"ธีระชัย" ฝากเลขากฤษฎีกา-ผู้ว่าธปท.เตือนรัฐบาลออก G-Token ขัดกม.-กระทบเสถียรภาพระบบการเงิน

ข่าวเศรษฐกิจ Saturday May 17, 2025 11:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รองหัวหน้าฝ่ายเศรษฐกิจ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) และอดีต รมว.คลัง กล่าวว่า ได้ทำหนังสือเปิดผนึกถึง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อให้ทั้ง 2 หน่วยงานกลับมา พิจารณาอย่างรอบครอบอีกครั้งในด้านของกฎหมาย เนื่องจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติวิธีการกู้เงินโดยการออกโทเคนดิจิทัลของรัฐบาล (Government Token: G-Token) ตามมาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 และอนุมัติในหลักการร่างประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการออกโทเคนดิจิทัล พ.ศ. ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยปรากฏในรายงานการประชุมสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นชอบ และไม่ขัดข้อง

อย่างไรก็ตาม ตนมีความเป็นห่วงว่าการพิจารณากฎหมายบางประเด็น อาจเป็นตัวอย่างสำหรับการปฏิบัติที่จะก่อความเสี่ยงต่อฐานะการคลัง และการดำเนินนโยบายการเงินในอนาคต จึงขอให้ข้อมูลเพื่อเป็นประโยชน์ในการพิจารณาดำเนินการขั้นต่อไป ดังนี้

1. พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ไม่ได้รองรับโทเคนดิจิทัล ถึงแม้มาตรา 10 วรรคหนึ่ง แห่ง พ.ร.บ.การบริหารหนี้สาธารณะ พ.ศ. 2548 ที่ระบุว่า "การกู้เงินตามพระราชบัญญัตินี้ จะทำเป็นสัญญาหรือออกตราสารหนี้ หรือวิธีการอื่นใดก็ได้ ทั้งนี้ ตามที่คณะรัฐมนตรีอนุมัติ" แต่คำว่า "วิธีการอื่นใด" ไม่สามารถตีความรวมไปถึงโทเคนดิจิทัลได้ เพราะ 20 ปีก่อนหน้าใน พ.ศ. 2548 ยังไม่ได้มีการสร้างบิตคอยน์เกิดขึ้น ยังไม่มีธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล

นอกจากนี้ ในร่างพระราชกำหนดการประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติคำว่า "โทเคนดิจิทัล" นั้น เกิดขึ้น 13 ปีภายหลัง และได้ระบุหลักการและเหตุผลว่า ตราขึ้นเพื่อกำกับหรือควบคุมการนำคริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัลมาใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนและค้าขายระหว่างเอกชน จึงเป็นวัตถุประสงค์เพื่อจัดระเบียบในธุรกิจเอกชน แต่มิใช่การตรากฎหมายเพื่อใช้ในการบริหารหนี้สาธารณะแต่อย่างใด

"ดังนั้น จึงมีความเห็นว่ายังไม่มีกฎหมายใด ที่อาจตีความได้ว่า ให้อำนาจกระทรวงการคลังในการออกโทเคนดิจิทัลในกระบวนการบริหารหนี้สาธารณะ ตามพระราชบัญญัติ พ.ศ.2548 ที่จะส่งผลให้โทเคนดิจิทัลของรัฐบาล เข้าข่ายพระราชบัญญัติเงินตรา" นายธีระชัย ระบุ

รวมทั้งใน พ.ร.ก.การประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล พ.ศ. 2561 ที่บัญญัติว่า "สินทรัพย์ดิจิทัล" หมายความว่า คริปโทเคอร์เรนซี และโทเคนดิจิทัล โดย "คริปโทเคอร์เรนซี" มีลักษณะเป็นเงินตราอย่างหนึ่ง ซึ่งต้องปฏิบัติตาม พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 นั้น ถึงแม้กระทรวงการคลังแถลงข่าวว่า สิ่งที่ออก G-Token เป็นโทเคนดิจิทัล และมิได้หมายจะให้เป็นเงินตรานั้น แต่พฤติกรรมการใช้งานโดยประชาชนจะทำให้ G-Token กลายสภาพเป็น "คริปโทเคอร์เรนซี" ซึ่งเป็นเงินตราโดยอัตโนมัติ ด้วยเหตุผลดังนี้

1. ผู้ออกเป็นกระทรวงการคลัง ซึ่งมีเครดิตและความน่าเชื่อถือของรัฐบาลไทยเป็นประกัน จึงจะเป็นที่เชื่อมั่นว่าจะนิยมโดยประชาชนอย่างกว้างขวาง ซึ่งแตกต่างจากโทเคนดิจิทัล ที่ออกโดยนิติบุคคลเอกชน เนื่องจากมีขอบเขตการใช้งานที่จำกัด

2. โทเคนดิจิทัลที่ออกโดยนิติบุคคลเอกชน ไม่อาจนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นได้ จึงไม่มีสภาพเป็นเงินตรา แต่ G-Token มีความน่าเชื่อถือสูง ที่จะสามารถนำไปแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์ดิจิทัลตัวอื่นได้ จึงมีสภาพเป็น "คริปโทเคอร์เรนซี" ซึ่งเป็นเงินตรา

3. ถึงแม้กระทรวงการคลัง อาจมิได้มีความประสงค์ที่จะให้ประชาชนใช้ G-Token เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าบริการหรือสิทธิอื่นใดในทำนองคริปโทเคอร์เรนซี แต่ในทางปฏิบัติ ประชาชนจะเชื่อถือและยอมรับการใช้ G-Token ในการชำระหนี้ระหว่างกัน อันจะทำให้มีสภาพข้อเท็จจริงตามเนื้อหาทางเศรษฐกิจ เป็นเงินตราอย่างหนึ่งโดยอัตโนมัติ

"ดังนั้น จึงเห็นว่าการออก G-Token โดยรัฐบาล จะกระทบการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย เข้าข่ายฝ่าฝืน พ.ร.บ.เงินตรา พ.ศ. 2501 มาตรา 10 ซึ่งให้อำนาจกระทรวงการคลัง เฉพาะจัดทำและนำออกใช้ซึ่งเหรียญกษาปณ์ ส่วนในมาตรา 14 อำนาจในการจัดทำ จัดการ และนำออกใช้ซึ่งธนบัตรของรัฐบาลนั้น เป็นของธนาคารแห่งประเทศไทย และขอเรียนว่า ภาพพจน์ที่รัฐบาลไทย จะสามารถดำเนินการเสมือนหนึ่งพิมพ์เงินตราได้เอง เพื่อชดเชยรายจ่ายงบประมาณที่ขาดดุล จะก่อความกังวลต่อเสถียรภาพของระบบการเงินไทยในสายตาของชาวโลกอย่างหนัก" อดีต รมว.คลัง กล่าว

พร้อมระบุว่า จึงขอแจ้งข้อมูลนี้ เพื่อประโยชน์แก่ท่าน (เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎี และผู้ว่าการ ธปท.) เพื่อพิจารณาให้คำแนะนำต่อรัฐบาล อันจะเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงต่อประเทศชาติ และประชาชน



เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ