ขออนุมัติให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามใน Letter of Agreement (LOA)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 15:50 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ลงนามใน Letter of Agreement (LOA)

และดำเนินการโครงการ UNEP-GEF Conservation and Sustainable Use of Cultivated and Wild

Tropical Fruit Diversity : Promoting Sustainable Livelihoods, Food Security and Ecosystem

Services (GLF-2328-2712-4A24)

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบให้กรมวิชาการเกษตร ดำเนินโครงการ UNEP-GEF Conservation and Sustainable Use of Cultivated and Wild Tropical Fruit Diversity : Promoting Sustainable Livelihoods, Food Security and Ecosystem Services (GLF-2328-2712-4A24)

2. เห็นชอบให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรลงนามใน Letter of Agreement (LOA) สำหรับโครงการฯ

3. อนุมัติในหลักการว่าก่อนที่จะมีการลงนาม หากมีการแก้ไข LOA ในประเด็นที่ไม่ใช่หลักการสำคัญ ขอให้อยู่ในดุลพินิจของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการต่างประเทศ

สาระสำคัญของเรื่อง

1. กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (กษ.) รายงานว่า

1.1 กรมวิชาการเกษตรได้พัฒนาโครงการฯ ตั้งแต่ปี 2547 เพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณภายใต้กรอบ United Nation Environment Program-Global Environment Facility (UNEP-GEF) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาวิธีการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมไม้ผลและการใช้ประโยชน์ของความหลากหลายของเชื้อพันธุกรรมไม้ผลในการเพิ่มรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น การช่วยส่งเสริมการป้องกันและลดสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันและอนาคต และเป็นการเพิ่มสมรรถนะและพัฒนาบุคลากรขอกรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1.2 โครงการฯ ได้รับอนุมัติให้ใช้เงินงบประมาณจำนวน 714,000 ดอลลาร์สหรัฐ จาก GEF-4 ภายใต้ GEF Resource Allocation Framework ของประเทศไทย และ Bioversity International (เดิม International Plant Genetic Resources Institute — IPGRI) ได้มีหนังสือลงวันที่ 1 มิถุนายน 2552 ขอให้อธิบดีกรมวิชาการเกษตรพิจารณาลงนามใน LOA เพื่อโอนเงินงบประมาณสำหรับการดำเนินการโครงการฯ อย่างไรก็ตาม กรมวิชาการเกษตรไม่สามารถดำเนินการโครงการฯ นี้ และไม่สามารถลงนามในข้อตกลง LOA ได้ หากไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ทั้งนี้ การโอนเงินงบประมาณในการดำเนินการโครงการฯ จะต้องมีการลงนามใน LOA ซึ่งจะให้กรมวิชาการเกษตรเป็นปีต่อปีเป็นระยะเวลา 5 ปี ถึงสิ้นสุดโครงการฯ

1.3 กรมวิชาการเกษตรได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมสนธิสัญญาและกฎหมายเพื่อพิจารณา LOA ดังกล่าว ซึ่งกรมสนธิสัญญาและกฎหมายได้ให้ความเห็นว่า เนื่องจาก Bioversity International มีสถานะเป็นองค์การระหว่างประเทศ และตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 6-7/2551 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 ซึ่งระบุว่า “หนังสือสัญญาหมายถึงความตกลงระหว่างประเทศทุกประเภทที่จัดทำขึ้นระหว่างประเทศไทยกับต่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศในรูปแบบที่เป็นลายลักษณ์อักษร และอยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายระหว่างประเทศไม่ว่าถูกบันทึกไว้ในเอกสารฉบับเดียวหรือหลายฉบับที่เกี่ยวพันกัน และไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร” จึงต้องได้รับความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน (ลงนาม) สำหรับประเด็นว่า ร่างหนังสือ LOA นี้เป็นหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาด้วยหรือไม่นั้น โดยที่ขณะนี้ยังไม่มีกฎหมายว่าด้วยการกำหนดขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญาตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 190 วรรคห้ากำหนด จึงเห็นควรใช้แนวปฏิบัติที่ผ่านมา กล่าวคือ ส่วนราชการเจ้าของเรื่องจะต้องเป็นผู้ให้ความเห็นคณะรัฐมนตรีและส่วนราชการที่เกี่ยวข้องจะต้องให้ความเห็นประกอบเพื่อการพิจารณาด้วย

1.4 กษ. ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า หนังสือสัญญาดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นการดำเนินการความร่วมมือทางวิชาการในด้านการพัฒนาวิธีการอนุรักษ์เชื้อพันธุกรรมไม้ผล และการใช้ประโยชน์ของความหลากหลายของเชื้อพันธุกรรมไม้ผลในการเพิ่มรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่น และการช่วยส่งเสริมการป้องกันและลดสภาวะโลกร้อนในปัจจุบันและอนาคต ซึ่งไม่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทยหรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง จึงไม่ถือเป็นหนังสือสัญญาตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฯ มาตรา 190 วรรคสอง

2. กษ. รายงานเพิ่มเติมว่า

2.1 ร่าง LOA ฉบับนี้ เป็นข้อตกลงเพื่อโอนงบประมาณที่ประเทศไทยจะได้รับในการดำเนินงานตามกิจกรรมต่างๆ สำหรับปีที่ 1 (Work Plan 2009 — 2010) จำนวน 81,748 ดอลลาร์สหรัฐ (ระหว่างวันที่ 1 มิถุนายน 2552 — 31 ธันวาคม 2552) ซึ่งโครงการฯ นี้ เป็นโครงการ 5 ปี (ตั้งแต่ 26 มกราคม 2552 — 31 ธันวาคม 2556) โดยจะต้องทำข้อตกลง LOA เป็นปีต่อปี แต่เนื่องจากประเทศไทยมีปัญหาการตีความข้อตกลง LOA ดังกล่าว ตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จึงทำให้มีความล่าช้า อย่างไรก็ตาม ทาง Bioversity International ได้มีหนังสือถึงกรมวิชาการเกษตรว่า ให้สามารถขยายเวลาจาก LOA ฉบับนี้ไปเป็นจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2553 และเมื่อจัดทำรายงานผลการดำเนินงานสำหรับปีที่ 1 แล้ว ก็สามารถทำข้อตกลง LOA เพื่อของบดำเนินการตามกิจกรรมต่างๆ สำหรับปีที่ 2 (Work Plan 2011) ได้เลย เนื่องจากเป็นโครงการฯ ต่อเนื่อง ซึ่งประเทศไทยจะได้รับงบประมาณทั้ง 5 ปี เป็นเงิน 714,000 ดอลลาร์สหรัฐ

2.2 สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการฯ ไม่มีผลภาระผูกพันในส่วนของ co-financing นั้น ประเทศไทยให้ความร่วมมือต่อโครงการฯ ในลักษณะ In kind คือการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ ต่อโครงการฯ และ In cash หมายถึง งบประมาณที่กรมวิชาการเกษตรและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการวิจัยอยู่แล้วโดยงบประมาณปกติที่เกี่ยวข้องกับพืชไม้ผล 4 ชนิดนี้ คือ มะม่วง เงาะ มังคุด และส้ม

2.3 ประโยชน์ เป้าหมาย ตัวชี้วัดของโครงการฯ คือ

1) ชุมชนที่ร่วมดำเนินโครงการจะมีรายได้เพิ่มขึ้นร้อยละ 10 เพื่อความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

2) ชุมชนมีการบริโภคผลไม้ทั้ง 4 ชนิด เพิ่มขึ้นร้อยละ 20 เพื่อเสริมสร้างสุขอนามัยให้มีสุขภาพที่ดีขึ้น ชุมชนมีความมั่นคงทางอาหาร

3) พันธุกรรมเชื้อพันธุ์ไม้ผล 4 ชนิดดังกล่าว ได้รับการอนุรักษ์ทั้งในสภาพแปลงเกษตรกรในท้องถิ่น ชุมชน และในสภาพป่าธรรมชาติด้วยหลักการปฏิบัติที่ดี ทำให้เกิดความสมดุลของระบบนิเวศน์ ปกป้อง และลดสภาวะโลกร้อน

4) อย่างน้อยร้อยละ 3 ของเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่โครงการฯ ได้รับการพัฒนาและฝึกอบรม มีการใช้ชุดของการปฏิบัติที่ดี (Good Practices) ตั้งแต่การผลิต การแปรรูป เพิ่มมูลค่า และการตลาด

5) อย่างน้อย 10 ของตัวแทนเกษตรกรและชุมชนในพื้นที่โครงการได้รับการฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์ เชื้อพันธุ์พืช และสิ่งแวดล้อม

6) ชุมชนได้เผยแพร่ข้อมูลการปฏิบัติที่ดีสู่ชุมชนกลุ่มอื่นๆ ทำให้เกิดการถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยี ต่อผู้อื่น

7) ผู้ปฏิบัติงานและผู้ร่วมโครงการภาครัฐ ได้รับการพัฒนาฝึกอบรมด้านการอนุรักษ์เชื้อพันธุ์พืช และสิ่งแวดล้อมในระดับสากล เป็นการพัฒนาทักษะความรู้ ประสบการณ์ และฝึกความเป็นผู้นำ

8) ผู้ร่วมปฏิบัติงานโครงการ ได้แลกเปลี่ยนข้อมูล ความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้มีเครือข่าย และสร้างสัมพันธภาพที่ดีต่อกันในภูมิภาคเอเชียและประเทศตนเอง

2.4 กรมสนธิสัญญาและกฎหมายให้ความเห็นต่อร่าง LOA โดยเฉพาะข้อ 11 วรรคสอง ให้ระบุชัดเจนว่าจะไม่มีการถ่ายทอดพันธุ์พืชไปจากประเทศไทย จึงไม่น่าจะมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมอย่างกว้างขวางตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน (ลงนาม) กรมวิชาการเกษตรจึงได้ประสานงานไปยัง Bioversity International เพื่อแก้ไขข้อ 11 วรรคสอง ว่าจะไม่มีการถ่ายทอดพันธุ์พืชไปจากประเทศไทย และคำว่า material ที่ระบุถึงนั้นหมายถึงข้อมูลหรือความรู้ที่เกิดจากการดำเนินการโครงการฯ นี้เท่านั้น ดังนั้น ร่าง LOA ที่ได้รับการแก้ไขแล้ว ก็ไม่น่าจะเข้าข่าย มาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญฯ ที่จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภา

2.5 ตามเงื่อนไขทั่วไปของข้อตกลงใน LOA หากมีข้อขัดแย้งหรือการโต้แย้งใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการตีความ หรือการดำเนินการของข้อตกลงฉบับนี้ ให้จัดการโดยการตัดสินโดยอนุญาโตตุลาการ ซึ่งในทางปฏิบัติในระยะเวลามากกว่า 10 ปี ที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรมีความร่วมมือทางวิชาการกับ Bioversity International นี้ ไม่เคยเกิดปัญหาข้อขัดแย้ง มีแต่การสนับสนุนซึ่งกันและกันในทางวิชาการ ซึ่งไม่น่าเกิดการละเมิดต่อกันในข้อตกลงนี้ หากมีปัญหาทั้ง 2 ภาคี น่าจะเจรจายุติข้อขัดแย้งกันก่อนได้ ซึ่งข้อตกลงนี้เป็นเงื่อนไขปกติทั่วไปขององค์กรระหว่างประเทศ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ