แผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2554 - 2558

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 16:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย พ.ศ. 2554 — 2558 โดยใช้งบประมาณของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ และให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรับความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปประกอบการพิจารณาด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) รายงานว่า

1. ประเทศไทยเริ่มมีการดำเนินงานเกี่ยวกับสถิติของประเทศมาประมาณ 100 ปี โดยมีสำนักงานสถิติแห่งชาติ (สสช) ทำหน้าที่เป็นหน่วยสถิติกลางผลิตข้อมูลสถิติ นอกจากนั้นยังมีหน่วยงานภาครัฐจำนวนมากที่ผลิตข้อมูลสถิติจากระบบการรายงาน งานทะเบียน โดยส่วนใหญ่เป็นข้อมูลสถิติที่เกี่ยวข้องกับภารกิจและการดำเนินงานของหน่วยงาน จนถึงปัจจุบันมีการผลิตข้อมูลสถิติในเกือบทุกสาขา แม้ว่าการผลิตข้อมูลสถิติภายใต้ระบบดังกล่าวมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องแต่ก็เป็นการพัฒนาที่ไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เป็นการพัฒนาเพื่อตอบสนองประโยชน์ในการใช้งานของแต่ละหน่วยงานซึ่งมีข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณแตกต่างกันไป ส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านมาตรฐาน และคุณภาพของงานด้านสถิติและในบางกรณีก็มีความซ้ำซ้อนและสิ้นเปลืองในการดำเนินงาน

2. สสช ในฐานะหน่วยสถิติกลางในการบริหารระบบสถิติในภาพรวมของประเทศ จึงได้ประสานการจัดทำแผนแม่บทฯ กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การบริหารจัดการข้อมูลสถิติของประเทศเป็นระบบ โดยกำหนดกรอบความรับผิดชอบของหน่วยสถิติในการจัดทำข้อมูลสถิติให้มีความถูกต้อง ครบถ้วน ไม่ซ้ำซ้อนและตรงกับความต้องการ และสามารถใช้ข้อมูลร่วมกันได้ เพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณในการจัดทำข้อมูลสถิติของประเทศ ส่งผลให้ประเทศมีข้อมูลสถิติและสารสนเทศที่มีคุณภาพสำหรับใช้ในการบริหาร วางแผน ตัดสินใจเพื่อพัฒนาประเทศทั้งด้านสังคม เศรษฐกิจ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในมิติอื่นๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

3. สสช ได้ร่วมกับหน่วยงานระดับกระทรวงจัดทำแผนแม่บทฯ โดยเน้นกระบวนการหารือและการมีส่วนร่วมของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย โดยได้ดำเนินการจัดประชุมเพื่อชี้แจงทำความเข้าใจและระดมความคิดเห็นพร้อมข้อเสนอแนะจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดังนี้

1) จัดสัมมนา เรื่อง “แผนแม่บทระบบสถิติของประเทศ” โดยเชิญผู้เข้าร่วมประชุมหน่วยงานละ 2 คน รวมผู้เข้าร่วมประชุม 363 คน เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2552

2) จัดประชุม “โครงการจัดทำแผนแม่บทระบบสถิติของประเทศ” โดยเชิญผู้เข้าร่วมประชุมจากสำนักงานปลัดกระทรวง 20 กระทรวง รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 27 คน เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2552

3) จัดสัมมนาเรื่อง “แผนแม่บทระบบสถิติของประเทศ” โดยเชิญผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง จาก 20 กระทรวง รวมผู้เข้าร่วมประชุมทั้งสิ้น 52 คน เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553

4) ทำหนังสือเพื่อขอรับฟังความคิดเห็นจาก 20 กระทรวง

5) จัดประชุมผู้บริหารระดับสูงของ สสช เมื่อวันที่ 4 สิงหาคม 2553 ระดับผู้อำนวยการศูนย์/สำนัก เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2553

6) นำความคิดเห็นที่ได้มาพิจารณาและทำการปรับปรุงแผนแม่บทฯ เพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรี

4. เพื่อให้ประเทศมีข้อมูลทันตามความต้องการใช้ประโยชน์ สสช มีแผนที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ 2554 คือ การแปลงแผนแม่บทระบบสถิติประเทศ พ.ศ. 2254-2558 สู่ปฏิบัติ ดังนี้

1) จัดตั้งกลไกในการบริหารจัดการระบบสถิติ คือการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการ คณะกรรมการแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน (ด้านสังคม ด้านเศรษฐกิจ และด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม) และคณะอนุกรรมการสถิติรายสาขา

2) จัดประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการ คณะกรรมการแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน และคณะอนุกรรมการสถิติรายสาขา เนื่องจากในการจัดทำแผนแม่บทสถิติรายสาขาจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมของทุกหน่วยงาน การสร้างความเข้าใจ การพัฒนาองค์ความรู้ และการสร้างกระบวนการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน ควบคู่กับการสร้างกลไกให้เอื้อต่อการมีส่วนร่วม เพื่อให้เกิดระบบสถิติสาขาซึ่งประกอบด้วยหน่วยสถิติต่างๆ ดำเนินงานร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ ทั้งในด้านการผลิต การจัดเก็บ และการเผยแพร่ข้อมูลสถิติของสาขาที่ครบถ้วน สมบูรณ์ และมีประสิทธิภาพ

3) ส่งเสริมความรู้ในการบริหารระบบสถิติของประเทศ เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ตลอดจนภาคประชาชน มีความรู้ ความเข้าใจ ให้ความสำคัญและให้ความร่วมมือในการดำเนินงานตามแผนแม่บทระบบสถิติฯ กำหนดไว้ รวมทั้งหน่วยงานที่มีการดำเนินงานด้านสถิติสามารถผลิตสถิติได้อย่างมีคุณภาพและได้มาตรฐาน ตลอดจนมีการปฏิบัติงานในแนวทางเดียวกัน

4) จัดทำมาตรฐานสถิติ สสช ในฐานะที่เป็นหน่วยงานหลักที่ทำหน้าที่บริหารจัดการมาตรฐานสถิติของประเทศ จำเป็นจะต้องทำหน้าที่ทั้งในการจัดทำ ปรับปรุง ส่งเสริม พัฒนา และให้ความรู้แก่ผู้ใช้ข้อมูลสถิติเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจ และสามารถใช้มาตรฐานสถิติได้อย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานที่ให้ข้อมูลสถิติของประเทศสามารถเปรียบเทียบได้ในระดับสากลและสอดคล้องกับสภาวการณ์ของประเทศ

5. โครงสร้างแผนยุทธศาสตร์ของแผนแม่บทฯ ประกอบด้วย

5.1 วิสัยทัศน์ (พ.ศ. 2554 - 2558)

การวิเคราะห์จุดอ่อนและจุดแข็ง และประเด็นปัญหาของการจัดการข้อมูลสถิติประเทศไทยนำไปสู่การกำหนดวิสัยทัศน์ของแผนแม่บทระบบสถิติประเทศไทยได้ดังนี้

“ประเทศไทยมีระบบสถิติที่ทุกหน่วยงานร่วมกันขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดสถิติทางการที่ใช้ในการพัฒนาประเทศ”

5.2 พันธกิจ ได้แก่ 1) บริหารจัดการระบบสถิติของประเทศ 2) ส่งเสริมการผลิตข้อมูลสถิติที่ได้มาตรฐาน 3) ส่งเสริมการให้บริการข้อมูลสถิติแก่ทุกภาคส่วน

5.3 ตัวชี้วัดและเป้าประสงค์

ยุทธศาสตร์ที่ 1 การบริหารจัดการระบบสถิติอย่างมีประสิทธิภาพ ดังนี้ 1) โครงการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาด้านวิชาการ 2) โครงการจัดตั้งคณะกรรมการจัดระบบสถิติประเทศไทย 3 ด้าน 3) โครงการจัดตั้งคณะอนุกรรมการสถิติรายสาขา 4) โครงการจัดตั้งหน่วยประสานงานแผนแม่บทระบบสถิติฯภายใน สสช 5) โครงการจัดทำสถิติทางการ (ทะเบียน/ สำมะโน/สำรวจ) 6) โครงการพัฒนาเครือข่ายผู้ผลิตและผู้ใช้ข้อมูลสถิติรายสาขา 7) โครงการจัดทำแผนพัฒนาบุคลากรด้านสถิติและการบริหารระบบสถิติ

ยุทธศาสตร์ที่ 2 การพัฒนาข้อมูลสถิติให้มีมาตรฐาน ดังนี้ 1) โครงการผลิตสถิติทางการด้วยการสำรวจ 2) โครงการจัดทำมาตรฐานสถิติ 3) โครงการปรับปรุงข้อมูลสถิติให้ได้มาตรฐาน

ยุทธศาสตร์ที่ 3 การให้บริการข้อมูลสถิติอย่างทั่วถึง ดังนี้ 1) โครงการนำข้อมูลสถิติทางการเผยแพร่ต่อสาธารณะ 2) โครงการให้ความรู้การใช้ข้อมูลสถิติแก่ประชาชน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ