ายระบบ)

                 รวม                                     463,042    571,664    635,610    674,630
          ค่าโดยสาร 10 + 1.8 บาท/       บางซื่อ — ท่าพระ     205,686    214,584    248,033    271,756
                 สถานี                  หัวลำโพง - บางแค   148,581    178,458    208,447    230,262

(มีค่าเปลี่ยนถ่ายระบบ)

                 รวม                                     354,267    393,042    456,480    502,018

ที่มา รฟม.

3. แผนดำเนินงาน คาดว่าจะสามารถคัดเลือกเอกชนเข้าร่วมลงทุนในโครงการได้ในเดือน พ.ย. 2554 และสามารถเปิดให้บริการส่วนยกระดับในเดือน ก.พ. 2559 ส่วนสถานีใต้ดินในเดือน ธ.ค. 2559

4. วงเงินลงทุนรวมทั้งสิ้นประมาณ 83,123 ล้านบาท ประกอบด้วยการลงทุนของภาครัฐ (ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน งานโยธา และค่างานที่ปรึกษาระหว่างก่อสร้าง) ประมาณ 60,982 ล้านบาท การลงทุนของเอกชนที่เข้าร่วมลงทุน (ระบบไฟฟ้าและรถไฟฟ้า) ประมาณ 22,141 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ