คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติตามที่กระทรวงพลังงาน (พน.) เสนอ ทั้ง 3 ข้อ ดังนี้
1. เห็นชอบสาระสำคัญในร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงานระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ พร้อมทั้งอนุมัติให้ พน. สามารถพิจารณาปรับปรุงถ้อยคำในร่างถ้อยแถลงร่วมฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญของความร่วมมือได้ตามความเหมาะสม ก่อนที่จะมีการลงนามกับ พน. ของสาธารณรัฐฟิลิปปินส์
2. อนุมัติให้ปลัดกระทรวงพลังงานเป็นผู้ลงนามในถ้อยแถลงร่วมฯ ระหว่างฟิลิปปินส์กับไทย
3. อนุมัติให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ออกหนังสือมอบอำนาจเต็มให้ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นผู้ลงนามในร่างแถลงร่วมฯ ดังกล่าว
สาระสำคัญของเรื่อง
พน. รายงานว่า
1. ในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมทวิภาคีไทย-ฟิลิปปินส์ ครั้งที่ 4 (Joint Commission on Bilateral Cooperation-JCBC) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2550 ณ กรุงเทพมหานคร และการหารือข้อราชการระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) กับอดีตประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ (นางกลอเรีย มาคาปากัล-อาร์โรโย) เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2552 ทั้งสองฝ่ายได้มีมติเห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านพลังงานระหว่างไทย-ฟิลิปปินส์ (Joint Working Group on Energy) เพื่อกระชับความสัมพันธ์ด้านพลังงานระหว่างทั้งสองประเทศ
2. เมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2554 รองปลัดกระทรวงพลังงานได้เข้าเยี่ยมคารวะและหารือข้อราชการกับเอกอัครราชทูตฟิลิปปินส์ประจำประเทศไทย รวมทั้งติดตามความคืบหน้าในการจัดตั้งคณะทำงานร่วมด้านพลังงานไทย-ฟิลิปปินส์
3. พน. ได้ยกร่างถ้อยแถลงร่วมว่าด้วยการจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงานระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสาธารณรัฐฟิลิปปินส์ (Joint Statement between the Ministry of Energy of the Kingdom of Thailand and the Department of Energy of the Republic of the Philippines for the Establishment of Energy Forum) เพื่อเป็นเวทีหารือด้านพลังงาน (Energy Forum) ในระดับข้าราชการประจำและเจ้าหน้าที่ทางด้านพลังงานของทั้งสองประเทศ ในการแสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนข้อมูล ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือทางด้านพลังงานในสาขาต่าง ๆ ทั้งนี้ พน. ได้นำส่งร่างให้ กต. พิจารณาส่งต่อไปยังฝ่ายฟิลิปปินส์
4. ฝ่ายฟิลิปปินส์ได้ส่งร่างโต้ตอบที่มีการแก้ไขมาให้ฝ่ายไทยพิจารณาอีกครั้ง ซึ่ง พน. ได้พิจารณาแล้วไม่มีข้อขัดข้องในข้อแก้ไขต่อร่างที่ฝ่ายฟิลิปปินส์เสนอมา
5. สรุปสาระสำคัญของร่างถ้อยแถลงร่วมดังกล่าว ได้ดังนี้
ร่างถ้อยแถลงร่วมฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะจัดตั้งเวทีหารือด้านพลังงาน และมีขอบเขตของความร่วมมือด้านพลังงานลักษณะกว้าง ๆ ในหัวข้อต่อไปนี้
5.1 การหารือและแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายด้านพลังงานของรัฐบาลทั้งสองประเทศ เพื่อให้เกิดความเข้าใจร่วมกัน
5.2 การจัดเตรียมข้อเสนอแนะรัฐบาลของทั้งสองประเทศในการสร้างความร่วมมือด้านพลังงาน
5.3 การสนับสนุนและส่งเสริมภาครัฐและภาคเอกชนของทั้งสองประเทศเพื่อบรรลุความร่วมมือด้านพลังงาน
5.4 การแลกเปลี่ยนข้อมูลที่เกี่ยวกับความร่วมมือด้านพลังงานและประสานงานเพื่อแก้ไขปัญหาที่เกิดจากความร่วมมือของทั้งสองประเทศ
5.5 การส่งเสริมการดำเนินการที่นำไปสู่การปฏิบัติของข้อตกลงที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะมีขึ้นในอนาคตของทั้งสองประเทศ
5.6 การพิจารณาความเป็นไปได้ในเรื่องความร่วมมือสาขาอื่น ๆ ตามที่ทั้งสองประเทศจะได้ตกลงร่วมกัน
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 13 มีนาคม 2555--จบ--