ผลการลงนามในตราสารเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 2, 2011 16:34 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ผลการลงนามในตราสารเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก

(Instrument for Strengthening the Acid Deposition Monitoring Network in East Asia (EANET)

และการประชุมระดับรัฐบาลครั้งที่ 12 ของเครือข่าย EANET

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการลงนามในตราสารเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Instrument for Strengthening the Acid Deposition Monitoring Network in East Asia (EANET) และการประชุมระดับรัฐบาลครั้งที่ 12 (IG12) ของเครือข่าย EANET (The Twelfth Session of the Intergovernmental Meeting on EANET) ตามที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ทส. รายงานว่า

1. กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออก 10 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สหพันธรัฐรัสเซีย ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ได้ร่วมกันจัดตั้ง EANET ในเดือนมีนาคม 2541 เพื่อรับมือกับปัญหาการตกสะสมของกรดที่เป็นปัญหามลพิษไร้พรมแดนหรือมลพิษข้ามแดน ทั้งนี้ EANET ได้ดำเนินกิจกรรมการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในระยะเตรียมการระหว่างปี 2541 — 2543 และได้ดำเนินกิจกรรมฯ อย่างสม่ำเสมอ (regular phase) ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2544 เป็นต้นมา ในปัจจุบันมีประเทศเครือข่ายทั้งสิ้น 13 ประเทศ โดยราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสหภาพพม่าได้เข้าร่วมเป็นประเทศเครือข่ายในเดือนพฤศจิกายน 2544 เดือนพฤศจิกายน 2545 และเดือนพฤศจิกายน 2548 ตามลำดับ ทั้งนี้ ได้มีการจัดตั้งศูนย์เครือข่าย (Network Center) ขึ้นที่ Acid Deposition and Oxidant Research Center (ADORC) ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Asia Center for Air Pollution Research (ACAP) และมี UNEP Regional Resource Center for Asia and the Pacific (UNEP RRCAP) ซึ่งมีสำนักงานตั้งอยู่ที่สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) จังหวัดปทุมธานี ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขาธิการ (Secretariat)

2. การประชุมระดับรัฐบาลครั้งที่ 7 ของ EANET (IG7) เมื่อวันที่ 21-22 พฤศจิกายน 2548 เห็นชอบให้เริ่มต้นกระบวนการพิจารณาจัดทำตราสารระดับภูมิภาค รวมถึงสถานะด้านกฎหมายเพื่อการสนับสนุนด้านการเงินที่เหมาะสมแก่ EANET ระหว่างปี 2549 — 2551 ได้มีการประชุมของ EANET หลายครั้งเพื่อพิจารณาเนื้อหาของตราสาร EANET ทั้งนี้ ในการประชุมระดับรัฐบาลครั้งที่ 10 (IG10) ของ EANET เมื่อวันที่ 20-21 พฤศจิกายน 2551 มีมติเห็นชอบให้พัฒนาจัดทำตราสารที่ลงนามโดยผู้แทนรัฐบาลของแต่ละประเทศเครือข่าย และโดยไม่มีการให้สัตยาบันและการประชุมระดับรัฐบาล ครั้งที่ 11 (IG11) เมื่อวันที่ 19-20 พฤศจิกายน 2552 มีมติเห็นชอบเนื้อหาสาระของตราสารเพื่อใช้พิจารณาและดำเนินกระบวนการในระดับประเทศของประเทศเครือข่าย ทั้งนี้ ฝ่ายเลขาธิการของเครือข่ายได้กำหนดให้มีการลงนามตราสารดังกล่าวในการประชุมระดับรัฐบาล ครั้งที่ 12 (IG12) ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 23-24 พฤศจิกายน 2553 ในส่วนของประเทศไทย คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 เห็นชอบในเนื้อหาสาระของตราสารฯ และมอบหมายให้อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ลงนามในตราสารฯ ณ Toki Messe, Niigata Convention Center เมืองนิอิกาตะ ประเทศญี่ปุ่น

3. ทส. โดยกรมควบคุมมลพิษได้รายงานผลการลงนามตราสารเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก และการประชุมระดับรัฐบาลครั้งที่ 12 (IG12) ของเครือข่าย EANET สรุปได้ดังนี้

3.1 ผู้แทนประเทศเครือข่าย EANET ทั้ง 13 ประเทศเข้าร่วมประชุม ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา สาธารณรัฐประชาชนจีน สาธารณรัฐอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น มาเลเซีย มองโกเลีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว สหภาพพม่า สหพันธรัฐรัสเซีย ประเทศไทย และสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม และมีผู้แทนจากฝ่ายเลขาธิการ และศูนย์เครือข่ายของ EANET รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญจากโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติสำนักงานใหญ่ โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติสำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก (UNEP ROAP) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจยุโรปแห่งสหประชาชาติ (UNECE) และมหาวิทยาลัยคานาซาว่า ประเทศญี่ปุ่น รวมถึงผู้แทนและผู้สังเกตการณ์จากหน่วยงานอื่น ๆ เข้าร่วมประชุมด้วย โดยมีผู้แทนระดับสูงเข้าร่วมประชุม ได้แก่ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อม (Vice-Minister) และปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อมประเทศญี่ปุ่น ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยว ประเทศมองโกเลีย ปลัดกระทรวงสิ่งแวดล้อม ราชอาณาจักรกัมพูชา ผู้อำนวยการโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ สำนักงานภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก และผู้ว่าราชการจังหวัดนิอินากะ ในส่วนของประเทศไทยมีอธิบดีกรมควบคุมมลพิษเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนเข้าร่วมประชุม

3.2 วาระสำคัญของการประชุม IG12 คือการลงนามตราสารเพื่อเสริมสร้างเครือข่ายการติดตามตรวจสอบการตกสะสมของกรดในภูมิภาคเอเชียตะวันออก พิธีลงนามตราสารฯ จัดขึ้นในการประชุมระดับสูง (High Level Segment) ของการประชุม IG12 มีผู้แทนประเทศเครือข่าย EANET 7 ประเทศ จาก 13 ประเทศ ได้ลงนามตราสารฯ ร่วมกัน ได้แก่ ราชอาณาจักรกัมพูชา ญี่ปุ่น มองโกเลีย สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐเกาหลี สหภาพพม่า และประเทศไทย ส่วนประเทศเครือข่ายที่เหลืออยู่ระหว่างดำเนินกระบวนการภายในประเทศเพื่อลงนามตราสารฯ ต่อไป ในส่วนของประเทศไทย นายสุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ เป็นผู้ลงนามตราสารฯ ตามที่ได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2553 นอกจากนั้นได้มีพิธีเฉลิมฉลองการดำเนินงานของ EANET ครบรอบ 10 ปี พร้อมทั้งมอบโล่ประกาศเกียรติคุณให้แก่ประเทศเครือข่ายทุกประเทศ จังหวัดนิอิกาตะ และเมืองนิอิกาตะ เพื่อแสดงความขอบคุณที่ได้สนับสนุนการดำเนินงานของ EANET ด้วยดีตลอดมา

3.3 ตราสารฯ จะมีผลในทางปฏิบัติ (become operational) ณ วันที่ซึ่งประเทศเครือข่ายลงนามครบทุกประเทศ หรือ ณ วันที่ 1 มกราคม 2555 ทั้งนี้ เมื่อกำหนดวันใดก็ตามถึงก่อนสำหรับประเทศเครือข่ายที่ไม่สามารถลงนามได้ภายในวันที่กำหนด (1 มกราคม 2555) ขอให้แจ้งความจำนงเป็นเอกสารไปยังฝ่ายเลขาธิการของ EANET ก่อนการประชุมระดับรัฐบาลครั้งที่ 13 (IG13) (มีกำหนดจัดขึ้นประมาณเดือนพฤศจิกายน 2554) ว่ามีความตั้งใจที่จะดำเนินกิจกรรมร่วมกับ EANET อย่างต่อเนื่องต่อไป ทั้งนี้ ที่ประชุม IG13 จะพิจารณาลักษณะการเข้าร่วมในเครือข่ายของประเทศที่ไม่สามารถลงนามได้ในวันที่กำหนดต่อไป

3.4 ที่ประชุม IG12 ได้พิจารณาและรับรองร่างแผนการดำเนินงานระยะกลางของ EANET (Medium Term Plan for EANET (2011-2015)) รายงานความก้าวหน้าการดำเนินงานของ EANET รายงานด้านการเงินของฝ่ายเลขาธิการและศูนย์เครือข่ายประจำปี 2552 รายงานการทบทวนประสิทธิภาพของฝ่ายเลขาธิการและศูนย์เครือข่าย รายงานการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาทางวิทยาศาสตร์ครั้งที่ 10 (SAC10) ร่างรายงานการพัฒนา EANET ในอนาคต ฉบับที่ 2 ร่างระเบียบวิธีปฏิบัติและแนวทางในการสนับสนุนด้านการเงินแบบสมัครใจแก่ EANET ในปี 2554 — 2556 และแผนการดำเนินงานและงบประมาณปี 2554

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


แท็ก เอเชีย  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ