การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 15, 2011 11:50 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง การคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงาน

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการพิจารณาแนวทางการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการ ผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงาน ตามที่กระทรวงแรงงาน (รง.) เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

รง. รายงานว่า

1. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้มีหนังสือลงวันที่ 11 ธันวาคม 2551 กราบเรียนนายกรัฐมนตรีเสนอแนะเชิงนโยบายให้ รง. กำหนดแนวทางในการคุ้มครองแรงงานข้ามชาติที่ประสบอันตรายจากการทำงานให้มีหลักประกันและเร่งรัดให้นายจ้างจ่ายเงินสมทบกองทุนเงินทดแทน เพื่อลูกจ้างแรงงานต่างด้าวจะได้ใช้สิทธิประโยชน์จากกองทุนเงินทดแทน

2. สำนักงานประกันสังคมได้มีหนังสือลงวันที่ 15 กันยายน 2552 เสนอให้ รง. พิจารณาเรื่องการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย โดยเห็นควรจัดระบบการดูแลให้แรงงานต่างด้าวที่หลบหนีเข้าเมืองได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรชั่วคราวได้รับสิทธิประโยชน์จากพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 อย่างครบถ้วน

3. กรมการจัดหางานได้ประชุมหารือเกี่ยวกับการนำแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรีเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน เมื่อวันที่ 15 มิถุนายน 2553 ว่าจะมีระบบใดมารองรับแทนกองทุนเงินทดแทนและประกันสังคม เนื่องจากแรงงานต่างด้าวที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรียังไม่สามารถเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนและประกันสังคมได้ และได้ประชุมอีกครั้งเมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2553 เพื่อพิจารณารายละเอียดเกี่ยวกับการนำแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรี เข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทน โดยเห็นว่าควรให้มีการทำประกันชีวิตเพื่อคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองฯ และให้เป็นความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และการคุ้มครองเป็นการเอาส่วนที่จะได้รับสิทธิแบบกองทุนเงินทดแทนและส่วนที่จะได้รับสิทธิแบบประกันสังคมมาใช้ ได้แก่ กรณีทุพพลภาพเนื่องจากการทำงานและไม่เนื่องจากการทำงาน กรณีเสียชีวิต สาเหตุที่เกิดตามแบบกองทุนเงินทดแทนทั้งในและนอกเวลาทำงาน และกรณีชดเชยการขาดรายได้จากการทำงาน แต่เนื่องจากระบบประกันภัยไม่มีการรับเพราะยากต่อการคำนวณจึงให้ความคุ้มครองเฉพาะ 2 กรณี คือ กรณีทุพพลภาพและเสียชีวิต ซึ่งสมาคมประกันวินาศภัยมีการวิเคราะห์ว่า การเก็บเบี้ยประกันขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของอาชีพและอัตราสถิติ

4. สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) มีหนังสือลงวันที่ 20 สิงหาคม 2553 แจ้งว่าได้ดำเนินการจัดทำแผนประกันภัยดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว แต่มีประเด็นที่จะสอบถามเพิ่มเติมสำหรับใช้ประกอบการพิจารณารับประกันภัยและชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งกรมการจัดหางานได้มีหนังสือลงวันที่ 24 กันยายน 2553 แจ้งข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับใช้ประกอบการพิจารณารับประกันภัยและชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้ คปภ. ทราบ

5. คปภ. ได้ส่งร่างกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองแรงงานต่างด้าวและอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองแรงงานต่างด้าวให้กรมการจัดหางานพิจารณาเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2553 ซึ่งกรมการจัดหางานพิจารณาร่างกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองแรงงานต่างด้าวและอัตราเบี้ยประกันภัยสำหรับกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองแรงงานต่างด้าวแล้วเห็นว่า

5.1 เมื่อเทียบเคียงกับพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 แล้ว ร่างกรมธรรม์ดังกล่าวไม่ครอบคลุมสิทธิประโยชน์ตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ซึ่งกำหนดให้ลูกจ้างที่ประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้กับนายจ้างมีสิทธิได้รับเงินทดแทน ซึ่งประกอบด้วยค่ารักษาพยาบาล ค่าฟื้นฟูสมรรถภาพในการทำงาน ค่าทดแทนกรณีหยุดงานเกิน 3 วัน ค่าทดแทนกรณีสูญเสียอวัยวะ ค่าทดแทนกรณีทุพพลภาพ ค่าทดแทนกรณีตายและค่าทำศพ

5.2 กรณีแรงงานต่างด้าวผู้เอาประกันอยู่นอกระบบการผ่อนผันแล้วแต่กรมธรรม์ประกันภัยยังมีอายุอยู่ ดังนั้น ในกรณีดังกล่าวต้องมีความชัดเจนว่าจะให้กรมธรรม์คุ้มครองแรงงานต่างด้าวดังกล่าวต่อไปหรือไม่ ซึ่งกรมการจัดหางานได้แจ้งผลการพิจารณาร่างกรมธรรม์ประกันภัยคุ้มครองแรงงานต่างด้าวฯ ให้ คปภ. ทราบ และ คปภ. เสนอให้กรมการจัดหางานเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมประชุมหารือ

รง. (กรมการจัดหางาน) ได้จัดประชุมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง (ประกอบด้วย สำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กรมการจัดหางาน คปภ. และสมาคมประกันวินาศภัย) เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2554 เพื่อพิจารณาแนวทางการให้ความคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงาน โดยให้เอกชนเข้ามาดำเนินการและให้ได้รับการคุ้มครองเหมือนกับระบบกองทุนเงินทดแทน ดังนี้

1. การกำหนดสิทธิประโยชน์ ให้มีการคุ้มครองแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่จดทะเบียนผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตให้ทำงาน ที่ประสบอันตรายจากการทำงาน โดยให้ได้รับสิทธิประโยชน์เหมือนกองทุนเงินทดแทนที่ให้กับคนไทยทุกประการ

2. การบังคับใช้ ให้ใช้กับแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่จดทะเบียนผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตให้ทำงาน

3. วิธีการดำเนินการ ใช้วิธีการประกันภัยโดยให้บริษัทประกันภัยเอกชนดำเนินการโดยให้นายจ้างซื้อประกันให้แก่แรงงานต่างด้าวกับบริษัทประกันภัย และนำมาแสดงในการรับใบอนุญาตทำงาน และให้สำนักงานประกันสังคมเป็นผู้วินิจฉัยเกี่ยวกับค่าทดแทนโดยการจ่ายค่าสินไหมทดแทน ให้กับบริษัทประกันภัยเป็นผู้จ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้มีสิทธิ

4. อัตราค่าเบี้ยประกัน ให้นายจ้างเป็นผู้รับผิดชอบในการจ่ายค่าเบี้ยประกันภัยให้แก่แรงงานต่างด้าวเพราะเป็นการปฏิบัติตามกฎหมายคุ้มครองแรงงาน เพื่อให้การคุ้มครองลูกจ้างกรณีประสบอันตรายจากการทำงาน ส่วนอัตราค่าเบี้ยประกันให้กำหนดเป็นจำนวนเงินต่อคนต่อปีในอัตราเดียวกันทั่วประเทศ โดยขอให้สมาคมประกันวินาศภัยศึกษาและส่งข้อมูลให้คณะทำงานภายใน 1 สัปดาห์

5. การคัดเลือกบริษัทประกันภัย เห็นควรให้กำหนดคุณสมบัติบริษัทประกันภัยที่เข้าร่วมโครงการโดยคำนึงถึงความมั่นคงแก่ผู้รับประกันและมีจำนวนไม่มากรายเกินไป เพื่อให้มีจำนวนผู้เอาประกันมากเพียงพอต่อการกระจายความเสี่ยง

รง. เห็นว่าแรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันตามมติคณะรัฐมนตรียังไม่สามารถเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนและประกันสังคมได้ โดยจะต้องเข้าสู่ระบบประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะได้รับการรักษาพยาบาลในกรณีเจ็บป่วยทั่วไป แต่ในกรณีประสบอันตรายเนื่องจากการทำงานจะไม่ได้รับการคุ้มครองจากระบบประกันสุขภาพ ซึ่งในทางปฏิบัติเมื่อลูกจ้างประสบอันตรายจากการทำงาน สำนักงานประกันสังคมจะวินิจฉัยและออกคำสั่งให้นายจ้างของคนต่างด้าวเป็นผู้จ่ายเงินทดแทนโดยตรงให้กับคนต่างด้าว และแม้ว่าจะมีคำสั่งให้นายจ้างจ่าย นายจ้างก็มักจะหลบเลี่ยงไม่ดำเนินการตามคำสั่งหรืออาจหนีหายไปเพราะส่วนมากจะเป็นนายจ้างกิจการขนาดเล็ก ทำให้เกิดปัญหาข้อร้องเรียนเนื่องจากลูกจ้างไม่ได้รับสิทธิตามที่กฎหมายกำหนด จึงเป็นสาเหตุให้องค์กรสิทธิมนุษยชนใช้เป็นข้อกล่าวหาว่าแรงงานดังกล่าวไม่ได้รับการคุ้มครอง และการที่แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับยังไม่สามารถเข้าสู่ระบบกองทุนเงินทดแทนได้ ทำให้เมื่อประสบอันตรายจากการทำงานจึงไม่ได้รับการคุ้มครอง ทำให้เป็นภาระต่อสังคม และภาครัฐต้องรับภาระโดยนำภาษีของคนไทยมาช่วยเหลือซึ่งไม่เป็นธรรมกับคนไทย นอกจากนี้การนำแรงงานต่างด้าวเข้าระบบกองทุนเงินทดแทนโดยจ่ายเงินสมทบเท่าอัตราคนไทยน่าจะเป็นความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของกองทุนเงินทดแทน แต่เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระของนายจ้างและให้แรงงานต่างด้าวได้รับสิทธิตามพระราชบัญญัติเงินทดแทน พ.ศ. 2537 ครบถ้วน จึงเห็นควรจัดระบบการดูแลให้แรงงานต่างด้าวหลบหนีเข้าเมืองที่ได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและได้รับอนุญาตทำงาน ได้รับสิทธิประโยชน์ทดแทนโดยใช้ระบบประกันภัยแต่สิทธิประโยชน์ที่จะได้รับต้องเทียบเท่าที่กองทุนเงินทดแทนคุ้มครองอยู่

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มิถุนายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ