สรุปสถานการณ์ภัยหนาว ภัยแล้ง และอุทกภัยภาคใต้ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2554)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 19, 2011 16:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบข้อมูลสรุปสถานการณ์ภัยหนาว ภัยแล้ง และอุทกภัยภาคใต้ (ข้อมูล ณ วันที่ 17 มกราคม 2554) ของกระทรวงมหาดไทย

สาระสำคัญของเรื่อง

สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 17 มกราคม 2554)

1. การคาดหมายลักษณะอากาศ (ระหว่างวันที่ 17 - 23 ม.ค. 2554)

1.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 17 - 18 มกราคม 2554 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังค่อนข้างแรงยังคงปกคลุมประเทศไทย ประกอบกับมีคลื่นกระแสลมตะวันตกเคลื่อนผ่านประเทศไทยตอนบน ทำให้ประเทศไทยตอนบนยังคงมีอากาศหนาวเย็น อุณหภูมิจะลดลงอีก 3 - 5 องศา และมีฝนเล็กน้อยบางแห่งในภาคเหนือ ส่วนมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรงและคลื่นลมในอ่าวไทยตอนล่างตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไปมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร ส่วนในช่วงวันที่ 19 - 23 มกราคม 2554 บริเวณความกดอากาศสูงยังคงปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวยังคงมีอากาศ หนาวเย็นต่อเนื่องไปอีกและมีหมอกในตอนเช้า

1.2 กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้มีโทรสารด่วนที่สุด ที่ มท 0616/ว 402 ลงวันที่ 17 ม.ค. 2554 แจ้งเตือนในช่วงระหว่างวันที่ 17 - 23 ม.ค. 2554 ให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 (สุราษฎร์ธานี) เขต 12 (สงขลา) เขต 18 (ภูเก็ต) และจังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล และจังหวัดตรัง เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก และคลื่นลมแรงในภาคใต้ อาจสร้างความ เสียหายให้แก่ชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนพืชผลทางการเกษตรของประชาชน และจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์

2. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาวของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยหนาว ปี พ.ศ. 2553 - 2554 ของจังหวัดขึ้น ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และจัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจฯ อำเภอ และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่งในเขตพื้นที่ พร้อมทั้งแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ เพื่อเป็นศูนย์ประสานงานในการให้ความช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสภาวะอากาศหนาวเย็นที่เกิดขึ้น

นอกจากนี้ กระทรวงมหาดไทย ได้จัดตั้งศูนย์รับบริจาคช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ณ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และที่จังหวัดทุกจังหวัดด้วย

3. สถานการณ์ภัยหนาว (ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 2553 - 17 ม.ค. 2554)

ในขณะนี้ได้รับรายงานจังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) เนื่องจากมีสภาพอากาศหนาว (อุณหภูมิ 8.0 - 15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (อุณหภูมิต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) จำนวน 34 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา พิจิตร พิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ตาก น่าน แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์ กาฬสินธุ์ ขอนแก่นชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์ มุกดาหาร มหาสารคาม ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ สุรินทร์ สกลนคร หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี และจังหวัดอำนาจเจริญ รวม 487 อำเภอ 3,923 ตำบล 48,160 หมู่บ้าน

4. การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน

4.1 จังหวัดที่ได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยหนาว) ทั้ง 34 จังหวัด รายงานว่าได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนในพื้นที่ โดยได้รับการสนับสนุนผ้าห่มกันหนาวจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เครือเจริญโภคภัณฑ์ สมาคม มูลนิธิ ไปแล้ว รวม 379,056 ชิ้น

4.2 บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดนครพนม สกลนคร หนองคาย อุดรธานี หนองบัวลำภู ขอนแก่น มหาสารคาม ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ นครราชสีมา เชียงราย น่าน ลำปาง เชียงใหม่ และจังหวัดแม่ฮ่องสอน

4.3 หอการค้าไทย-จีน และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้มอบผ้าห่มช่วยเหลือภัยหนาว จำนวน 2,000 ผืน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน 2553โดยกระทรวงมหาดไทยได้มอบหมายให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นหน่วยงานกลางในการนำผ้าห่มกันหนาวไปแจกจ่ายแก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ต่าง ๆ

4.4 บริษัท ซีพี จำกัด (มหาชน) (เครือเจริญโภคภัณฑ์) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 50,000 ผืน มูลค่า 12.5 ล้านบาท ซึ่งจัดซื้อจากกลุ่มแม่บ้านผู้ผลิตผ้าห่มนวม จังหวัดสกลนครตามนโยบายส่งเสริมอาชีพและช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นของกระทรวงมหาดไทย และได้มอบให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายชวรัตน์ ชาญวีรกูล) เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2553 เพื่อแจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ในพื้นที่ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน น่าน พะเยา สกลนคร นครพนม เลย อุดรธานี และจังหวัดขอนแก่น

5. สิ่งของพระราชทานช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว

5.1 สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย ได้นำชุดธารน้ำใจพระราชทาน ช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดตาก จำนวน 800 ชุด

5.2 กองงานพระวรชายาฯ ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงโปรดให้ผู้แทนพระองค์เดินทางไปมอบถุงพระราชทานแก่ราษฎรที่ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ แม่ฮ่องสอน ลำพูน กาฬสินธุ์ ขอนแก่น นครพนม บุรีรัมย์ เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์ และจังหวัดอุบลราชธานี รวมจำนวน 21,400 ถุง นมอัดเม็ดจิตรลดา 700 กล่อง และนมสดจิตรลดา 700 กล่อง

สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2553 - 17 มกราคม 2554)

1. พื้นที่ประสบภัย 5 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร พะเยา อุดรธานี สุรินทร์ และจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ รวม 36 อำเภอ 250 ตำบล 943 หมู่บ้าน

2. ความเสียหาย

  • ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,133,800 คน 259,556 ครัวเรือน
  • พื้นที่การเกษตรที่คาดว่าจะเสียหาย 55,252 ไร่

สรุปสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ (ระหว่างวันที่ 6 - 17 มกราคม2554)

สถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ (ระหว่างวันที่ 6 - 17 มกราคม 2554) อันเนื่องมาจากอิทธิพลของมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมทะเลจีนใต้ และอ่าวไทยตอนล่าง ทำให้ภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมากหลายพื้นที่ และเกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก เข้าท่วมบ้านเรือนราษฎร และพื้นที่การเกษตร ดังนี้

1. จังหวัดที่ประสบอุทกภัย รวมทั้งสิ้น 5 จังหวัด 32 อำเภอ 134 ตำบล 515 หมู่บ้าน ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 13,704 ครัวเรือน 42,585 คน ได้แก่ จังหวัดสงขลา พัทลุง นราธิวาส ปัตตานี และจังหวัดยะลา ปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้วทุกจังหวัดอยู่ระหว่างการฟื้นฟู

2. การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงาน

2.1 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย

1) ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 11 สุราษฎร์ธานี สนับสนุนถุงยังชีพ จำนวน 2,000 ชุด เรือท้องแบน 32 ลำ และเรือพลาสติก 9 ลำ ช่วยเหลือผู้ประสบภัย

2) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนราธิวาส แจกถุงยังชีพให้แก่ราษฎรที่ประสบภัย จำนวน 1,800 ชุด ข้าวกล่อง 3,350 กล่อง น้ำดื่ม 3,500 ขวด ยารักษาโรค 39 ชุด ผ้าห่ม 300 ผืน ผ้าโสร่ง 200 ผืน และผ้าขาวม้า 288 ผืน

3) สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปัตตานี แจกถุงยังชีพให้แก่ราษฎรที่ประสบภัย จำนวน 350 ชุด

2.2 ศูนย์บรรเทาสาธารณภัยกองทัพบก จัดกำลังพล จำนวน 732 นาย รถยนต์บรรทุก จำนวน 28 คัน เรือ จำนวน 1 ลำ เข้าให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัย โดยทำการซ่อมแซมบ้านเรือน ให้บริการทางการแพทย์ ตลอดจนการฟื้นฟูบูรณะหลังประสบภัย

เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2554 อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พร้อมคณะ ได้เดินทางไปเป็นประธานการประชุมรับฟังข้อมูลสถานการณ์และการปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยของจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และจังหวัดสตูล ณ ห้องประชุมชั้น 3 ศาลากลางจังหวัดยะลา โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา (นายอภินันท์ ซื่อธานุวงศ์) หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดยะลา ปัตตานี นราธิวาส และสตูล พร้อมเจ้าหน้าที่ เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวด้วย

อนึ่ง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้รับรายงานข้อมูลเหตุแผ่นดินไหว (ระหว่างวันที่ 11 - 17 มกราคม 2554 จากศูนย์เตือนภัยพิบัติแห่งชาติ และกรมอุตุนิยมวิทยา ว่าได้เกิดแผ่นดินไหว แต่ไม่มีผลกระทบต่อประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2554 เวลา 23.16 น. แผ่นดินไหวในทะเล บริเวณหมู่เกาะโลยัลตี้ ขนาด 7.3 ริกเตอร์ เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2554 เวลา 18.23 น. แผ่นดินไหวในทะเล บริเวณตอนเหนือของเกาะสุมาตรา ประเทศอินโดนีเซีย ขนาด 5.8 ริกเตอร์ และเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2554 เวลา 01.42 น. แผ่นดินไหวในทะเล บริเวณTONGA ขนาด 5.4 ริกเตอร์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 18 มกราคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ