องค์กรร่วมไทย-มาเลเซียขอความเห็นชอบในร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิต (Unitisation Agreement, UA)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 15:46 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง องค์กรร่วมไทย-มาเลเซียขอความเห็นชอบในร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิต (Unitisation Agreement, UA)

ระหว่างองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) และบริษัท Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS) สำหรับการ

เข้าร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งภูมี (Bumi) ในแปลง A-18 ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียและแหล่งภูมีใต้ (Bumi

South) ในแปลง PM 301 ของประเทศมาเลเซีย

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งภูมีและภูมีใต้ (Bumi - Bumi South UA) ระหว่างองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJA) และบริษัท Petroliam Nasional Berhad (PETRONAS — บริษัท น้ำมันแห่งชาติมาเลเซีย) สำหรับการเข้าร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งภูมีในแปลง A-18 ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซียและแหล่งภูมีใต้ในแปลง PM 301 ของประเทศมาเลเซีย โดยให้แจ้งองค์กรร่วมให้สามารถลงนามได้เมื่อร่างข้อตกลงได้ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุด (อส.) แล้ว ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ และอนุมัติให้กระทรวงพลังงานได้รับการยกเว้นการปฏิบัติตามมติ คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 28 ก.ค. 2552 (เรื่องการทำสัญญาระหว่างหน่วยงานของรัฐกับเอกชน) โดยในกรณีที่มีข้อพิพากให้สามารถนำเสนออนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดได้

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงพลังงาน (พน.) รายงานว่า

1. การผลิตก๊าซจากแหล่งภูมี (Bumi) ขององค์กรร่วมจะไม่สามารถกระทำได้หากไม่ได้รับการยินยอมจาก PETRONAS เนื่องจากโครงสร้างกักเก็บปิโตรเลียมมีความต่อเนื่องคร่อมเส้นกรอบพื้นที่พัฒนาเข้าร่วมไปในพื้นที่แปลง PM 301 ของประเทศมาเลเซีย องค์กรร่วมและ PETRONAS จึงเห็นชอบที่จะร่วมกันผลิตปิโตรเลียมในพื้นที่นี้ครอบคลุมพื้นที่149 ตารางกิโลเมตร (อยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาร่วม 95 ตารางกิโลเมตร และอยู่ในเขตพื้นที่ประเทศมาเลเซีย 54 ตารางกิโลเมตร) ในสัดส่วนแบ่งปันผลผลิตเบื้องต้น (Initial Tract Particpation, ITP) แปลง A-18 ขององค์กรร่วมได้รับร้อยละ 60.06 และแปลง PM 301 ของมาเลเซียได้รับร้อยละ 39.94

2. ตามสัญญาซื้อขายก๊าซ (Gas Sales Agreement, GSA) ของแปลง A-18 ของพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย องค์กรร่วมต้องส่งมอบก๊าซธรรมชาติให้แก่ผู้ซื้อระยะที่ 1 (ผลิตจากแหล่ง Cakerawala) ในอัตรา 390 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน (PETRONAS เป็นผู้รับก๊าซ) และระยะที่ 2 (ผลิตจากแหล่ง Bulan, Bumi และ Suriya) ในอัตรา 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน [บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เป็นผู้รับก๊าซ]

3. ร่างข้อตกลงเบื้องต้น (HOA) ที่คณะรัฐมนตรีของไทยได้มีมติเห็นชอบไปก่อนหน้านี้ (22 มกราคม 2551) เป็นเพียงกรอบหลักการเบื้องต้นซึ่งจะต้องมีการทำข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งภูมีและภูมีใต้ (Bumi - Bumi South UA) โดยทั้งสองฝ่ายได้เจรจาตกลงกันยกร่างแล้วเสร็จและได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์กรร่วมในการประชุมครั้งที่ 91 เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2553 ด้วยแล้ว รวมถึงได้มีการลงนามกำกับย่อ (Initial) โดยคู่สัญญาทุกรายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

4. ในการยกร่างข้อตกลงได้ร่างขึ้นภายใต้หลักการและอยู่ในกรอบของข้อตกลงเบื้องต้น (HOA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสอง องค์กรร่วมได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการขึ้นมาชุดหนึ่งประกอบด้วยเจ้าหน้าที่จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองประเทศ โดยฝ่ายไทยประกอบด้วยอธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน และผู้แทนจาก อส. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และกรมสรรพากรเป็นคณะอนุกรรมการช่วยตรวจพิจารณาร่างข้อตกลงดังกล่าวก่อนนำเสนอให้คณะกรรมการองค์กรร่วมพิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนเสนอขอความเห็นชอบจากรัฐบาลทั้งสองต่อไป

อนึ่ง พน. โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ส่งร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิต (Bumi - Bumi South UA) นี้ ให้ อส. ตรวจพิจารณาควบคู่กันไปด้วยแล้ว

5. ร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งภูมีและภูมีใต้ (Bumi - Bumi South UA) นี้จัดทำเพื่อกำหนดสิทธิและพันธะระหว่างองค์กรร่วมและ PETRONAS รวมถึงการดำเนินงานและการจัดการในการร่วมกันพัฒนาและ ผลิตปิโตรเลียมแห่งภูมีและภูมีใต้ โดยกำหนดขอบเขตพื้นที่ร่วมผลิต (Unit Area) ขนาด 149 ตารางกิโลเมตร (อยู่ในเขตพื้นที่พัฒนาร่วม 95 ตารางกิโลเมตรและพื้นที่ของประเทศมาเลเซีย 54 ตารางกิโลเมตร) กำหนดสัดส่วนแบ่งปันผลผลิตปิโตรเลียมเบื้องต้น (Initial Tract Particpation) คือ แปลง A-18 ได้รับร้อยละ 60.06 และแปลง PM 301 ได้รับร้อยละ 39.94 และสามารถ ทำการประเมินสัดส่วนผลผลิตปิโตรเลียม (re-determination) ทุก 5 ปี ในกรณีที่ผลการประเมินมีความแตกต่างกันโดยรวมเกินกว่าร้อยละ 3 ให้มีการปรับสัดส่วนแบ่งปันผลผลิตและให้แบ่งค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นตามสัดส่วนผลผลิตดังกล่าว ทั้งนี้ ให้ใช้แผนการพัฒนาของแปลง A-18 และขายก๊าซในราคาตามที่กำหนดในสัญญาซื้อขายก๊าซแปลง A-18 และให้มีคณะกรรมการ Unit Management Committee ฝ่ายละ 4 คนเท่า ๆ กัน ทำหน้าที่เป็นผู้บริหารจัดการและกำกับดูแลการดำเนินงาน

6. องค์กรร่วมได้มีหนังสือที่ MTJA/BS&LS/10/0222 ลงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 ขอนำร่างข้อตกลงว่าด้วยการร่วมกันผลิตปิโตรเลียมแหล่งภูมีและภูมีใต้ (Bumi - Bumi South UA) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการองค์กรร่วมแล้วเสนอให้รัฐบาลไทยพิจารณาให้ความเห็นชอบเพื่อให้เป็นไปตามข้อ 7 (2) (จ) ของความตกลงระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลมาเลเซียว่าด้วยธรรมนูญและเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดตั้งองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2553 เพื่อที่จะได้มีการลงนามข้อตกลงดังกล่าวระหว่างองค์กรร่วมและ PETRONAS ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--


แท็ก มาเลเซีย   petrol   satio  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ