รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday June 15, 2011 11:53 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง รายงานทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนของประเทศไทยภายใต้กลไก Universal Periodic Review (UPR)

ของคณะมนตรีสิทธิมนุยชนแห่งสหประชาติ

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงต่างประเทศ (กต.) เสนอดังนี้

1. รับทราบเกี่ยวกับความคืบหน้าของกระบวนการจัดทำและนำเสนอรายงาน UPR ของไทย

2. เห็นชอบให้ กต. จัดส่งรายงาน UPR ให้กับสหประชาชาติภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 ตามที่สหประชาชาติกำหนด โดยให้ กต. จัดทำคำแปลฉบับภาษาอังกฤษของรายงานประเทศให้สอดคล้องกับฉบับภาษาไทยเพื่อส่งให้สหประชาชาติต่อไปโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีอีก

สาระสำคัญของเรื่อง

กต. รายงานว่า

1. กต. ได้เริ่มยกร่างรายงาน UPR โดยผ่านการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน โดยในช่วงก่อนการยกร่าง กต. ได้จัดการหารือกลุ่มย่อยระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องจำนวน 14 ครั้ง เมื่อช่วงเดือนกันยายนถึงเดือนตุลาคม 2553 เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาที่ควรปรากฏอยู่ในรายงานและหลังการจัดทำร่างแรก กต. ได้ร่วมกับกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม จัดเวทีรับฟังความเห็นของภาคประชาชนต่อร่างรายงาน UPR ของไทยในภูมิภาคต่าง ๆ ของประเทศจำนวน 5 ครั้ง และได้นำความเห็นและข้อเสนอแนะที่ได้รับมาปรับปรุงร่างรายงานจนเป็นร่างสุดท้าย และนำเสนอร่างรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับดูแลการจัดทำรายงานประเทศภายใต้กลไก UPR พิจารณาและให้ความเห็นชอบต่อร่างรายงานดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2554

2. รายงาน UPR ของไทยมีความยาว 20 หน้าตามที่สหประชาชาติกำหนด ครอบคลุมสิทธิต่าง ๆ ทั้งสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง สิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม สิทธิด้านการพัฒนาและการขจัดความยากจน และสิทธิของกลุ่มเฉพาะต่าง ๆ ได้แก่ เด็ก สตรี คนพิการ ผู้สูงอายุ กลุ่มชาติพันธุ์ แรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ผู้หนีภัยการสู้รบ และปัญหาการค้ามนุษย์ โดยมุ่งให้รายงานมีเนื้อหาที่สมดุล สะท้อนความสำเร็จ ความก้าวหน้า และความท้าทาย และตั้งอยู่บนพื้นฐานของข้อเท็จจริง เพื่อแสดงให้ประชาคมระหว่างประเทศตระหนักถึงความจริงใจของไทยในการยอมรับปัญหาที่จะต้องเพื่อความพยายามในการแก้ไข และความมุ่งมั่นของไทยที่จะปฏิบัติตามพันธกรณีระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชน

3. รายงาน UPR ฉบับนี้สามารถนำมาใช้ติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและใช้เป็นพื้นฐานในการพัฒนาสิทธิมนุษยชนภายในประเทศได้ต่อไป รวมทั้งยังอาจนำมาใช้เป็นแนวทางสนับสนุนการจัดทำนโยบายด้านสังคมของรัฐบาลชุดใดๆ เพื่อส่งเสริมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของประชาชนได้ด้วย

4. ประเทศไทยมีกำหนดต้องส่งรายงานดังกล่าวให้กับสหประชาชาติภายในวันที่ 4 กรกฎาคม 2554 เพื่อให้สหประชาชาติแปลเป็นภาษาทางการของสหประชาชาติทั้ง 6 ภาษาให้ทันวันที่ 5 ตุลาคม 2554 ซึ่งเป็นวันที่คณะผู้แทนไทยจะต้องนำเสนอรายงานต่อที่ประชุมคณะทำงาน UPR สมัยที่ 12 ที่นครเจนีวา ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่จะต้องเสนอให้คณะรัฐมนตรีรับทราบเกี่ยวกับการจัดทำรายงาน UPR ของไทย และเห็นชอบให้ กต. จัดส่งรายงานดังกล่าวให้กับสหประชาชาติได้ทันตามเวลาที่กำหนด การส่งรายงานล่าช้ากว่าที่กำหนดจะทำให้ประเทศไทยเสียภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาคมระหว่างประเทศ ซึ่งขณะนี้สหประชาติได้มีหนังสือเตือนมายังประเทศที่จะเข้าสู่กระบวนการในการประชุมคณะทำงาน UPR ครั้งที่ 12 รวมทั้งไทย ให้ส่งรายงานภายในเวลาที่กำหนดด้วยแล้ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 14 มิถุนายน 2554--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ