คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ทก.) เสนอดังนี้
1. เห็นชอบต่อกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2554 — 2563 ของประเทศไทย (ICT 2020)
2. มอบหมายให้ ทก. เป็นหน่วยงานหลักทำหน้าที่ในการกำกับดูแลบริหารจัดการตามกรอบนโยบาย ICT ให้เป็นวาระแห่งชาติด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศ
3. มอบหมายให้ ทก. รับผิดชอบการจัดทำแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารฯ จำนวน 2 ฉบับ แต่ละฉบับครอบคลุมระยะเวลา 5 ปี ในช่วงระยะเวลาของกรอบนโยบาย ICT 2020 พ.ศ. 2554 — 2563 และประเมินผลเพื่อติดตามความก้าวหน้าของการดำเนินงานเมื่อครบกำหนดครึ่งระยะเวลาของกรอบนโยบายฯ (ปี 2558)
4. มอบหมายให้กระทรวง ทบวง กรม และรัฐวิสาหกิจทุกหน่วยงานดำเนินการตามบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของหน่วยงานตามที่ระบุไว้ในกรอบนโยบาย ICT 2020 เพื่อให้การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศมีการบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
5. มอบหมายให้หน่วยงานที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจัดสรรทรัพยากร ได้แก่ สำนักงบประมาณ (สงป.) และสำนักงาน ก.พ. นำกรอบนโยบาย ICT 2020 มาใช้เป็นแนวทางในการจัดสรรทรัพยากรทางด้านการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ตลอดช่วงระยะเวลาของกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2554 — 2563 ของประเทศไทย (ICT 2020)
สาระสำคัญของเรื่อง
ทก. รายงานว่า
1. เนื่องจากระยะเวลาของกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2544 — 2553 ของประเทศไทย (IT 2010) ตามมติคณะรัฐมนตรี (19 มีนาคม 2545) ได้สิ้นสุดลง ทก. โดยศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (NECTEC) จึงได้ร่วมกันจัดทำร่างกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2554 — 2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) ขึ้น โดยได้กำหนดทิศทางการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทยในระยะ 10 ปี เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของโลก และเพื่อให้หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน นำกรอบนโยบายฯ ไปใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ซึ่งประกอบด้วย วิสัยทัศน์ เป้าหมาย และยุทธศาสตร์การพัฒนาบนพื้นฐานของหลักการสำคัญ 5 ประการ ดังนี้
1.1 หลักการสำคัญในการจัดทำร่างกรอบนโยบายฯ
1) ใช้แนวคิดกระแสหลักของการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนใน 3 มิติ คือ มิติสังคม มิติเศรษฐกิจ และมิติสิ่งแวดล้อม
2) ให้ความสำคัญกับการใช้ประโยชน์จาก ICT ในการลดความเหลื่อมล้ำและสร้างโอกาสให้กับประชาชนในการรับประโยชน์จากการพัฒนาอย่างเท่าเทียมกัน โดยให้ความสำคัญกับการศึกษา การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อการเข้าถึงข้อมูล สารสนเทศ ความรู้ บริการของรัฐ การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนในระบบการเมืองการปกครอง รวมทั้งการจัดการทรัพยากรทั้งของประเทศและท้องถิ่น
3) ใช้แนวคิดในการพัฒนาโดยยึดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มุ่งเน้นพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อโลกยุคปัจจุบัน ความพอเพียงหรือพอประมาณ ความมีเหตุผล และความจำเป็นที่จะต้องมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีเพื่อรองรับผลกระทบอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก
4) ความเชื่อมโยงและต่อเนื่องทางนโยบายและยุทธศาสตร์กับกรอบนโยบาย IT 2010 และแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ฉบับที่ 2) ของประเทศไทย พ.ศ. 2552-2556
5) การพัฒนา ICT ในอนาคต งบประมาณของรัฐเพียงอย่างเดียวจะไม่มีเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการทั้งหมดได้ ดังนั้น ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น
1.2 วิสัยทัศน์
“ICT เป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญในการนำพาคนไทยสู่ความรู้และปัญญาเศรษฐกิจไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืนสังคมไทยสู่ความเสมอภาค” กล่าวคือ ประเทศไทยในปี ค.ศ. 2020 จะมีการพัฒนาอย่างฉลาด การดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมจะอยู่บนพื้นฐานของความรู้และปัญญา โดยให้โอกาสแก่ประชาชนทุกคนในการมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนาอย่างเสมอภาค นำไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน (Smart Thailand 2020)
1.3 เป้าหมายหลัก (Goals)
1) โครงสร้างพื้นฐาน ICT ความเร็วสูง (Broadband) ที่กระจายอย่างทั่วถึง ประชาชนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมกัน เสมือนการเข้าถึงบริการสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานทั่วไป
2) ประชาชนมีความรอบรู้ เข้าถึง สามารถพัฒนาและใช้ประโยชน์จากสารสนเทศได้อย่างรู้เท่าทัน เพื่อก่อเกิดประโยชน์ต่อการเรียนรู้ การทำงาน และการดำรงชีวิตประจำวัน
3) เพิ่มบทบาทและความสำคัญของอุตสาหกรรม ICT (โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์) ต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ
4) ยกระดับความพร้อมด้าน ICT โดยรวมของประเทศไทยในการประเมินวัดระดับระหว่างประเทศ
5) เพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
6) ทุกภาคส่วนในสังคมมีความตระหนักถึงความสำคัญและบทบาทของ ICT ต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในกระบวนการพัฒนา
1.4 ยุทธศาสตร์การพัฒนา มี 7 ยุทธศาสตร์ ดังนี้
ยุทธศาสตร์ที่ 1: พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ICT ที่เป็นอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้มีความทันสมัย มีการกระจายอย่างทั่วถึง และมีความมั่นคงปลอดภัย สามารถรองรับความต้องการของภาคส่วนต่าง ๆ ได้
ยุทธศาสตร์ที่ 2: พัฒนาทุนมนุษย์ที่มีความสามารถในการสร้างสรรค์และใช้สารสนเทศอย่างมีประสิทธิภาพ มีวิจารณญาณและรู้เท่าทัน และการพัฒนาบุคลากร ICT ที่มีความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญระดับมาตรฐานสากล
ยุทธศาสตร์ที่ 3: ยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันอุตสาหกรรม ICT เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและนำรายได้เข้าประเทศ โดยใช้โอกาสจากการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ การเปิดการค้าเสรี และประชาคมอาเซียน
ยุทธศาสตร์ที่ 4: ใช้ ICT เพื่อสร้างนวัตกรรมการบริการของภาครัฐแบบบูรณาการและมีธรรมาภิบาล
ยุทธศาสตร์ที่ 5: พัฒนาและประยุกต์ ICT เพื่อสร้างความเข้มแข็งของภาคการผลิตให้สามารถพึ่งตนเองและแข่งขันได้ในระดับโลก โดยเฉพาะภาคการเกษตร ภาคบริการ และเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เพื่อเพิ่มสัดส่วนภาคบริการในโครงสร้างเศรษฐกิจโดยรวม
ยุทธศาสตร์ที่ 6: พัฒนาและประยุกต์ ICT เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจและสังคม โดยสร้างโอกาสและการเข้าถึงทรัพยากรและบริการสาธารณะต่าง ๆ ให้มีความทั่วถึงและทัดเทียมกันมากขึ้น โดยเฉพาะบริการพื้นฐานที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี ได้แก่ บริการด้านการศึกษาและบริการสาธารณสุข
ยุทธศาสตร์ที่ 7: พัฒนาและประยุกต์ ICT เพื่อสนับสนุนการสร้างเศรษฐกิจและสังคมที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
1.5 ผลกระทบ
1) ผลกระทบต่อนโยบายรัฐบาล
กรอบนโยบาย ICT 2020 ได้กำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารและมาตรการในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ที่สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT การนำ ICT มาใช้ในการบริหารและบริการภาครัฐอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง สร้างโอกาสและลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง ICT พัฒนาบุคลาการด้าน ICT และบุคคลทั่วไปให้มีความรู้ความสามารถในการสร้างสรรค์ผลิต และใช้ ICT อย่างมีคุณธรรม จริยธรรม วิจารณญาณและรู้เท่ากัน ตลอดจนส่งเสริมการวิจัยและการพัฒนาอุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
2) ผลกระทบด้านเศรษฐกิจ
กรอบนโยบาย ICT 2020 ได้ระบุถึงการนำ ICT มาใช้ในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงเศรษฐกิจในระดับชุมชน เพื่อเป็นการสร้างเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทย ทั้งตลาดภายในประเทศและต่างประเทศ โดยการนำ ICT มาประยุกต์ใช้ของภาคเศรษฐกิจ การสร้างนวัตกรรมบริการ อันจะทำให้มีการลดต้นทุนการผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม การเข้าถึงตลาดต่างประเทศผ่านกลไกของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ ทั้งนี้ กรอบนโยบายฯ ได้ให้ความสำคัญยิ่งกับการนำเอา ICT มาใช้ในภาคการเกษตรและภาคบริการที่สำคัญ
กรอบนโยบาย ICT 2020 ได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันเทคโนโลยีและการสื่อสาร และมีส่วนสำคัญอย่างมากในการช่วยให้ภาคธุรกิจปรับตัว โดยการปรับปรุงประสิทธิภาพในการผลิต การให้บริการ โดยการลดต้นทุนการผลิต และ/หรือสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการของตน โดยระบบแนวทางการประยุกต์ใช้ ICT กับภาคธุรกิจไว้
นอกจากนี้ ในส่วนของอุตสาหกรรม ICT โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์และดิจิทัลคอนเทนต์เป็นอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ที่ก่อให้เกิดการจ้างงานและรายได้เข้าประเทศ กรอบนโยบาย ICT 2020 ได้ให้ความสำคัญกับการกำหนดมาตรการต่าง ๆ ที่จะส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศเพิ่มขึ้น ภายใต้โอกาสและความท้าทายอันเนื่องมาจากการก้าวเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 และคาดว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมตามเป้าหมายที่ระบุในกรอบนโยบายฯ จะสร้างผลตอบแทนทางเศรษฐกิจให้แก่ประเทศอย่างมาก
3) ผลกระทบด้านเทคโนโลยี
กรอบนโยบาย ICT 2020 ให้ความสำคัญกับการพัฒนาขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีขึ้นภายในประเทศ โดยผ่านกลไกการวิจัยและพัฒนาการสร้างบุคลากร ICT ที่มีทักษะและความรู้ทางเทคโนโลยี ซึ่งเป็นที่ต้องการของภาคอุตสาหกรรม
4) ผลกระทบด้านงบประมาณ
กรอบนโยบาย ICT 2020 ได้ระบุหลักการว่า การพัฒนา ICT ในอนาคตงบประมาณของรัฐเพียงอย่างเดียวจะไม่มีเพียงพอที่จะตอบสนองความต้องการทั้งหมดได้ ดังนั้น ภาคเอกชนและภาคประชาสังคมจะเข้ามามีส่วนร่วมในการทำงานกับภาครัฐมากยิ่งขึ้น ซึ่งสามารถช่วยลดภาระทางงบประมาณของภาครัฐได้ระดับหนึ่ง นอกจากนี้ กรอบนโยบายฯ ได้ให้ความสำคัญยิ่งต่อการบริหารจัดการการเงินและงบประมาณการประสานงานระหว่างหน่วยงานการกำหนดมาตรฐานในด้านต่าง ๆ การเชื่อมโยงเครือข่ายข้อมูล เพื่อให้การลงทุนของภาครัฐมีความเป็นเอกภาพ และลดความซ้ำซ้อนของการลงทุน ส่งผลให้การจัดสรรทรัพยากรด้าน ICT ของรัฐมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลยิ่งขึ้น
5) ผลกระทบด้านสังคม
การกระจายโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน และการใช้ ICT สร้างโอกาสด้านต่าง ๆ ให้กับประชาชนเพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น โอกาสในการเรียนรู้ตลอดชีวิต การได้รับบริการสาธารณะต่าง ๆ ของภาครัฐ ผ่านโครงสร้างพื้นฐานสารสนเทศดังกล่าว จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต และทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างประชาชนกับประชาชน และประชาชนกับภาครัฐเป็นไปได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น โดยจะเน้นการเพิ่มโอกาสให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำหนดและสะท้อนความต้องการต่อการบริการของภาครัฐ รวมถึงตรวจสอบการทำงานของภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใสได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย
การที่กรอบนโยบาย ICT 2020 เน้นการใช้ ICT อย่างมีวิจารณญาณและสร้างสรรค์ โดยการสร้างความตระหนักและทักษะ 3 ประการ คือ ทักษะในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT literacy) การรอบรู้ เข้าถึงสามารถพัฒนาและใช้สารสนเทศอย่างมีวิจารณญาณ (Information literacy) และการรู้เท่าทันสื่อ (Media literacy) ตั้งแต่การศึกษาขั้นพื้นฐาน จะทำให้สังคมมีภูมิคุ้มกันผลกระทบทางลบ อันเกิดจากการใช้ ICT ไปในทางที่ไม่เหมาะสม
2. ในคราวประชุมคณะกรรมการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2553 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบในหลักการร่างกรอบนโยบายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ระยะ พ.ศ. 2554-2563 ของประเทศไทย (ICT 2020) โดยมอบหมายให้ ทก. ในฐานะฝ่ายเลขานุการไปดำเนินการปรับปรุงเพิ่มเติมตามข้อสังเกตของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 22 มีนาคม 2554--จบ--