การแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัท ทีโอที และบริษัท กสท โทรคมนาคม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 14:46 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน)

ตามแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) ตามแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอ ดังนี้

1. สัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด

2. สัญญาร่วมลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท จัสมิน ซับมารีน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด

ทั้งนี้ ให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารนำความเห็นของส่วนราชการและคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

ข้อเท็จจริง

ทก. ได้พิจารณาและเร่งรัดการแก้ไขสัญญาสัมปทานของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) โดยเป็นการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุน ดังนี้

1. สัญญาร่วมลงทุนจัดตั้งโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) และบริษัท คอม-ลิงค์ จำกัด ซึ่งได้มีการจัดทำเป็นข้อตกลงแนบท้ายสัญญาฯ รวม 2 ครั้ง

1.1 การจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาฯ ครั้งที่ 1 เป็นการเปลี่ยนแปลงที่อยู่ในการส่งหนังสือ หรือคำบอกกล่าว และการแก้ไขปรับปรุงจุดเชื่อมโยงระบบของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ประเด็นที่แก้ไขมิใช่สาระสำคัญของสัญญา

1.2 การจัดทำข้อตกลงต่อท้ายสัญญาฯ ครั้งที่ 2 เป็นการติดตั้งวงจรเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยงระบบเคเบิลใยแก้วนำแสงตามเส้นทางรถไฟภายในท้องถิ่น และมีการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณส่วนแบ่งรายได้เฉพาะส่วนท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมสาระสำคัญของสัญญาฯ เดิม และเป็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนผู้ใช้บริการ โดยการจัดทำข้อตกลงแนบท้ายสัญญาทั้ง 2 ครั้ง ทั้งนี้ เพื่อให้เป็นการดำเนินการที่ถูกต้องตามแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยไว้แล้ว

2. สัญญาร่วมลงทุนสร้างโครงข่ายเคเบิลใต้น้ำระหว่างบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) กับบริษัท จัสมิน ซับมารีน เทเลคอมมิวนิเคชั่นส์ จำกัด ซึ่งได้มีการจัดทำเป็นข้อตกลงแนบท้ายสัญญาฯ รวม 2 ครั้ง

2.1 การจัดทำข้อตกลงแนบท้ายสัญญาฯ ครั้งที่ 1 เป็นการย้ายจุดเชื่อมโยง และจุดขึ้นฝั่ง สำหรับวงจรท้องถิ่น และแก้ไขวงเงินลงทุนจาก 4,395 ล้านบาท เป็น 4,409 ล้านบาท รวมทั้งการกำหนดหลักเกณฑ์การคำนวณส่วนแบ่งรายได้สำหรับวงจรท้องถิ่น ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า ผลที่เกิดขึ้นจากการแก้ไขสัญญาร่วมลงทุนฯ ครั้งที่ 1 เป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์ของรัฐและประชาชนผู้ใช้บริการ และเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนฯ

2.2 การจัดทำข้อตกลงแนบท้ายสัญญาฯ ครั้งที่ 4 เป็นการปรับปรุงโครงข่ายจาก 4 ระดับ เป็น 2 ระดับ เพื่อให้มีวงจรใช้งานเพิ่มขึ้น ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการเพิ่มวงจรการใช้งาน ทำให้บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ได้ประโยชน์ แต่เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนฯ

2.3 การจัดทำสัญญาร่วมดำเนินการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับโครงข่ายเคเบิลใยแก้วใต้น้ำฝั่งทะเลด้านตะวันออก เป็นการนำวงจรที่เหลือจากการใช้งานและไม่ได้ส่งมอบตามสัญญาฯ ไปแสวงหาผลประโยชน์และแบ่งรายได้ร่วมกัน ซึ่งคณะกรรมการฯ พิจารณาแล้วเห็นว่า เป็นการเพิ่มรายได้ให้กับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) อีกทางหนึ่ง แต่เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญของสัญญาร่วมลงทุนฯ

คณะกรรมการประสานงานได้เห็นชอบเกี่ยวกับการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขในการดำเนินโครงการและแก้ไขเพิ่มเติมสัญญา และเรื่องดังกล่าวได้รายงานต่อรัฐมนตรีกระทรวงเจ้าสังกัดด้วยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 22 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ