การลงนามในบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐเกาหลี

ข่าวเศรษฐกิจ Monday April 18, 2011 12:02 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดของสาธารณรัฐเกาหลีและหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนว่าด้วยการจัดตั้งศูนย์ประสานงานข้อมูลข่าวสารเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติดในเอเชียและแปซิฟิก และอนุมัติให้เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปราม ยาเสพติดเป็นผู้แทนฝ่ายไทยในการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ กับอธิบดี (Director-General) ของสำนักงานอัยการสูงสุดของสาธารณรัฐเกาหลี ตามที่กระทรวงยุติธรรม (ยธ.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

ยธ. รายงานว่า

1. สำนักงานอัยการสูงสุดของสาธารณรัฐเกาหลี (The Supreme Prosecutors Office of the Republic of Korea-SPO) มีความประสงค์ที่จะจัดตั้งศูนย์ประสานงานข้อมูลข่าวสารเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติดในเอเชียและแปซิฟิก (The Asia-Pacific Information & Coordination Centre for the Prevention and Combating Drug Crimes-APICC) เพื่อเป็นศูนย์กลางในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านอาชญากรรมยาเสพติดในภูมิภาค และส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในการปราบปรามองค์กรและเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติที่กำลังขยายการปฏิบัติการอยู่ใน หลายประเทศทั่วโลกในปัจจุบัน

2. หน่วยงาน SPO ของสาธารณรัฐเกาหลีจะดำเนินการให้ความช่วยเหลือในเรื่องดังกล่าวผ่านกรอบการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านอาชญากรรมข้ามชาติกับประเทศคู่เจรจา จีน ญี่ปุ่น และเกาหลี (ASEAN Senior Officials Meeting on Transnational Crimes and Plus Three Countries-SOMTC+3) โดยจัดทำเป็นบันทึกความเข้าใจระหว่างสำนักงานอัยการสูงสุดของสาธารณรัฐเกาหลีและหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนเพื่อจัดตั้งศูนย์ประสานงานข้อมูลข่าวสารเพื่อการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมยาเสพติดในเอเชียและแปซิฟิก โดยหน่วยงาน SPO จะดำเนินการจัดตั้งศูนย์ฯ ดังกล่าวในสำนักงานอัยการสูงสุด ณ กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีหลังจากที่หัวหน้าหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดของประเทศสมาชิกสมาคมอาเซียนทั้งหมดได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ ดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว

3. บันทึกความเข้าใจดังกล่าวมีวัตถุประสงค์หลักในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารด้านอาชญากรรมยาเสพติด ซึ่งจำเป็นต่อการปฏิบัติการร่วมและการสืบสวนร่วม (Joint Operation/investigation) เพื่อปราบปรามกลุ่มนักค้ายาเสพติดรายใหญ่และเครือข่ายค้ายาเสพติดข้ามชาติ เพราะการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็วและมีประสิทธิภาพจะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้การปฏิบัติการร่วมของเจ้าหน้าที่ปราบปรามยาเสพติดของประเทศต่าง ๆ ที่กำลังดำเนินการอยู่ในปัจจุบันประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการดำเนินกิจกรรมอื่น ๆ ภายใต้บันทึกความเข้าใจฯ เพื่อเป็นการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศในด้านดังกล่าว เช่น การพัฒนาศักยภาพหน่วยงานกลางด้านยาเสพติดด้วยการสนับสนุนอุปกรณ์ ความช่วยเหลือทางวิชาการ การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ และการฝึกอบรมบุคลากร

4. ยธ. พิจารณาแล้วเห็นว่า บันทึกความเข้าใจฯ ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พุทธศักราช 2554 เนื่องจากไม่มีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงอาณาเขต หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตที่ประเทศไทยมีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ หรือมีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจ หรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง หรือมีผลผูกพันด้านการค้า การลงทุน หรืองบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ ในบันทึกความเข้าใจฯ มาตรา 6 ข้อ ก. และ ข. ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าบันทึกความเข้าใจนี้ไม่มีจุดประสงค์ในการสร้างข้อผูกมัดทางกฎหมายใดๆ และจะไม่ส่งผลกระทบต่อข้อตกลงระหว่างประเทศทั้งหลายที่มีอยู่ในเรื่องการส่งผู้ร้ายข้ามแดนหรือความช่วยเหลือทางอาญาในเรื่องอาชญากรรม โดยการดำเนินการตามบันทึกความเข้าใจฯ จะสอดคล้องกับกฎหมายและกฎระเบียบของประเทศสมาชิก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 เมษายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ