โครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานระยะที่ 1 : ส่วนสถานีไฟฟ้าแรงสูง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 14:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานระยะที่ 1 : ส่วนสถานีไฟฟ้าแรงสูง ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ในวงเงินลงทุนรวม 3,815 ล้านบาท (ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 1,505.0 ล้านบาทและค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ระบบในประเทศและการก่อสร้าง 2,310.0 ล้านบาท) ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพลังงาน (พน.) รายงานว่า

1. เนื่องด้วยอุปกรณ์ไฟฟ้าและโครงสร้างอาคารภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. จำนวนมากมีอายุการใช้งานมานาน จึงเสื่อมสภาพและมีความเสี่ยงที่จะเกิดความไม่พร้อมในการจ่ายไฟฟ้าได้ กฟผ. จึงได้จัดทำโครงการปรับปรุง/เปลี่ยนทดแทนหรือเพิ่มเติมอุปกรณ์ระบบส่งไฟฟ้าและอาคารควบคุมต่าง ๆ ในสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่มีอายุการใช้งานมานาน เพื่อให้อุปกรณ์ระบบส่งไฟฟ้าดังกล่าวมีความพร้อมจ่าย (Availability) ความเชื่อถือได้ (Reliability) และความมั่นคงระบบไฟฟ้า (Security) ซึ่งจะช่วยให้การส่งพลังงานไฟฟ้าของ กฟผ. มีความต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

2. สาระสำคัญของโครงการฯ สรุปได้ดังนี้

2.1 การปรับปรุงและขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่จำเป็นต้องปรับปรุงเร่งด่วนในพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ จำนวน 15 สถานีไฟฟ้าแรงสูง รวม 15 โครงการย่อย

2.2 ขอบเขตของงานสำหรับโครงการฯ จำนวน 15 สถานีไฟฟ้าแรงสูง สรุปได้ดังนี้ ปรับปรุงและเปลี่ยนอุปกรณ์ไฟฟ้าเป็นแบบ GIS หรือปรับปรุงและเปลี่ยนอุปกรณ์ในลานไกไฟฟ้า (Switchyard) และ Structure อุปกรณ์ไฟฟ้า ก่อสร้างอาคารควบคุม (Control Room) และสิ่งปลูกสร้าง ปรับปรุงและเปลี่ยน Board ระบบควบคุมและป้องกัน ปรับปรุงและเปลี่ยนระบบสื่อสาร งานระบบโยธาและงานก่อสร้าง/รื้อถอน รวมทั้งงานเบ็ดเตล็ด ปรับปรุงและเปลี่ยนสาย Power & Control Cable ภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง ปรับปรุงและเปลี่ยน Switchyard 22 เควี หรือ 33 เควี GIS พร้อมอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ปรับปรุงและเปลี่ยนระบบแสงสว่างภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง ปรับปรุงและเปลี่ยนระบบกล้องวงจรปิดภายในสถานีไฟฟ้าแรงสูง ปรับปรุงและเปลี่ยน Battery 125 VDC ปรับปรุงและเปลี่ยนระบบ Grounding System ปรับปรุงและเปลี่ยนหม้อแปลงเก่าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน

3. งานเบ็ดเตล็ดสำหรับการปรับปรุงและขยายสถานีไฟฟ้าแรงสูงจำนวน 1 โครงการย่อย เพื่อจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ และยานพาหนะเพื่อใช้ในการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ จัดซื้ออุปกรณ์ไฟฟ้าสำรอง (Spare Parts) ต่างๆ เพื่อการบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่เกิดชำรุดเสียหายในอนาคตระหว่างดำเนินโครงการ รวมทั้งจัดซื้อที่ดินและก่อสร้างอาคารพัสดุ เป็นต้น

4. ประมาณราคาโครงการฯ ค่าก่อสร้างโครงการปรับปรุงและขยายระบบส่งไฟฟ้าที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งาน ระยะที่ 1 : ส่วนสถานีไฟฟ้าแรงสูง คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 3,815.0 ล้านบาท แยกเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ 1,505.0 ล้านบาท (เทียบเท่า 47.0 ล้านดอลลาร์สหรัฐ) และค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้างอีก 2,310.0 ล้านบาท

             ปีงบประมาณ    ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์   ค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ใน         รวม
                               จากต่างประเทศ    ประเทศและการก่อสร้าง
                          ล้านบาท  ล้านดอลลาร์                ล้านบาท      ล้านบาท
                                       สหรัฐ
             2554              -        (-)                    10          10
             2555          409.4      -12.8                 486.4       895.8
             2556          949.5      -29.7              1,522.90    2,472.40
             2557          146.1       -4.5                 290.7       436.8
             รวม        1,505.00        -47              2,310.00    3,815.00

* หมายเหตุ : ใช้อัตราแลกเปลี่ยน 1 ดอลลาร์สหรัฐเท่ากับ 32 บาท

5. ในส่วนของแหล่งเงินทุน กฟผ. จะพิจารณาแหล่งเงินทุนในส่วนของค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศจากหลายแหล่งเงินทุน ได้แก่ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ ธนาคาร/สถาบันเพื่อการส่งออก-นำเข้า ธนาคารพาณิชย์/สถาบันการเงินเอกชน ต่างประเทศ และ/หรือในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนต่างประเทศ และ/หรือในประเทศ เงินรายได้ของ กฟผ. และสินเชื่อผู้ขาย ส่วนค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออุปกรณ์ในประเทศและการก่อสร้าง กฟผ. จะพิจารณาแหล่งเงินทุน ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์/สถาบันการเงินเอกชนในประเทศ การออกพันธบัตรลงทุนในประเทศ และเงินรายได้ กฟผ.

6. กำหนดแล้วเสร็จประมาณเดือนตุลาคม 2556 ถึง เมษายน 2557

7. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการดำเนินโครงการฯ

7.1 ลดโอกาสที่จะเกิดอุปสรรคการดำเนินธุรกิจของผู้ใช้ไฟฟ้า

7.2 เพิ่มความสามารถของสถานีไฟฟ้าแรงสูงที่เสื่อมสภาพตามอายุการใช้งานให้จ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ

7.3 เพิ่มระดับค่าความมั่นคงเชื่อถือได้ระบบไฟฟ้าและดัชนีสมรรถนะระบบส่ง

7.4 การวิเคราะห์ผลประโยชน์ตอบแทนการลงทุนของโครงการฯ ได้ผลดังนี้

  • Economic Internal Rate of Return = ร้อยละ 13.07
  • Financial Internal Rate of Return = ร้อยละ 10.99 และมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐศาสตร์ของโครงการคือ 760.50 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ