ผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ ครั้งที่ 2/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 14:54 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ครั้งที่ 2/2553 เมื่อ วันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 และเห็นชอบตามมติคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจดังกล่าว ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) ประธานกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ รายงานผลการประชุม กนร. ครั้งที่ 2/2553 เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2553 โดยมีสรุปสาระสำคัญ ดังนี้

1. งบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

มติที่ประชุม

รับทราบงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจและให้ดำเนินการเพื่อรายงาน กนร. พิจารณาในคราวประชุมครั้งต่อไป ดังนี้

1.1 ให้ฝ่ายเลขานุการฯ พิจารณามูลค่าการลงทุนที่รัฐวิสาหกิจสามารถประหยัดงบประมาณลงทุนในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 และศึกษาผลประโยชน์ที่ประชาชนและภาคการผลิตจะได้รับจากการประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานเนื่องจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงค่าเงินบาท

1.2 ให้รัฐวิสาหกิจพิจารณาปรับลดงบประมาณลงทุนของรัฐวิสาหกิจ ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ให้สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจและค่าเงินบาทที่เปลี่ยนแปลงไป โดยคำนึงถึงโครงการลงทุนที่มีรายการ Import Content แฝงอยู่เพื่อประกอบการพิจารณาด้วย

2. โครงการให้เอกชนเข้าร่วมงานในกิจการท่าเรือแหลมฉบัง

มติที่ประชุม

กนร. รับทราบการติดตามความคืบหน้าโครงการให้เอกชนเข้าร่วมงานในกิจการท่าเรือแหลมฉบัง และให้ดำเนินการเพื่อรายงาน กนร. พิจารณาในคราวประชุมครั้งต่อไป ดังนี้

2.1 ให้ฝ่ายเลขานุการ กนร. พิจารณาความเหมาะสมของอัตรา Discount Rate ที่นำมาคำนวณมูลค่าปัจจุบัน (Present Value) โดยคำนึงถึงผลกระทบของการปรับเกลี่ยการจ่ายผลตอบแทนที่มีระยะเวลานานกว่าเดิม และตรวจสอบ ความสอดคล้องของการขอขยายระยะเวลาก่อสร้างท่าเทียบเรือชุด D (ท่าเทียบเรือ D1 D2 และ D3) กับปริมาณ Excess Capacity ที่เหลืออยู่ โดยพิจารณาแผนการพัฒนาระบบขนส่งทางน้ำที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ตลอดจนความเป็นธรรมกับ ผู้ประกอบการเอกชนรายอื่นประกอบด้วย

2.2 ให้กระทรวงคมนาคมและการท่าเรือแห่งประเทศไทยพิจารณาแนวทางการกำหนดราคาค่าบริการที่มีความเป็นธรรมต่อการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการเอกชนในท่าเรือแหลมฉบัง โดยคำนึงถึงประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก และศึกษาการขยายท่าเรือแหลมฉบังให้สอดคล้องกับแผนแม่บทการพัฒนาท่าเรือกรุงเทพ เพื่อนำไปสู่การสร้างศูนย์กระจายสินค้า (Distribution Center) ของท่าเรือกรุงเทพในอนาคต ตลอดจนนำเสนอผลการศึกษาความเหมาะสมและความคุ้มค่าในการลงทุนพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ให้ กนร. พิจารณาต่อไป

3. การจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ

3.1 มติที่ประชุม

กนร. รับทราบการติดตามความคืบหน้าการจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของรัฐวิสาหกิจ พร้อมทั้งมีข้อสังเกตเพิ่มเติม ดังนี้

3.1.1 ให้ฝ่ายเลขานุการ กนร. พิจารณาจัดประเภทของรัฐวิสาหกิจให้สอดคล้องกับวิธีการดำเนินธุรกิจและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนมีแนวทางการกำกับดูแลที่เหมาะสม รวมทั้งการติดตามและตรวจสอบประเมินผลการดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทอย่างชัดเจน

3.1.2 ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาการดำเนินธุรกิจของหน่วยงานทั้ง 2 แห่ง ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 แล้วนำเสนอ กนร. พิจารณาต่อไป

3.1.3 ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์และการเคหะแห่งชาติพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาทางการเงินแล้วนำเสนอ กนร. พิจารณา ดังนี้

(1) กรณีโครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง

ศึกษาเปรียบเทียบมูลค่าความเสียหายระหว่างการดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จกับการยกเลิกสัญญาที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างทันที โดยคำนึงถึงทำเลที่ตั้งและความต้องการของตลาดประกอบการพิจารณา

(2) โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ

ศึกษาเปรียบเทียบผลกระทบทางการเงินที่เกิดขึ้นระหว่างการจำหน่ายให้เอกชนทั้ง โครงการภายใน 1 ปี กับการดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติเอง

(3) โครงการที่เป็นสินทรัพย์ระงับการพัฒนา

ศึกษาเปรียบเทียบผลประกอบการทางการเงินในการให้เอกชนเป็นผู้พัฒนาโครงการทั้งหมดกับการดำเนินการโดยการเคหะแห่งชาติเอง

(4) พิจารณาแนวทางการจัดตั้งหน่วยธุรกิจเฉพาะ เช่นเดียวกับกรณีบริษัทบริหารสินทรัพย์ (Asset Management Company) เพื่อแก้ไขปัญหาบ้านเอื้ออาทร

4. ข้อเสนอการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.)

4.1 มติที่ประชุม

กนร. เห็นชอบกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพจำนวน 1,251.159 ล้านบาท พร้อมทั้งข้อสังเกตเพิ่มเติมของคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553 โดยขอให้มีการปรับปรุงวงเงินอุดหนุนในขั้นตอนของการจัดทำบันทึกข้อตกลงการให้บริการสาธารณะประจำปี 2554 เพื่อไม่ให้ซ้ำซ้อนกับเงินอุดหนุนของภาครัฐในการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพประชาชน (โครงการรถเมล์ฟรี) ต่อไป

5. ข้อเสนอการขอรับเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ของการประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.)

5.1 มติที่ประชุม

กนร. เห็นชอบกรอบวงเงินอุดหนุนบริการสาธารณะประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ของการประปาส่วนภูมิภาคจำนวน 382.531 ล้านบาท ตามความเห็นของคณะกรรมการเงินอุดหนุนบริการสาธารณะ ครั้งที่ 3/2553 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2553

6. การจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)

6.1 มติที่ประชุม

6.1.1 เห็นสมควรมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมดำเนินการดังนี้

1) กำกับให้การรถไฟแห่งประเทศไทยเร่งดำเนินการตามแผนการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการของการรถไฟแห่งประเทศไทยและแผนการพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานระบบราง

2) พิจารณาเพิ่มกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภาคเอกชนเข้าร่วมในคณะกรรมการติดตามการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม เพื่อช่วยผลักดันการลงทุนของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

6.1.2 ให้คณะอนุกรรมการกำกับการดำเนินการตามแผนยุทธศาสตร์การปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อฟื้นฟูฐานะทางการเงินของการรถไฟแห่งประเทศไทย (โดยมีนายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ เป็นประธานคณะอนุกรรมการฯ) ดำเนินการกำกับดูแลการปรับโครงสร้างการบริหารจัดการกิจการของการรถไฟแห่งประเทศไทยให้มีความโปร่งใสและมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้รายงานผลการดำเนินงานให้ กนร. ทราบเป็นระยะๆ

7. การจัดทำแผนธุรกิจเพื่อพลิกฟื้นฐานะทางการเงินขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ

7.1 มติที่ประชุม

กนร. เห็นชอบให้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อพิจารณาการปฏิรูปองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ โดยมีนายจักรมณฑ์ ผาสุกวนิช เป็นประธานอนุกรรมการฯ และมีส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ สำนักงบประมาณ กระทรวงคมนาคม กระทรวงการคลัง และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ตลอดจนมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการฯ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาปฏิรูปองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ และความเชื่อมโยงกับระบบขนส่งมวลชนในภาพรวมในอนาคต ตลอดจนรูปแบบการดำเนินการจัดหารถโดยสารปรับอากาศใหม่ใช้ก๊าซธรรมชาติ (NGV) เป็นเชื้อเพลิง จำนวน 4,000 คัน ขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพด้วย

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ