แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554 - 2563

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 9, 2011 14:21 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554 — 2563 ตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย และคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย โดยให้กระทรวงสาธารณสุขปรับปรุงองค์ประกอบของคณะกรรมการดังกล่าวตามความจำเป็นและเหมาะสม และมอบหมายให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2555 ให้กระทรวงสาธารณสุข ตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

1. สธ. ได้มีหนังสือกระทรวงสาธารณสุข ด่วนที่สุด ที่ สธ 0205.01.1/97 ลงวันที่ 13 มกราคม 2554 รายงานว่า

1.1 เนื่องจากบริบททางด้านเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปภายใต้กระแสโลกาภิวัฒน์ ระบบทุนนิยมและเทคโนโลยีการสื่อสารไร้พรมแดน ส่งผลให้คนไทยเปลี่ยนวิถีการดำเนินชีวิตอย่างไม่พอเพียงท่ามกลางค่านิยม วัฒนธรรมและสังคมสิ่งแวดล้อมที่เต็มไปด้วยความเสี่ยง และเป็นภัยคุกคามสุขภาพ เกิดการระบาดของโรคไม่ติดต่อเรื้อรังที่สามารถป้องกันได้ หรือเรียกว่า โรควิถีชีวิตที่สำคัญได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง ซึ่งเป็นปัญหาสุขภาพสำคัญลำดับต้น ๆ ที่ระบาดอยู่ในปัจจุบัน และในอนาคตที่คาดว่าจะมีแนวโน้มทวีความรุนแรงมากขึ้น หากไม่สามารถสกัดกั้นหรือหยุดยั้งปัญหาได้จะทำให้เกิดการเจ็บป่วย พิการ เสียชีวิต มีภาระค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพและการสูญเสียทางเศรษฐกิจตามมาอย่างมหาศาล สธ. ได้ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาสุขภาพดังกล่าว จึงได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554 — 2563 ขึ้น โดยจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 พ.ศ. 2550 — 2554 แผนพัฒนาสุขภาพแห่งชาติ ฉบับที่ 11 โดยได้ต่อยอดความคิดเชิงลึกในแต่ละประเด็นปัญหา และสานต่อแนวคิดสุขภาพพอเพียงตามแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่ยึดคนเป็นศูนย์กลางของการพัฒนา

1.2 แผนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย พ.ศ. 2554 — 2563 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1.2.1 ภาคที่ 1 สถานการณ์ปัญหาสุขภาพและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังจากวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป โดยได้วิเคราะห์ปัจจัยเสี่ยงพื้นฐานที่เป็นภัยคุกคามสุขภาพจากพฤติกรรมการบริโภคอาหารและเครื่องดื่มที่มีรสหวาน มัน เค็มมากเกินไป กินผักและผลไม้น้อย ขาดการออกกำลังกาย ไม่สามารถจัดการกับอารมณ์และความเครียด สูบบุหรี่และดื่มสุรา หรือเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ ภาวะน้ำหนักเกินหรือโรคอ้วน ที่ส่งผลกระทบต่อโรควิถีชีวิตที่เป็นปัญหาสำคัญของประเทศที่มีปัจจัยเสี่ยงร่วมกันและมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันใน 5 โรค ได้แก่ โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง

1.2.2 ภาคที่ 2 ปรัชญา แนวคิด และยุทธศาสตร์การพัฒนาสุขภาพดีวิถีชีวิตไทย โดยยึดหลักของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ผ่านมุมมองของการบูรณาการแบบองค์รวมภายใต้บริบทแวดล้อมและวิถีชีวิตที่เป็นพื้นฐานของปัจจัยเสี่ยงและภัยคุกคามสุขภาพอย่างรอบด้าน บนเส้นทางการพัฒนาอย่างเป็นขั้นตอนที่เน้นคนเป็นศูนย์กลาง การมีส่วนร่วมของทั้งสังคมจึงได้กำหนดวิสัยทัศน์ พันธกิจ เป้าประสงค์สูงสุด เป้าหมายหลักในการพัฒนา ด้วยการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนา ยุทธวิธี และ แผนงานรองรับที่สอดคล้องกันในการสร้างวิถีชีวิตไทยที่พอเพียงเพื่อการมีสุขภาพดี นำไปสู่วิถีชีวิตพอเพียง สุขภาพพอเพียง สังคมอยู่เย็นเป็นสุขและสังคมอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขที่ยั่งยืน ดังนี้

1) วิสัยทัศน์ : ประชาชนมีศักยภาพในการจัดการปัจจัยเสี่ยงและสภาพแวดล้อมที่ส่งผลกระทบต่อโรควิถีชีวิต ด้วยการรวมพลังขับเคลื่อนจากทุกภาคส่วนอย่างบูรณาการ สมดุล ยั่งยืน และเป็นสุข บนพื้นฐานปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง

2) พันธกิจ : สร้างชุมชน ท้องถิ่น สังคม ที่ตระหนัก ลดปัจจัยเสี่ยง เสริมปัจจัยเอื้อ และมีส่วนร่วมอย่างเข้มแข็งในการผลักดันนโยบายสู่การปฏิบัติการค้นหา เฝ้าระวัง ป้องกันควบคุม จัดการปัญหา และพัฒนาของทุกภาคส่วนอย่างเป็นระบบ องค์รวมครอบคลุม มีประสิทธิภาพ

3) เป้าประสงค์สูงสุด : ประชาชน ชุมชน สังคม และประเทศ มีภูมิคุ้มกันและศักยภาพในการสกัดกั้นภัยคุกคามสุขภาพจากโรควิถีชีวิตที่สำคัญได้

4) เป้าหมายหลักในการพัฒนา : ลดปัญหาโรควิถีชีวิตที่สำคัญ 5 โรค (โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง และโรคมะเร็ง) ใน 5 ด้าน (ลดการเกิดโรค ลดภาวะแทรกซ้อน ลดการพิการ ลดการตาย และลดภาระค่าใช้จ่าย) ด้วยการเพิ่มวิถีชีวิตพอเพียงใน 3 ด้าน (การบริโภคที่เหมาะสม การออกกำลังกายที่เพียงพอ และการจัดการอารมณ์ได้เหมาะสม)

5) เส้นทางการพัฒนา แบ่งออกเป็น 3 ระยะ

(1) ระยะสั้น 1 — 3 ปี (พ.ศ. 2554 — 2556) บูรณาการความคิด สร้างความเชื่อมั่น และการมีส่วนร่วมขับเคลื่อนของภาคีเครือข่ายร่วม

(2) ระยะกลาง 5 ปี (พ.ศ. 2554 — 2558) ปฏิบัติการเชิงรุกสู่การวางรากฐานที่มั่นคงเชิงโครงสร้างและระบบ

(3) ระยะกลาง 10 ปี (พ.ศ. 2554 — 2563) สร้างความเข้มแข็งเชิงโครงสร้างและระบบในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอย่างยั่งยืน

6) ยุทธศาสตร์การพัฒนา ประกอบด้วย 5 ยุทธศาสตร์ 14 เป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ 3 ยุทธวิธีร่วม 11 ยุทธวิธีรายยุทธศาสตร์ และ 29 แผนงาน

(1) ยุทธศาสตร์ที่ 1 : นโยบายสาธารณะสร้างสุข (Healthy Public Policy)

(2) ยุทธศาสตร์ที่ 2 : การขับเคลื่อนทางสังคมและสื่อสาธารณะ (Social Mobilization & Public Communication)

(3) ยุทธศาสตร์ที่ 3 : การพัฒนาศักยภาพชุมชน (Community Building)

(4) ยุทธศาสตร์ที่ 4 : การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและการจัดการโรค (Surveillance & Care System)

(5) ยุทธศาสตร์ที่ 5 : การสร้างความเข้มแข็งของระบบสนับสนุนยุทธศาสตร์ (Capacity Building)

1.2.3 ภาคที่ 3 แนวทางและกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย เพื่อให้กรอบยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีไทยสามารแปลงไปสู่การปฏิบัติของเครือข่ายทุกภาคส่วนอย่างจริงจัง จึงได้กำหนดให้มีแนวทางการดำเนินงานเพื่อใช้เป็นกรอบในการผลักดันสู่การปฏิบัติการ และการจัดตั้งองค์กรในรูปคณะกรรมการนโยบายและบริหารระดับชาติ (คณะกรรมการอำนวยการยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานกรรมการ และคณะกรรมการบริหารยุทธศาสตร์สุขภาพดีวิถีชีวิตไทย มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขเป็นประธานกรรมการร่วมรับผิดชอบ เพื่อเป็นแกนขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ให้บรรลุเป้าหมายและเกิดสัมฤทธิ์ผลได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 8 มีนาคม 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ