สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และมาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 29, 2010 17:42 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยหนาว และมาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ ของกระทรวงมหาดไทย สรุปได้ดังนี้

สาระสำคัญของเรื่อง

สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน - 27 ธันวาคม 2553)

1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 27 ธ.ค. 2553 - 1 ม.ค. 2554)

1.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 27 - 28 ธันวาคม 2553 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงจากประเทศจีนจะแผ่เข้ามาปกคลุมประเทศไทยตอนบนและทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนบางแห่ง อากาศจะเย็นลง โดยอุณหภูมิจะลดลง 2-4 องศา กับมีลมแรง ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคใต้ฝั่งตะวันออกตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีฝนเพิ่มขึ้นและคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างมีกำลังค่อนข้างแรงในระยะนี้ ส่วนในช่วงวันที่ 29 - 30 ธ.ค. 2553 บริเวณความกดอากาศสูงนี้มีกำลังอ่อนลง แต่ยังทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอากาศหนาวเย็นกับมีหมอกในตอนเช้าและมีหมอกหนาในหลายพื้นที่ ขอให้ประชาชนระมัดระวังอันตรายในการสัญจรไว้ด้วย หลังจากนั้นในช่วงวันที่ 31 ธ.ค. 2553 - 1 ม.ค. 2554 จะมีบริเวณความกดอากาศสูงระลอกใหม่จากประเทศจีนแผ่เสริมลงมาปกคลุมประเทศไทยตอนบน

1.2 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีโทรสารด่วนที่สุด ที่ มท 0616/ว 13708 ลงวันที่ 24 ธ.ค. 2553 แจ้งเตือนในช่วงระหว่างวันที่ 27-31 ธ.ค. 2553 ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 (สุราษฎร์ธานี) เขต 12 (สงขลา) และจังหวัดชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจังหวัดสตูล เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก และคลื่นลมแรง ในภาคใต้ อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรของประชาชน และมีโทรสารด่วนที่สุดที่ มท 0616/ว 13706 ลงวันที่ 24 ธ.ค. 2553 แจ้งเตือนในช่วงเทศกาลปีใหม่ ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต และจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสภาพอากาศหนาวเย็น และมีหมอกหนา อาจสร้างความเสียหายให้แก่ชีวิต ทรัพย์สิน ผลิตผลทางการเกษตร สัตว์เลี้ยงของประชาชน ตลอดจนผู้ใช้เส้นทาง เดินทางสัญจรไป-มาในบริเวณที่มีหมอกหนา อาจเกิดอุบัติภัยทางถนนได้ ในระยะนี้ถึงช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยจัดเจ้าหน้าที่ เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์

2. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2553 - 2554 ของจังหวัดขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และที่จังหวัดทุกจังหวัดด้วย

3. สถานการณ์ภัยหนาว (ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. - 27 ธ.ค. 2553)

ในขณะนี้ได้รับรายงานจังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) เนื่องจากมีสภาพอากาศหนาว (อุณหภูมิ 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) จำนวน 26 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ มุกดาหาร มหาสารคาม ยโสธร เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร หนองคาย อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ รวม 344 อำเภอ 2,668 ตำบล 33,997 หมู่บ้าน

4. การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน

4.1 จังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ทั้ง 26 จังหวัด รายงานว่าได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนผ้าห่มกันหนาวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ สมาคม มูลนิธิ ไปแล้ว รวม 295,933 ชิ้น

4.2 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ นครราชสีมา เชียงราย น่าน ลำปาง เชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

4.3 หอการค้าไทย-จีน และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้มอบผ้าห่มช่วยเหลือภัยหนาว จำนวน 2,000 ผืน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานกลางในการนำผ้าห่มกันหนาวไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ต่าง ๆ

4.4 บริษัท ซีพี จำกัด (มหาชน) (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 50,000 ผืน มูลค่า 12.5 ล้านบาท ซึ่งจัดซื้อจากกลุ่มแม่บ้านผู้ผลิตผ้าห่มนวม จังหวัดสกลนครตามนโยบายส่งเสริมอาชีพและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นของกระทรวงมหาดไทย และได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ในพื้นที่ 10 จังหวัดได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน พะเยา สกลนคร นครพนม เลย อุดรธานี และจังหวัดขอนแก่น

5. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว

กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์ เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพชรบูรณ์ ขอนแก่น สกลนคร ลำพูน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา ตาก กาฬสินธุ์ เลย และจังหวัดสกลนคร รวม จำนวน 13,600 ถุง นมอัดเม็ดจิตรลดา 50 กล่อง และนมสด 50 กล่อง

มาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่

ในห้วงปลายเดือนธันวาคมถึงต้นเดือนมกราคมของทุกปี เป็นช่วงที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ หน่วยงานต่าง ๆ และประชาชนจำนวนมาก จะจัดให้มีงานรื่นเริงเพื่อเฉลิมฉลอง โดยเฉพาะในช่วงเวลาก่อนเที่ยงคืนของวันที่ 31 ธันวาคม 2553 ซึ่งเป็นช่วงของการนับเวลาถอยหลังเข้าสู่ปีใหม่ และมักจะมีการจุดพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง ซึ่งมีความเสี่ยงที่อาจจะเกิดอัคคีภัยได้โดยง่าย ประกอบกับมีการสัญจรของประชาชนในห้วงเวลาดังกล่าวอย่างคับคั่ง เพื่อเดินทางท่องเที่ยวไปยังสถานที่ต่าง ๆ จึงมักจะเกิดอุบัติภัยจากการสัญจรทั้งทางบกและทางน้ำ ซึ่งสร้างความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นอย่างมาก กระทรวงมหาดไทย จึงได้สั่งการให้จังหวัดทุกจังหวัด และกรุงเทพมหานคร เตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอุบัติภัยทางบก ทางน้ำ และอัคคีภัย ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลปีใหม่ โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

1. กำชับหน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ภาคเอกชน และประชาชนที่จะจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลฯ ที่มีการเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง หรือการแสดงโดยใช้เทคนิคพิเศษ (Special Effect) โดยเฉพาะวันส่งท้ายปีเก่าและต้อนรับปีใหม่ ได้เตรียมการป้องกัน และใช้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ ตลอดจนการกำหนดมาตรการห้ามเล่นพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิงภายในสถานบันเทิงอย่างเด็ดขาดเพื่อมิให้เกิดอันตรายจากอัคคีภัย โดยดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด

2. ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเขตพื้นที่ ที่รับผิดชอบ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่และวางระบบสื่อสารเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็ว และทันท่วงที

3. กำชับให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตรวจตรา พื้นที่ชุมนุมชน สถานประกอบการ สถานบันเทิง อาคารหรือสถานที่ใด วัสดุสิ่งของภายในและโดยรอบ ที่มีสภาพเสี่ยงต่อการเกิด สาธารณภัยได้โดยง่าย และดำเนินการปรับปรุงแก้ไขตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้องต่อไป

4. กำชับให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตรวจตราเส้นทางสัญจร โดยเฉพาะบริเวณสถานที่ท่องเที่ยวทางน้ำ พื้นที่ตลิ่ง ความมั่นคงแข็งแรงของโป๊ะ ท่าเทียบเรือ ความปลอดภัยของเรือโดยสาร ที่มีสภาพเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติภัยได้โดยง่าย ให้แจ้งเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นทราบ เพื่อเข้าดำเนินการปรับปรุง แก้ไข ตามอำนาจหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง

5. ประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงบทลงโทษผู้ฝ่าฝืนกฎหมายให้ประชาชนได้รับทราบ และเข้าใจถึงภัยอันตรายที่เกิดขึ้นจากพลุ ประทัด ดอกไม้เพลิง รวมทั้งความประมาทเลินเล่อ หรือการกระทำใดๆ ที่มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน

6. จัดชุดเจ้าหน้าที่และสั่งใช้สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) พร้อมสนธิกำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ เพื่อดำเนินการดังนี้

6.1 เฝ้าระวังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย และความปลอดภัยอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริเวณพื้นที่จัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลฯ ที่มีประชาชนมาร่วมงานเฉลิมฉลองอย่างหนาแน่น

6.2 จัดเตรียมความพร้อมหน่วยเคลื่อนที่เร็ว พร้อมอุปกรณ์ดับเพลิง และกู้ภัย ในพื้นที่ที่ จัดงานเฉลิมฉลองฯ หรือพื้นที่ชุมนุมชน ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย สามารถเข้าปฏิบัติงานได้ทันทีที่เกิดภัยขึ้น

6.3 อำนวยความสะดวก และจัดระเบียบการจราจร รวมถึงการรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชนที่มาร่วมงานเฉลิมฉลองเทศกาลฯ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

7. หากเกิดอัคคีภัย อุบัติภัย หรือสาธารณภัยอื่นที่มีผลกระทบต่อประชาชนจำนวนมาก ให้ดำเนินการตามแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และรายงานให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทราบทันที ทางโทรศัพท์/โทรสาร หมายเลข 0- 2241-7450-5 หรือโทรศัพท์สายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อดำเนินการช่วยเหลือต่อไป

อนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว (ระหว่างวันที่ 21 - 27 ธันวาคม 2553 จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าได้เกิดแผ่นดินไหว แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2553 เวลา 00.19 น. แผ่นดินไหวบริเวณเกาะ Bonin ประเทศญี่ปุ่น ขนาด 7.7 ริกเตอร์ และเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2553 เวลา 20.16 น. แผ่นดินไหวที่บริเวณหมู่เกาะ Vanuatu มหาสมุทรแปซิฟิกตอนใต้ ขนาด 7.5 ริกเตอร์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 28 ธันวาคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ