รายงานผลการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 16, 2011 14:10 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานผลการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เรื่อง การสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้

ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ (การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ)

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่คณะกรรมการประสานงานและขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรี (ปคค.) รายงานผลการดำเนินการตามนโยบายรัฐบาล เรื่อง การสร้างหลักประกันด้านรายได้แก่ผู้สูงอายุที่มีรายได้ไม่เพียงพอแก่การยังชีพ (การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ)

สาระสำคัญของเรื่อง

ฝ่ายเลขานุการ ปคค. ได้รับประสานติดตามความคืบหน้าในเรื่องดังกล่าวซึ่งกระทรวงมหาดไทย (มท.) สำนักงบประมาณ (สงป.)และกระทรวงการพัฒนาสังคมความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ได้รายงานผลการดำเนินการ ดังนี้

1. การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ มท. รายงานผลการดำเนินการ ดังนี้

1.1 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้รับงบประมาณโครงงการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุตามพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จำนวน 31,068,312,000 บาท สามารถจัดสรรให้ผู้สูงอายุที่มีสิทธิได้เพียงจำนวน 5,178,052 คน แต่จากข้อมูลที่ได้รับรายงานพบว่า มีผู้สูงอายุที่มีสิทธิตามหลักเกณฑ์ทั่วประเทศ จำนวน 6,107,536 คน ดังนั้น งบประมารที่ได้รับจึงไม่เพียงพอที่จะสนับสนุนสวัสดิการเบี้ยยังชีพให้แก่ผู่สูงอายุที่มีสิทธิอีกจำนวน 929,484 คน เป็นเงิน 5,576,904,000 บาท

1.2 สงป. จัดสรรงบประมาณตามโครงการสร้างหลักประกันด้านรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ งวดที่ 1 เป็นเงิน 15,534,156,000 บาท ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีหนังสือถึงจังหวัดเพื่อจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โครงการสร้างหลักประกันรายได้ให้แก่ผู้สูงอายุ เงินอุดหนุนเฉพาะกิจ สำหรับเป็นค่าใช้จ่ายสนับสนุนการสงเคราะห์เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในงวดที่ 1 จำนวน 6 เดือน (เดือนตุลาคม 2553 - มีนาคม 2554 ) จำนวน 5,178,052 คน เป็นเงินทั้งสิ้น 15,534,156,000 บาท พร้อมแนวทางปฏิบัติแล้ว และองค์กรปกครองท้องถิ่นได้จ่ายเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุไปแล้ว 4 เดือน (เดือนตุลาคม 2553-มกราคม 2554)

2. การศึกษารูปแบบการคำนวณงบประมาณในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ ปคค.ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 23/2553 เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2553 มอบหมายให้ สงป. มท. (กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น) และ พม. รับข้อสังเกตของประธาน ปคค. ในเรื่องศึกษาหารูปแบบ (modal) ในการคำนวณเงินให้ชัดเจนว่าในแต่ละปีมีจำนวนผู้สูงอายุ (ครบ 60 ปี)เพิ่มขึ้นเท่าใด เสียชีวิตเท่าใด เพื่อรองรับระบบจ่ายตรงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตไปพิจารณาต่อไป ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รายงานความคืบหน้าดังนี้

2.1 สงป. ได้ดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายบางส่วนในเรื่องประมาณการตั้งงบประมาณเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยได้จัดทำตารางประมาณการตั้งงบประมาณเบี้ยงยังชีพผู้สูงอายุและเกณฑ์การคำนวน แต่เพื่อให้การคำนวณเงินมีความชัดเจนและถูกต้องจำเป็นต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังนี้

2.1.1 จำนวนผู้สูงอายุในแต่ละปีจากกรมการปกครองและจากหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้อง

2.1.2 ข้อมูลผู้ที่ไม่มีสิทธิได้รับ

(1) ผู้ที่รับเงินบำนาญจากกรมบัญชีกลาง

(2) ผู้ที่อยู่สถานสงเคาระห์คนชราจากกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรุงเทพมหานคร

(3) ผู้ที่ได้รับเงินเดือน ค่าตอบแทน รายได้ประจำหรือผลประโยชน์ตอบแทนอย่างอื่นที่รัฐหรือองค์กรการปกครองส่วนท้องถิ่นจัดให้เป็นประจำ

2.2 จำนวนผู้เสียชีวิตระหว่าปีจากกรมการส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นและกรมการปกครอง

2.3 มท. โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ศึกษาข้อมูลหนังสือสถานการณ์ผู้สูงอายุในประเทศไทย 2552 การคาดประมาณประชากรของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2559 ของคณะทำงานคาดประมาณประชากร สำนักคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ สำนักนายกรัฐมนตรี ที่คาดประมาณว่าประชากรในวัยสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี และตามพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2553 มาตรา 4 ให้ยกเลิกความใน (11) ของมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติผู้สูงอายุ พ.ศ. 2546 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “(11) การจ่ายเบี้ยยังชีพเป็นรายเดือนอย่างทั่งถึงและเป็นธรรม” ดังนั้น หากจะดำเนินการจ่ายเบี้ยยังชีพอย่างทั่วถึงและเป็นธรรมตามพระราชบัญญัติดังกล่าว รัฐจะต้องดำเนินการจัดสวัสดิการแบบถ้วนหน้าโดยให้ผู้สูงอายุ 60 ปีบริบูรณ์ได้รับเงินเบี้ยยังชีพครบทุกคน

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4กุมภาพันธ์ 2554 ปคค. ได้ประสานข้อมูลเพิ่มเติมจากกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สำนักส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการมีส่วนร่วม) ทราบว่า ปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีในการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในวงเงิน 6,700,000 บาท ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดให้ผู้สูงอายุทั้ง 74 จังหวัดแสดงความประสงค์เพื่อขอรับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ จนถึงวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554

2.4 พม. ดำเนินโครงสร้างศึกษาการปรับปรุงรูปแบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยประยุกต์ใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและพัฒนาระบบต้นแบบโดย พม.ได้ว่าจ้างให้สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าคุณทหารลาดกระบังเป็นผู้ศึกษา

2.4.1 จากผลการศึกษาปรากฏว่า การจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุรูปแบบใหม่โดยมีระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในแต่ละเดือนเป็บแบบจ่ายตรงเข้าบัญชีธนาคารผู้สูงอายุทุกคน ประกอบด้วย รูปแบบกระบวนการทำงานใหม่โดยการติดตั้งระบบฐานข้อมูลผู้สูงอายุแห่งชาติ ใช้ระบบเทคโนโลยรสารสนเทศเป็นเครื่องมือในการ สนันสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ทุกหน่วยงานที่กี่ยวข้องกับกระบวนการจ่ายเบี้ยยังชีพ และกำหนดให้มีหน่วยงานกลางดูแลรับผิดชอบฐานข้อมูล กระบวนการทำงาน และนโยบาย

2.4.2 การนำเสนอผลการศึกษาต่อ กผศ. พม. ได้นำเสนอผลการศึกษาในการประชุม กผส. ครั้งที่ 1/2554 เมื่อวันพุธที่ 19 มกราคม 2554 ซึ่งที่ประชุมมีมติ ดังนี้

(1) รับทราบผลการศึกษาพัฒนารูปแบบการจ่ายตรงเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ

(2) มอบหมายให้กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบภารกิจเรื่องเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุและเป็นส่วนราชการเจ้าของงบประมาณ ดำเนินการ ดังนี้

(2.1) จัดทำงบประมาณในรูปแบบเงินอุดหนุนเฉพาะกิจเพื่อจ่ายในโครงการเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นการเฉพาะ

(2.2) สร้างกลไก กำกับ ดูแล และตรวจสอบอย่างเข้มงวดในส่วนกลาง จังหวัด ท้องถิ่น

(2.3) กระตุ้น ส่งเสริม และพัฒนารูปแบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุในรูปแบบการจ่ายเบี้ยยังชีพผ่านระบบธนาคารไปยังผู้สูงอายุโดยตรงโดยให้ดำเนินการลักษณะเป็นโครงการนำร่องในเทศบาลหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขนาดใหญ่ที่มีสถาบันทางการเงินให้บริการในพื้นที่

(2.4) พัฒนากระบวนการการลงทะเบียนและการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุโดยการเชื่อมโยงข้อมูลเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก โดยใช้ระบบ Off line ข้อมูลจากบัตรประจำตัวประชาชนแบบอเนกประสงค์จากระบบทะเบียนราษฎร์

(2.5) รณรงค์ กระตุ้น ประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความเข้าใจให้ผู้สูงอายุที่ไม่ประสงค์รับเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ บริจาคเงินเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเข้ากองทุนผู้สูงอายุเพื่อช่วยเหลือกิจกรรมเกี่ยวกับการสงเคราะห์และพัฒนาผู้สูงอายุ

ทั้งนี้ ให้สรุปรายงานผลการดำเนินงานต่อที่ประชุม กผส. ในคราวต่อไป และให้เร่งรัดสร้างกลไกตรวจสอบการจ่ายเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุเป็นรายเดือนอย่างทั่วถึงและเป็นธรรม โดยยึดหลักปฏิบัติให้เป็นไปตามระเบียบฯ ที่กำหนด

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ