มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 14:46 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรและสมาชิก สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร

ที่ประสบอุทกภัยปี 2553

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอดังนี้

1. เห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือที่ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เสนอ และอนุมัติเงินงบประมาณเพื่อชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ของเกษตรกรให้แก่ ธ.ก.ส.

2. เห็นชอบในหลักการมาตรการให้ความช่วยเหลือที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) เสนอ และจัดสรรเงินงบประมาณให้กรมส่งเสริมสหกรณ์รับไปดำเนินการ

ทั้งนี้ ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณอีกครั้งหนึ่ง

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลัง (กค.) รายงานว่า

1. กค. โดย ธ.ก.ส. ได้ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ประสบอุทกภัยปี 2553 โดยพบว่าข้อมูลความเสียหาย มีดังนี้

1.1 ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 มีเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ประสบภัย 54 จังหวัด ได้รับความเสียหาย 532,139 ครัวเรือน (ราย) ในพื้นที่ 8,431,786 ไร่ ต้นเงินกู้ที่ได้รับผลกระทบต่อการชำระหนี้ จำนวน 24,000 ล้านบาท

1.2 จากการสำรวจความเสียหายเบื้องต้นพบว่ามีสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรได้รับความเสียหาย 273 แห่ง ใน 51 จังหวัด มีสมาชิก 49,877 ราย และต้นเงินกู้ที่มีผลกระทบต่อการชำระหนี้ 3,243.506 ล้านบาท

2. มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. และสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร มีดังนี้

2.1 ข้อเสนอของ ธ.ก.ส.

2.1.1 มาตรการให้ความช่วยเหลือ

(1) กรณีเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิตจากอุทกภัยดังกล่าวจะจำหน่ายลูกหนี้ออกจากบัญชีเป็นหนี้สูญ โดย ธ.ก.ส.รับภาระเอง

(2) กรณีเกษตรกรลูกค้าประสบภัยอย่างร้ายแรงและไม่เสียชีวิต

(2.1) หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบภัย

(2.1.1) ขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2553 — 2555

(2.1.2) งดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2553 — 2555 โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลตามอัตราดอกเบี้ย MRR-1 ซึ่งขณะนี้มีอัตราร้อยละ 5.75 ต่อปี

(2.1.3) หากการให้ความช่วยเหลือตาม (2.1.1) และ (2.1.2) ยังคงเป็นภาระหนักแก่เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. จะพิจารณาให้ความช่วยเหลือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้และฟื้นฟูอาชีพเกษตรกรให้สอดคล้องกับความสามารถในการชำระหนี้

(2.2) การให้เงินกู้ใหม่เพื่อฟื้นฟูการประกอบอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต

(2.2.1) ให้เงินกู้รายละไม่เกิน 100,000 บาท

(2.2.2) ลดดอกเบี้ยเงินกู้จากอัตราปกติที่ ธ.ก.ส. เรียกเก็บจากเกษตรกรลูกค้าร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี โดย ธ.ก.ส. จะขอชดเชยดอกเบี้ยจากรัฐบาลในอัตราร้อยละ 3 ต่อปี

(2.2.3) กำหนดชำระหนี้เงินกู้ตามความสามารถในการชำระหนี้ของเกษตรกรลูกค้า

(2.2.4) ธ.ก.ส. จะลดหย่อนหลักประกันการกู้เงินจากหลักเกณฑ์ปกติ ดังนี้

  • กรณีกู้เงินโดยจำนองอสังหาริมทรัพย์เป็นประกันให้ขยายวงเงินกู้จากที่กู้ได้ไม่เกินครึ่งหนึ่งของวงเงินจดทะเบียนจำนอง เป็นให้กู้ได้ไม่เกินวงเงินจดทะเบียนจำนอง
  • กรณีกู้เงินโดยใช้กลุ่มลูกค้ารับรองรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมตั้งแต่ 5 คนขึ้นไป ให้ขยายวงเงินในการค้ำประกันจากรายละไม่เกิน 150,000 บาท เป็นไม่เกิน 200,000 บาท

(3) มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและเสริมสร้างคุณภาพชีวิต โดย ธ.ก.ส. ผ่อนผันเงื่อนไข ดังนี้

(3.1) อัตราดอกเบี้ย

(3.1.1) ปีที่ 1 — 3 คิดดอกเบี้ยอัตรา MRR — 2 โดยใน 3 เดือนแรกของปีแรกคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 0 (ปัจจุบัน MRR มีอัตราร้อยละ 6.75 ต่อปี)

(3.1.2) ปีที่ 4 — 5 คิดดอกเบี้ยอัตรา MRR-1

(3.1.3) ตั้งแต่ปีที่ 6 ขึ้นไป คิดดอกเบี้ยอัตรา MRR

(3.2) ลดหย่อนหลักเกณฑ์การกู้เงินโดยใช้ที่ดินจำนอง หรือที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างจำนองเป็นหลักประกันให้ลูกค้ากู้เงินได้ไม่เกินร้อยละ 80 ของราคาประเมินที่ดิน หรือราคาประเมินที่ดินและราคาประเมินสิ่งปลูกสร้างรวมกัน

(4) มาตรการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อฟื้นฟูจากปัญหาอุทกภัย เพื่อเป็นการช่วยเหลือทางการเงินแก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นให้สามารถปรับปรุงพัฒนาและซ่อมแซมแก้ไขความเสียหายที่เกิดขึ้นจากปัญหาอุทกภัย ธ.ก.ส. จึงได้ผ่อนปรนเงื่อนไขการให้สินเชื่อเป็นกรณีพิเศษ โดยคิดดอกเบี้ยที่อัตรา MLR-2.25 (ปัจจุบัน MLR มีอัตราร้อยละ 4.75 ต่อปี)

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 2.1.1 (3) และ (4) ซึ่งเป็นมาตรการเพิ่มเติมแล้วเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ส่วนมาตรการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 2.1.1 (1) และ (2) คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแล้วเมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2553 ซึ่ง ธ.ก.ส. จำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือและอนุมัติวงเงินชดเชยให้ ธ.ก.ส. ด้วย

2.1.2 การขอเงินชดเชยดอกเบี้ยแทนเกษตรกรจากรัฐบาล

จากข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553 ธ.ก.ส. ได้ประมาณการวงเงินชดเชยตาม ข้อ 2.1.1 (2.1) และ (2.2) เป็นจำนวนเงิน 4,698 ล้านบาท และเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบตามมาตรการแล้ว ธ.ก.ส. จะได้ประสานกับสำนักงบประมาณ (สงป.) เพื่อขอจัดสรรงบประมาณชดเชยให้ ธ.ก.ส. ตามความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงต่อไป และหากปรากฏว่าในปีบัญชี 2553 เกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ประสบอุทกภัยเพิ่มขึ้นทั้งในเขตพื้นที่เดิมและในพื้นที่อื่นๆ อีก ธ.ก.ส. ขอถือใช้มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าดังกล่าวเช่นเดียวกัน

2.1.3 ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัย ธ.ก.ส. จะรับภาระจากการจำหน่ายหนี้สูญเกษตรกรลูกค้าเสียชีวิต 12 ราย รวมต้นเงินกู้และดอกเบี้ย 1,643,971 บาท และรับภาระส่วนต่างการคิดดอกเบี้ยในอัตราปกติกับอัตราที่ขอชดเชยจากรัฐบาลในการงดคิดดอกเบี้ยเงินกู้เดิมตามข้อ 2.1.1 (2.1) เป็นเงินประมาณ 1,388.40 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 10 พฤศจิกายน 2553)

2.2 ข้อเสนอของ กษ.

2.2.1 มาตรการให้ความช่วยเหลือ

(1) กรณีสมาชิกเสียชีวิตจากอุทกภัย ให้จำหน่ายหนี้ออกจากบัญชีของสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเป็นสูญ โดยรัฐบาลรับภาระหนี้แทน

(2) กรณีสมาชิกประสบภัยอย่างร้ายแรงแต่ไม่เสียชีวิต

(2.1) หนี้เงินกู้เดิมที่มีอยู่ก่อนประสบอุทกภัย ให้สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรขยายเวลาการชำระหนี้เงินกู้เป็นเวลา 3 ปี ตั้งแต่ปีบัญชี 2553 — 2555 งดคิดดอกเบี้ยเป็นเวลา 3 ปี รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยให้ตามอัตราที่สหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรเรียกเก็บจากสมาชิก

(2.2) เงินกู้สัญญาใหม่เพื่อฟื้นฟูอาชีพและพัฒนาคุณภาพชีวิต รายละไม่เกิน 100,000 บาท รัฐบาลชดเชยดอกเบี้ยเงินกู้ให้ร้อยละ 3 ต่อปี เป็นเวลาไม่เกิน 3 ปี

อย่างไรก็ตาม คณะรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นชอบในหลักการของมาตรการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 2.2.1 (1) และ (2) แล้วเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ซึ่ง กษ. จำเป็นต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบในมาตรการให้ความช่วยเหลือและอนุมัติวงเงินชดเชยให้กรมส่งเสริมสหกรณ์ด้วย

2.2.2 การขอเงินชดเชยแทนสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรจากรัฐบาล

ขอให้พิจารณาจัดสรรงบประมาณให้กรมส่งเสริมสหกรณ์รับไปดำเนินการ ดังนี้

(1) จ่ายชำระหนี้แทนสมาชิกที่เสียชีวิตและจ่ายชดเชยดอกเบี้ยปีแรกให้กับสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรรายย่อย โดย

(1.1) เปลี่ยนแปลงรายการงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2551 — 2553 คงเหลือจากการจ่ายอุดหนุนชดเชยดอกเบี้ยแทนสมาชิกที่ประสบอุทกภัยปี 2549 — 2550 ซึ่งได้รับอนุมัติจากกรมบัญชีกลางให้กันไว้เบิกเหลื่อมปีได้ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2553 คงเหลือรวม 5 รายการ เป็นเงินจำนวนทั้งสิ้น 35,993,338 บาท

(1.2) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 คงเหลือจากการจ่ายอุดหนุนชดเชยดอกเบี้ยแทนสมาชิกที่ประสบอุทกภัยปี 2551 ปีที่ 3 จำนวน 172,091,000 บาท ซึ่งดำเนินการเสร็จสิ้นตาม วัตถุประสงค์เดิมแล้ว

(1.3) สำหรับวงเงินส่วนที่เหลือเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบมาตรการแล้ว จะประสาน สงป. เพื่อจัดสรรงบประมาณให้กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ตามความเสียหายจริงที่เกิดขึ้น

(2) ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 — 2556 เพื่อจ่ายอุดหนุนชดเชยดอกเบี้ยปีบัญชี 2554 และ 2555 ให้กับสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร

2.2.3 ให้มาตรการให้ความช่วยเหลือตามข้อ 2.2.1 ครอบคลุมถึงสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในช่วงเวลาเดียวกันด้วย

3. เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 พฤศจิกายน 2553 ให้ กค. และ กษ. หารือในรายละเอียดกับ สงป. เพื่อพิจารณาแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม รวมทั้งการรับภาระหนี้และชดเชยดอกเบี้ยให้แก่กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ สถาบันเกษตรกร และ ธ.ก.ส. ตามที่เสนอ ซึ่ง กค. ได้มีการประชุมร่วมกับ สงป. ธ.ก.ส. และ กรมส่งเสริมสหกรณ์เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2553 เพื่อพิจารณารายละเอียดแนวทางการดำเนินงานที่เหมาะสม ซึ่งที่ประชุมได้พิจารณาแล้ว ไม่ขัดข้องกับแนวทางการช่วยเหลือที่เสนอ เนื่องจาก

3.1 มาตรการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. นั้น มีแนวทางการช่วยเหลือเช่นเดียวกับมาตรการที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้า ธ.ก.ส. ที่เกิดอุทกภัยปี 2548 ปี 2549 และปี 2551

3.2 มาตรการให้ความช่วยเหลือด้านหนี้สินของสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยปี 2553 ของ กษ. นั้น เป็นมาตรการเดียวกับของ ธ.ก.ส. ที่ให้ความช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ประสบอุทกภัย แต่จะมีต่างกันในบางกรณีที่ขอรับการอุดหนุนชดเชยจากรัฐบาล เนื่องจากสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกร แต่ละแห่งเป็นอิสระต่อกันและฐานะทางการเงินยังไม่มั่นคงพอที่จะรับภาระได้ และกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้ปรับปรุงให้มาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงสมาชิกสหกรณ์/กลุ่มเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในช่วงเวลาเดียวกันด้วยแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ