รายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงานขององค์การมหาชน ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 12, 2011 08:53 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงาน ก.พ.ร. เสนอ ดังนี้

1. รับทราบรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนประจำปี งบประมาณ พ.ศ. 2552

2. มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นผู้ติดตามกำกับดูแลการดำเนินงานขององค์การมหาชน 3 แห่ง ซึ่งจะต้องดำเนินการปรับปรุงองค์กรตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 คือ สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน

สาระสำคัญของรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 ขององค์การมหาชน ประกอบด้วย

1. กรอบการประเมินผลและการกำหนดตัวชี้วัดผลการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552

กรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานขององค์การมหาชน           ตัวชี้วัด                              น้ำหนัก(ร้อยละ)
มิติที่ 1 มิติด้านประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน
แสดงถึงผลลัพธ์ ผลสำเร็จ หรือ
ความสามารถขององค์การมหาชนในการบรรลุ                 ตัวชี้วัดและน้ำหนักขึ้นกับ                           60
วัตถุประสงค์การดำเนินงานตามที่ได้กำหนดไว้                 วัตถุประสงค์การดำเนินงาน
และบรรลุพันธกิจยุทธศาสตร์ และเป้าประสงค์                 ยุทธศาสตร์และพันธกิจของแต่
ขององค์การมหาชน เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อ                ละองค์การมหาชน
ประชาชน
มิติที่ 2 มิติด้านคุณภาพการให้บริการ                                                                 10+A
แสดงการให้ความสำคัญกับผู้รับบริการ                       โดยมีตัวชี้วัดร่วมที่ประเมินผล
ในการบริการที่มีคุณภาพ  สร้างความพึงพอใจแก่               ทุกองค์การ ได้แก่  ระดับ                      (10)
ผู้รับบริการ                                          ความสำเร็จของการสำรวจความ
                                                  พึงพอใจของผู้รับบริการ
มิติที่ 3 มิติด้านประสิทธิภาพของการปฏิบัติงาน                                                          10+B
แสดงความสามารถหรือประสิทธิภาพใน                      โดยมีตัวชี้วัดร่วมที่ประเมินผล
การปฏิบัติงาน                                        ทุกองค์การ ได้แก่  ระดับ                      (10)
                                                  ความสำเร็จของการจัดทำต้นทุน
                                                  ต่อหน่วยผลผลิต
มิติที่ 4 มิติด้านการกำกับดูแลกิจการและการ                                                           10+C
พัฒนาองค์การ
แสดงความสามารถในการก้าวสู่อนาคต                      โดยมีตัวชี้วัดร่วมที่ประมินผล                     (10)
หรือการเตรียมพร้อมบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อ              ทุกองค์การ ได้แก่  ระดับการ
สร้างความพร้อมในการสนับสนุนยุทธศาสตร์และ                พัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการ
พันธกิจขององค์การ                                    และการพัฒนาองค์การ
                                                  น้ำหนักรวม                                  100
หมายเหตุ (1) A,B,C หมายถึง น้ำหนักที่เกิดจากการเจรจาความเหมาะสมกับองค์การมหาชนในมิติที่ 2,3,4

(2) การให้น้ำหนักร้อยละ 60 ในมิติที่ 1 เนื่องจากต้องการมุ่งเน้นที่ประสิทธิผลของการปฏิบัติงานเป็นหลัก

2. หลักการ

โดยที่การประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงาน ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการเจรจาข้อตกลงระหว่างคณะกรรมการเจรจาข้อตกลงและประเมินผลองค์การมหาชนซึ่งแต่งตั้งโดยคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เป็นผู้เจรจาความเหมาะสมของค่าเป้าหมายความสำเร็จตามตัวชี้วัด น้ำหนัก และเกณฑ์การให้คะแนน โดยคำนึงถึงภารกิจหลัก และยุทธศาสตร์ขององค์การมหาชนที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการบริหารองค์การมหาชน ประกอบกับ องค์การมหาชนแต่ละแห่งมีวัตถุประสงค์การจัดตั้ง วิสัยทัศน์ ภารกิจหลัก ยุทธศาสตร์ รวมทั้งระยะเวลาการจัดตั้งที่แตกต่างกัน จึงส่งผลให้การกำหนดค่าเป้าหมายความสำเร็จตามตัวชี้วัด น้ำหนัก และเกณฑ์การให้คะแนน รวมถึงประเภทของตัวชี้วัดในแต่ละองค์การมหาชนมีความแตกต่างกัน ตัวอย่างเช่น ตัวชี้วัดขององค์การมหาชนที่จัดตั้งใหม่จะเน้นตัวชี้วัดประเภทปัจจัยนำเข้าหรือกระบวนการ ในขณะที่ตัวชี้วัดขององค์การมหาชนที่มีพัฒนาการต่อเนื่อง จะเน้นตัวชี้วัดประเภทผลผลิตและผลลัพธ์ ดังนั้น การกำหนดตัวชี้วัดขององค์การมหาชนแต่ละแห่ง จึงมีลักษณะเป็นการเฉพาะ ไม่สามารถนำผลการประเมินไปใช้ในเชิงเปรียบเทียบกับองค์การมหาชนอื่นๆ โดยตรง

3. ภาพรวมผลการประเมิน

ผลการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนทั้งหมด จำนวน 21 แห่ง มีผลการปฏิบัติงานเป็นไปตามเป้าหมายที่กำหนด โดยเฉพาะในมิติที่ 1 มิติด้านประสิทธิผลของการปฏิบัติงาน ซึ่งมุ่งเน้นการประเมินผลลัพธ์ ผลสำเร็จ หรือความสามารถขององค์การมหาชนในการบรรลุวัตถุประสงค์การดำเนินงานตามที่ได้กำหนดไว้ และบรรลุพันธกิจ ยุทธศาสตร์ และเป้าประสงค์ขององค์การมหาชนเพื่อให้เกิดประโยชน์สุขต่อประชาชน

ทั้งนี้ หากพิจารณาจำแนกองค์การมหาชนตามระยะการจัดตั้งซึ่งส่งผลต่อการกำหนดตัวชี้วัด ค่าเป้าหมาย และเกณฑ์การให้คะแนนดังที่กล่าวข้างต้น อาจสรุปผลการประเมินขององค์การมหาชนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 องค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นหลังจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติองค์การมหาชนเมื่อปี พ.ศ. 2542 จำนวน 6 แห่ง ซึ่งการจัดตั้งองค์การมหาชนดังกล่าว มีการเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเป็นอย่างดี ทำให้องค์การมหาชนกลุ่มนี้มีพัฒนาการในการดำเนินงานที่ตรงกับวัตถุประสงค์การจัดตั้ง การกำหนดตัวชี้วัดจะมุ่งเน้นในลักษณะที่เป็นผลผลิต (Output) และผลลัพธ์ (Outcome) ในสัดส่วนที่มากกว่าองค์การมหาชนอื่น ทำให้คะแนนขององค์การมหาชนในกลุ่มนี้จะไม่สูงมาก ดังนี้

          ที่      องค์การมหาชน                                      วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          1      สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน                                           27 ก.ค. 2543
          2      โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์                                          25 ส.ค. 2543
          3      โรงพยาบาลบ้านแพ้ว                                              11 ก.ย. 2543
          4      สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ                         2 พ.ย. 2543
          5      สำนักงานรับรองมาตรฐานและประเมินคุณภาพการศึกษา                      3 พ.ย. 2543
          6      ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร                                            15 พ.ย. 2543

กลุ่มที่ 2 องค์การมหาชนที่จัดตั้งระหว่างปี 2544 — 2549 จำนวน 13 แห่ง จำแนกเป็นสองกรณี คือ กรณีที่ 1 องค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามนโยบายเฉพาะของรัฐบาลโดยมิได้ผ่านการให้ความเห็นจากหน่วยงานกลางที่เกี่ยวข้อง และกรณีที่ 2 องค์การมหาชนที่จัดตั้งขึ้นตามแนวทางที่คณะกรรมการปฏิรูประบบราชการและ ก.พ.ร. กำหนด ซึ่งความแตกต่างของการจัดตั้งองค์การมหาชน ส่งผลต่อการกำหนดตัวชี้วัด โดยเฉพาะตัวชี้วัดในมิติที่ 1 กล่าวคือ องค์การมหาชนที่มีวัตถุประสงค์การจัดตั้งขึ้นกับนโยบายของรัฐบาล เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงภารกิจและยุทธศาสตร์ซึ่งอาจเบี่ยงเบนจากวัตถุประสงค์การจัดตั้งที่มีอยู่เดิม หรือบางกรณีจะทำให้การกำหนดตัวชี้วัดไม่มีความต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ดี องค์การมหาชนในกลุ่มที่มีภารกิจชัดเจนก็สามารถดำเนินงานตามวัตถุประสงค์การจัดตั้งได้ดี ดังนี้

          ที่      องค์การมหาชน                                            วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          7      สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา                                30 พ.ค. 2544
          8      สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ                                 27 ก.ย. 2545
          9      สำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร                                          14 มี.ค. 2546
          10     สถาบันบริหารกองทุนพลังงาน                                              25 มี.ค. 2546
          11     องค์การบริหารพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน                         2 มิ.ย. 2546
          12     สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ                                23 ก.ย. 2546
          13     ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ                                        31 ต.ค. 2546
          14     สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ                             31 ธ.ค. 2546
          15     สำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้                                         4 พ.ค. 2547
          16     สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน                         16 พ.ค. 2548
          17     สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ                                          2 ก.ย. 2548
          18     สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง                                               14 ต.ค. 2548
          19     สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ                                        20 เม.ย. 2549

กลุ่มที่ 3 องค์การมหาชนที่จัดตั้งหลังจากปี 2549 จำนวน 2 แห่ง ตามมติคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อ วันที่ 18 กรกฎาคม 2549 (เรื่องขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน) เห็นชอบขั้นตอนการจัดตั้งองค์การมหาชน นั้น การกำหนดตัวชี้วัดจะมุ่งเน้นตัวชี้วัดระดับความสำเร็จในการดำเนินการ (milestone) ที่นำไปสู่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นในการปฏิบัติงาน ส่วนการกำหนดค่าเป้าหมาย เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลฐาน (baseline data) ทำให้ผลคะแนนที่หน่วยงานทั้งสองได้รับค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบองค์การมหาชนอื่น ดังนี้

          ที่      องค์การมหาชน                                           วันที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา
          20     องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก                                       6 ก.ค. 2550
          21     สำนักพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ                                        16 ก.ค. 2550

4. สรุปผลคะแนนและ Best Practice ตัวชี้วัดร่วม

ผลการประเมินของตัวชี้วัดร่วม 3 ตัวชี้วัด สรุปได้ดังนี้

(1) องค์การมหาชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีของตัวชี้วัดร้อยละของระดับความพึงพอใจในการให้บริการ คือ สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง โดยได้รับความพึงพอใจสูงถึงร้อยละ 90.96

(2) องค์การมหาชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีของตัวชี้วัดระดับการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาองค์การ คือ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศโดยได้รับคะแนน 4.7324

(3) องค์การมหาชนที่เป็นตัวอย่างที่ดีของตัวชี้วัดระดับความสำเร็จของการจัดทำตันทุนต่อหน่วยผลผลิต พบว่า ยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นตัวอย่างที่ดี เนื่องจากเกณฑ์การประเมินเป็นลักษณะของการวัดขั้นตอนการดำเนินการ เมื่อองค์การมหาชนดำเนินการตามขั้นตอนครบถ้วนก็จะได้คะแนนสูง อีกทั้งแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินการยังไม่มีความชัดเจนในการเชื่อมโยงจากผลการวิเคราะห์ตันทุนต่อหน่วยที่ดำเนินการมาทั้งหมด โดยเป็นกิจกรรมในลักษณะทั่วๆ ไปเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของตัวชี้วัดนี้

5. ปัจจัยสนับสนุน ปัญหาอุปสรรค ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะจากการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงานขององค์การมหาชน สรุปได้ดังนี้

(1) ปัจจัยสนับสนุน พบว่า องค์การมหาชนที่สามารถปฏิบัติงานได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีปัจจัยสนับสนุนที่สำคัญ คือ การมีส่วนร่วมของผู้บริหารระดับสูง การมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์มหาชน การมีโครงสร้างองค์กรและระบบบริหารจัดการที่เป็นระบบและคล่องตัว รวมทั้งการมีระบบสารสนเทศและฐานข้อมูลที่ดี มีการเก็บเอกสารอ้างอิงที่เป็นระบบและการกำหนดผู้กำกับดูแลตัวชี้วัด/ผู้จัดเก็บข้อมูลของแต่ละตัวชี้วัดอย่างทางการ

(2) ปัญหาอุปสรรค พบว่า องค์การมหาชนที่ไม่สามารถปฏิบัติงานได้บรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้ มีปัญหาอุปสรรคที่สำคัญ คือ มีการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบตัวชี้วัดทำให้ขาดความต่อเนื่องในการปฏิบัติงาน มีข้อจำกัดด้านบุคลากรและงบประมาณ มีการเปลี่ยนแปลงจากปัจจัยภายนอกที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น การไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง และความผันผวนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความล่าช้าในการประสานงานกับหน่วยงานอื่น เนื่องจากหน่วยงานอื่นมีภารกิจที่ต้องปฏิบัติเป็นจำนวนมาก

(3) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะที่สำคัญต่อการพัฒนาระบบคำรับรองการปฏิบัติงาน มีดังนี้

(3.1) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของสำนักงาน ก.พ.ร.

(3.1.1) คณะกรรมการขององค์การมหาชนแต่ละแห่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญอย่างยิ่งในการกำหนดทิศทางและกำกับการทำงานขององค์การมหาชนให้สนองตอบผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกลุ่มต่างๆ จึงสมควรกำกับ ดูแลให้องค์การมหาชนดำเนินการให้บรรลุตามแนวทางที่ได้กำหนดไว้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล

(3.1.2) จากการเปลี่ยนแปลงผู้รับผิดชอบตัวชี้วัดส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามตัวชี้วัด ส่งผลให้ขาดความต่อเนื่องในการดำเนินงานตามตัวชี้วัด ดังนั้น องค์การมหาชนจึงสมควรมีกระบวนการในการถ่ายโอนงานและถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการดำเนินการตามตัวชี้วัดเพื่อลดความเสี่ยงของการไม่บรรลุเป้าหมาย

(3.1.3) องค์การมหาชนที่ได้รับผลกการประเมินอยู่ในระดับสูง จึงสมควรพัฒนาต่อยอดโดยการสร้างนวัตกรรมเพื่อการการพัฒนาอย่างต่อเนื่องหรืออาจใช้แนวทางที่เป็นตัวอย่างที่ดี (Best Practice) เปรียบเทียบกับหน่วยงานอื่นๆ ในระดับนานาชาติเพื่อให้สามารถเทียบเคียงมาตรฐานระดับสากลต่อไป

(3.1.4) องค์การมหาชนที่มีขนาดใหญ่อาจพิจารณานำระบบประเมินภายใน (Internal Performance Agreement : IPA) ที่มีการถ่ายทอดค่าเป้าหมายและตัวชี้วัดระดับองค์กรสู่บุคคลในระดับผู้จัดการมาใช้ และนำผลการประเมินที่ได้มาใช้ในการพิจารณาจัดสรรสิ่งจูงใจ เป็นการสะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารที่จะมุ่งสู่การเป็นองค์กรที่มีการบริหารจัดการแบบมุ่งผลสัมฤทธิ์

(3.1.5) องค์การมหาชนสมควรชี้แจงรายละเอียดของการปฏิบัติงานมาตรการที่ได้ดำเนินการ วิธีการจัดเก็บข้อมูล และระบุปัจจัยสนับสนุนหรือปัญหา อุปสรรคต่อการดำเนินงาน รวมทั้งข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อประโยชน์ในการดำเนินงานและเป็นแนวทางในการปรับปรุงผลการปฏิบัติงานในอนาคต

(3.2) ข้อสังเกตและข้อเสนอแนะขององค์การมหาชน

(3.2.1) ระบบการวัดและประเมินผล เป็นสิ่งที่จำเป็นแต่สำหรับองค์การมหาชนในปัจจุบันถูกตรวจสอบ วัดและประเมินผลจากหน่วยงานต่างๆ เป็นจำนวนมาก เช่น สำนักงาน ก.พ.รสำนักงบประมาณ และสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ซึ่งหน่วยงานผู้ตรวจสอบจะพัฒนาหลักแนวคิด ทฤษฎีต่างๆ ที่แตกต่างกันตามแนวทางของตนให้องค์กรผู้ถูกประเมินนำมาใช้ปฏิบัติทำให้เป็นภาระแก่องค์การมหาชน ดังนั้น หน่วยงานผู้ตรวจสอบสมควรประสานงานและพัฒนาวิธีการวัดและประเมินผลร่วมกันและวัดผลการดำเนินงานหลักๆ ที่สะท้อนภาพรวมขององค์การเท่านั้น

(3.2.2) ตัวชี้วัดในลักษณะบังคับ ที่ต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการตามตัวชี้วัด เช่น การสำรวจความพึงพอใจโดยผู้ประเมินภายนอก สมควรมีการแจ้งให้องค์การมหาชนอย่างเป็นทางการก่อนล่วงหน้าอย่างน้อย 1 ปี ก่อนที่จะมีการวัดและประเมินผลเพื่อให้สามารถเตรียมการจัดทำคำของบประมาณให้สอดคล้องกับการดำเนินการจริง

(3.2.3) ตัวชี้วัดระดับการพัฒนาด้านการกำกับดูแลกิจการและการพัฒนาองค์การ มีจำนวนและรายละเอียดในการวัดและการประเมินผลมากเกินไป จึงสมควรปรับให้มีจำนวนประเด็นการวัดย่อยให้เหลือเฉพาะประเด็น หลักๆ เท่านั้น

6. ผลการประเมินองค์การมหาชน 3 แห่ง ตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552

ในการประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 6/2553 วันที่ 13 กันยายน 2553 มีมติให้สำนักงาน ก.พ.ร. ติดตามผลการดำเนินงานของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนาสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2552 (เรื่อง สรุปผลการประเมินองค์การมหาชนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2552) และเห็นชอบให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) เป็นผู้ติดตามกำกับดูแลต่อไป ซึ่งสรุปผลการประเมินได้ดังนี้

6.1 สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) (สคพ.) สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ

สคพ. จัดตั้งเพื่อให้การศึกษาอบรมและค้นคว้าวิจัย เพื่อส่งเสริมการค้าและการพัฒนา และดำเนินกิจกรรมอื่นที่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและองค์การสหประชาชาติเกี่ยวกับ สคพ. มีผลการประเมินที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า ผลการปฏิบัติงานในภาพรวมของ สคพ. สอดคล้องกับวัตถุประสงค์จัดตั้ง อย่างไรก็ตาม ยังมีคำถามจากสังคมอีกหลายประการถึงความสำคัญและการคงอยู่ขององค์กร เนื่องจาก สคพ.ไม่ได้ให้บริการแก่ ประชาชนไทยโดยตรง ผลการปฏิบัติงานจึงยังไม่อาจระบุให้ชัดเจนถึงประโยชน์ที่เกิดขึ้นแก่สังคมไทยเท่าใดนัก ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรมหาชนอื่น ๆ นอกจากนี้ อังค์ถัดซึ่งเป็นผู้ร่วมทำความตกลงให้จัดตั้ง สคพ. ไม่มีความชัดเจนในการสนับสนุนทรัพยากรที่จำเป็นให้แก่ สคพ. ส่งผลให้ สคพ. ต้องใช้งบประมาณแผ่นดินจัดการศึกษาและฝึกอบรมให้แก่ประเทศในเอเชียและภูมิภาคอื่น จึงเป็นประเด็นที่น่าพิจารณาทบทวนเป็นอย่างยิ่งในเชิงนโยบายทางการเมืองถึงการจัดตั้งเป็นองค์การมหาชนของสถาบันระหว่างประเทศประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา ว่าควรมีการเปลี่ยนแปลงไปเป็นองค์กรรูปแบบอื่นเพื่อเป็นการประหยัดงบประมาณของรัฐ หรือไม่ และโดยที่ ภารกิจของ สคพ. ในการพัฒนาศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ด้านการค้าระหว่างประเทศ การเงิน การคลังและการพัฒนาแก่ชาวไทยและชาวต่างประเทศในภูมิภาคเอเชียนั้น มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์และสอดคล้องกับภารกิจของทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงพาณิชย์และกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวคือ ภารกิจด้านวิชาการและการเสริมสร้างศักยภาพบุคลากรสอดคล้องกับกระทรวงศึกษาธิการ ด้านการค้า สอดคล้องกับกระทรวงพาณิชย์ กอปรกับประทรวงการต่างประเทศก็เป็นหน่วยงานที่ดูแลกิจการที่เกี่ยวข้องกับอังค์ถัด ดังนั้น การย้ายสังกัดของ สคพ. ไปอยู่ภายใต้กำกับของรัฐมนตรีอื่นจึงเป็นประเด็นที่มักจะถูกหยิบยกมาหารือ

6.2 สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) (สพพ.) สังกัดกระทรวงการคลัง

สพพ. จัดตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความช่วยเหลือพัฒนาเศรษฐกิจแก่ประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งในด้านวิชาการและการเงิน ตามประกาศของคณะกรรมการบริหารสำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน โดยอำนาจหน้าที่ สามารถโอนไปสังกัด กระทรวงการคลังหรือกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดหาเงินช่วยเหลือประเทศเพื่อนบ้าน หรือเชื่อมความสัมพันธ์กับประเทศเพื่อนบ้าน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมา สพพ. มุ่งเน้นการดำเนินงานไปที่การให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินแก่ประเทศเพื่อนบ้าน และการรวบรวมข้อมูล ศึกษา วิเคราะห์ วิจัย และจัดทำข้อเสนอแนะเกี่ยวกับการกำหนดนโยบาย มาตรการความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน เมื่อเปรียบเทียบกับต้นทุนและความคุ้มค่าในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศในอนาคตแล้วพบว่า การดำเนินการของ สพพ. สามารถให้ผลตอบแทนแก่ประเทศได้

6.3 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) (อพท.) สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี

อพท. จัดตั้งขึ้นเป็นหน่วยงานที่ทำหน้าที่ประสานการบริหารและพัฒนาพื้นที่เพื่อการท่องเที่ยวในเชิงบูรณาการ โดยดำเนินการในพื้นที่พิเศษที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ แต่ผลการดำเนินงานที่ผ่านมามีปัญหาเกี่ยวกับ การพิสูจน์ถึงผลสำเร็จของการดำเนินงาน สืบเนื่องจาก ปัญหาความไม่ชัดเจนเกี่ยวกับบทบาทในการดำเนินงานในฐานะผู้ประสานการบริหารจัดการ และการจัดทำแผนแม่บทการพัฒนาพื้นที่พิเศษซึ่งไม่เคยผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการขาดการสนับสนุนจากหน่วยงานของรัฐที่เป็นเจ้าของพื้นที่และ/หรือหน่วยงานที่มีอำนาจตามกฎหมาย ทำให้ อพท. เลือกดำเนินงานในเรื่องการปฏิบัติที่สามารถเห็นผลงานเชิงรูปธรรมได้มากกว่า แต่กลับนำไปสู่ปัญหาความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นและไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์การจัดตั้ง อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เห็นชอบการปรับปรุงภารกิจด้านการบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ โดยให้พัฒนา “ต้นแบบ” การบริหารจัดการพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยว โดยเลือกพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวตามประเภทของแหล่งท่องเที่ยว เพื่อนำไปใช้เป็นแนวทางในการปรับบทบาท หรือปรับปรุง อพท. ในระยะยาวต่อไป

สำนักงาน ก.พ.ร. ได้เสนอนายกรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติให้นำรายงานการประเมินผลการปฏิบัติงานตามคำรับรองการปฏิบัติงานขององค์การมหาชนประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาตามมติที่ประชุม ก.พ.ร. ครั้งที่ 8/2553 วันที่ 18 พฤศจิกายน 2553 ซึ่งนายกรัฐมนตรีพิจารณาแล้วมีคำสั่งให้นำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 11 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ